3 วิธีจัดการความเสี่ยงในการลงทุน
การลงทุนทุกรูปแบบย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยง คุณอาจจะได้ผลตอบแทนเมื่อราคาหลักทรัพย์สูงขึ้น แต่ก็อาจจะขาดทุนเมื่อราคาลดต่ำลง ซึ่งเมื่อไหร่ที่คุณต้องรับความเสี่ยงมากกว่าที่ยอมรับได้ คุณอาจจะใช้อารมณ์ในการตัดสินใจลงทุนโดยคำนึงถึงผลในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะทำให้คุณทำตามเป้าหมายทางการเงินในระยะยาวไม่สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม คุณสามารถจัดการความเสี่ยงในการลงทุนได้โดยการออกแบบและบริหารพอร์ตอย่างเหมาะสม และถ้าคุณจัดการความเสี่ยงได้ดี คุณก็สามารถประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่าวิธีจัดการกับความเสี่ยงในการลงทุนมีอะไรบ้าง
ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายเพื่อลด Concentration Risk (ความเสี่ยงจากการลงทุนกระจุกตัว)
ถ้าสมมุติว่าคุณนำเงินเก็บส่วนใหญ่ไปลงทุนในตลาดหุ้น แล้ววันหนึ่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้ราคาหุ้นดิ่งลง คุณก็อาจจะเสียเงินเก็บส่วนใหญ่ไป เหตุการณ์นี้คือตัวอย่างหนึ่งของ Concentration Risk ซึ่งหมายถึงการรวมเงินลงทุนไว้ในสินทรัพย์ประเภทเดียวหรือตลาดเพียงแห่งเดียว ทำให้คุณต้องรับความเสี่ยงมากเกินไปถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์หรือตลาดดังกล่าว
คุณลด Concentration Risk ได้ด้วยการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทหรือที่เรียกว่าการกระจายความเสี่ยง (Diversification) ซึ่งจะช่วยให้คุณยังได้รับผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง แต่ก็ลดความเสี่ยงที่สินทรัพย์นั้นมีต่อพอร์ตโดยรวมของคุณ เช่น เมื่อพอร์ตมีทั้งหุ้น พันธบัตร และทองคำ คุณจะได้รับผลตอบแทนจากหุ้น ซึ่งเป็น Growth-oriented Asset และมีความเสี่ยงสูง ส่วน Protective Asset อย่างพันธบัตรและทองคำจะช่วยรักษาเงินของคุณไว้ได้ในตลาดขาลง
นอกจากกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลากหลายประเภท การลงทุนในหลายประเทศก็เป็นการกระจายความเสี่ยงและลด Concentration Risk ได้อีกทางหนึ่ง เพราะจะเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนเมื่อเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และลดผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในบางประเทศซึ่งอาจเกิดจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ภัยธรรมชาติ หรือเหตุการณ์อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่นักลงทุนส่วนใหญ่ลงทุนในสินทรัพย์ภายในประเทศและมีการซื้อ LTF กันมากในอดีต ทำให้นักลงทุนไทยมี Concentration Risk ที่สูงในตลาดหุ้นไทย ซึ่งสามารถบริหารได้ด้วยการกระจายการลงทุนไปต่างประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้น การมีพอร์ตที่หลากหลายตามเป้าหมายการเงินต่างๆ ก็เป็นวิธีการกระจายความเสี่ยงที่ดีอีกทางหนึ่ง เพราะแต่ละพอร์ตก็จะมี Asset Allocation ที่เหมาะสมกับระยะเวลาของเป้าหมายและระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป เช่น พอร์ตสำหรับเป้าหมายระยะยาวจะสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้มากขึ้น เพราะระยะเวลาในการลงทุนที่นานจะช่วยให้พอร์ตมีเวลาฟื้นตัวจากความผัวผวนในระยะสั้นได้
ลงทุนด้วยการทำ DCA (Dollar-Cost Averaging)
