CIO Insights: ยอมเจ็บวันนี้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีในวันหน้า

ในบทความ 2025 Macro Outlook: ‘FAT’ คือ New Normal เราได้กล่าวไว้ว่า จุดยืนที่สนับสนุนภาคธุรกิจของรัฐบาล Donald Trump น่าจะส่งผลเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ตาม เราเคยวิเคราะห์ว่า ความไม่แน่นอนจากนโยบายของ Trump อาจสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลกระทบจะขึ้นอยู่กับจังหวะ ขนาด และขอบเขตของมาตรการเหล่านั้น
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ Trump เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา มีการประกาศนโยบายลดงบประมาณและการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ข้อมูลเศรษฐกิจบางส่วนชะลอตัวลง และสร้างความกังวลให้กับนักลงทุน
ใน CIO Insights ฉบับนี้ เราจะประเมินสถานการณ์ของเศรษฐกิจสหรัฐ และวิเคราะห์ว่า การดำเนินนโยบายของ Trump ในปัจจุบันอาจส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและตลาดการเงินอย่างไร?
4 Key takeaways
- แม้ว่า ‘Soft Data’ จะชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัว แต่ ‘Hard Data’ ยังคงแข็งแกร่ง ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายของ Trump ส่งผลกระทบต่อข้อมูลเศรษฐกิจที่อ้างอิงผลสำรวจ (Soft Data) เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าความกังวลเหล่านี้ได้สะท้อนมาถึงข้อมูลที่วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจริง (Hard Data) ซึ่งในท้ายที่สุด ตัวเลขเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายของ Trump ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
- จุดยืนของ Trump ยังคงสนับสนุนการเติบโต แต่การลดงบประมาณและมาตรการภาษีนำเข้าอาจเป็นอุปสรรคระยะสั้น การปรับฐานครั้งล่าสุดของตลาดหุ้นสหรัฐ สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนปรับมุมมองใหม่เกี่ยวกับการให้ลำดับความสำคัญ ระยะเวลา และผลกระทบของนโยบายของ Trump ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลดภาษีและการลดกฎระเบียบ อาจใช้เวลากว่าจะเห็นผล แต่นโยบายอื่นๆ เช่น การลดงบประมาณ การปลดข้าราชการ และการเก็บภาษีนำเข้า กำลังถูกดำเนินการอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น
- ภาพรวม: ยอมเจ็บวันนี้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีในวันหน้า ดูเหมือนว่ารัฐบาล Trump เต็มใจที่จะเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจในระยะสั้นเพื่อหวังผลในระยะยาว โดยความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ในขณะนี้ อาจสร้างแรงกดดันต่อการเติบโตในระยะสั้น แต่บุคคลสำคัญในรัฐบาล เช่น Scott Bessent รัฐมนตรีคลัง และ Elon Musk หัวหน้า Department of Government Efficiency (DOGE) กำลังให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการกู้ยืมระยะยาว โดยมีเป้าหมายหลักคือ การลดภาระหนี้ของรัฐบาลและสร้างเสถียรภาพทางการคลัง อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์นี้อาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว และเพิ่มความผันผวนของตลาด ในอีกหลายไตรมาสข้างหน้า
- ในสภาวะที่ไม่แน่นอน การกระจายการลงทุนมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ราคาทองคำได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีคุณสมบัติเป็นสินทรัพย์ Safe-haven ในขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ส่งผลให้ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ปรับตัวขึ้น นอกจากนี้ หุ้นนอกสหรัฐยังทำผลตอบแทนได้ดี ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการกระจายการลงทุนที่ดี โดยนับตั้งแต่ต้นปี พอร์ต General Investing ของเรา ซึ่งมีการกระจายการลงทุนที่ดีทั่วโลก สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ย YTD ได้ดีกว่า Same-risk Benchmark*
ความเชื่อมั่นเริ่มชะลอตัว แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดเผชิญกับความไม่แน่นอนเรื่องภาษีนำเข้าและนโยบายอื่นๆ ของ Trump รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลง ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโต อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือเราต้องแยกให้ออกระหว่าง ข้อมูลเชิงความเชื่อมั่น (Soft Data) ซึ่งมาจากการสำรวจความคิดเห็น กับข้อมูลที่วัดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง (Hard Data) โดยความกังวลส่วนใหญ่เกิดจากตัวเลขความเชื่อมั่นที่ลดลงเมื่อเร็วๆ นี้ ดังนี้
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของ ISM ซึ่งสำรวจความเห็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโรงงานต่างๆ แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมในภาคการผลิตของสหรัฐชะลอตัวลงในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา และดัชนีอื่นๆ ที่วัดคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ได้มีการปรับตัวลดลงเข้าสู่ภาวะหดตัว
- ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคจาก University of Michigan และ Conference Board ต่างแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภครู้สึกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลความเชื่อมั่น (Soft Data) อาจมีความผันผวนสูงและอาจได้รับอิทธิพลจาก Sentiment ของตลาด ทำให้การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจจากข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และเมื่อเราพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง (Hard Data) จะพบว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง ดังนี้
- รายงานการจ้างงานล่าสุดแสดงให้เห็นว่าตลาดแรงงานยังคงเติบโต และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 151,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ. โดยภาคเอกชนสามารถชดเชยผลกระทบที่เกิดจากการปลดพนักงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการลดต้นทุนของ DOGE ได้ ทำให้อัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ 4.1% ซึ่งถือว่าต่ำหากเทียบกับข้อมูลในอดีต
- ดัชนีเศรษฐกิจรายสัปดาห์ (WEI) ของ Fed สาขา Dallas ซึ่งรวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจความถี่สูง เช่น ยอดค้าปลีก จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และการใช้ไฟฟ้า สะท้อนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังดำเนินไปได้ด้วยดี โดยตัวชี้วัดดังกล่าวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงเติบโตเฉลี่ย 2.5% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

