CIO Insights: อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ส่งผลต่อการลงทุนอย่างไร?
Fed ได้เริ่มวงจรการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นทางการด้วยการลดดอกเบี้ยครั้งแรกมากกว่าปกติถึง 0.5% ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญของธนาคารกลางสหรัฐ โดยมีเป้าหมาย คือ สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจแทนการควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งสำหรับนักลงทุน อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะทำให้การนำเงินสดมาลงทุนยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น
CIO Insights เดือนนี้ เราจะสำรวจผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการตัดสินใจของ Fed และความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะส่งผลต่อการลงทุนของคุณอย่างไร
5 Key takeaways:
- Fed เริ่มวงจรการลดอัตราดอกเบี้ยด้วยความชัดเจน การเริ่มมาตรการผ่อนคลายทางการเงินด้วยการลดดอกเบี้ย 0.5% เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต แม้ว่าโดยทั่วไป Fed มักไม่ลดดอกเบี้ยมากขนาดนี้หากไม่เกิดวิกฤตหรือภาวะ Recession อย่างไรก็ตาม เรายังคงมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้กำลังเข้าสู่สถานการณ์ดังกล่าว (อ่านเพิ่มเติมใน CIO Insights: เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงถดถอยจริงหรือ?)
- Fed หันไปให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจ เรามองว่าสาเหตุเบื้องหลังการตัดสินใจครั้งล่าสุดของ Fed มีด้วยกัน 2 ประการ คือ 1) เงินเฟ้อที่ลดความร้อนแรงลง ประกอบกับตลาดแรงงานที่อ่อนตัวลง ทำให้ความกังวลหลักของ Fed ได้เปลี่ยนจากการควบคุมเงินเฟ้อไปเป็นการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และ 2) Fed ต้องการส่งสัญญาณว่าพวกเขาไม่ได้ ‘Behind the Curve’ หรือช้าเกินไปในการพาเศรษฐกิจสหรัฐลงจอดแบบ ‘Soft Landing’ หรือการควบคุมเงินเฟ้อให้เข้าสู่ระดับเป้าหมายโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ Recession
- ความเสี่ยงของภาวะ Recession อาจลดลง แต่ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้งกลับเพิ่มสูงขึ้น แม้การตัดสินใจครั้งล่าสุดของ Fed จะลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะ Recession ในเร็วๆ นี้ แต่ Fed อาจต้องเผชิญอุปสรรคมากขึ้นในการควบคุมเงินเฟ้อให้เข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อที่มาจากฝั่ง Supply
- ภาวะเศรษฐกิจแบบ ‘Inflationary Growth’ ช่วยสนับสนุนสินทรัพย์เสี่ยง ผลกระทบสำคัญของการตัดสินใจครั้งล่าสุดของ Fed คือ เศรษฐกิจอาจยังอยู่ในภาวะ Inflationary Growth นานขึ้น โดยเทคโนโลยีการลงทุน Economic Regime Asset Allocation หรือ ERAA™ ของเรา ได้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ที่น่าจะได้ประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ เช่น หุ้นและตราสารหนี้ High-yield
- ดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลงและแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เป็นปัจจัยสนับสนุนให้คุณนำเงินสดที่ถืออยู่มาลงทุนเพิ่ม การเก็บเงินไว้ในรูปแบบเงินสดหรือบัญชีเงินฝากประจำจะยิ่งน่าดึงดูดน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อ Fed ยังคงเดินหน้าลดอัตราดอกเบี้ยต่อไป ดังนั้น หากคุณยังถือเงินสดเป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพิจารณานำเงินเหล่านั้นมาลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น หุ้นและตราสารหนี้
Fed เริ่มวงจรการลดอัตราดอกเบี้ยด้วยความชัดเจน
แม้ Fed จะเคยเริ่มวงจรการลดอัตราดอกเบี้ยในระดับ 0.5% มาแล้ว แต่โดยทั่วไป Fed มักเลือกลดดอกเบี้ยครั้งแรกแค่ 0.25% โดยครั้งล่าสุดที่ Fed เริ่มต้นด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเช่นนี้ คือ ในปี 2007 และ 2001 ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์เป็นช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะตึงเครียดอย่างมาก