การจับจังหวะซื้อ-ขาย (Time the Market) อาจทำให้นักลงทุนตัดสินใจตามอารมณ์ความรู้สึกและไม่ทำตามหลักการลงทุนและการบริหารความเสี่ยงที่ดี เช่น เมื่อนักลงทุนบางคนเห็นราคาหุ้นตัวหนึ่งกำลังขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็อาจรีบซื้อหุ้นตัวนั้นเพราะกลัวว่าจะพลาดตกขบวน (Fear Of Missing Out) ซึ่งทำให้ได้รับความเสี่ยงมากกว่าที่รับได้ แต่เมื่อราคาหุ้นลดลง นักลงทุนรายนั้นก็อาจจะรู้สึกกังวลว่าราคาอาจจะไม่ขึ้นมาอีกและขายหุ้นไปในราคาที่ขาดทุน (Cut Loss)
หรือต่อให้คุณเป็นนักลงทุนที่ตัดสินใจซื้อ-ขายอย่างรอบคอบแล้ว โอกาสที่จะจับจังหวะซื้อ-ขายได้ถูกต้องทุกครั้งและทำผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดก็ยังน้อยมากอยู่ดี เช่น ถ้าคุณลงทุนในตลาดหุ้น S&P 500 อย่างต่อเนื่องในช่วงปี 1995 ถึงปี 2014 คุณก็จะได้ผลตอบแทนจากพอร์ตที่ 9.9% ต่อปี แต่ถ้าคุณพลาดจังหวะที่ตลาดปรับตัวขึ้นไปเพียง 10 วัน ผลตอบแทนก็จะเหลือเพียง 5.1% เท่านั้น
เพื่อลดความเสี่ยงนี้ แทนที่คุณจะนำเงินทั้งหมดไปลงทุนในครั้งเดียว การลงทุนด้วยการทำ DCA จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะคุณจะไม่ต้องเสี่ยงขาดทุนด้วยมูลค่าที่มากถ้าจับจังหวะซื้อ-ขายผิด การทำ DCA คือการลงทุนอย่างเป็นระบบด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กันทุกเดือนโดยไม่คำนึงถึงภาวะตลาด ซึ่งจะช่วยเฉลี่ยราคาหลักทรัพย์ที่ซื้อไม่ให้สูงจนเกินไป
เน้นการลงทุนในระยะยาว
เมื่อดูภาพรวมระยะยาวจนถึงปัจจุบัน ตลาดหุ้นมีแต่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการลงทุนอย่างต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้ เพราะนี่คือปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเก็บของคุณงอกเงยและสร้างผลตอบแทนแบบทบต้น (Compound Interest) ได้ในระยะยาว
โดยปกติเมื่อหุ้นตัวหนึ่งราคาตก ก็มักจะมีคนเทขายหุ้นตัวนั้นทิ้งไป โดยหวังว่าจะกลับไปซื้อใหม่ในราคาต่ำที่สุด แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครรู้ว่าราคาต่ำสุดนั้นอยู่ตรงไหน และกว่านักลงทุนจะรู้ตัวว่าควรกลับเข้าไปซื้อ ราคาหุ้นก็อาจจะสูงเกินไปแล้ว ตัวอย่างเช่น ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ดัชนี S&P 500 มีมูลค่าต่ำสุดในวันที่ 9 มีนาคม 2009 ในช่วงเวลานั้นหลายคนก็ขายหุ้นทิ้งเพื่อรอซื้อคืนในราคาที่ต่ำกว่า แต่ไม่มีใครรู้เลยว่าตอนนั้นเป็นช่วงที่ราคาต่ำที่สุดแล้ว และหลังจากนั้นไม่นานเศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัว โดยเมื่อถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2009 ดัชนีก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปถึง 65% ในตอนนั้นหลายๆ คนก็ยังคิดว่ายังไม่ใช่เวลาที่จะกลับเข้าไปซื้ออีกครั้ง ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่าการถือเงินสดไว้นานๆ อาจทำให้เกิด Psychological Barrier ที่ทำให้นักลงทุนกลัวที่จะกลับเข้าไปลงทุนในตลาดที่มีความผันผวนอยู่ ซึ่งทำให้พลาดโอกาสในตลาดขาขึ้น
บริหารพอร์ตให้ดีที่สุดเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินของคุณ
การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง แต่ถ้าคุณเข้าใจและจัดการความเสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุน ทำ DCA และเน้นลงทุนในระยะยาวแล้ว พอร์ตของคุณก็จะพร้อมสร้างผลตอบแทนและช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ตามที่คุณต้องการ