CIO Insights: คู่มือการลงทุนตราสารหนี้ฉบับเจาะลึก
ในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ต้องเผชิญกับความวุ่นวายอย่างหนัก เนื่องจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลให้เกิด Bear Market ครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดตราสารหนี้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ Yield ตราสารหนี้อยู่ในระดับสูงสุดในรอบเกือบ 25 ปี และกำลังถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เมื่อธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกได้เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ทำให้ช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้อาจถือเป็นการ Reset ครั้งใหญ่ และอาจสร้างโอกาสที่ดีให้ตลาดตราสารหนี้ในหลายๆ แง่มุม
CIO Insights เดือนนี้ จึงอยากพาทุกท่านเจาะลึกสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอและมีความมั่นคง รวมถึงวิธีกระจายการลงทุนในตลาดตราสารหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ
5 Key takeaways:
- ตลาดตราสารหนี้มีขนาดใหญ่และหลากหลาย ดังนั้นจึงมีโอกาสมากมายสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสม่ำเสมอและคาดเดาได้ ตราสารหนี้ประเภทต่างๆ นับตั้งแต่พันธบัตรรัฐบาลไปจนถึงหุ้นกู้ High Yield จะมี Risk-return Profile (ลักษณะผลตอบแทนและความเสี่ยง) แตกต่างกันไป ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์การลงทุนที่หลากหลายได้
- การสร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอและความมีเสถียรภาพเป็น 2 เหตุผลหลักที่เราควรมีตราสารหนี้ไว้ในพอร์ต Coupon หรือดอกเบี้ยที่ผู้ออกตราสารหนี้ต้องจ่ายให้กับผู้ถือตามเวลาที่กำหนดไว้ จะช่วยสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอให้กับนักลงทุนได้ นอกจากนี้ ตราสารหนี้ยังมีความผันผวนต่ำกว่าเมื่อเทียบกับหุ้น และจะช่วยรองรับแรงกระแทกในช่วงเศรษฐกิจขาลงได้ ดังนั้น ตราสารหนี้จึงเป็นเครื่องมือการกระจายการลงทุนที่ดีให้กับพอร์ตของนักลงทุน
- การกระจายการลงทุนและการสร้างพอร์ตอย่างมีประสิทธิภาพ คือ กุญแจสำคัญในการบริหารความเสี่ยง การกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ผ่าน ETF หรือกองทุน คือ อีกวิธีในการช่วยจำกัดความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ โดยข้อมูลแสดงให้เห็นว่าการบริหารพอร์ตตราสารหนี้แบบ Active ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตราสารรายตัว หรือการบริหาร Asset Allocation ให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นได้ ซึ่งเทคโนโลยีการลงทุน Economic Regime Asset Allocation หรือ ERAA™ ของเรา ได้คำนึงถึงสิ่งนี้ และมีการบริหารสัดส่วนตราสารหนี้ในพอร์ตให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วง
- การ ‘Reset ครั้งใหญ่’ ของ Yield ตราสารหนี้ ได้สร้างโอกาสครั้งใหม่ให้กับนักลงทุน การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงสุดในรอบเกือบ 25 ปี ทำให้นักลงทุนตราสารหนี้อยู่ในจุดที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับช่วง 3 ปีก่อนที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับเกือบ 0% โดยในภาวะเศรษฐกิจ Inflationary Growth แบบปัจจุบัน ERAA™ ได้เลือกใช้กลยุทธ์ ‘Barbell’ ด้วยการมีสัดส่วนที่เหมาะสมในพันธบัตรสหรัฐระยะสั้นกับหุ้นกู้ High-yield