แล้วทำไม Fed ถึงลดอัตราดอกเบี้ยมากขนาดนี้? เรามองว่ามีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ ดังนี้
1. Fed หันไปให้ความสำคัญกับการเติบโต แทนการควบคุมเงินเฟ้อ
Fed ได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า ความกังวลหลักของพวกเขาในขณะนี้ได้เปลี่ยนจากการควบคุมเงินเฟ้อไปเป็นการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยในการประชุมเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา สมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ส่วนใหญ่มองว่า มีโอกาสที่อัตราการว่างงานจะเพิ่มสูงกว่าช่วงต้นปี (แท่งสีฟ้าอ่อนในตารางฝั่งซ้าย)
ในทางกลับกัน สมาชิก FOMC ส่วนใหญ่มองว่า ความเสี่ยงของเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สมดุล หมายความว่าสมาชิกส่วนใหญ่เชื่อว่าเงินเฟ้อมีโอกาสปรับตัวขึ้นหรือลดลงพอๆ กัน (แท่งสีฟ้าอ่อนในตารางฝั่งขวา)
2. Fed ต้องการแสดงท่าทีเชิงรุกในการบริหารจัดการเศรษฐกิจสหรัฐ
การเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าปกติ ถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนจาก Fed ว่าพร้อมที่จะใช้นโยบายเด็ดขาดเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐ แม้ว่า Fed ยังคงมองว่าเศรษฐกิจยัง ‘แข็งแกร่ง’ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะลดดอกเบี้ยเพื่อรักษาความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายเพิ่มเติมหากข้อมูลเศรษฐกิจอ่อนตัวลงอีก
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นในตาราง Dot Plot ด้านล่าง โดยแต่ละจุดจะแสดงให้เห็นการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของสมาชิก FOMC โดยเส้นสีเขียว คือ ค่า Median ซึ่งปัจจุบันมองว่าจะมีการลดดอกเบี้ยอีก 0.5% ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนเส้นสีดำแสดงให้เห็นการคาดการณ์ของตลาด โดยอ้างอิงจากตลาด Futures และแม้ว่าการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของสมาชิก FOMC ยังคงปรับลงช้ากว่าความคาดหวังของตลาด แต่ช่องว่างนี้เริ่มแคบลงเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา
การตัดสินใจของ Fed ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐและโลกอย่างไร?
นโยบายการเงินเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดของ Fed ในครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบสำคัญต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐ ดังนี้
1. ลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ Recession
แม้ว่าตลาดแรงงานจะอ่อนตัวลง แต่อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายทศวรรษ (เราได้กล่าวไว้ใน CIO Insights: เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงถดถอยจริงหรือ?) โดยการวิเคราะห์ของเราพบว่าการบริโภคในสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง แต่ความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ข้อมูลเศรษฐกิจอ่อนแอลง
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของ Fed แสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุนตลาดการเงิน และเราเชื่อว่าการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ได้ลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะ Recession ในระยะสั้นลงไปอีก
2. แต่การควบคุมเงินเฟ้อให้กลับสู่ระดับเป้าหมายอาจยากขึ้น
แม้ว่าความเสี่ยงของการเกิด Recession ในเร็วๆ นี้ จะลดลง แต่การทำให้เงินเฟ้อกลับมาอยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% ของ Fed อาจมีอุปสรรคมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกับช่วงปี 2007 อยู่บ้าง
