CIO Insights: เตรียมพร้อมศึกเลือกตั้งสหรัฐ กุญแจสำคัญยังคงเป็นการ Stay Invested

02 April 2024
Stephanie Leung
Group CIO

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

ปี 2024 กลายเป็นปีสำคัญสำหรับแวดวงการเมือง เพราะราวครึ่งหนึ่งของประชากรโลกจะมีโอกาสเดินเข้าคูหาเลือกตั้งในปีนี้ โดยการเลือกตั้งที่บรรดานักลงทุนจับตามองมากเป็นพิเศษ คือ การชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐในเดือน พ.ย. 

CIO Insights เดือนนี้ จึงอยากพานักลงทุนสำรวจความเป็นไปได้ของผลการเลือกตั้งสหรัฐตามข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ พร้อมเจาะลึกว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะส่งผลกับตลาดโลกอย่างไรบ้าง 

5 Key takeaways:

  • โพลล่าสุดแสดงให้เห็นคะแนนนิยมที่ค่อนข้างสูสีระหว่าง Joe Biden กับ Donald Trump โดยข้อมูลในอดีตบ่งชี้ว่าสภาพเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับผลการเลือกตั้ง แม้ในขณะนี้อาจยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าใครจะชนะ แต่สภาพเศรษฐกิจที่ดีในรัฐ Swing State ในปัจจุบัน ดูจะเป็นใจให้กับ Biden โดยเฉพาะถ้าเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่งต่อไปจนถึงช่วงเลือกตั้ง
  • ผลการเลือกตั้งจะส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างไร? ตามสถิติแล้ว พันธบัตรสหรัฐให้ผลตอบแทนที่แข็งแกร่งกว่าอย่างเห็นได้ชัด หากผู้สมัครจากพรรค Republican เป็นผู้ชนะ ขณะที่ดัชนี S&P 500 ให้ผลตอบแทนไม่ต่างกันไม่ว่าใครจะได้ครองตำแหน่งในทำเนียบขาว
  • แนวคิดด้านนโยบายของ Biden และ Trump ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้เราเห็นภาพว่าทั้งคู่อาจขับเคลื่อนนโยบายอะไรต่อไป และนโยบายเหล่านี้จะส่งผลต่อกลุ่มธุรกิจต่างๆ อย่างไร โดยหาก Biden เป็นผู้ชนะ ก็อาจส่งผลดีต่อเนื่องกับกลุ่มที่ได้ประโยชน์อยู่ในปัจจุบัน เช่น กลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาดและบางส่วนของกลุ่มธุรกิจ Healthcare แต่หาก Trump เป็นผู้ชนะ นโยบายในอดีตของเขาค่อนข้างชัดเจนว่าสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล
  • ขณะที่นโยบายกลาโหมค่อนข้างมีความสำคัญกับทั้ง Biden และ Trump เนื่องจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังมีจุดยืนที่ค่อนข้างแข็งกร้าวต่อจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีได้
  • หากเรามองข้ามวัฏจักรทางการเมืองในระยะสั้น สถิติในอดีตบ่งชี้ว่า ไม่ว่าผู้สมัครจากพรรคไหนจะชนะการเลือกตั้ง ทั้งตลาดหุ้นและตราสารหนี้สหรัฐยังคงให้ผลตอบแทนที่แข็งแกร่งในระยะยาว ดังนั้น Winning Strategy เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินยังคงเป็นวิธีที่เรียบง่ายคือ Stay Invested ให้ได้นานที่สุด โดยไม่พยายามจับจังหวะตลาด

สภาพเศรษฐกิจอาจส่งผลกับผลการเลือกตั้ง

สภาพเศรษฐกิจมักมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับผลการเลือกตั้ง โดยงานวิจัยของเราพบว่าในช่วง 90 ปีที่ผ่านมา หากเศรษฐกิจอ่อนแอ (GDP ชะลอตัว, เงินเฟ้อหรืออัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้น) มีแนวโน้มที่ผู้นำคนปัจจุบันจะพ่ายแพ้การเลือกตั้ง แต่หากเศรษฐกิจดี ผลการเลือกตั้งมักจะออกมาตรงข้ามกัน

