H2/2023 Market Outlook: ยังมีแสงสว่างท่ามกลางพายุ
ความท้าทายยังคงรออยู่ แต่สถานการณ์ในปีที่ผ่านมาอาจเปิดโอกาสให้สร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นในอนาคต
ตั้งแต่เริ่มต้นปี 2023 นักลงทุนส่วนใหญ่ได้เบนความสนใจจากปัญหาเงินเฟ้อไปยังการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ด้วยความกังวลว่าเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐและยุโรป จะเข้าสู่ Recession หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย
อย่างไรก็ตาม เราได้ผ่านครึ่งทางของปีนี้มาแล้วและเศรษฐกิจโลกก็ดูเหมือนจะยังเดินหน้าต่อไปได้ (แบบชะลอตัวลง) แม้จะมีทั้งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ความวุ่นวายในกลุ่มธนาคารของสหรัฐและยุโรป รวมถึงปัญหาเรื่องการขยายเพดานหนี้ในสหรัฐ ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นกลับปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งขับเคลื่อนจากความตื่นตัวในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีโดยเฉพาะ AI
ขณะที่เราเข้าสู่ H2/2023 แล้ว StashAway อยากเจาะลึกลงไปว่าอะไรที่ทำให้เศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 1 ของโลกยังไม่เข้าสู่ Recession และทำไมเราถึงคิดว่ายังมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า นอกจากนี้ เรายังมองย้อนกลับไปดูภาพรวมในระยะยาว รวมถึงเหตุผลที่เราเชื่อมั่นว่านักลงทุนยังมีอนาคตที่สดใสรออยู่
4 Key Takeaways ของเรามีดังนี้
- ความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐ ซึ่งมาจากการขาดสมดุลของ Supply-Demand หลังเกิด COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐยังเดินหน้าต่อไปได้ และยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Fed ยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยลง แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของ Fed ส่งผลให้ตลาดแรงงานเริ่มกลับสู่สมดุล ทำให้เราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นจะชะลอตัวทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม การที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูงกว่า 5% ก็เป็นสาเหตุว่าทำไม Recession ยังน่าจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปมากกว่านี้
- อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อไม่นานมานี้ เกิดขึ้นหลังจากช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลงมาตลอด 40 ปี โดยช่วงเวลาดังกล่าว Yield ของ ‘พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะยาว’ ปรับตัวลดลงเฉลี่ย 0.2% ต่อปี ทำให้ราคาของตราสารหนี้เพิ่มขึ้น 6% ต่อปี ทั้งนี้ การที่ Yield ได้ปรับตัวขึ้นราว 2% ในช่วงปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นการ Reset ครั้งใหญ่ของตลาดตราสารหนี้ และได้เปิดโอกาสให้ตราสารหนี้สามารถทำผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องไปอีก 10 ปี หากในระยะยาวอัตราดอกเบี้ยลดลงด้วยความเร็วเท่ากับช่วง 40 ปีก่อน ขณะที่ Discount Rate (อัตราคิดลดใช้ในการประเมินมูลค่าของหุ้น) ที่กำลังปรับตัวลดลงเรื่อยๆ ก็จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นด้วย
- ในภูมิภาคอื่นๆ นอกสหรัฐ เช่น ยุโรป ซึ่งกำลังเผชิญความท้าทายในแบบเดียวกัน ขณะที่จีนยังไม่ฟื้นตัวจาก COVID-19 ได้ตามคาด โดยญี่ปุ่นเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่อยู่ในจุดที่ดี ซึ่งเราได้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากภาวะเงินฝืดที่อยู่มายาวนาน
- กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ของ StashAway ยังคงจับสัญญาณได้ว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจหดตัว แต่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง) ทำให้เรายังคงให้น้ำหนักกับ ‘สินทรัพย์ปลอดภัย’ ได้แก่ ตราสารหนี้ระยะสั้น หุ้นกลุ่ม Defensive และทองคำ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อพอร์ตในช่วงที่เผชิญความท้าทายทั่วโลกตลอด 6-12 เดือนข้างหน้า
ความแข็งแกร่งในตลาดแรงงานสหรัฐอาจเป็นสาเหตุที่ Recession ยังมาไม่ถึง
นักลงทุนต่างมีคำถามกันมาตลอดปีว่าสหรัฐจะสามารถหนี Recession พ้นหรือไม่ โดยคำตอบขึ้นอยู่กับว่าตลาดแรงงานจะทนแรงกดดันของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed (ที่เร็วที่สุดตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980) ได้อีกนานแค่ไหน เนื่องจากตลาดแรงงานสหรัฐยังคงแข็งแกร่งกว่าที่คาด จากการขาดสมดุลของ Supply-Demand หลังวิกฤติ COVID-19 และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
ตลาดแรงงานเป็นปัจจัยหลักต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในสหรัฐ
ความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคคิดเป็นประมาณ 70% ของ GDP สหรัฐ โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้เติบโตเป็นพิเศษในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้บริโภคเก็บเงินได้มากขึ้นตลอดช่วงการระบาดของ COVID-19 จากมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถออกไปใช้เงินนอกบ้านได้และการที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ออกนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในช่วง COVID-19 การจับจ่ายซื้อสินค้า เช่น คอมพิวเตอร์หรือเฟอร์นิเจอร์ เติบโตขึ้นอย่างมาก และกำลังกลับสู่ภาวะปกติในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดแล้วแต่ภาคบริการยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคอยากใช้เงินเพื่อซื้อประสบการณ์ที่พวกเขาโหยหาตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น ไปเที่ยวต่างประเทศ หรือซื้อตั๋วคอนเสิร์ต Taylor Swift
ทั้งนี้ Demand ที่แข็งแกร่งในภาคบริการเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่สหรัฐกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน ส่วนหนึ่งเกิดจากการสับเปลี่ยนตำแหน่งงานในช่วง COVID-19 รวมถึงแรงงานวัย Baby Boomer ที่เกษียณเร็วขึ้นในช่วงโรคระบาด ทำให้ Labour Force Participation (อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงาน) ปรับตัวลดลง โดยจำนวนแรงงานหายไปเกือบ 2 ล้านคนเมื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID-19
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ค่าจ้างแรงงานและค่าบริการเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกับบริษัทที่สามารถผลักภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นไปให้ผู้บริโภค ทั้งนี้ เงินเฟ้อในภาคบริการนั้น เป็นสาเหตุหลักของอัตราเงินเฟ้อโดยรวม โดยในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อในภาคบริการ (Service Inflation) ยังอยู่ในระดับสูงที่ 6.2% ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อโดยรวมที่ 3%
ในท้ายที่สุด เราเชื่อว่าผลกระทบของปัจจัยเหล่านี้ จะเริ่มลดลงเมื่อตลาดแรงงานกลับสู่จุดสมดุล อย่างไรก็ดี ความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อาจทำให้ Recession เกิดขึ้นช้าลง
นโยบายที่เข้มงวดของ Fed จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในที่สุด
ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ Fed ต้องรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงนานขึ้น เพื่อลดความร้อนแรงในตลาดแรงงานและหลีกเลี่ยง Wage-price Spiral ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อค่าจ้างแรงงานและราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นวัฏจักร จนนำไปสู่ปัญหาเรื้อรังที่เป็นสาเหตุของภาวะเงินเฟ้อยืดเยื้อในช่วงปี 1970-80 โดยปัจจัยเหล่านี้ยังเพิ่มโอกาสที่จะเกิด Recession ในอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Fed ได้ส่งสัญญาณแล้วว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้งในปีนี้
สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตทั้งแง่บวกและลบ
- แง่ลบ: อาจเกิดขึ้นหากราคาพลังงานหรือสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นอีกอย่างรวดเร็วจากสาเหตุเช่น จีนออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้อัตราเงินเฟ้ออาจกลับขึ้นมาสูงอีกครั้งจน Fed ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
- แง่บวก: Soft Landing หรือการหลีกเลี่ยง Recession ก็อาจเกิดขึ้นได้ หาก Fed ใช้นโยบายทางการเงินได้อย่างเหมาะสมในขณะที่ตลาดแรงงานค่อยๆ ลดความร้อนแรง ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐไม่เข้าสู่ Recession แต่เมื่อพิจารณาสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่นี้ Soft Landing จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ Fed ออกนโยบายดังกล่าวได้ในเวลาที่ถูกต้อง
ความท้าทายในช่วงนี้อาจเปิดโอกาสให้เราสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้นในระยะยาว
ที่ StashAway หนึ่งในความเชื่อหลักของเราคือ การมองภาพในระยะยาวเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความมั่งคั่ง โดยเฉพาะเมื่อเราได้เห็นความผันผวนของตลาดตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา และเราเชื่อว่าการเรียนรู้จากสถานการณ์ในอดีตจะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุน เพราะอันที่จริง การศึกษาเทรนด์ต่างๆ ย้อนหลังไปหลายสิบปีจะทำให้เราเห็นภาพใหญ่ขึ้นและทำให้เราเห็นแนวโน้มในอนาคตได้ดีขึ้นด้วย
อัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาลงตลอด 4 ทศวรรษเป็นปัจจัยขับเคลื่อนผลตอบแทนตราสารหนี้
