CIO Insights: H2/2024 Market Outlook

ในช่วงต้นปี 2024 คำถามสำคัญที่สุดสำหรับนักลงทุน คือ Fed จะสามารถพาเศรษฐกิจสหรัฐลงจอดแบบ ‘Soft Landing’ ได้หรือไม่? (การคงอัตราดอกเบี้ยให้สูงและนานพอ จนสามารถควบคุมเงินเฟ้อให้เข้าสู่ระดับเป้าหมาย แต่ไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ Recession)
เมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี ดูเหมือนว่าสภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะดำเนินไปในอีกทิศทาง เข้าสู่สถานการณ์ที่เรียกว่า ‘No Landing’ หรือเงินเฟ้อสูงยังคงยืดเยื้อ แต่เศรษฐกิจยังเติบโตต่อไป โดยในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เทคโนโลยีการลงทุน Economic Regime Asset Allocation หรือ ERAA™ ของเรา จับสัญญาณได้ว่าเศรษฐกิจได้เปลี่ยนเข้าสู่ภาวะ Inflationary Growth
ในภาวะนี้ สินทรัพย์เติบโตยังทำผลงานได้ดี นำโดยหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ AI และในภาพรวม ERAA™ ยังชี้ให้เห็นโอกาสในหุ้นวัฏจักร ตราสารหนี้ที่มีระยะยาวขึ้น รวมถึงสินทรัพย์เสี่ยงโดยรวมมากขึ้น
แล้วสถานการณ์ในช่วง H2/2024 จะเป็นอย่างไร? ติดตามได้ใน CIO Insights เดือนนี้
5 Key takeaways:
- ข้อมูลบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตโลกกำลังฟื้นตัว นำโดยสหรัฐและประเทศส่วนใหญ่ในทวีปเอเชีย ขณะที่ ภาคบริการยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยทั้ง 2 ปัจจัยจะช่วยขับเคลื่อนกำไรของภาคเอกชนให้ดีขึ้น
- อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอาจทำให้เงินเฟ้อสูงยังคงยืดเยื้อต่อไป แม้เงินเฟ้อจะเริ่มลดความร้อนแรงลงมาบ้างแล้ว แต่ตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่งทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวช้าลงในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น การฟื้นตัวของภาคการผลิตและการที่ธนาคารกลางต่างๆ เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลง อาจทำให้แรงกดดันของปัญหาเงินเฟ้อสูงยังคงอยู่ต่อไปในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า
- Fed อาจคงดอกเบี้ยไว้ให้ ‘Higher for Longer’ แต่ผลกระทบค่อนข้างจำกัด สภาพเศรษฐกิจโดยรวมบ่งชี้ว่า Fed อาจจำเป็นต้องคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงนานขึ้น แม้จะมีการเริ่มลดดอกเบี้ยในปีนี้ก็ตาม โดยความเสี่ยงที่เรากำลังจับตามอง คือ ตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ของสหรัฐที่มีหนี้ที่กำลังจะครบกำหนดชำระกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 2 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม งบดุลที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องที่สูงของภาคเอกชนสหรัฐ น่าจะช่วยรองรับแรงกระแทกที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหานี้ได้
- ให้เงินของคุณทำงานต่อไป แม้การควบคุมเงินเฟ้อให้เข้าสู่ระดับเป้าหมาย 2% ของ Fed ยังมีอุปสรรครออยู่ แต่ตราบใดที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี ภาวะ Bull Market (ตลาดกระทิง) ของหุ้นสหรัฐ ก็อาจคงอยู่ต่อไปและอาจส่งผลดีต่อตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม Correction หรือการปรับฐานลงราว 5-10% นั้นเป็นเรื่องปกติในตลาดกระทิง ซึ่งแม้เรายังแนะนำวิธีลงทุนแบบ Dollar-cost Averaging แต่หากตลาดปรับฐานจริง ก็อาจเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนที่ต้องการเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ โดยนับตั้งแต่เศรษฐกิจได้เปลี่ยนเข้าสู่ภาวะ Inflationary Growth ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ERAA™ ได้เพิ่มสัดส่วนในหุ้นวัฏจักรของสหรัฐ เช่น กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม และตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นๆ อย่างญี่ปุ่นและอินเดีย
- ทองคำยังเป็นสินทรัพย์ปรับสมดุลที่ดีกว่าตราสารหนี้ในภาวะ Inflationary Growth เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนเรื่องดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ความผันผวนของตราสารหนี้ระยะยาวก็อาจยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป และเมื่อรัฐบาลสหรัฐมีแผนเพิ่มปริมาณการออกพันธบัตรอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสิบปีข้างหน้า ทำให้มีความกังวลเชิงโครงสร้างในตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้น โดยในช่วงหลัง COVID-19 ทองคำได้พิสูจน์ว่ายังเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ได้ดี ERAA™ จึงกำหนดให้มีสัดส่วนของทองคำในทุกพอร์ต General Investing เพื่อเพิ่มโอกาสสร้าง Risk-adjusted Return หรือผลตอบแทนปรับด้วยความเสี่ยง ในทุกภาวะเศรษฐกิจ
ข่าวดี คือ เศรษฐกิจโลกโดยรวมกำลังฟื้นตัว
เริ่มที่ข่าวดีกันก่อน เมื่อพิจารณา Indicator ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตของโลกกลับมาเติบโตอีกครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งกำไรของภาคเอกชนมักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับ PMI ทำให้กำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทในดัชนี MSCI All Country World กลับมาอยู่ในแดนบวกอีกครั้ง ดังที่เห็นในตารางด้านล่าง

สถานการณ์ดังกล่าวได้รับแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตในสหรัฐและบางประเทศในทวีปยุโรป รวมถึงประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขณะที่ภาคบริการยังคงแข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานและพฤติกรรมผู้บริโภคเนื่องจาก COVID-19

สรุปคือ ปัจจัยที่กล่าวไว้ข้างต้นยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีให้ตลาดหุ้นจนถึงปัจจุบัน โดยตลาดหุ้นสหรัฐยังเดินหน้าทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง นำโดยหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่ ทองแดง ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มักถูกใช้เป็นดัชนีชี้วัดสภาพเศรษฐกิจโลก ได้ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
นอกจากนี้ แม้แต่ตลาดหุ้นจีนที่ถูกกดดันจากปัญหาในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาสักระยะ ยังเริ่มกลับตัวในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน CIO Insights: ตลาดหุ้นจีนเริ่มกลับตัว เรายังลงทุนทันไหม?)
แต่ข่าวที่ไม่ค่อยดีนัก คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอาจทำให้เงินเฟ้อสูงยืดเยื้อต่อไป
ในขณะที่การฟื้นตัวของภาคการผลิตและความแข็งแกร่งของภาคบริการ ส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจัยดังกล่าวกลับเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเงินเฟ้อสูง
แม้ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ (CPI) ล่าสุด จะแสดงให้เห็นว่า Core CPI (CPI ที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน) ได้ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับ Fed แต่หากมองภาพรวม แรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อสูงยังคงยืดเยื้อต่อไป เนื่องจากปัจจัยที่มาจากฝั่ง Supply
ตัวอย่างปัจจัยที่มาจากฝั่ง Supply ได้แก่ ความตึงตัวของตลาดแรงงาน ที่ทำให้ค่าจ้างปรับตัวขึ้น หรือการขาดแคลนวัตถุดิบ ที่ทำให้ราคาโกโก้และกาแฟพุ่งสูงขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งแรงกดดันจากฝั่ง Supply นั้นแก้ไขยากกว่าและมักจะยืดเยื้อมากกว่าฝั่ง Demand

เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดแรงงานกำลังลดความร้อนแรงลง Fed มักใช้ข้อมูลการเปิดรับสมัครงาน เพื่อวัดความตึงตัวของตลาดแรงงาน โดยตัวเลขล่าสุดยังมีการเปิดรับสมัครงาน 1.2 ตำแหน่งต่อ 1 คนว่างงาน ซึ่งลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากจุดสูงสุดที่ 2 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. 2022
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภาคการผลิตอาจทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า โดยการวิเคราะห์ของเราพบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนี PMI ในภาคการผลิตของสหรัฐจาก ISM มักเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราการจ้างงาน แต่จะเกิดขึ้นก่อนราวๆ 7 เดือน ดังที่เห็นในตารางด้านล่าง

นอกจากนี้ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากธนาคารกลางหลักของโลกอย่าง ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางแคนาดา (BOC) ได้เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็อาจทำให้ปัญหาเงินเฟ้อสูงยังคงยืดเยื้อต่อไป
ในขณะที่ Fed ยังไม่ได้เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่พวกเขาก็ได้ประกาศแผนลดจำนวนการทำ Quantitative Tightening (การดูดสภาพคล่องออกจากระบบการเงิน) โดยปรับลดวงเงินสูงสุดในการซื้อพันธบัตรที่จะครบกำหนดไถ่ถอน (Rollover) ในแต่ละเดือนจาก 60,000 ล้านดอลลาร์ฯ ลงเหลือ 25,000 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ลดลงค่อนข้างมาก
Fed อาจคงดอกเบี้ยไว้ให้ ‘Higher for Longer’ แต่ผลกระทบค่อนข้างจำกัด
ความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานและเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อ หมายความว่า Fed อาจจำเป็นต้องคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงนานขึ้น แม้จะมีการเริ่มลดดอกเบี้ยในปีนี้ก็ตาม
ทั้งนี้ ในการประชุมเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา Fed ได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการลดดอกเบี้ยแค่ 1 ครั้งในปีนี้ จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3 ครั้งเมื่อต้นปี ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของธนาคารกลางอื่นๆ เช่น ECB ที่แม้จะเริ่มลดดอกเบี้ยลงมาแล้วในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่ประธาน Christine Lagarde ระบุว่า น่าจะคงดอกเบี้ยในระดับนี้ต่อไป เนื่องจากอัตราการเติบโตของค่าจ้างแรงงานในยุโรปยังอยู่ในระดับสูง
อัตราดอกเบี้ยที่ ‘Higher for Longer’ จะเป็นอุปสรรคกับบางบริษัทที่มีหนี้สูงและต้องการจะ Refinance ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยหนึ่งในความเสี่ยงที่เรากำลังจับตามอง คือ ตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (CRE) ของสหรัฐ ซึ่งมักพึ่งพาเงินกู้เพื่อดำเนินธุรกิจ และมีภาระหนี้ที่กำลังจะครบกำหนดชำระในช่วง 2 ปีข้างหน้ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ นอกจากนี้ ตลาด CRE ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะในกลุ่มสำนักงาน เนื่องจากมีอัตราพื้นที่ว่าง (Vacancy Rate) เพิ่มขึ้น หลังการระบาดของ COVID-19
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาคเอกชนยังมีงบดุลที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องที่เพียงพอ เราจึงประเมินว่าโอกาสเกิดความเสี่ยงเชิงระบบยังค่อนข้างจำกัด นอกจากนี้ กลุ่มสำนักงานยังมีสัดส่วนเพียง 20% ของหนี้ที่กำลังจะครบกำหนดชำระ ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ
เมื่อพิจารณาปัจจัยทั้งหมด ERAA™ จึง Underweight หุ้นในกลุ่มสถาบันการเงิน เนื่องจากธนาคารท้องถิ่นมีสัดส่วนเงินกู้ในตลาด CRE ค่อนข้างมาก และการ Refinance ยังเป็นอุปสรรคต่อกลุ่มสถาบันการเงิน ดังนั้น Risk-return Profile (ผลตอบแทนคาดหวังและความเสี่ยง) ของหุ้นในกลุ่มนี้จึงน่าดึงดูดน้อยกว่าหุ้นกลุ่มวัฏจักรอื่นๆ
ควรลงทุนอย่างไรในภาวะเศรษฐกิจแบบปัจจุบัน
ปัจจัยทั้งหมด บ่งชี้ว่า การควบคุมเงินเฟ้อให้เข้าสู่ระดับเป้าหมาย 2% ของ Fed น่าจะยังมีอุปสรรครออยู่ เหมือนที่เราได้เห็นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่เศรษฐกิจยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ภาวะ Bull Market (ตลาดกระทิง) ในปัจจุบันก็น่าจะคงอยู่ต่อไป และแม้ว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและ AI เป็นผู้นำตลาดในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา แต่กลุ่มธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจ อาจขยายวงกว้างมากขึ้น
ทั้งนี้ แม้จะมีความกังวลว่าราคาหุ้นสหรัฐอยู่ในระดับสูง แต่กลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่ (ยกเว้นกลุ่มเทคโนโลยี) ยังมีราคาหุ้นที่สมเหตุสมผลเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาว แม้กระทั่งหุ้นกลุ่ม Magnificent 7 เอง ยังมีค่า Forward P/E ที่ 31 เท่า ซึ่งไม่ไกลจากค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 28 เท่า

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต้องไม่ลืมว่า Correction หรือการปรับฐานราว 5-10% นั้นเป็นเรื่องปกติและอาจเกิดขึ้นได้แม้จะอยู่ในภาวะตลาดกระทิง และโดยทั่วไปแล้ว แม้เราจะแนะนำการลงทุนด้วยวิธี Dollar-cost Averaging หรือ DCA เพื่อฝ่าความผันผวนในตลาด แต่หากเกิดการปรับฐานขึ้นจริง ก็อาจเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนที่ต้องการเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง
จากตารางด้านล่าง คุณจะเห็นภาพที่ชัดเจนว่าหุ้นให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินสดค่อนข้างมากในภาวะเศรษฐกิจแบบ Inflationary Growth โดยดัชนี S&P 500 ให้ผลตอบแทนมากกว่าการถือเงินสดถึง 7.7% ต่อปี ส่วนหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมสหรัฐ ให้ผลตอบแทนมากกว่าการถือเงินสดถึง 10% ต่อปี

ในภาวะเศรษฐกิจแบบปัจจุบัน เทคโนโลยีการลงทุน ERAA™ ของเราได้ Overweight หุ้นวัฏจักรของสหรัฐ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งมักจะทำผลงานได้ดีในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวและเงินเฟ้อสูง และเนื่องจากมีโอกาสที่หุ้นกลุ่มอื่นๆ ในสหรัฐจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้น ERAA™ จึงเพิ่ม ETF ที่ลงทุนในดัชนี S&P 500 แบบ Equal-weight ซึ่งมักจะทำผลงานได้ดีกว่าดัชนี S&P 500 แบบ Market-weight ในช่วงที่ PMI มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
ในภูมิภาคอื่นๆ ERAA™ ยังคง Overweight ตลาดญี่ปุ่นและอินเดีย ซึ่งเราเคยวิเคราะห์ไว้ใน CIO Insights: 2024 H1 Macro Outlook - Part 2 โดยสำหรับตลาดญี่ปุ่น เรายังคงเห็นโอกาสที่ดีเมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้วอื่นๆ อย่างยุโรป สาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวของกำไรที่ดีของหุ้นญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับหุ้นยุโรป
นอกจากนี้ เรายังเห็นโอกาสที่ Margin กำไรในกลุ่มการเงินของญี่ปุ่น จะขยายตัวเพิ่มขึ้น (ปัจจุบันอยู่ที่ราว 11-12%) เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย กลับกัน Margin กำไรของกลุ่มการเงินยุโรป (ปัจจุบันอยู่ที่ราว 16-17%) อาจต้องเผชิญแรงกดดัน หลัง ECB ตัดสินใจลดดอกเบี้ยลง
ขณะที่ ตลาดอินเดีย แม้จะมีความผันผวนเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง แต่แรงขับเคลื่อนเชิงโครงสร้างที่เป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตในระยะยาวของอินเดีย ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งปัจจุบัน ดัชนี MSCI India ได้กลับมาทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกครั้ง
ทองคำช่วยบริหารความเสี่ยงได้ดีกว่าตราสารหนี้ในภาวะ Inflationary Growth
แม้ตลาดหุ้นจะทำผลงานได้ดีตลอดปีที่ผ่านมา แต่การกระจายการลงทุนที่ดีระหว่างสินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์ปรับสมดุล ยังช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดได้
จากการที่เงินเฟ้อและความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มสูงขึ้น หลังการระบาดของ COVID-19 ทำให้ทองคำที่มีคุณสมบัติเด่นในการป้องกันเงินเฟ้อและเป็นสินทรัพย์ Safe-haven ยังเป็นสินทรัพย์ที่ดีในการช่วยปกป้องพอร์ตและกระจายความเสี่ยงให้นักลงทุน
เมื่อไม่นานมานี้ เราได้เพิ่มทองคำใน Benchmark ของทุกพอร์ต General Investing เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ปรับสมดุลและมีความสัมพันธ์ที่แตกต่างจากหุ้นและตราสารหนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่ม Risk-adjusted Return หรือผลตอบแทนปรับด้วยความเสี่ยง ในทุกภาวะเศรษฐกิจ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ CIO Insights: ทำความรู้จัก ERAA™ - เทคโนโลยีเบื้องหลังการบริหารพอร์ตให้เติบโตในทุกภาวะเศรษฐกิจ)
การเพิ่มทองคำเข้ามาในพอร์ตยิ่งมีความสำคัญเมื่อเราคำนึงถึงความผันผวนเชิงโครงสร้างที่เพิ่มขึ้นในตลาดตราสารหนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประกอบกับความกังวลที่รัฐบาลสหรัฐเตรียมจะออกพันธบัตรเพิ่มขึ้นในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า
นอกจากนี้ เราได้เห็นโอกาสทั้งในเชิงโครงสร้างและเชิงวัฏจักรของทองคำ โดยในระยะสั้น ทองคำอาจได้ประโยชน์จากการที่ Fed กำลังจะลดอัตราดอกเบี้ยลง ส่วนในระยะยาวขึ้น เราเห็นว่าธนาคารกลางทั่วโลกพยายามลดสัดส่วนการถือครองเงินดอลลาร์ฯ ในทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีให้ทองคำ
โดยเฉพาะในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้สำรองทองคำมากขึ้นราว 16% จนมีปริมาณมากกว่า 2,200 ตัน ส่งผลให้สัดส่วนของทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นจาก 3.2% มาอยู่ที่ 5% ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และหากพิจารณาบนสมมติฐานว่า ในระยะข้างหน้า จีนอาจเพิ่มสัดส่วนทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศให้เป็นระดับ 2 หลักเหมือนประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ สิ่งนี้อาจเป็นแรงขับเคลื่อนเชิงโครงสร้างที่แข็งแกร่งให้กับ Demand ของทองคำ

ให้เงินของคุณทำงานต่อไป
ในขณะที่เราเข้าสู่ครึ่งหลังปี 2024 เราได้เห็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงในตลาด เพราะแม้การฟื้นตัวของภาคการผลิตและกำไรภาคเอกชนทั่วโลกจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีให้ตลาด แต่หากพิจารณาว่า Fed และธนาคารกลางทั่วโลกกำลังพยายามควบคุมเงินเฟ้อให้กลับสู่ระดับเป้าหมาย เส้นทางข้างหน้าก็อาจมีอุปสรรครออยู่เช่นกัน
ในภาวะเช่นนี้ การกระจายการลงทุนที่ดีจะช่วยรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ โดยพอร์ต General Investing ของเรา มีการกระจายการลงทุนที่ดีในหลากหลายสินทรัพย์ กลุ่มธุรกิจและภูมิภาค และยังมีกลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ที่คอยบริหาร Asset Allocation ให้เหมาะสมกับแต่ละภาวะเศรษฐกิจโดยอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนและรักษาระดับความเสี่ยงให้ตรงตามที่คุณเลือกไว้ในทุกภาวะเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ การลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วยวิธี Dollar-cost Averaging หรือ DCA จะช่วยป้องกันการจับจังหวะตลาดผิดพลาดได้ และหากเราถอยออกมามองภาพกว้าง การปรับฐานของตลาดในระยะสั้นอาจเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนที่ต้องการเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง
สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การ Stay Invested ในพอร์ตที่มีระดับความเสี่ยงเหมาะสมกับตัวเอง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเงินของคุณยังทำงานอยู่ตลอดเวลานั่นเอง