ปัจจัยดังกล่าวค่อนข้างเชื่อมโยงกับการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ประเด็นเศรษฐกิจยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งในขณะนี้ ข้อมูลได้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐยังอยู่ในเกณฑ์ดี ด้วย GDP ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง เงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลง Sentiment ของผู้บริโภคยังดีขึ้นเป็นลำดับ รวมถึงอัตราการว่างงานในระดับต่ำ ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลดีต่อ Biden  

อย่างไรก็ตาม คะแนนนิยมของทั้ง Biden และ Trump ค่อนข้างสูสีกันมาก โดยผลโพลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า Trump มีคะแนนนำ Biden แค่ 2% ทำให้สภาพเศรษฐกิจใน 7 รัฐ Swing State อาจเป็นปัจจัยกำหนดผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ จากตารางด้านล่างเราจะเห็นว่าข้อมูลเศรษฐกิจเป็นไปในทิศทางที่ดีสำหรับ Biden เพราะ GDP ในรัฐเหล่านี้เติบโตอย่างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย อัตราเงินเฟ้อยังลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงอัตราการว่างงานโดยรวมที่ค่อนข้างต่ำและกำลังลดลงเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ เช่น ชาวอเมริกันค่อนข้างกังวลเรื่องอายุของผู้สมัครทั้ง 2 ราย หมายความว่า ผู้สมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดีอาจมีส่วนมากขึ้นต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ รวมถึงการที่ Trump ยังมีคดีความในชั้นศาลอยู่หลายคดี ซึ่งอาจส่งผลต่อคะแนนนิยมของอดีตประธานาธิบดีผู้นี้ โดย 53% ของผู้ตอบแบบสำรวจใน 7 รัฐ Swing State ระบุว่าพวกเขาไม่อยากลงคะแนนให้ Trump หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง นอกจากนี้ ยังมีนโยบายสำคัญอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อการเลือกตั้ง เช่น นโยบายเรื่องผู้อพยพ, Healthcare และการต่างประเทศ 

แม้สถิติบ่งชี้ว่าผลการเลือกตั้งไม่ค่อยมีผลกับตลาดหุ้น แต่พันธบัตรสหรัฐมักให้ผลตอบแทนดีกว่าภายใต้การนำของพรรค Republican

แล้วผลการเลือกตั้งจะส่งผลต่อตลาดอย่างไร? สถิติในอดีตบ่งชี้ว่าผลการเลือกตั้งมักมีความสัมพันธ์กับผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐมากกว่าหุ้น 

จากข้อมูลย้อนหลัง 50 ปี พันธบัตรสหรัฐมักให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในช่วงที่ประธานาธิบดีมาจากพรรค Republican โดยเมื่อดูจากกรอบเวลา 2 ปี ตามวาระของสภาคองเกรส หากประธานาธิบดีมาจากพรรค Republican ค่า Median ของผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะอยู่ที่ 21% แต่หากประธานาธิบดีมาจากพรรค Democrat ค่า Median นี้จะอยู่ที่ 6% เท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น หากประธานาธิบดีมาจากพรรค Republican แต่พรรค Democrat สามารถกุมเสียงข้างมากได้ทั้ง 2 สภา (Democratic Congress) หรือกุมเสียงข้างมากพรรคละสภา (Divided Government) ผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก  

ในทางตรงกันข้าม ผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 นั้นคล้ายกันไม่ว่าประธานาธิบดีจะมาจากพรรคไหน โดยสถิติในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ค่า Medain ของผลตอบแทนดัชนี S&P 500 จะเป็นบวกอยู่ที่ราว 25-30% ตลอดวาระ 2 ปีของสภาคองเกรส