คำถามสำคัญคือ นโยบายของ Trump จะส่งผลต่อการเติบโตในระยะข้างหน้าอย่างไร? เพราะหากความไม่แน่นอนยังคงอยู่ต่อไป ความเชื่อมั่นที่อ่อนแอลงอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจริง เนื่องจากภาคธุรกิจอาจชะลอการลงทุน และภาคครัวเรือนอาจลดการใช้จ่ายลง
นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ Trump เริ่มต้นได้ไม่ค่อยดีนัก
ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา เราเคยวิเคราะห์ไว้ว่านโยบายของ Trump มีทั้งผลบวกและผลลบต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่ในภาพรวมยังคงสนับสนุนภาคธุรกิจ (อ่านเพิ่มเติมได้ใน CIO Update: การกลับมาของ Donald Trump ส่งผลอย่างไรต่อการลงทุนของคุณ?) อย่างไรก็ตาม ลำดับในการดำเนินนโยบายเหล่านี้อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวม
นโยบายลดงบประมาณของ DOGE และความไม่แน่นอนเรื่องภาษีนำเข้าเป็นอุปสรรคระยะสั้น
ปัจจุบัน รัฐบาล Trump กำลังให้ความสำคัญกับนโยบายภาษีนำเข้าและนโยบายลดงบประมาณของ DOGE ก่อนนโยบายอื่นๆ ทำให้เกิดความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะสั้น
ยกตัวอย่างการลดงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับ DOGE เช่น Elon Musk ได้ประกาศตั้งเป้าลดงบประมาณของภาครัฐลง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในเดือน ก.ย. นี้ (แม้จะมีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายและกรอบระยะเวลาหลายครั้ง) โดยจากข้อมูลของ DOGE พบว่า นโยบายดังกล่าวสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ 105,000 ล้านดอลลาร์ฯ ภายในเวลาเพียง 2 เดือน ซึ่งหากคำนวณตัวเลขนี้กลับเป็นรายปี จะเท่ากับการลดการใช้จ่ายของรัฐบาลลงกว่า 600,000 ล้านดอลลาร์ฯ ภายใน 1 ปี หรือประมาณ 2% ของ GDP ซึ่งไม่แปลกที่การลดงบประมาณจำนวนมหาศาลขนาดนี้จะทำให้ตลาดรู้สึกกังวล
นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของนโยบายภาษีนำเข้า ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยในปัจจุบัน ยังมีการเจรจากันอยู่ระหว่างสหรัฐกับประเทศคู่ค้า ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะประเมินผลกระทบที่ชัดเจนในขณะนี้ แต่ความไม่แน่นอนเพียงอย่างเดียวก็สามารถส่งผลกระทบต่อตลาด และสร้างความกังวลให้กับภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนได้
ทั้งนี้ จากการใช้โมเดลเศรษฐกิจ SHOK ของ Bloomberg เราประเมินว่าการลดงบประมาณของ DOGE มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ นับตั้งแต่วันนี้ถึงเดือน มิ.ย. 2026 และความไม่แน่นอนเรื่องภาษีนำเข้าในปีนี้ อาจส่งผลให้ GDP สหรัฐหดตัวลง 2.1% ภายในสิ้นปีนี้ เมื่อเทียบกับการคาดการณ์เติบโตภายใต้เงื่อนไขปกติ และลดลงสูงสุด 2.8% ในช่วงกลางปี 2026 (ดูกราฟ 2)

สุดท้ายนี้ การลงทุนระยะยาวที่ประสบความสำเร็จต้องอาศัยความอดทน วินัย และการมีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน โดยการ Stay Invested ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดี และเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่คุณรับได้อย่างแท้จริง จะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับความผันผวนของตลาด และสามารถสร้างความมั่งคั่งได้อย่างมั่นคงในระยะยาว
แม้ผลกระทบข้างต้นจะดูรุนแรง แต่ภาครัฐยังมีเครื่องมืออื่นๆ ที่สามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ เช่น Fed สามารถลดอัตราดอกเบี้ยลงได้มากกว่านี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และหากการลดดอกเบี้ยทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงก็อาจยิ่งช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้
นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนว่านโยบายของ Trump จะสามารถบรรลุผลได้เต็มที่หรือไม่ เช่น การลดงบประมาณของ DOGE ยังคงอยู่ภายใต้การตรวจสอบทางกฎหมาย ขณะที่ การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโกก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน และอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
สุดท้ายแล้ว เป้าหมายการลดงบประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ นั้นถือว่า ทะเยอทะยานมาก และหากแนวคิด ‘DOGE Dividend’ ได้รับการอนุมัติ (เสนอให้คืนเงิน 20% จากงบประมาณที่ลดลงได้แก่ผู้เสียภาษี) ก็อาจช่วยลดแรงกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจได้
ในระยะยาว การลดภาษีและการลดกฎระเบียบจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อย่างที่เรากล่าวไว้ข้างต้นว่า ลำดับเวลาของนโยบายนั้นมีความสำคัญ โดยเราคาดว่านโยบายอื่นๆ ของ Trump เช่น การลดภาษีและการลดกฎระเบียบต่างๆ จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล
ตัวอย่างเช่น การขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย Tax Cuts and Jobs Act (TCJA) ปี 2017 (ซึ่งจะหมดอายุภายในสิ้นปี 2025) รวมถึงการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพิ่มเติมที่อาจช่วยชดเชยผลกระทบจากการลดงบประมาณของภาครัฐ ตัวอย่างเช่น การเสนอให้ลดอัตราภาษีนิติบุคคลจาก 21% เหลือ 20% หรืออาจต่ำถึง 15% ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำไรของภาคเอกชนและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น โดย Tax Foundation ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยด้านภาษี ประเมินว่านโยบายลดภาษีของ Trump อาจช่วยให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.8% ในระยะยาว
นอกจากนี้ การลดกฎระเบียบ โดยเฉพาะในภาคพลังงาน การเงิน และเทคโนโลยี อาจช่วยลดต้นทุนด้านการกำกับดูแลธุรกิจ และกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาและประสิทธิภาพของมาตรการเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับการเจรจาทางการเมืองและข้อจำกัดด้านงบประมาณ โดยเฉพาะเมื่อยังมีความกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลาง
ภาพรวม: Trump อาจยอมรับความเจ็บปวดระยะสั้นเพื่อผลลัพธ์ระยะยาว
หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของรัฐบาล ตามที่รัฐมนตรีคลัง Bessent และหัวหน้า DOGE อย่าง Musk ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจน คือการลดต้นทุนการกู้ยืมระยะยาว โดยเฉพาะในส่วนของ Yield พันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี เพื่อลดภาระในการ Refinance ของรัฐบาล โดยสาเหตุที่ประเด็นนี้มีความสำคัญ เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐมีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในปีนี้กว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 1 ใน 4 ของหนี้ทั้งหมด 36 ล้านล้านดอลลาร์ฯ (ดูกราฟ 3)

เพื่อให้สามารถ Refinance หนี้ดังกล่าวในอัตราดอกเบี้ยที่ยั่งยืน รัฐบาลอาจต้องดำเนินมาตรการที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจของนักลงทุนพันธบัตรสหรัฐ เช่น การลดการใช้จ่ายของภาครัฐ หรือการรักษาวินัยทางการคลัง เพื่อลดความกังวลเรื่องการขาดดุลที่เพิ่มขึ้น โดยการควบคุมต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวไม่เพียงแต่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยของรัฐบาล แต่ยังช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินในระบบเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย เพราะจะช่วยให้ต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจและครัวเรือนลดลงในระยะยาว
ทั้งนี้ การที่จะลดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวได้นั้น รัฐบาลจำเป็นต้องทำให้เงินเฟ้อลดลงมาด้วย ซึ่งหนึ่งในวิธีที่สามารถทำได้ คือ การทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง และหากการเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ Fed ก็อาจมีพื้นที่มากขึ้นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมได้อีก
สำหรับผลกระทบที่มีต่อตลาดหุ้นสหรัฐ ฉากหลังของนโยบายนี้อาจทำให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า และเมื่อพิจารณาจากมูลค่าหุ้นที่อยู่ในระดับสูง บวกกับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็อาจนำไปสู่การเคลื่อนไหวของราคาที่ผันผวนมากขึ้น (ดูกราฟ 4) โดยค่า Forward P/E ของดัชนี S&P 500 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 20.3 เท่า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 18.5 เท่า ประมาณ 10%

วิธีรับมือความผันผวนในตลาด: การกระจายการลงทุน
แม้เราจะเชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐอาจเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่นั่นไม่ควรทำให้คุณไขว้เขวจากแผนการลงทุนระยะยาวของคุณ โดยการกระจายการลงทุน และการเลือกพอร์ตที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของตัวเอง จะช่วยให้คุณสามารถลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงที่ตลาดผันผวน
ทั้งนี้ ผลตอบแทน YTD ของสินทรัพย์ต่างๆ ตอกย้ำให้เราเห็นความสำคัญของการกระจายการลงทุนที่ดี เพราะแม้ดัชนี S&P 500 จะปรับตัวลดลง 5% (ณ 11 มี.ค.) แต่ตลาดหุ้นโลก (ไม่รวมสหรัฐ) ปรับตัวขึ้น 5.8% ขณะที่ สินทรัพย์ปรับสมดุลอย่างทองคำและตราสารหนี้ ยังทำหน้าที่ได้ดี โดยปรับตัวขึ้น 10.4% และ 2.5% ตามลำดับ (ดูกราฟ 5)

ปัจจุบัน พอร์ต General Investing ของเรา ได้รับประโยชน์จากการมีสัดส่วนของทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ Safe-haven และมีส่วนสำคัญในการปกป้องพอร์ตของเราในช่วงที่ตลาดผันผวน
ในพอร์ตที่มีระดับความเสี่ยงสูงกว่า (เน้นการลงทุนในหุ้น) การมีสัดส่วนในหุ้นกลุ่ม Defensive เช่น Healthcare และสินค้าจำเป็น รวมถึงหุ้นนอกสหรัฐ ช่วยลดแรงกระแทกจากการปรับตัวลงของหุ้นบางกลุ่ม ส่วนในพอร์ตที่มีระดับความเสี่ยงต่ำกว่า (เน้นการลงทุนในตราสารหนี้) การปรับตัวขึ้นของตราสารหนี้ เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ช่วยสนับสนุนผลตอบแทนในพอร์ต
โดยรวมแล้ว ปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้ พอร์ต General Investing ของเรา สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ย YTD ได้ดีกว่า Same-risk Benchmark* โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นสหรัฐอยู่ในแดนลบ แต่พอร์ต General Investing ในทุกระดับความเสี่ยง ยังคงให้ผลตอบแทนเป็นบวก

สุดท้ายนี้ การลงทุนระยะยาวที่ประสบความสำเร็จต้องอาศัยความอดทน วินัย และการมีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน โดยการ Stay Invested ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดี และเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่คุณรับได้อย่างแท้จริง จะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับความผันผวนของตลาด และสามารถสร้างความมั่งคั่งได้อย่างมั่นคงในระยะยาว
หมายเหตุ:
Benchmark ที่เราใช้ในการเปรียบเทียบมาจาก FTSE All-World Index ในส่วนของหุ้น (ก่อนวันที่ 31 กรกฎาคม 2024 ใช้ MSCI All Country World Index และ ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2023 ใช้ MSCI World Equity Index TRI) และ ใช้ FTSE World Government Bond TRI ในส่วนของตราสารหนี้ โดยหลังจากวันที่ 24 เมษายน 2024 เราได้เพิ่ม Bloomberg 1-3 Month US Treasury Bill Index ในส่วนของพันธบัตรสหรัฐระยะสั้น และ Bloomberg Gold Subindex Total Return Index ในส่วนของทองคำ เข้าไปใน Benchmark โดยน้ำหนักของ Benchmark ที่เราใช้จะมีค่าความผันผวนที่เกิดขึ้นจริง (Realized Volatility) ในระยะเวลา 10 ปีเท่ากับระดับความเสี่ยง StashAway Risk Index
การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต; การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นคำเสนอ คำแนะนำ คำเชื้อเชิญ หรือการชักชวนให้ท่านซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเข้าทำธุรกรรมใดๆ
ข้อมูลนี้ไม่ได้จัดเตรียมขึ้นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลของท่าน (เช่น วัตถุประสงค์การลงทุน สถานการณ์ทางการเงิน หรือความความต้องการโดยเฉพาะ) ท่านควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย และด้านอื่น ๆ ของท่านเอง