- แนวทางการลงทุนในตราสารหนี้จะขึ้นอยู่กับเป้าหมายทางการเงิน อายุและระดับความเสี่ยงที่เหมาะกับคุณ หากคุณให้ความสำคัญกับการสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ คุณอาจลองพิจารณาสร้างพอร์ตที่มีแต่ตราสารหนี้เพียงอย่างเดียว เพื่อรับประโยชน์จาก Yield ระดับสูงในปัจจุบัน แต่สำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนโดยรวม การมีสัดส่วนของตราสารหนี้และสินทรัพย์อื่นๆ อย่างสมดุล ก็จะทำให้คุณได้ทั้งผลตอบแทนที่สม่ำเสมอและมีโอกาสได้กำไรจากราคาที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว สัดส่วนที่เหมาะสมของตราสารหนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุของนักลงทุน โดยกุญแจสำคัญ คือ การปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับเป้าหมายทางการเงินของตัวเองที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ชีวิต
ตราสารหนี้มีความหลากหลาย ซึ่งสามารถตอบโจทย์การลงทุนที่แตกต่างกัน
ก่อนที่จะเจาะลึกในรายละเอียดต่างๆ เราขอเริ่มด้วยหลักพื้นฐานก่อน ตราสารหนี้ คือ การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ โดยผู้ให้กู้หรือนักลงทุน จะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ส่วนผู้ออกตราสารหนี้ เช่น รัฐบาลหรือบริษัทต่างๆ จะมีสถานะเป็นลูกหนี้
เช่นเดียวกับการให้กู้ยืมเงิน เจ้าหนี้จะได้รับเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดอายุไถ่ถอน (Maturity) และได้ดอกเบี้ย (Coupon) อย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยนักลงทุนสามารถคำนวณผลตอบแทนคาดหวังจากตราสารหนี้เมื่อถือครบกำหนด หรือที่เรียกกันว่า Yield to Maturity (YTM) ด้วยการคำนวณอัตราดอกเบี้ย และส่วนต่างระหว่างราคาที่เข้าซื้อกับมูลค่าที่ตราไว้ (Face Value) เมื่อครบกำหนดอายุไถ่ถอน (อ่านคำอธิบายเพิ่มเติมได้ใน Bond Market Basics ด้านล่างบทความ)
ทั้งนี้ อาจเป็นเรื่องน่าแปลกใจ แต่จริงๆ แล้ว ตลาดตราสารหนี้เป็นหนึ่งในตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าถึง 130 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 จากการประเมินของ Securities Industry and Financial Markets Association ซึ่งมากกว่าตลาดหุ้นโลกที่มีมูลค่า 101 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ราว 30%
ตลาดตราสารหนี้ยังประกอบไปด้วยตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งสามารถจำแนกได้ตามคุณสมบัติต่างๆ เช่น ประเภทของผู้ออก ความน่าเชื่อถือ และระยะเวลา ซึ่งตราสารหนี้แต่ละประเภทก็จะมีความเสี่ยงและผลตอบแทนแตกต่างกันไป และเราได้สรุปภาพรวมของตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนมากที่สุด ดังนี้
พันธบัตรรัฐบาล
พันธบัตรรัฐบาล คือ ประเภทของตราสารหนี้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งรัฐบาลของประเทศต่างๆ (รวมถึงหน่วยงานของรัฐบาลและรัฐบาลท้องถิ่น) จะเป็นผู้ออกและให้การค้ำประกัน โดยตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐถือว่ามีความสำคัญมากสำหรับตลาดตราสารหนี้โลก เนื่องจากมีสภาพคล่องและประสิทธิภาพสูง ทำให้อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมักถูกเรียกว่า ‘Risk-free Rate’ หรือผลตอบแทนปลอดความเสี่ยง และยังถูกนำไปใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการคำนวณอัตราดอกเบี้ยอื่นๆ รวมถึงเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลก
เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลจะใช้ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเป็นหลักประกัน สินทรัพย์ประเภทนี้จึงมักมีความผันผวนน้อยกว่าและให้ผลตอบแทนต่ำกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ประเภทอื่น นี่คือเหตุผลว่าทำไมพันธบัตรรัฐบาลจึงมักดึงดูดนักลงทุนที่ค่อนข้าง Conservative ซึ่งต้องการผลตอบแทนที่คาดการณ์ได้และมีความเสี่ยงต่ำกว่า โดยตารางด้านล่างแสดงให้เห็นว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรที่มีอายุสั้น มีความผันผวนน้อยที่สุดในบรรดาตราสารหนี้หลักทั้งหมด
หุ้นกู้
หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ที่มีขนาดใหญ่อันดับสองในตลาดตราสารหนี้ โดยบริษัทต่างๆ จะใช้หุ้นกู้เพื่อระดมทุนสำหรับการขยายกิจการหรือการดำเนินงาน โดยหุ้นกู้มักถูกแบ่งออกเป็น 2 หมวดหมู่หลัก ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของผู้ออก ได้แก่ หุ้นกู้คุณภาพดี (Investment-grade Bond) ซึ่งมีความน่าเชื่อถือมากกว่าและมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำกว่า และหุ้นกู้ผลตอบแทนสูง (High-yield Bond) ซึ่งมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าและมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงกว่า โดยคุณสมบัติของหุ้นกู้ทั้ง 2 ประเภทล้วนตรงกับชื่อของมัน คือ หุ้นกู้ผลตอบแทนสูงมักให้ Yield ที่สูงกว่าหุ้นกู้คุณภาพดี เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่สูงกว่า
ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่
ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลหรือบริษัทในตลาดเกิดใหม่ (EM) กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยตราสารหนี้ประเภทนี้มักถูกออกโดยใช้ Hard Currency หรือสกุลเงินที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายและมีเสถียรภาพสูง เช่น ดอลลาร์ฯ หรือยูโร หรือสกุลเงินท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ ซึ่งตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่มักให้ Yield ที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับตราสารหนี้ประเทศพัฒนาแล้ว (DM) เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่สูงกว่า เพราะโดยทั่วไปแล้ว ตลาดเกิดใหม่มักมีความผันผวนของค่าเงิน เศรษฐกิจ และการเมืองสูงกว่า
ตราสารหนี้ Securitization
ตราสารหนี้อีกประเภทที่กำลังเติบโต คือ ตราสารหนี้ Securitization หรือการที่ผู้ออกตราสารนำสินทรัพย์ต่างๆ มารวมกันเป็นกองสินทรัพย์ (Pool Assets) เพื่อเป็นหลักประกันในการออกตราสารหนี้และขายแก่นักลงทุน ซึ่งการจ่ายดอกเบี้ยจะมาจากกระแสเงินสดที่ได้จากกองสินทรัพย์ โดยที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ Mortgage-backed Security (MBS) ที่ใช้สินเชื่อบ้านต่างๆ มารวมกันและแปลงเป็นหลักทรัพย์ ส่วนตราสารที่ใช้สินเชื่อเช่าซื้อรถ บัตรเครดิต หรือสินเชื่ออื่นๆ จะถูกเรียกว่า Asset-backed Security (ABS)
ตราสารหนี้มีระดับความเสี่ยงที่หลากหลาย จึงให้ผลตอบแทนได้หลายระดับ
ตราสารหนี้แต่ละประเภทจะให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยง โดยตารางด้านล่าง (ภาพบน) แสดงให้เห็นส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ประเภทอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นจาก Risk-free Rate หรือที่เรียกว่า Yield Spreadขณะที่ ภาพล่างจะเปรียบเทียบ Yield Spread ของตราสารหนี้ประเภทต่างๆ กับพันธบัตรสหรัฐที่มีอายุใกล้เคียงกัน เพื่อแสดงให้เห็นความเสี่ยงด้านเครดิต (จะอธิบายเพิ่มเติมในภายหลัง) ซึ่งเราสามารถสรุปประเด็นสำคัญจากตารางด้านล่างได้ดังนี้
- ในปัจจุบัน ตราสารหนี้หลักส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าผลตอบแทนปลอดความเสี่ยง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และน่าจะเปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงกันข้ามเมื่อ Fed เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลง
- เมื่อคำนึงถึงตราสารหนี้ที่มี Duration หรืออายุคงเหลือใกล้เคียงกัน ตราสารหนี้ส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรสหรัฐ (ดูภาพล่าง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่และหุ้นกู้ High-yield อย่างไรก็ตาม ตราสารหนี้หลายประเภทยังคงมี Yield Spread ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามูลค่าของตราสารหนี้เหล่านี้มีความน่าดึงดูดน้อยลงเมื่อเทียบกับในอดีต
- ขณะที่ ABS มี Yield Spread สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต เช่นเดียวกับตราสารหนี้ Aggregate ของสหรัฐ และ MBS (แต่ทั้งคู่จะมีส่วนต่างน้อยกว่า ABS) ซึ่งแสดงให้เห็นโอกาสของสินทรัพย์เหล่านี้ ขณะที่หุ้นกู้คุณภาพดีของสหรัฐดูเหมือนจะมีมูลค่าที่เหมาะสมแล้ว
ตราสารหนี้สร้างรายได้สม่ำเสมอและมีเสถียรภาพ
จากที่กล่าวไว้ด้านบน สองเหตุผลหลักที่นักลงทุนควรพิจารณามีตราสารหนี้ไว้ในพอร์ต คือ การสร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ และการรักษาเงินต้น
สร้างรายได้สม่ำเสมอ
สำหรับนักลงทุนจำนวนมาก เหตุผลง่ายๆ ที่พวกเขาเลือกลงทุนในตราสารหนี้ ก็เพราะพวกเขาต้องการรายได้ที่สม่ำเสมอ ซึ่งตราสารหนี้สามารถตอบโจทย์ข้อนี้ได้
เนื่องจากตราสารหนี้สามารถสร้างกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ ผ่านการจ่ายดอกเบี้ยคงที่ตามที่กำหนดไว้ ซึ่งแตกต่างจากเงินปันผลของหุ้นที่จะขึ้นอยู่กับผลประกอบการและการตัดสินใจของบริษัท นอกจากนี้ การลงทุนในตราสารหนี้ยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนมากกว่าการฝากธนาคาร ซึ่งหากดูสถิติในอดีตจะพบว่าตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากออมทรัพย์
การรักษาเงินต้น
ตราสารหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตราสารหนี้คุณภาพดีที่ถือไว้จนครบกำหนด ยังมีคุณสมบัติในการรักษาเงินต้นและมีเสถียรภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับหุ้น โดยการมีตราสารหนี้ไว้ในพอร์ต จะช่วยให้พอร์ตได้รับประโยชน์จากการกระจายการลงทุน และมักช่วยลดความผันผวนและสร้างสมดุลให้พอร์ตในช่วงที่ตลาดเผชิญกับความผันผวน
จากตารางด้านล่างจะเห็นได้ว่าในช่วง Recession เช่น เวลาเกิดวิกฤตการเงินโลก หรือช่วงเริ่มต้นของ COVID-19 ผลตอบแทนจากตราสารหนี้นั้นอยู่ในแดนบวก เนื่องจากสินทรัพย์ประเภทนี้ได้รับประโยชน์จากการที่นักลงทุนพยายามหาที่หลบภัยหลังเกิดความวุ่นวายต่างๆ
การกระจายการลงทุนและการสร้างพอร์ตแบบมีหลักการจะช่วยจำกัดความเสี่ยงได้
ความเสี่ยงหลักของการลงทุนในตราสารหนี้ คือ Credit Risk หรือความเสี่ยงด้านเครดิต (โอกาสที่ผู้ออกตราสารหนี้จะผิดนัดชำระหนี้) และ Duration Risk หรือความเสี่ยงด้านอายุคงเหลือของตราสารหนี้ (การเปลี่ยนแปลงของราคาที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ย หากนักลงทุนขายตราสารหนี้ก่อนครบกำหนด) ซึ่งแม้ว่าเราจะไม่สามารถขจัดความเสี่ยงเหล่านี้ไปได้อย่างสิ้นเชิง แต่เราสามารถบริหารจัดการได้ด้วยการกระจายการลงทุนที่ดีและการสร้างพอร์ตแบบมีหลักการ
กระจายการลงทุนผ่านกองทุน