นอกจากนี้ ยังมีบางข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นอาจให้ผลตอบแทนสูงขึ้นภายใต้ Divided Government แต่ข้อมูลยังไม่มากพอที่จะสรุปได้อย่างชัดเจน อธิบายสั้นๆ คือ ตามสถิติแล้ว ตลาดหุ้นค่อนข้างไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเมื่อเทียบกับตลาดตราสารหนี้

ส่องนโยบายของ Biden และ Trump ที่จะส่งผลต่อกลุ่มธุรกิจต่างๆ

ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแต่ละคนจะมีแนวคิดด้านนโยบายแตกต่างกันไป ซึ่งการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกันนี้ จะเป็นตัวกำหนดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มธุรกิจต่างๆ ภายใต้รัฐบาลใหม่ เราจึงอยากวิเคราะห์ 3 กลุ่มธุรกิจหลักที่ทั้ง Biden และ Trump ให้ความสำคัญ ดังนี้

Healthcare

กลุ่มธุรกิจ Healthcare มักมีความผันผวนมากขึ้นในปีที่มีการเลือกตั้ง เพราะมีแนวโน้มเกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายภายใต้รัฐบาลใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากในหลายภาคส่วน นับตั้งแต่บริษัทประกันสุขภาพไปจนถึงผู้ผลิตยา

สำหรับ Biden: นโยบายด้าน Healthcare ของเขาเน้นให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้มากขึ้น ยกระดับกฎหมาย Affordable Care Act (ACA) และลดราคายา

สำหรับ Trump: การลดราคายาและเบี้ยประกันสุขภาพ คือ นโยบายหลักในการหาเสียงครั้งนี้ โดยในช่วงที่ Trump ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาพยายามที่จะรื้อกฎหมาย ACA หลายครั้ง

Takeaway: มีความเป็นไปได้ว่านโยบายเหล่านี้จะส่งผลกระทบทั้ง 2 ด้าน โดยการขยายการเข้าถึงระบบสาธารณสุขอาจส่งผลดีต่อผู้ให้บริการด้านสุขภาพ แต่การลดราคายาก็อาจสร้างปัญหาให้กับบริษัทในกลุ่มเภสัชกรรม ทั้งนี้ มีงานวิจัยผลการดำเนินงานของหุ้นกลุ่ม Healthcare หลังจากมีการบังคับใช้กฎหมาย ACA โดยสรุปได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ ความชัดเจนของนโยบาย ซึ่งดูเหมือนว่า Biden น่าจะมีนโยบายที่ชัดเจนมากกว่า Trump ในประเด็นนี้

สิ่งแวดล้อมและพลังงาน 

กลุ่มธุรกิจพลังงานต้องเผชิญกับนโยบายที่แตกต่างกันระหว่างรัฐบาลของ Biden และ Trump ซึ่งนโยบายของแต่ละรัฐบาลจะส่งผลกระทบอย่างมากในแต่ละภาคส่วน

สำหรับ Biden นโยบายสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทนถือว่าเป็นนโยบายหลัก เห็นได้จากข้อความในกฎหมาย Inflation Reduction Act (IRA) ในปี 2022 ซึ่งส่งผลดีต่อกลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาด โดยมีการประกาศทุ่มงบประมาณ 282,000 ล้านดอลลาร์ในปีแรกที่บังคับใช้

นโยบายดังกล่าวนั้นแตกต่างจากสมัยของ Trump ที่เน้นการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลภายในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อบริษัทน้ำมัน ก๊าซและถ่านหิน

Takeaway: นโยบายในอดีตของทั้ง Biden และ Trump ค่อนข้างชัดเจน คือ Biden สนับสนุนพลังงานสะอาด ส่วน Trump สนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างไรก็ตาม หาก Trump ชนะการเลือกตั้ง มีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่ Trump จะยกเลิกนโยบายพลังงานสะอาดของ Biden เพราะในขณะนี้งบประมาณจาก IRA ราว 225,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 80% จากงบทั้งหมด อยู่ในพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของพรรค Republican 

