ภาวะตลาดหมี นักลงทุนต้องรับมืออย่างไร?

28 June 2022
Freddy Lim and Stephanie Leung
CIO Office

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

เมื่อตลาดหุ้นทั่วโลกกลายเป็นขาลง หรือที่เรียกว่า ‘ตลาดหมี’ (Bear Market) นักลงทุนต้องรับมืออย่างไร

ช่วงเดือนที่ผ่านมาบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกยังคงซบเซา และมีข่าวด้านลบเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่การล็อกดาวน์ในประเทศจีนที่อาจส่งผลกระทบให้การเติบโตของ GDP ชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในสหรัฐและยุโรป

และเพื่อชะลอเงินเฟ้อที่พุ่งแรง Fed (ธนาคารกลางสหรัฐ) ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.75% ในเดือนมิถุนายน ถือเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 ซึ่งผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนครั้งนี้ คือ ตลาดหุ้นร่วงลงอย่างรุนแรงจากความกังวลว่าการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่เร็วและรุนแรงนี้ อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

ภาวะตลาดหมี แบบนี้นักลงทุนต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไร? เรามีคำตอบ


Key takeaways:

  • ภาวะตลาดหมี คือ ช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นติดลบมากกว่า 20% จากจุดสูงสุดในช่วงก่อนหน้า โดยภาวะนี้มักจะเกิดขึ้นเฉลี่ยทุก 3.6 ปี ซึ่งอาจไม่ได้เกิดควบคู่กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเสมอไป
  • นักลงทุนอาจไม่สบายใจเมื่อพอร์ตติดลบในช่วงตลาดหมี แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องไม่ลืม คือ ตลาดจะสามารถฟื้นตัวกลับมาเสมอในระยะยาว
  • 2 สิ่งที่ นักลงทุนควรทำในภาวะตลาดแบบนี้ คือ กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย และต้องมั่นใจว่าพอร์ตของคุณมี Asset Allocation ตรงกับระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้จริง

เมื่อต้องอยู่กับ 'ตลาดหมี' มีเรื่องอะไรที่นักลงทุนต้องรู้บ้าง?

คำว่า “ตลาดหมี” มักถูกใช้อธิบายสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นติดลบเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง โดยนิยามที่ชัดเจน คือ ตลาดหุ้นติดลบมากกว่า 20% เมื่อเทียบจากจุดสูงสุดก่อนหน้า

เมื่อเราย้อนดูสถิติในอดีตเกี่ยวกับภาวะตลาดหมีจาก ดัชนี S&P 500 ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา พบว่า:

  • ภาวะตลาดหมีเกิดขึ้นได้เป็นปกติ และมักจะเกิดขึ้นเฉลี่ยทุกๆ 3.6 ปี
  • ดัชนี S&P 500 เกิดภาวะตลาดหมีมาแล้วกว่า 26 ครั้ง นับจากปี 1928 ซึ่งทุกครั้งตลาดก็สามารถพลิกกลับมาฟื้นตัวได้ และเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
  • ภาวะตลาดหมีมักจะมีระยะเวลาสั้นกว่า โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 9.6 เดือน เมื่อเทียบกับภาวะตลาดกระทิง (Bull Market: ช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้น) ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 32 เดือน (2.8 ปี)

ดังนั้นตลาดติดลบช่วงหนึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่มักจะเกิดขึ้นในการลงทุน แต่อีกจุดสำคัญคือ เมื่อเกิดภาวะตลาดหมี ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเสมอไป จากข้อมูลในอดีตของดัชนี S&P 500 พบว่า ในช่วงที่เกิดภาวะตลาดหมี 11 ครั้ง มีมากกว่า 1 ใน 3 ที่สถานการณ์ไม่ได้จบลงด้วยการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

Bear Markets in article creative

กราฟแสดงสถิติ: ภาวะตลาดหมีไม่ได้นำสู่ภาวะถดถอยเสมอไป อ้างอิง: CNBC, LPL Research, Factset

ทั้งนี้ เทคโนโลยีการลงทุน ERAA™ ของเราที่คอยวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคเชิงลึก พบว่า ปัจจุบันเรายังอยู่ในภาวะ Inflationary Growth หรือภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตแต่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะในสหรัฐ

เราควรรับมือช่วงตลาดขาลงอย่างไร? 