กองทุนตราสารหนี้แบบ Passive เช่น ETF ต่างๆ จะช่วยให้นักลงทุนรายย่อยกระจายการลงทุนได้เหมือนกับนักลงทุนสถาบัน และเข้าถึงการบริหารจัดการแบบมืออาชีพในต้นทุนที่ต่ำ ยกตัวอย่างเช่น กองทุน iShares Core Global Aggregate Bond ETF ที่ถือครองตราสารหนี้มากกว่า 15,000 ตัว ซึ่งการกระจายการลงทุนระดับนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับนักลงทุนรายย่อย
ขณะที่ กองทุนตราสารหนี้แบบ Active ก็สามารถทำผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดตราสารหนี้โดยรวม โดยงานวิจัยของ PIMCO แสดงให้เห็นว่าผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้แบบ Active ในสหรัฐ มีผลการดำเนินงานดีกว่ากองทุนแบบ Passive ราว 23 bps ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขนี้แตกต่างอย่างชัดเจนกับกองทุนหุ้น เพราะผู้จัดการกองทุนหุ้นแบบ Active มีผลการดำเนินงานต่ำกว่ากองทุนหุ้นแบบ Passive ถึง 93 bps ต่อปี ซึ่งอาจเป็นเพราะธรรมชาติของตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
การสร้างพอร์ตแบบมีหลักการ
แม้ว่าตราสารหนี้โดยทั่วไปจะมีความผันผวนน้อยกว่าหุ้น แต่ราคาของตราสารหนี้ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้จากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยและ Credit Spread (ส่วนต่างผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชนที่เพิ่มขึ้นจากพันธบัตรรัฐบาล) โดย Duration ของตราสารหนี้ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น จะเป็นตัววัด Sensitivity หรือ ความอ่อนไหวของราคาตราสารหนี้ที่มีต่ออัตราดอกเบี้ย ซึ่งตราสารหนี้ที่มี Duration ยาวกว่ามักจะมีความผันผวนมากกว่าในช่วงที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ Credit Spread จะสะท้อนถึงความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งส่วนต่างนี้มักจะกว้างขึ้นในช่วงเศรษฐกิจถดถอย และแคบลงในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว
จะเห็นได้ว่าสภาพเศรษฐกิจมีอิทธิพลอย่างมากต่อทั้งสองปัจจัยนี้ ทำให้นักลงทุนตราสารหนี้ต้องติดตามสภาพเศรษฐกิจโดยรวมอย่างใกล้ชิด แต่สำหรับนักลงทุนที่ StashAway เทคโนโลยีการลงทุน Economic Regime Asset Allocation หรือ ERAA™ ของเราจะคอยปรับสัดส่วนของตราสารหนี้ในพอร์ตให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วง ตัวอย่างเช่น ในภาวะที่เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ERAA™ ได้ตัดสินใจเพิ่มสัดส่วนของพันธบัตรสหรัฐระยะสั้นในพอร์ตที่มีระดับความเสี่ยง StashAway Risk Index (SRI) ต่ำกว่า เพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรงของ Fed
การ ‘Reset ครั้งใหญ่’ ของอัตราดอกเบี้ย เปิดโอกาสที่ดีให้ตลาดตราสารหนี้
ปัจจุบัน เรากำลังเข้าสู่การ ‘Reset ครั้งใหญ่’ ในตลาดตราสารหนี้ เนื่องจาก Fed และธนาคารกลางทั่วโลก ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้ดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบเกือบ 25 ปี ส่งผลให้นักลงทุนตราสารหนี้มีโอกาสที่ดีกว่าช่วง 3 ปีก่อนมากที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับเกือบ 0% โดยปัจจัยสำคัญ คือ Real Rate หรืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงนั้นเป็นบวก เนื่องจากพันธบัตรสหรัฐให้ Inflation-adjusted Return หรือผลตอบแทนปรับด้วยเงินเฟ้อ เป็นบวกอยู่ที่ราว 2%
