กลุ่มธุรกิจ ESG กับปีแห่งการเติบโตและแนวโน้มที่น่าจับตามอง
มูลค่าการลงทุนในหุ้นกลุ่มบริษัท ESG (Environmental, Social, Governance) มีแนวโน้มสูงขึ้นถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การดูแลโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทั่วโลก
ปี 2021 แนวคิด ESG หรือ กรอบการดำเนินธุรกิจภายใต้การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล กลายมาเป็นประเด็นที่สำคัญในกลุ่มนักลงทุน ภาคธุรกิจ และผู้กำหนดนโยบาย โดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ได้นำไปสู่การจุดประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตโรคระบาดที่ส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมรุนแรงขึ้น รวมทั้งกระแส Black Lives Matter หรือการเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมของชาวผิวสี ซึ่งนำกลายเป็นแรงกดดันให้บริษัทต่างๆ ปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อสนับสนุน Diversity หรือความหลากหลายในองค์กรมากขึ้น
จากปัจจัยดังกล่าว ในปี 2021 นักลงทุนจึงได้ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลในการลงทุนที่เกี่ยวกับความยั่งยืน โดยทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากปี 2020 ซึ่งอยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากกราฟด้านบน จะเห็นได้ว่ากลุ่มบริษัท ESG มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราเชื่อมั่นว่ายังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอีกในอนาคต โดยมีสิ่งที่น่าจับตามองหลายด้านด้วยกัน:
ความต้องการบริษัทที่มีแนวคิด ESG จะยังคงเพิ่มสูงขึ้น
เห็นได้จากแรงกดดันที่เกิดขึ้นกับบริษัทต่างๆ เพื่อให้กำหนดกรอบการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งการผสมผสานแนวคิดเพื่อความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายบริษัท ซึ่งแรงกดดันเหล่านี้ยังไม่มีท่าทีที่จะผ่อนลงในระยะเวลาอันใกล้
นักลงทุนสถาบันกำลังพิจารณาแนวปฏิบัติด้าน ESG ของบริษัทต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
ผลสำรวจของนักลงทุนทั่วโลกที่ได้ลงทุนในกลุ่มบริษัท ESG พบว่า 72% จากกลุ่มตัวอย่างมีการพิจารณาประสิทธิภาพด้าน ESG ของบริษัทที่ลงทุนอย่างเป็นระบบ ขณะที่ผลการสำรวจครั้งก่อนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีเพียง 32% ในขณะที่ 39% ของกลุ่มนักลงทุนที่เคยพิจารณาประสิทธิภาพด้าน ESG ของบริษัทต่างๆ เพียงคร่าวๆ จะเริ่มพิจารณาบริษัท ESG ที่ตนเองลงทุนไปอย่างเป็นระบบมากขึ้น
กลุ่มผู้ถือหุ้นและนักลงทุนร่วมกันรณรงค์ให้บริษัททำธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้น
ในเดือนพฤษภาคม 2021 ผู้ถือหุ้นได้กดดันให้ ExxonMobil บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่หันมาช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง ส่งผลให้มีเปลี่ยนคณะกรรมการบริษัท 3 รายจากทั้งหมด 12 ราย ในขณะที่นักลงทุน 9 ใน 10 คน สนับสนุนการเรียกร้องให้ IBM จัดทำรายงานเกี่ยวกับนโยบาย Diversity ขององค์กรประจำปี โดยต่างมีใจความสำคัญคือ บริษัทต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายดำเนินธุรกิจโดยคำนึงความยั่งยืน หากไม่เริ่มปรับแผน ธุรกิจอาจจะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังของระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ได้ เพราะผู้บริโภคต่างหันมาให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสังคมและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลปี 2018-2020 พบว่า Shareholder Activism หรือ การเคลื่อนไหวจากกลุ่มผู้ถือหุ้นมีการรณรงค์เกี่ยวกับประเด็นทางทางสังคมเพิ่มขึ้นจาก 2% เป็น 12% และด้านสิ่งแวดล้อมจาก 2% เป็น 6%¹
กลุ่มพนักงานจะมองหาบริษัทที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม
คนรุ่นใหม่ทั้ง Millenials และ Gen Z มีแนวโน้มที่จะเลือกทำงานกับบริษัทที่มีวิสัยทัศน์หรือพันธกิจสอดคล้องกับค่านิยมของตนเองมากขึ้น โดยภายในปี 2030 กลุ่มแรงงาน Gen Z ในสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้น 3 เท่า ซึ่งจะทำให้สัดส่วนของพนักงานที่มองหางานจากบริษัทที่ตอบโจทย์เรื่องการสร้างผลกระทบเชิงบวกมากกว่าการดูเพียงชื่อตำแหน่งหรือค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย จากการสำรวจข้อมูลของ LinkedIn ยังระบุว่า พนักงานมีความภาคภูมิใจที่สุดที่ได้ทำงานในบริษัทซึ่งเห็นความสำคัญของ Work-life Balance คิดเป็น 51% ในขณะที่ชื่นชอบบริษัทที่วัฒนธรรมองค์กรสนับสนุนให้พนักงานแสดงความเป็นตัวตนได้ คิดเป็น 47% และที่เห็นได้ชัดคือ พนักงานจะมีความภูมิใจเมื่อได้ทำงานกับองค์กรที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมคิดเป็น 46%
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเกิดขึ้นควบคู่กับนโยบายของภาครัฐและการบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ เช่น การออกกฎหมายใหม่ที่สร้างแรงกดดันให้บริษัทจัดการปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน Supply Chain ของตนเอง ขณะเดียวกัน รัฐบาลของประเทศทั่วโลกต่างให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050
บริษัทที่ให้ความสำคัญกับแนวคิด ESG มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีกว่าในระยะยาว
สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2021 ทำให้หลายบริษัทหันมาตระหนักถึงแนวคิด ESG นอกเหนือไปจากการมุ่งแสวงผลกำไร โดยการปรับและผสมผสานนโยบายด้าน ESG เข้ากับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจยังช่วยให้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชนและกลุ่มผู้ถือหุ้น และในระยะยาวบริษัทที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้ควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตของผลประกอบการ จะมีแนวโน้มจัดการกับความเสี่ยงหรือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ดีกว่า
สิ่งที่เราควรพิจารณา นั่นคือ ผลประกอบการของกลุ่มบริษัท ESG เพื่อทำความเข้าใจว่าการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงส่วนรวม ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ได้เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตเสมอไป เห็นได้จากข้อมูลเมื่อปีที่ผ่านมา กองทุน ETF 7 ใน 10 กองทุนที่ใหญ่ที่สุดซึ่งเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินงานด้าน ESG ที่ดี มีผลตอบแทนสูงกว่าดัชนี S&P 500 ขณะที่ข้อมูลปี 2020 ระบุว่าดัชนี ESG จำนวน 52 จาก 69 ดัชนีซึ่งจัดอันดับโดย Morningstar สามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่าดัชนีเทียบเคียงในตลาด และยังมีดัชนี ESG อีก 57 จาก 65 ดัชนี ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีตลอด 5 ปีนับจนถึงสิ้นปี 2020²
เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลออกมาเป็นตัวเลข เราพบว่าการลงทุนในกลุ่มธุรกิจ ESG สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนได้ และ ESG ยังจัดเป็นปัจจัยที่มีส่วนช่วยสร้างผลตอบแทนได้ดีให้กับพอร์ตเมื่อเทียบกับปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนเช่นเดียวกันอย่าง ขนาดของสินทรัพย์ ความผันผวนของตลาด และการจ่ายเงินปันผล
ตารางแสดงคะแนน ESG ของพอร์ตแบบ General Investing แยกตามระดับความเสี่ยง โดยใช้ค่าเฉลี่ยจากการจัดอันดับของ MSCI ESG และ Morningstar ESG โดยมีคะแนนเต็ม 5 คะแนนซึ่งหมายถึงได้รับการจัดอันดับด้าน ESG ที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ เราใช้ข้อมูลการจัดอันดับของ Morningstar และ MSCI เนื่องจากเป็นผู้จัดทำดัชนีและหน่วยงานจัดอันดับกองทุนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยการจัดอันดับ ESG ของ MSCI นั้นเป็นการจัดอันดับโดยใช้ตัวอักษร ตั้งแต่ AAA ถึง CCC ซึ่งแบ่งเป็น 7 ช่วงคะแนน เราจึงกำหนดให้อันดับ AAA อยู่ที่ 7 คะแนน และ 1 คะแนนสำหรับ CCC ส่วน Morningstar ให้คะแนนรวมอยู่ที่ 5 คะแนน ดังนั้น คะแนน ESG ของ StashAway จึงเป็นค่าเฉลี่ยของทั้ง 2 ดัชนี
¹“Key trends that will drive the ESG agenda in 2022”, S&P Global, published 31 January 2022.
²“Why ESG is gaining importance in pre-IPO process”, Ernst and Young, published 14 January 2022.
บทความที่คุณอาจสนใจ: