ผลการดำเนินงาน H1/2023 ของ StashAway
เราขี่หลัง (ตลาด) กระทิงมาอย่างปลอดภัยได้อย่างไร
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 โดยเฉพาะไตรมาส 2 เราได้เห็นตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่กลับมาทำผลงานได้ดี ขณะที่ผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ไม่ได้ร้อนแรงเท่า โดยกลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ของเรา ยังคงจับสัญญาณว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจหดตัว แต่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง) ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องใช้ความระมัดระวัง โดยตั้งแต่ปลายปี 2022 ERAA™ ได้ปรับ Asset Allocation ให้ Defensive มากขึ้นเพื่อให้สามารถก้าวผ่านความผันผวนในตลาดไปได้ และทำให้พอร์ตที่ StashAway Risk Index (SRI) ระดับต่ำกว่า ทำผลตอบแทนได้ดีกว่า Benchmark* ส่วนพอร์ตที่มี SRI ระดับสูงกว่ายังมี Drawdown ที่ต่ำกว่า Benchmark*
เมื่อเราเจาะลึกผลตอบแทนโดยรวมของตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ จะพบว่า ตลาดถูกขับเคลื่อนโดยหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ตัว อย่าง Apple, Microsoft และ Nvidia ที่ราคาพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก
- กระแสตื่นตัวในเทคโนโลยี AI
- ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ
- ธนาคารกลางสหรัฐและยุโรปแก้ปัญหาความวุ่นวายในกลุ่มธุรกิจธนาคารด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมหาศาล
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ของเราแสดงให้เห็นว่า ปัจจัยบวกของหุ้นสหรัฐจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ ในระยะข้างหน้า (อ่านเพิ่มเติมได้ใน H2/2023 Market Outlook: ยังมีแสงสว่างท่ามกลางพายุ) และจากที่ ERAA™ ยังจับสัญญาณได้ว่า เศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะ Stagflation ทำให้เราเชื่อว่าการรักษาพอร์ตให้ Defensive ยังเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสม และโดยเฉพาะการที่ Fed น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก เราจึงยัง Overweight การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้น ซึ่งช่วยสร้างสมดุลให้พอร์ตได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของเราในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 เป็นอย่างไรบ้าง และทิศทางของตลาดในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร เราสรุปไว้แล้วในบทความนี้
- พอร์ต General Investing และ Goal-based Investing
- Thematic Portfolio
- แนวโน้มตลาดและสิ่งที่ต้องติดตามใน H2/2023
พอร์ต General Investing และ Goal-based Investing มีผลการดำเนินงานเป็นบวกในทุกระดับความเสี่ยง
ในช่วงครึ่งแรกของปี พอร์ต General Investing และ Goal-based Investing ทุกระดับความเสี่ยง (SRI 6.5% - 36%) มีผลการดำเนินงานเป็นบวก โดยเพิ่มขึ้นระหว่าง 2.7% และ 11% หรือโดยเฉลี่ยที่ 6.2% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (Goal-based Investing ใช้พอร์ตบริหารเดียวกันกับ General Investing จึงสามารถดูผลการดำเนินงานร่วมกันได้)
หุ้นเทคโนโลยียังคงขับเคลื่อนผลตอบแทนในตลาดหุ้น
ผลตอบแทนของหุ้นได้รับแรงสนับสนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี แต่จากการที่ ERAA™ ได้ปรับพอร์ตให้ Defensive ทำให้พอร์ตที่มี SRI สูงกว่า ทำผลตอบแทนได้ต่ำกว่า Benchmark* ในระดับความเสี่ยงเดียวกัน อย่างไรก็ตาม พอร์ตดังกล่าวยังคงได้ประโยชน์จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคโนโลยี จนผลตอบแทนเป็นบวกได้ถึง 2 หลัก และยังมีความผันผวนต่ำกว่า Benchmark*
สำหรับพอร์ตที่มี SRI ที่ต่ำกว่า สามารถทำผลตอบแทนได้ดีกว่า Benchmark* ในระดับความเสี่ยงเดียวกัน เนื่องจากเราให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น (Yield เพิ่มสูงขึ้นเพราะธนาคารกลางประเทศต่างๆ ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ย) รวมถึงทองคำ (ได้ประโยชน์จากวิกฤติในกลุ่มธุรกิจธนาคารเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา)
นอกจากนี้ พอร์ตการลงทุนของเรายังได้รับประโยชน์จากการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากยังมี Valuation ที่ดีและเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังดูสดใส ขณะที่สัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Healthcare และพลังงานส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ทองคำยังเป็น Safe-haven ท่ามกลางความผันผวนในตลาด
การที่ทองคำมีค่า Correlation ต่ำกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ทำให้ทองคำเป็น Safe-haven ของนักลงทุนท่ามกลางความไม่แน่นอนในตลาด ซึ่งเราได้เห็นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีแรก โดยสัดส่วนการลงทุนในทองคำของเราได้รับประโยชน์จากการที่นักลงทุนหาที่หลบภัยท่ามกลางความวุ่นวายในกลุ่มธุรกิจธนาคารสหรัฐและยุโรป และทำผลตอบแทนได้ 5.1% (ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา
ตราสารหนี้ระยะสั้นยังคงเป็นกุญแจสำคัญสำหรับพอร์ตที่ SRI ต่ำกว่า
การที่ ERAA™ ได้ Overweight การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้น ทำให้เราได้รับผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอและมีความเสี่ยงต่ำมาก โดยเฉพาะกับพอร์ตที่มีระดับ SRI ต่ำกว่า ซึ่งมีการลงทุนในตราสารหนี้สูงกว่า โดย Yield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้นตลอดช่วงครึ่งปีแรกจนมาอยู่ที่ 5.4% ต่อปีในเดือน มิ.ย. เนื่องจาก Fed ยังเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การที่ Fed ยังมีท่าทีว่าจะขึ้นและคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงต่อไป ทำให้ Yield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นยังน่าจะอยู่ในระดับสูงในระยะข้างหน้า ดังนั้นเรายังจะ Overweight สินทรัพย์ประเภทนี้ต่อไป ขณะที่สัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะยาวและหุ้นกู้คุณภาพดี (Investment-grade) ยังสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ตระดับความเสี่ยงต่ำด้วยเช่นกัน
การคงพอร์ตให้ Defensive ช่วยจำกัด Drawdown และความผันผวนของพอร์ต
การที่สินทรัพย์ Defensive อย่างตราสารหนี้และทองคำ สามารถทำผลตอบแทนได้ดีท่ามกลางความผันผวนในช่วงครึ่งแรกของปี แสดงให้เห็นความสำคัญของการ Stay Invested ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดี ทั้งนี้ การรักษาพอร์ตให้ Defensive ทำให้ค่าความผันผวน หรือ Volatility โดยเฉลี่ยของทุกระดับ SRI อยู่ที่ 6.5% ต่อปีในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งต่ำกว่า Benchmark* ที่ 7.9% ต่อปี โดยค่าความผันผวนที่ต่ำกว่านี้ยังช่วยปกป้องพอร์ตจาก Drawdown ซึ่งช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นในระยะยาว และทำให้พอร์ตที่ SRI ต่ำกว่าของเรา ยิ่งทำผลตอบแทนได้ดีกว่า Benchmark* เห็นได้จากตารางด้านล่าง
ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยค่าความผันผวนที่ต่ำกว่า ทำให้ Risk-adjusted Return (ผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง) เพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงครึ่งปีแรก Sharpe Ratio โดยเฉลี่ยของพอร์ต General Investing อยู่ที่ 2.00 ซึ่งสูงกว่า Benchmark* ที่ 1.8 (ตัวเลขที่สูงกว่าสะท้อนว่ามี Risk-adjusted Return ที่ดีกว่า)
Thematic Portfolio มีผลการดำเนินงานเป็นบวก จากขาขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
การกลับตัวของตลาดหุ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี กลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของผลตอบแทนใน Thematic Portfolio โดย ธีม Technology Enabler และ Future of Consumer Tech มีผลตอบแทนเป็นบวกถึง 2 หลัก ขณะที่ธีม Environment and Cleantech และ Healthcare Innovation ทำผลตอบแทนเป็นบวกได้เช่นกัน แม้จะน้อยกว่า 2 ธีมข้างต้น ซึ่งสัดส่วนใน ‘สินทรัพย์ปรับสมดุล’ อย่างตราสารหนี้และทองคำยังคงช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วงครึ่งแรกของปี
Technology Enablers
ในช่วงครึ่งแรกของปี ธีม Technology Enablers มีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 19.5% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยี AI และโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ทำให้ธีมนี้ได้รับประโยชน์โดยตรง เพราะมีสัดส่วนในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างเซมิคอนดักเตอร์และคลาวด์คอมพิวติ้ง ขณะที่ ‘สินทรัพย์ปรับสมดุล’ อย่าง ตราสารหนี้ระยะสั้นและทองคำยังช่วยสร้างผลตอบแทนโดยเฉพาะพอร์ตที่มี SRI ต่ำกว่า
Future of Consumer Tech
ธีม Future of Consumer Tech มีผลตอบแทนที่ดีในครึ่งปีแรกเช่นกัน โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 17.5% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยเดียวกับธีม Technology Enablers ที่ได้รับประโยชน์จาก AI และ LLM นอกจากนี้ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีบล็อกเชนและกลุ่มธุรกิจ Fintech ยังช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีให้พอร์ต เนื่องจากบริษัทที่ให้บริการรับชำระเงินออนไลน์และธนาคาร Digital ค่อยๆ เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติในกลุ่มธุรกิจธนาคารของสหรัฐและยุโรปช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้และทองคำ ยังช่วยสร้างผลตอบแทนได้เช่นเดียวกัน
Healthcare Innovation
ธีม Healthcare Innovation มีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3.7% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าธีมอื่นๆ แม้จะได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากบริษัทในกลุ่มธุรกิจ Healthcare ที่เกี่ยวข้องกับซอฟท์แวร์มาชดเชยความอ่อนแอในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ เช่น เภสัชกรรมและไบโอเทค ขณะที่ ‘สินทรัพย์ปรับสมดุล’ ยังช่วยสร้างผลตอบแทนโดยเฉพาะกับพอร์ตที่มีค่า SRI ต่ำกว่า
Environment and Cleantech
ธีม Environment and Cleantech มีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 6.8% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากกลุ่มธุรกิจต่างๆ อย่าง การบริการสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีบำบัดขยะ ระบบกักเก็บพลังงานและ Smart Grid รวมถึงการเงินสีเขียว สามารถทำผลงานได้ดี และยังช่วยชดเชยผลการดำเนินงานในกลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะชะงักงันของ Supply Chain และข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานในธุรกิจพลังงานสะอาด
แนวโน้มตลาดและสิ่งที่ต้องติดตามใน H2/2023
เข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปีแล้ว เรายังมองโลกในแง่ดีแต่ด้วยความรอบคอบเสมอ ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงจนสร้างความท้าทายให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง โดยเฉพาะในยุโรปกับสหรัฐ ทำให้ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ยังน่าจะรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงนานขึ้นอีก ขณะที่จีนยังเผชิญปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนญี่ปุ่นอาจอยู่ในจุดที่ดี เพราะมีสัญญาณฟื้นตัวจากภาวะเงินฝืดที่อยู่มาอย่างยาวนาน
ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ยังคงส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะ Stagflation ทำให้เรายังคงให้น้ำหนักกับ ‘สินทรัพย์ปลอดภัย’ ได้แก่ ตราสารหนี้ระยะสั้น หุ้นกลุ่ม Defensive และทองคำ ซึ่งยังมีบทบาทสำคัญในการปกป้องพอร์ตจากความผันผวนในตลาด โดยสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ H2/2023 Market Outlook: ยังมีแสงสว่างท่ามกลางพายุ
*หมายเหตุ:
Benchmark ที่เราใช้ในการเปรียบเทียบมาจาก MSCI All Country World Equity Index TRI ในส่วนของหุ้น (ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2566 ใช้ MSCI World Equity Index TRI) และใช้ FTSE World Government Bond TRI ในส่วนของตราสารหนี้ โดยน้ำหนักของ Benchmark ที่เราใช้จะมีค่าความผันผวนที่เกิดขึ้นจริง (Realized Volatility) ในระยะเวลา 10 ปีเท่ากับระดับความเสี่ยง StashAway Risk Index
ผลตอบแทนของโมเดลพอร์ตนี้เป็นมูลค่าทั้งหมดก่อนหักค่าธรรมเนียม ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผล โดยแบบจำลองผลการดำเนินงานนี้ทำเพื่อชี้วัดประสิทธิภาพของกลยุทธ์การลงทุน ไม่รวมปัจจัยอื่นๆ
ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงในบัญชีอาจแตกต่างจากโมเดลพอร์ต ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาดำเนินการซื้อขาย, ความแตกต่างของช่วงเวลาและความผันผวนระหว่างวันในการทำ Re-optimisation และการทำ Rebalancing, ค่าธรรมเนียม, ภาษีของเงินปันผล (และการขอคืนภาษี) และอื่นๆ โดยผลตอบแทนอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นคำเสนอ คำแนะนำ คำเชื้อเชิญ หรือการชักชวนให้ท่านซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเข้าทำธุรกรรมใดๆ
ข้อมูลนี้ไม่ได้จัดเตรียมขึ้นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลของท่าน (เช่น วัตถุประสงค์การลงทุน สถานการณ์ทางการเงิน หรือความความต้องการโดยเฉพาะ) ท่านควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย และด้านอื่นๆ ของท่านเอง