คุณอาจไม่สบายใจเมื่อเห็นพอร์ตการลงทุนของคุณติดลบในช่วงภาวะตลาดหมี แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องทำความเข้าใจ คือ ตลาดมักฟื้นตัวกลับมาเติบโตในระยะยาวเสมอ ดังนั้น หากคุณติดตามและโฟกัสกับข่าวด้านลบที่เกิดขึ้นมากเกินไป คุณอาจรู้สึกกังวล และไม่กล้าลงทุน จนอาจทำให้คุณพลาดโอกาสในการลงทุนตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการไม่ลงทุนย่อมส่งผลต่อเป้าหมายการเงินในระยะยาวที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน

จากกราฟด้านล่างคุณจะเห็นว่า ในระยะยาวดัชนี S&P 500 ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1990 จนถึงปัจจุบัน แม้ระหว่างทางเราจะเห็นข่าวด้านลบในบางช่วงเสมอ ยกตัวอย่าง ถ้าคุณลงทุน 100 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,552 บาท*) เมื่อปี 1990 และปล่อยให้เงินของคุณเติบโต เมื่อถึงสิ้นปี 2021 มูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,575 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 91,464 บาท*) หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 10.68% ต่อปี

Value of 100 dollars invested in the S&P 500 in 1990

อ้างอิง: StashAway, Bloomberg

ในขณะเดียวกัน เมื่อเกิดข่าวลบต่อเนื่องอาจกระตุ้นให้นักลงทุนรอคอย “จุดต่ำสุด” ของตลาดเพื่อจับจังหวะเข้าลงทุน แต่กลยุทธ์นี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด เพราะแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนก็ไม่สามารถคาดการณ์จุดต่ำสุดได้แม่นยำทุกครั้ง และการจับจังหวะผิดเพียงครั้งเดียวอาจสร้างความสูญเสียได้อย่างมาก ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยยังพบว่า ช่วงเวลาที่ตลาดสร้างผลตอบแทนสูงที่สุดมักเกิดขึ้นใกล้ๆ กับช่วงเวลาที่ตลาดดิ่งลงรุนแรงเช่นกัน

  • จากสถิติในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ‘วันที่ S&P 500 ปรับตัวสูงขึ้นที่สุด’ มากกว่า 50% เกิดขึ้นในช่วงภาวะตลาดหมี
  • อีก 34% ของ ‘วันที่ S&P 500 ปรับตัวสูงขึ้นที่สุด' เกิดขึ้นในช่วง 2 เดือนแรกของภาวะตลาดกระทิง ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะมีสัญญาณชัดเจนว่าภาวะตลาดกระทิงได้เกิดขึ้นแล้ว¹

ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดในการรับมือตลาดหมี คือ Stay Invested ลงทุนตามแผน และ DCA (Dollar-Cost-Averaging) อย่างสม่ำเสมอ เพราะการคาดเดาว่าตลาดจะฟื้นขึ้นเมื่อไรเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก และคุณอาจพลาดโอกาสเมื่อตลาดเริ่มฟื้นตัว

ขณะเดียวกัน ควรกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย และต้องมั่นใจว่าพอร์ตของคุณมี Asset Allocation เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้จริง เพราะทั้ง 2 สิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้คุณลงทุนได้อย่างสบายใจ ไม่ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะกระทิงหรือตลาดหมี ที่ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอในทุกเส้นทางการลงทุน


*อัตราแลกเปลี่ยนที่ 35.52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

¹อ้างอิง: Ned Davis Research, ธ.ค. 2021, ช่วงเวลาอ้างอิง 16 ธ.ค. 2001-15 ธ.ค. 2021


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