กลาโหม

บริษัทด้านกลาโหมจะต้องพึ่งพารายได้จากรัฐบาลสหรัฐอย่างมาก ทำให้ผลกำไรและผลการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่มนี้จะมีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ทั้ง Biden และ Trump ต่างใช้งบประมาณด้านกลาโหมใกล้เคียงกัน ที่ราว 3% ของ GDP โดยเฉลี่ย ในช่วงที่ทั้งคู่ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ โดย Trump เคยเพิ่มงบกลาโหม หลังถูกลดมานานหลายปีในสมัยของประธานาธิบดี Barack Obama ส่วนเหตุการณ์ที่รัสเซียบุกยูเครน และสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ทำให้สหรัฐภายใต้การนำของ Biden ยังต้องทุ่มงบประมาณในส่วนนี้ต่อไป

Takeaway: ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น มีการประเมินว่างบประมาณด้านกลาโหมทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 4.9% ตลอด 5 ปีข้างหน้า ดังนั้น งบกลาโหมของสหรัฐน่าจะอยู่ในระดับนี้ต่อไปในระยะสั้น-กลาง ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้การนำของ Biden หรือ Trump 

นอกจากนี้ จีนยังคงเป็นประเด็นร้อนสำหรับทั้ง 2 พรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยทั้ง Biden และ Trump ต่างมีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อจีน โดยเฉพาะการกีดกันไม่ให้จีนเข้าถึงการพัฒนาเทคโนโลยีของสหรัฐ ทำให้กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีอาจเผชิญความผันผวน เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับจีนค่อนข้างมาก โดยรายได้ 16% ของกลุ่มธุรกิจ IT และ 27% ของกลุ่มธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ในดัชนี S&P 500 ล้วนมาจากจีน

สิ่งสำคัญที่สุดยังคงเป็นการ Stay Invested ในระยะยาว

ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา แม้ผู้มีอำนาจทางการเมืองจะเปลี่ยนหน้ากันไปเรื่อยๆ แต่ตลาดหุ้นและตราสารหนี้สหรัฐยังคงอยู่ในขาขึ้นมาโดยตลอด โดยตารางด้านล่างแสดงให้เห็นว่า หากคุณ (หรือพ่อแม่ของคุณ😁) นำเงิน 100,000 บาท มาลงทุนในดัชนี S&P 500 ในปี 1973 เงินจำนวนดังกล่าวจะเติบโตเป็น 18,602,100 บาทในปัจจุบัน หรือเท่ากับผลตอบแทนที่ 11% ต่อปี และหากนำเงินจำนวนเท่ากันมาลงทุนในพันธบัตรสหรัฐ เงินจำนวนนี้ก็จะเติบโตเป็น 2,263,700 บาท หรือเท่ากับผลตอบแทนกว่า 6% ต่อปี

หากเปรียบเทียบกับการถือเงินสด เงิน 100,000 บาท จะเพิ่มเป็น 1,102,900 บาทในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า การ Stay Invested ในตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนมากกว่าการถือเงินสดเกือบ 17 เท่า แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าการลงทุนในหุ้นจะต้องเผชิญความผันผวนสูงกว่าเช่นกัน

การเปรียบเทียบด้านบนทำให้เราเห็นความสำคัญของการมองข้ามเหตุการณ์ระยะสั้น เพราะวัฏจักรต่างๆ นั้นผ่านเข้ามาแล้วก็จะผ่านไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือเศรษฐกิจ แต่หากคุณถอยหลังออกมามองภาพกว้างในระยะยาว จุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุดที่เคยดูยิ่งใหญ่ จะกลายเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในหน้าประวัติศาสตร์เท่านั้น ซึ่ง Winning Strategy ที่จะทำให้คุณบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ยังคงเป็นวิธีที่เรียบง่าย คือ การไม่จับจังหวะตลาด แต่ Stay Invested ให้ได้นานที่สุดนั่นเอง


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