ในภาวะเศรษฐกิจ Inflationary Growth แบบปัจจุบัน นักลงทุนสามารถพิจารณาใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ ‘Barbell’ ที่เน้นสร้างสมดุลระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง ด้วยการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงแตกต่างกันมากเพื่อถ่วงดุลน้ำหนัก (เหมือนที่ยกน้ำหนัก) เช่นเดียวกับ ERAA™ ที่ปัจจุบันเลือกใช้กลยุทธ์ Barbell ด้วยการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐระยะสั้นกับหุ้นกู้ High-yield ในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ Yield Curve ของตราสารหนี้ยังคง Inverted (Yield ของตราสารหนี้ระยะสั้นยังสูงกว่าตราสารหนี้ระยะยาว) รวมถึงเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่ง ทำให้ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ
ในแง่ของความเสี่ยง แม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ของสหรัฐ แต่ตราสารหนี้ประเภทนี้เป็นเพียงสัดส่วนเล็กๆ ของตลาดตราสารหนี้โดยรวม นอกจากนี้ ข้อมูลยังบ่งชี้ว่าสภาพคล่องของภาคเอกชนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ความเสี่ยงเชิงระบบยังอยู่ในระดับต่ำ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน CIO Insights: H2/2024 Market Outlook)
ยิ่งไปกว่านั้น แม้อัตราดอกเบี้ยแบบ ‘Higher for Longer’ อาจคงอยู่ต่อไป แต่การที่ดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับสูง จะช่วยรองรับความผันผวนของราคาตราสารหนี้ได้ ตัวอย่างเช่น หากคุณลงทุนในตราสารหนี้ที่มี Duration 5 ปีและให้ Yield 5% จะต้องมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยกว่า 1% ถึงจะหักล้างผลตอบแทนที่เกิดขึ้นภายใน 1 ปีได้ โดยตารางด้านล่างแสดงให้เห็นว่า Yield ของตราสารหนี้ และผลตอบแทนรวมของตราสารหนี้ในอีก 5 ปีข้างหน้า มีค่า Correlation อยู่ที่ราว 94% หมายความว่าทั้งคู่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
แล้วคุณควรลงทุนในตราสารหนี้อย่างไร?
นักลงทุนควรพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้ให้เหมาะสมกับช่วงชีวิต เป้าหมายทางการเงิน และระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้
โดยปกติแล้วสำหรับนักลงทุน Young Professional (อายุระหว่าง 25-35 ปี) ที่มีเป้าหมายระยะยาว การมีสัดส่วนของตราสารหนี้ราว 10-20% ผ่าน ETF ที่กระจายการลงทุนในตลาดตราสารหนี้โดยรวม จะช่วยสร้างเสถียรภาพและโอกาสในการเติบโตให้พอร์ตการลงทุนได้ ขณะที่ นักลงทุน Mid-career (35-50 ปี) อาจเพิ่มสัดส่วนนี้เป็น 20-40% โดยกระจายการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ และตราสารหนี้ต่างประเทศ ส่วนนักลงทุน Near-retiree (50 ปีขึ้นไป) ควรเพิ่มสัดส่วนของตราสารหนี้ให้อยู่ระหว่าง 40-60% โดยเน้นไปที่ตราสารหนี้คุณภาพดี
แม้แนวทางการจัดพอร์ตด้านบนจะพอช่วยได้บ้าง แต่นักลงทุนควรปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเงินและเป้าหมายของตัวเอง เพราะไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็สามารถใช้ตราสารหนี้เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายระยะสั้นได้ ด้วยคุณสมบัติเด่นของตราสารหนี้ที่มีความผันผวนต่ำกว่าหุ้น
ไม่ว่าคุณจะต้องการรายได้อย่างสม่ำเสมอ หรือกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคา หรือทั้งสองอย่าง ตราสารหนี้สามารถมีบทบาทสำคัญในพอร์ตการลงทุนของคุณ โดยกุญแจสำคัญ คือ เลือกลงทุนในตราสารหนี้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินของตัวเอง ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