ตลาดตราสารหนี้เป็นขาขึ้นมาตลอด 40 ปีนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1980 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรงเพื่อจัดการเงินเฟ้อ จนทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 20%
หลังจาก Fed ประกาศชัยชนะในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ทำให้อัตราดอกเบี้ย (ณ ขณะนั้นอยู่ที่ 10%) รวมถึง Yield ของตราสารหนี้กลับตัวเป็นขาลงนับตั้งแต่นั้นมา โดย Yield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะยาวลดลงเฉลี่ยราว 0.2% ต่อปีตลอดช่วง 4 ทศวรรษหลัง ซึ่ง Yield ที่ลดลงนี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การควบคุมอัตราเงินเฟ้ออย่างมีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและเทคโนโลยี รวมถึงการออกมาตรการ Quantitative Easing (QE)
อย่างไรก็ตาม โดยปกติ ราคาของตราสารหนี้จะสวนทางกับ Yield ทำให้ในช่วงดังกล่าวแม้ Yield จะปรับตัวลดลง แต่ราคาของตราสารหนี้ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผลตอบแทนโดยรวม (รวมทั้ง Yield และราคาที่เพิ่มขึ้น) ของพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวขึ้นไปมากกว่า 17 เท่า หรือเท่ากับ 7.5% ต่อปี ในช่วงเวลาดังกล่าว
Great Reset หลังการปรับตัวลงครั้งใหญ่ในตลาดตราสารหนี้
สถานการณ์ดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงปีที่ผ่านมา หลัง Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่สูงสุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้ปรับตัวลดลงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยตลาดตราสารหนี้สหรัฐปรับตัวลดลงถึง 13% ในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ด้วย Yield ที่ปรับตัวสูงขึ้น 2-3% มาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงต้นทศวรรษ 2010 ทำให้เกิดการ Reset ครั้งใหญ่ในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นการสร้าง Runway ให้ตราสารหนี้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ไปอีก 10 ปี หาก Yield ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น
เช่นเดียวกันสำหรับหุ้น ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐทำผลงานได้อย่างแข็งแกร่ง เห็นได้จากดัชนี S&P 500 ที่ปรับตัวขึ้น 81 เท่า หรือราว 11.5% ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงก็เป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นเช่นกัน เนื่องจาก Discount Rate ที่ลดลงจะเพิ่ม Present Value ของเงินปันผลที่จะได้รับในอนาคต ซึ่งทำให้มูลค่าของหุ้นเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ การดำเนินนโยบาย QE นับตั้งแต่ปี 2008 หลังเกิดวิกฤติการเงินโลก ได้เพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงินอย่างมาก ส่งผลให้ Yield ของพันธบัตรรัฐบาลต่ำลงและทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ลดต่ำกว่า 0% ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการกู้ยืมและการลงทุนของภาคเอกชน
ปัจจัยดังกล่าวทำให้นักลงทุนหันไปหาสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น ทำให้ผลตอบแทนของหุ้นนับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมาแข็งแกร่งกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึง ‘พลังของผลตอบแทนทบต้น’ และความสำคัญของการ Stay Invested ในช่วงตลาดผันผวนได้เป็นอย่างดี
จีนเผชิญปัญหาการเติบโต ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังสดใส
สำหรับภูมิภาคอื่นๆ นอกสหรัฐ เรายังเห็นสถานการณ์ที่หลากหลายออกไป โดยยุโรปมีปัญหาคล้ายคลึงกับสหรัฐ ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูง (โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน หรือ Core Inflation) ซึ่งทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) อาจต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในปีนี้
ขณะที่เศรษฐกิจของจีนยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดหวัง โดยการยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ไม่ได้กระตุ้นให้การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างที่คาด รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีน แต่ที่น่ากังวลมากกว่า คืออัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วจนอาจติดลบ รวมถึงหนี้สาธารณะที่สูงและความอ่อนแอในตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน
เหตุผลข้างต้นทำให้ธนาคารกลางจีนดำเนินโยบายที่ตรงกันข้ามกับประเทศส่วนใหญ่ของโลก เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยฯ แต่ข้อจำกัดสำคัญของจีน คือ รัฐบาลมีเป้าหมายระยะยาวในการลดหนี้สาธารณะ จึงอาจไม่สามารถใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ได้
ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศมหาอำนาจที่เศรษฐกิจอยู่ในจุดที่ดี เห็นได้จากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงผลักดันนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย เพราะมีเป้าหมายรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับ 2% อย่างต่อเนื่อง จากที่เคยอยู่ในระดับต่ำมากตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ แม้ว่าโอกาสในระยะสั้นของนักลงทุนจะมีไม่มากนัก เนื่องจากตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากแล้วตั้งแต่ต้นปี แต่การที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มผลกำไรให้ภาคเอกชน จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้เติบโตต่อไปได้ในระยะยาว
ERAA™ ระบุว่าเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะ Stagflation และยังเน้นรับมือความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า
ในช่วงสิ้นปี 2022 กลยุทธ์การลงทุนของเราหรือ ERAA™ จับสัญญาณได้ว่าเศรษฐกิจได้เปลี่ยนผ่านจากภาวะ Inflationary Growth ไปสู่ภาวะ Stagflation ซึ่งเป็นภาวะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวและอัตราเงินเฟ้อสูง (แต่ชะลอความร้อนแรงลง) ทำให้พอร์ตการลงทุนของเราเน้นการ ‘ตั้งรับ’ มากขึ้นเพื่อให้สามารถก้าวผ่านความผันผวนในตลาดไปได้
ทั้งนี้ การจับสัญญาณครั้งล่าสุดของ ERAA™ แสดงให้เห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงหดตัว และแม้ว่าเงินเฟ้อได้ปรับตัวลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและน้ำมันยังคงยืดเยื้อ นอกจากนี้ เมื่อยังมีความไม่แน่นอนว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจะเป็นอย่างไรในระยะสั้น เท่ากับว่าการตั้งรับยังเป็นการรับมือที่ดีที่สุด
เรายังคงรักษา Asset Allocation ของพอร์ตให้ Defensive
ตราสารหนี้ระยะสั้นยังคงน่าสนใจด้วย Yield ที่ค่อนข้างสูงและความเสี่ยงที่ต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นที่ปัจจุบันให้ Yield ที่ 5.4% ต่อปี (ขึ้นจาก 4.5% เมื่อช่วงต้นปี) ทั้งนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ซึ่งจะทำให้ Yield อาจขึ้นไปได้อีกเช่นกันในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะยาวจะได้รับประโยชน์เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว และเมื่อวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้ถึงจุดจบ
สุดท้ายแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจยังน่าจะชะลอตัวลงอีกในระยะข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทต่างๆ จึงทำให้สินทรัพย์ Defensive มีแนวโน้มทำผลตอบแทนได้ดีในสภาวะเช่นนี้ นอกจากนี้ เรายังคงให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนา AI
เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ การกระจายการลงทุนไปยังตลาดหุ้นนอกสหรัฐยังมีโอกาสที่ดี โดยเฉพาะในตลาดหุ้นญี่ปุ่นซึ่งนักลงทุนจะได้รับประโยชน์จากปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจตามที่กล่าวมาข้างต้น
ขณะที่ ‘ทองคำ’ ยังถือเป็นสินทรัพย์สำคัญในพอร์ตของเรา เนื่องจากมีค่า Correlation หรือความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ค่อนข้างต่ำ ซึ่งช่วยปกป้องพอร์ตในช่วงตลาดผันผวนได้ เห็นได้จากช่วงครึ่งปีแรกที่ทองคำสามารถทำผลตอบแทนที่ดี เนื่องจากนักลงทุนต้องการหลบภัยท่ามกลางความวุ่นวายในกลุ่มธุรกิจธนาคาร
Stay Invested คือ ปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่งคั่ง
การ ‘จับจังหวะซื้อ-ขาย’ เป็นเรื่องยากมาก แม้กระทั่งนักลงทุนมืออาชีพที่มีประสบการณ์สูงยังไม่สามารถทำได้ถูกต้องทุกครั้ง
เมื่อพิจารณาสถานการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้คาดว่าหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่จะปรับตัวขึ้นมากกว่า 40% ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง แต่ถ้าเรา Stay Invested ในพอร์ตที่กระจายการลงทุนที่ดี ซึ่งมีสัดส่วนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมตามการวิเคราะห์ของ ERAA™ เราก็จะยังได้รับประโยชน์จากการปรับตัวขึ้นครั้งนี้
ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าการจับจังหวะซื้อ-ขายเป็นเรื่องที่ยาก และนี่คือเหตุผลว่าทำไม StashAway ถึงเชื่อมั่นในการลงทุนแบบ DCA หรือ Dollar-Cost Averaging ซึ่งเป็นการลงทุนอย่างเป็นระบบด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันอย่างสม่ำเสมอโดยไม่คำนึงถึงภาวะตลาด เพราะการ Stay Invested และการลงทุนอย่างสม่ำเสมอยังเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวและบรรลุเป้าหมายทางการเงินของคุณ ให้ลองนึกว่าคุณเป็นกัปตันเรือที่แล่นอยู่ในมหาสมุทร แม้ลมเปลี่ยนทิศจะทำให้เรือออกนอกเส้นทางไปบ้าง แต่จุดหมายสุดท้าย คือ สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณควรยึดเอาไว้ให้มั่น
หมายเหตุ: การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต