CIO Insights: ทำความรู้จัก ERAA™ - เทคโนโลยีเบื้องหลังการบริหารพอร์ตให้เติบโตในทุกภาวะเศรษฐกิจ
ที่ StashAway กลยุทธ์การลงทุน Economic Regime-based Asset Allocation (ERAA™) คือ รากฐานสำคัญในการปกป้องพอร์ตและสร้างความมั่งคั่งให้กับนักลงทุน โดย ERAA™ เป็นการผสมผสานโมเดลการลงทุนที่เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของเรา เข้ากับทฤษฎี Modern Portfolio Theory (MPT) ที่ได้รับรางวัล Nobel สาขาเศรษฐศาสตร์ เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้ได้มากที่สุดตามระดับความเสี่ยงที่คุณกำหนดไว้ ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไร
ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ERAA™ ได้จับสัญญาณว่าเศรษฐกิจเปลี่ยนจากภาวะ Stagflation (เงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจหดตัว) เข้าสู่ภาวะ Inflationary Growth (เงินเฟ้อสูงยังคงอยู่ แต่เศรษฐกิจมีการเติบโต) ดังนั้น ERAA™ จึง Re-optimise หรือปรับพอร์ตของคุณให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจแบบใหม่
CIO Insight เดือนนี้ เราจึงอยากเจาะลึกกลไกการทำงานและการพัฒนากลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อให้นักลงทุนที่ StashAway มั่นใจว่า ERAA™ ช่วยบริหารพอร์ตของคุณในทุกภาวะเศรษฐกิจได้อย่างไร
Key takeaways:
- การกระจายการลงทุน คือ วิธีเดียวในการเพิ่มผลตอบแทนโดยไม่เพิ่มความเสี่ยงให้พอร์ต: งานวิจัยได้บ่งชี้ว่า กว่า 90% ของผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวมาจากการทำ Asset Allocation ไม่ใช่การเลือกหลักทรัพย์รายตัว นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราพัฒนา ERAA™ บนพื้นฐานทฤษฎี Modern Portfolio Theory (MPT) ซึ่งใช้วิธีกระจายการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนสูงสุดตามระดับความเสี่ยงที่กำหนดไว้
- ERAA™ จะปรับกลยุทธ์ตามภาวะเศรษฐกิจ: นอกจากการกระจายการลงทุน ERAA™ จะประมวลข้อมูลเศรษฐกิจแบบ Real-time เพื่อระบุว่าเราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจแบบใด จากนั้นจึงวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมเพื่อให้พอร์ตของเราสามารถผ่านความผันผวนของตลาดไปได้และสร้างผลตอบแทนให้ดีที่สุด นอกจากนั้น ยังมีการบริหารความเสี่ยงและกำกับดูแลกระบวนการลงทุนอย่างเข้มงวด
- ERAA™ มีผลงานที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว: การบริหาร Asset Allocation ของ ERAA™ ช่วยให้พอร์ต General Investing ของเรา ทำผลตอบแทนได้อย่างแข็งแกร่งและชนะ Same-risk Benchmark* ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะ Stagflation ซึ่งเป็นภาวะที่ลงทุนค่อนข้างยาก
- เมื่อภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ERAA™ จึงปรับพอร์ตของคุณให้เหมาะสม: การจับสัญญาณล่าสุดของ ERAA™ พบว่า เศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปอยู่ในภาวะ ‘Inflationary Growth’ ERAA™ จึง Re-optimised พอร์ตของคุณ โดยปรับไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่น่าจะได้ประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กำลังเร่งตัวขึ้น ได้แก่ หุ้น ตราสารหนี้ระยะยาวและสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ
การบริหาร Asset Allocation คือ แรงขับเคลื่อนหลักของผลตอบแทนในพอร์ต ไม่ใช่การเลือกหุ้นรายตัว
พอร์ตที่บริหารโดย ERAA™ คือ ผลิตภัณฑ์หลักที่ StashAway มอบให้นักลงทุนมาตั้งแต่เริ่มให้บริการครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์นับตั้งแต่ปี 2017 โดย ERAA™ ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของงานวิจัยที่สั่งสมมานับทศวรรษและพัฒนาจนเกิดเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ Data Point ทางเศรษฐกิจหลายพันจุดในการวิเคราะห์และบริหาร Asset Allocation อย่างเป็นระบบ จึงเป็นการบริหารพอร์ตแบบ Data-driven และปราศจากอารมณ์ของมนุษย์
ทำไมสิ่งนี้ถึงสำคัญ? เพราะงานวิจัยจำนวนมากพบว่า กองทุนแบบ Active (เลือกหลักทรัพย์รายตัวเพื่อมุ่งสร้างผลตอบแทนให้ชนะตลาดในระยะสั้น) มักทำผลตอบแทนแพ้ดัชนี Benchmark ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
โดยงานวิจัยของ SPIVA US Scorecard ปี 2023 ที่จัดทำขึ้นโดย S&P Dow Jones Indices เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของผู้จัดการกองทุนแบบ Active ของสหรัฐ กับดัชนี Benchmark ต่างๆ ของ S&P พบว่า
- 75.3% ของกองทุนหุ้นภายในประเทศของสหรัฐ ทำผลตอบแทนได้ต่ำกว่าดัชนี S&P Composite 1500 ในปี 2023
- 94% ของกองทุนประเภทนี้ ทำผลตอบแทนได้ต่ำกว่าดัชนี S&P Composite 1500 ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นสำคัญอย่าง Determinants of Portfolio Performance ยังพบว่า กว่า 90% ของผลตอบแทนของพอร์ตในระยะยาวมาจากการทำ Asset Allocation ที่ดี ไม่ใช่การเลือกหลักทรัพย์รายตัว
เหตุผลพื้นฐาน คือ ผลตอบแทนของหลักทรัพย์ประเภทเดียวกัน (เช่น หุ้นในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน และตราสารหนี้ประเภทเดียวกัน) มักสัมพันธ์กันค่อนข้างสูง เช่น ในเดือน มี.ค. 2020 เมื่อ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างรุนแรง หุ้นในกลุ่มธุรกิจเดียวกันอย่างหุ้น Microsoft และ Apple ต่างถูกเทขายอย่างหนักเหมือนกัน
ในทางกลับกัน สินทรัพย์ต่างประเภท มักให้ผลตอบแทนแตกต่างกัน เนื่องจากมีความสัมพันธ์ที่ต่ำกว่า เช่น ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ หรือ หุ้นในกลุ่มธุรกิจที่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ในขณะที่หุ้นถูกเทขายอย่างหนัก แต่ตราสารหนี้กลับปรับตัวขึ้น เนื่องจากนักลงทุนต่างหันไปหาสินทรัพย์ที่เป็น Safe-haven
Takeaway สำหรับเรื่องนี้ คือ การกระจายการลงทุน คือ วิธีเดียวในการเพิ่มผลตอบแทนโดยไม่เพิ่มความเสี่ยงให้พอร์ต อธิบายง่ายๆ คือ เมื่อพอร์ตของคุณมีสินทรัพย์หลากหลายประเภทที่มีแนวโน้มจะเติบโตในระยะยาว แต่ไม่มีความสัมพันธ์กันในระยะสั้น คุณจะมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่าโดยไม่เพิ่มความเสี่ยงให้พอร์ต
ไม่ใช่แค่กระจายการลงทุน แต่ ERAA™ ยังเพิ่มความอัจฉริยะเข้าไปอีกขั้น
การทำ Asset Allocation คือ แนวคิดหลักของทฤษฎี MPT (คำอธิบายเพิ่มเติมด้านล่างบทความ) โดยผู้จัดการกองทุนจำนวนมากได้ใช้ทฤษฎีที่ได้รับรางวัล Nobel นี้ เพื่อสร้างพอร์ตแบบ Strategic Asset Allocation (SAA) หรือกลยุทธ์การลงทุนที่เน้นการสร้างผลตอบแทนระยะยาวบนพื้นฐานความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้ ซึ่งจะไม่ปรับพอร์ตตามภาวะเศรษฐกิจหรือความผันผวนของตลาด
อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของทฤษฎีนี้ คือ ความเสี่ยงของพอร์ตอาจเปลี่ยนแปลงตามภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วง เช่น พอร์ตการลงทุนที่มีสัดส่วนของหุ้น 100% อาจเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะ Recession เมื่อเทียบกับช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตสูง
ERAA™ จึงเพิ่มประสิทธิภาพของ SAA ด้วยการเพิ่มการบริหาร Asset Allocation ให้เหมาะกับแต่ละภาวะเศรษฐกิจ (คำอธิบายเพิ่มเติมด้านล่างบทความ) เพื่อรักษาระดับความเสี่ยงของพอร์ตให้คงที่ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจแบบใด เช่น ในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว ก็อาจเพิ่มสัดส่วนของหุ้น เพราะความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นนั้นลดลง แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัว ก็จะปกป้องพอร์ตด้วยการเพิ่มสัดส่วนของสินทรัพย์ Safe-haven อย่างตราสารหนี้และทองคำ
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในช่วงปลายปี 2022 ERAA™ จับสัญญาณได้ว่าเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาวะ Stagflation ซึ่งเป็นภาวะที่เงินเฟ้อสูง แต่เศรษฐกิจหดตัว เราจึงปรับ Asset Allocation ให้เหมาะสม โดยเพิ่มการปกป้องพอร์ตในช่วงที่การลงทุนมีความเสี่ยงสูงขึ้น
ERAA™ นิยามภาวะเศรษฐกิจแบบต่างๆ อย่างไร?
ERAA™ จะอ่านข้อมูลเศรษฐกิจแบบ Real-time เพื่อวิเคราะห์และระบุว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะใด โดยจะแบ่งภาวะเศรษฐกิจออกเป็น 4 แบบ ตามการเติบโตและเงินเฟ้อ ดังนี้
- Good times (เศรษฐกิจเติบโต, เงินเฟ้อต่ำ): เป็นภาวะที่ดีสำหรับสินทรัพย์เสี่ยง เพราะเศรษฐกิจเติบโตดี ในขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ โดยหุ้นมักทำผลตอบแทนได้ดีที่สุดในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้
- Inflationary growth (เศรษฐกิจเติบโต, เงินเฟ้อสูง): เมื่อเศรษฐกิจร้อนแรงขึ้น เงินเฟ้อจึงปรับตัวขึ้นตามไปด้วย โดยปกติแล้วจะเป็นช่วงที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสินทรัพย์ที่เคลื่อนไหวตามวัฏจักรเศรษฐกิจมักจะทำผลตอบแทนได้ดี
- Stagflation (เศรษฐกิจหดตัว, เงินเฟ้อสูง): เมื่อธนาคารกลางต่างๆ เริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อและชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ หุ้นมักเผชิญความผันผวนมากขึ้น ในขณะที่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้และทองคำ มักจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่า
- Recession (เศรษฐกิจหดตัว, เงินเฟ้อต่ำ): ในช่วงที่การเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบและเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ตราสารหนี้จะช่วยปกป้องพอร์ตได้ เมื่อธนาคารกลางต่างๆ เริ่มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เพิ่มประสิทธิภาพของ ERAA™ มาโดยตลอด เพื่อให้เราสามารถวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจได้อย่างแม่นยำมากขึ้น โดยภาวะเศรษฐกิจแต่ละแบบจะถูกแบ่งย่อยออกเป็นอีก 2 ‘สถานะ’ คือ (1) การเติบโตกำลังเร่งตัว และ (2) การเติบโตกำลังชะลอตัว ซึ่งจะช่วยให้เราบริหาร Asset Allocation ได้แม่นยำมากขึ้นเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตของคุณ
การบริหารความเสี่ยง คือ หัวใจสำคัญของ ERAA™
ไม่ว่าระบบใดๆ ก็อาจทำงานผิดพลาดได้ หากไม่มีการควบคุมอย่างเหมาะสม นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงมีการบริหารความเสี่ยงและกำกับดูแลกระบวนการลงทุนอย่างเข้มงวด
นับตั้งแต่คุณเริ่มสร้างพอร์ต คุณจะต้องเลือก StashAway Risk Index (SRI) ซึ่ง ERAA™ จะใช้เป็นมาตรวัดเพื่อกำหนดระดับความเสี่ยงของแต่ละพอร์ต อธิบายทางเทคนิคเพิ่มเติม คือ SRI จะใช้ค่า Value-at-Risk (VaR) ที่ Confidence Level ที่ 99th Percentile ในช่วงเวลา 12 เดือน หมายความว่าพอร์ตของคุณมีโอกาสถึง 99% ที่จะไม่ขาดทุนมากกว่าระดับค่า SRI ที่เลือกไว้ใน 1 ปี (มีคำอธิบายเพิ่มเติมด้านล่างบทความ) ซึ่งระดับ SRI ที่คุณเลือกไว้จะถูกใช้เพื่อออกแบบ Asset Allocation ในพอร์ตของคุณ
นอกจากนี้ เรายังมีการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงให้กับพอร์ตของคุณ ด้วยการผสานปัจจัยต่อไปนี้ในการสร้างพอร์ตของ ERAA™
- จำกัด Tracking Error: เพื่อให้มั่นใจว่าความเสี่ยงในแต่ละพอร์ตจะไม่คลาดเคลื่อนเกินจากกรอบความเสี่ยงของ Same-risk Benchmark
- จำกัดการกระจุกตัว: เรากำหนดสัดส่วนสูงสุดของสินทรัพย์ในแต่ละกลุ่มธุรกิจหรือภูมิภาค เพื่อให้มั่นใจว่า พอร์ตของคุณจะไม่กระจุกตัวในสินทรัพย์ใดมากจนเกินไป
สุดท้าย ที่ปรึกษา, Investment Committee และทีมงานของ StashAway จะนำประสบการณ์การลงทุนหลายทศวรรษมาตรวจสอบข้อมูลที่ ERAA™ ส่งสัญญาณออกมาและการปรับ Asset Allocation เพื่อให้มั่นใจว่าการบริหารพอร์ตทั้งหมดจะดำเนินไปอย่างถูกต้องและรัดกุม
การปรับปรุง Benchmark ของ ERAA™ เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในตลาด
Benchmark ของพอร์ตจะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจพื้นฐานของการสร้างพอร์ตนั้นๆ และสามารถคาดการณ์การเคลื่อนไหวและความเสี่ยงของพอร์ตได้ ตัวอย่างเช่น กองทุนที่ลงทุนในหุ้นสหรัฐโดยรวมก็มักจะใช้ดัชนี S&P 500 เป็น Benchmark
เนื่องจาก ERAA™ มีกลยุทธ์กระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก เราจึงใช้สินทรัพย์เหล่านั้นในการสร้าง Benchmark เช่นกัน โดยเราจะกำหนดระดับความเสี่ยง (วัดด้วยค่า VaR) ของแต่ละ Benchmark ให้ตรงกับค่าความเสี่ยง SRI ของแต่ละพอร์ตของเรา อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ Benchmark มีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่คงที่ แต่ ERAA™ จะมีการเพิ่มการปรับ Asset Allocation ให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจเพื่อเป้าหมายในการสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่า Benchmark
ทั้งนี้ ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในตลาดนับตั้งแต่เราเริ่มใช้ Benchmark เราจึงเห็นความจำเป็นในการปรับปรุง Benchmark ใหม่ โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยให้ Benchmark สะท้อน Investing Universe ของ ERAA™ ได้ดียิ่งขึ้น และจะช่วยให้เราบริหารความเสี่ยงได้อย่างรัดกุมมากขึ้น โดยเราได้อัปเดต Benchmark ใหม่ ดังนี้
- เพิ่มพันธบัตรสหรัฐระยะสั้นใน Benchmark ของพอร์ตที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือพอร์ตที่มี SRI 14% หรือต่ำกว่า เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ต้องเผชิญกับความผันผวนเชิงโครงสร้างที่เพิ่มขึ้นและภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง
- เพิ่มทองคำใน Benchmark ของทุกพอร์ต General Investing เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ปรับสมดุลและมีความสัมพันธ์ที่แตกต่างจากหุ้นและตราสารหนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่ม Risk-adjusted Returns หรือผลตอบแทนปรับด้วยความเสี่ยงในทุกภาวะเศรษฐกิจ
ERAA™ สร้างพอร์ตของคุณด้วย ETF ที่ดีที่สุดในตลาด
ปัญหาที่นักลงทุนจำนวนมากต้องเผชิญ คือ จะเลือกกองทุนที่ดีที่สุดสำหรับแต่ละสินทรัพย์ได้อย่างไร แต่ที่ StashAway เราใช้ Framework ในการวิเคราะห์หากองทุนที่ดีที่สุดในแต่ละสินทรัพย์อย่างเป็นระบบ ด้วยการคัดเลือกและให้คะแนนตาม 6 เกณฑ์สำคัญ ดังนี้
- สภาพคล่อง เราจะพิจารณามูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดของแต่ละกองทุน รวมถึงปริมาณการซื้อ-ขาย และสภาพคล่องของหลักทรัพย์ที่ ETF นั้นๆ ลงทุน
- ความคุ้มค่า เราจะพิจารณาค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการของ ETF ส่วนต่างระหว่างราคาเสนอซื้อและเสนอขาย รวมถึงภาษีที่เกี่ยวข้อง
- ประสิทธิภาพของ Benchmark รวมถึงการมี Tracking Error ที่ต่ำเมื่อเทียบกับ Benchmark
- ความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของผู้จัดการกองทุนของ ETF
- โครงสร้างที่ไม่ซับซ้อน โดยเราจะไม่ลงทุนใน ETF ที่มีการกู้ยืม (Leverage) หรือมีอนุพันธ์แฝง
- ผลการดำเนินงานย้อนหลังอย่างน้อย 3 ปี สำหรับ ETF หรือดัชนีอ้างอิง
เมื่อนำปัจจัยทั้งหมดมาให้คะแนนเชิงปริมาณ (Quantitative Scoring) ทีมงานของเราจะคัดสรร ETF ที่ดีที่สุดมาไว้ใน Investing Universe ของ ERAA™ จากนั้น ERAA™ จะเลือกเฉพาะ ETF ที่อยู่ใน Investing Universe นี้ เพื่อบริหาร Asset Allocation ในพอร์ตของคุณให้เหมาะสมตามภาวะเศรษฐกิจต่อไป
การบริหาร Asset Allocation ของ ERAA™ ช่วยให้พอร์ตของคุณชนะ Benchmark* ท่ามกลางเงินเฟ้อสูงในช่วงที่ผ่านมา
เพื่อให้เห็นประสิทธิภาพของ ERAA™ เราจะเจาะลึกว่าพอร์ต SRI 22% ของเรา (พอร์ตสมดุลที่เทียบได้กับพอร์ตที่มีสัดส่วนในหุ้น 60% และตราสารหนี้ 40%) มีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางเงินเฟ้อที่สูงและสภาพตลาดยังเต็มไปด้วยความผันผวน
จากตารางด้านล่าง การบริหาร Asset Allocation ของ ERAA™ ทำให้พอร์ต SRI 22% ของเรา มี Drawdown (การลดลงจากจุดสูงสุดถึงจุดต่ำสุดในช่วงเวลาหนึ่ง) ต่ำกว่า เผชิญความผันผวนน้อยกว่า และมีผลตอบแทนสูงกว่า เมื่อเทียบกับ Same-risk Benchmark* โดยให้ผลตอบแทนเป็นบวกที่ +0.2% นับตั้งแต่ต้นปี 2022 เทียบกับ Same-risk Benchmark* ที่ให้ผลตอบแทนติดลบที่ -4.8% (ชนะ Benchmark ที่ +5.0% ในช่วงเวลาเดียวกัน)
ผลตอบแทนที่ดีกว่าเกิดขึ้นจากการที่ ERAA™ บริหาร Asset Allocation ให้พอร์ตมีสัดส่วนของหุ้นในกลุ่มธุรกิจพลังงานและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทองคำ ในช่วงที่เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูงสุดเมื่อปี 2021 และ 2022 นอกจากนี้ ERAA™ ยังปรับพอร์ตให้ Defensive มากขึ้น ด้วยการเพิ่มสัดส่วนของพันธบัตรสหรัฐระยะสั้นและหุ้น Large-cap ในช่วงที่เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ภาวะ Stagflation เมื่อปลายปี 2022
เช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาพอร์ต SRI 6.5% (ระดับความเสี่ยงต่ำที่สุดของเรา) ซึ่งเน้นลงทุนในตราสารหนี้ เราจะเห็นว่าการที่ ERAA™ ปรับพอร์ตให้ Defensive และ Overweight พันธบัตรสหรัฐระยะสั้น ช่วยให้พอร์ต SRI 6.5% ของเรา มีผลตอบแทน -4.8% เมื่อเทียบกับ Same-risk Benchmark* ที่ -16.7% (ชนะ Benchmark ที่ +11.9%) ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดตราสารหนี้เผชิญความผันผวนสูงมาก
ผลตอบแทนล่าสุดของทุกพอร์ตที่บริหารโดย ERAA™
ERAA™ จับสัญญาณว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ ‘Inflationary Growth’
เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ERAA™ จับสัญญาณได้ว่าสภาพเศรษฐกิจโดยรวมเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยจากข้อมูลล่าสุด เศรษฐกิจได้เปลี่ยนจากภาวะ Stagflation กลับมาอยู่ในภาวะ Inflationary Growth ERAA™ จึงทำการ Re-optimisation พอร์ตของคุณให้เหมาะสมตามการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ
การเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจครั้งนี้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังกลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้ง ERAA™ จึงเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มักจะได้ประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ เช่น หุ้น และเพิ่มสัดส่วนของตราสารหนี้ที่ให้ Yield สูงขึ้น
ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายของเรา คือ การปกป้องพอร์ตและสร้างความมั่งคั่งให้นักลงทุนในระยะยาว นี่คือสาเหตุว่าทำไมผู้เชี่ยวชาญและทีมงานด้านการลงทุนของเราถึงมุ่งมั่นในการพัฒนาการทำงานของ ERAA™ อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มให้บริการครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อปี 2017 และเราขอให้คำมั่นว่าจะยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของ ERAA™ ต่อไปในระยะข้างหน้า
สรุปคือ กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ของเราจะบริหารพอร์ตของคุณ เพื่อบริหารความเสี่ยงให้ตรงตามระดับ SRI ที่คุณกำหนดไว้ และปรับ Asset Allocation ให้เหมาะสมตามการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งคุณสามารถวางใจได้ว่าเงินลงทุนของคุณจะได้รับการบริหารจัดการอย่างดีที่สุดจาก StashAway
Glossary of Terms
Modern Portfolio Theory (MPT)
ทฤษฎีสร้างพอร์ตการลงทุนที่ได้รับรางวัล Nobel สาขาเศรษฐศาสตร์ โดยมีเป้าหมายสร้างผลตอบแทนให้ได้มากที่สุดในแต่ละระดับความเสี่ยงที่กำหนดไว้ โดยการกระจายการลงทุนถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของทฤษฎีนี้ที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของสินทรัพย์แต่ละประเภท
Value-at-Risk (VaR)
เป็นการประเมินว่าพอร์ตมีโอกาสขาดทุนสูงสุดเท่าไหร่ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยที่ StashAway เราใช้ค่า VaR ที่ Confidence Level ที่ 99th Percentile ในระยะเวลา 12 เดือน หมายความว่าพอร์ตของคุณมีโอกาสถึง 99% ที่จะไม่ขาดทุนมากกว่าระดับค่า SRI ที่เลือกไว้ใน 1 ปี ตัวอย่างเช่น หากคุณเลือก SRI สำหรับพอร์ตที่ StashAway ไว้ที่ 20% หมายความว่าพอร์ตนี้มีโอกาสถึง 99% ที่จะไม่ขาดทุนเกิน 20% ในแต่ละปี
Strategic Asset Allocation (SAA)
วิธีบริหารพอร์ตลงทุนอย่างเป็นระบบในระยะยาว โดยจะกำหนดสัดส่วนของแต่ละสินทรัพย์ และปรับสัดส่วนของสินทรัพย์เป็นระยะๆ เพื่อรักษาลักษณะผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ต้องการ
Tactical Asset Allocation (TAA)
วิธีบริหารพอร์ตลงทุนที่ Active มากขึ้น ประกอบไปด้วยกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย โดยผู้จัดการกองทุนที่ใช้วิธีนี้จะปรับสัดส่วนของสินทรัพย์ตามโอกาสและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในตลาด
*หมายเหตุ:
Benchmark ที่เราใช้ในการเปรียบเทียบมาจาก MSCI All Country World Equity Index TRI ในส่วนของหุ้น (ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2566 ใช้ MSCI World Equity Index TRI) และใช้ FTSE World Government Bond TRI ในส่วนของตราสารหนี้ โดยนํ้าหนักของ Benchmark ที่เราใช้จะมีค่าความผันผวนที่เกิดขึ้นจริง (Realized Volatility) ในระยะเวลา 10 ปีเท่ากับระดับความเสี่ยง StashAway Risk Index
ผลตอบแทนของโมเดลพอร์ตนี้เป็นมูลค่าทั้งหมดก่อนหักค่าธรรมเนียม ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผล โดยแบบจำลองผลการดำเนินงานนี้ทำเพื่อชี้วัดประสิทธิภาพของกลยุทธ์การลงทุน ไม่รวมปัจจัยอื่นๆ
ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงในบัญชีอาจแตกต่างจากโมเดลพอร์ต ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาดำเนินการซื้อขาย, ความแตกต่างของช่วงเวลาและความผันผวนระหว่างวันในการทำ Re-optimisation และการทำ Rebalancing, ค่าธรรมเนียม, ภาษีของเงินปันผล (และการขอคืนภาษี) และอื่นๆ โดยผลตอบแทนอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นคำเสนอ คำแนะนำ คำเชื้อเชิญ หรือการชักชวนให้ท่านซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเข้าทำธุรกรรมใดๆ