จุดเริ่มต้นที่ดีอาจเป็นการเลือกลงทุนในพอร์ตต้นแบบ Passive Income ที่อยู่ภายใต้ Flexible Portfolio ของเรา โดยพอร์ตต้นแบบนี้จะเป็นการกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ช่วยให้คุณเข้าถึงการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอและมั่นคง ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้ Flexible Portfolio นักลงทุนยังสามารถสร้างพอร์ตตราสารหนี้ทั่วโลกได้ง่ายๆ ผ่าน ETF หลากหลายประเภทตามที่คุณต้องการ
Bond Market Basics
Coupon
อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกตราสารหนี้ตกลงจะจ่ายให้ผู้ถือตราสารหนี้ ส่วนใหญ่จะจ่ายเป็นรายปี และคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าตราสารหนี้ที่ตราไว้
Face Value
Face Value หรือมูลค่าที่ตราไว้ คือ จำนวนเงินที่ผู้ออกตราสารหนี้สัญญาว่าจะจ่ายคืนผู้ถือตราสารหนี้เมื่อครบกำหนดอายุ ซึ่งอาจแตกต่างจากราคาตราสารหนี้ในตลาด นอกจากนี้ มูลค่าที่ตราไว้ยังถูกใช้เป็นฐานในการคำนวณการจ่ายดอกเบี้ย หรือ Coupon ด้วย
Maturity
วันที่ผู้ออกตราสารหนี้จะต้องจ่ายเงินต้นคืนผู้ถือตราสารหนี้เต็มจำนวน
Yield to Maturity (YTM)
ผลตอบแทนรวมที่นักลงทุนคาดว่าจะได้รับจากการถือตราสารหนี้จนครบกำหนดอายุ โดยคำนวณจากทั้งการจ่ายดอกเบี้ย และส่วนต่างระหว่างราคาที่เข้าซื้อกับมูลค่าที่ตราไว้
Yield Spread
ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ประเภทอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นจากพันธบัตรรัฐบาล โดยส่วนต่างที่สูงขึ้นอาจหมายถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย
Yield Curve
กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง Yield ตราสารหนี้กับวันครบกำหนดอายุ ซึ่ง Yield Curve แบบปกติ เส้นผลตอบแทนจะลาดขึ้น เพราะตราสารหนี้ระยะยาวให้ Yield สูงกว่า ขณะที่ Inverted Yield Curve เส้นผลตอบแทนจะลาดลง เพราะตราสารหนี้ระยะยาวให้ Yield ต่ำกว่า
Risk-free Rate
อัตราผลตอบแทนทางทฤษฎีที่ไม่มีความเสี่ยง ซึ่งส่วนมากมักใช้ Yield ของพันธบัตรรัฐบาล
Credit Risk
ความเสี่ยงที่บริษัทหรือรัฐบาลที่ออกตราสารหนี้จะผิดนัดชำระหนี้ หรือการที่ผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้นตามกำหนดได้
Credit Rating
คะแนนความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้ โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออิสระจะเป็นผู้ให้คะแนนแก่ผู้ออกตราสารหนี้แต่ละราย
High-yield
ตราสารหนี้ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเพื่อชดเชยความน่าเชื่อถือที่ต่ำกว่าหรือความเสี่ยงที่สูงกว่า
Investment-grade
ตราสารหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือสูงกว่า เพราะมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำกว่า
Duration
อายุคงเหลือของตราสารหนี้ถ่วงน้ำหนักด้วยกระแสเงินสดที่จะได้รับ โดยจะใช้เป็นตัววัดว่าราคาตราสารหนี้มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยมากน้อยเพียงใด
หมายเหตุ:
การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นคำเสนอ คำแนะนำ คำเชื้อเชิญ หรือการชักชวนให้ท่านซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเข้าทำธุรกรรมใดๆ
ข้อมูลนี้ไม่ได้จัดเตรียมขึ้นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลของท่าน (เช่น วัตถุประสงค์การลงทุน สถานการณ์ทางการเงิน หรือความต้องการโดยเฉพาะ) ท่านควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย และด้านอื่นๆ ของท่านเอง