ในขณะนั้น Fed เริ่มต้นด้วยการลดดอกเบี้ย 0.5% และการลดดอกเบี้ยในครั้งต่อๆ มา ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นในช่วงแรก และเมื่อรวมกับ Demand ที่แข็งแกร่งจากตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จึงปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย และในที่สุด เงินเฟ้อก็กลับมาร้อนแรงอีกครั้งในปี 2008
แม้ประวัติศาสตร์อาจไม่ได้ซ้ำรอยเดิม 100% แต่เหตุการณ์นี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ายังมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะยังยืดเยื้อต่อไป
3. สภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกอาจสนับสนุนราคาสินทรัพย์ต่างๆ ต่อไป
ตัวชี้วัดภาวะทางการเงินต่างๆ ซึ่งวัดความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินและสินเชื่อของผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และรัฐบาล บ่งชี้ว่า ปัจจุบัน เราอยู่ในสถานการณ์ที่เอื้อต่อสภาพคล่องทั่วโลกมากขึ้น หรือการที่เงินสามารถหมุนเวียนได้ง่ายขึ้นในระบบการเงินโลก
นอกจากนี้ Fed ยังเริ่มชะลอการทำ Quantitative Tightening (QT) หรือการดูดสภาพคล่องออกจากระบบการเงิน และอาจยุติโครงการนี้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้มีเงินสดไหลเข้าสู่ระบบการเงินมากขึ้น และโดยทั่วไปแล้ว สิ่งนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิด Demand ของสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น สรุปคือ ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ จะช่วยสนับสนุนราคาสินทรัพย์ต่างๆ ต่อไป
เศรษฐกิจน่าจะคงอยู่ในภาวะ ‘Inflationary Growth’ ต่อไป
แล้วปัจจัยทั้งหมดจะส่งผลต่อการบริหาร Asset Allocation ในพอร์ตของเราอย่างไร? ขอทบทวนสั้นๆ ว่า เทคโนโลยี ERAA™ ของเราใช้ข้อมูลเศรษฐกิจแบบ Real-time เพื่อระบุภาวะเศรษฐกิจและปรับสัดส่วนสินทรัพย์ในพอร์ตให้เหมาะสม โดยนับตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ERAA™ ได้จับสัญญาณว่าเราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจแบบ Inflationary Growth ทำให้มีการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนของตราสารหนี้ High-yield
การตัดสินใจครั้งล่าสุดของ Fed ทำให้ ERAA™ น่าจะให้สัญญาณว่าเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะ Inflationary Growth ต่อไปอีกสักระยะ ซึ่ง ERAA™ จะยังคงตัดสินใจแบบ Data-driven เช่นเดียวกับ Fed
ถึงเวลานำเงินสดของคุณไปสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น
เมื่อ Fed เริ่มวงจรการลดอัตราดอกเบี้ย และธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ก็มีแนวโน้มจะทำตาม เหตุการณ์นี้จะทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากของคุณลดลงตามไปด้วย ดังนั้นหากคุณเก็บเงินสดไว้ในธนาคาร ตอนนี้อาจเป็นเวลาที่เหมาะสมในการพิจารณานำเงินบางส่วนมาลงทุนเพิ่ม เนื่องจาก
- เงินฝากของคุณ เช่น เงินฝากประจำ จะได้รับผลตอบแทนน้อยลง: อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงหมายความว่าเงินออมของคุณจะเติบโตน้อยลงในระยะยาว
- สินทรัพย์อื่นๆ มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า: พอร์ตการลงทุนที่สมดุลอาจมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าในภาวะเศรษฐกิจแบบปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น พอร์ต General Investing ซึ่งบริหารโดย ERAA™ และมีการกระจายการลงทุนที่ดีในหลากหลายสินทรัพย์ กลุ่มธุรกิจและภูมิภาค ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 12 เดือนจนถึงกลางเดือน ก.ย. อยู่ระหว่าง 5.7-15.3%* ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (3.2% และ 12.6% ในสกุลเงินบาท) ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนจากการถือเงินสดเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรพิจารณาอยู่เสมอว่าการลงทุนมาพร้อมกับความเสี่ยง การตัดสินใจปรับพอร์ตการลงทุนแต่ละครั้งจึงควรทำด้วยความรอบคอบ โดยพิจารณาถึงระยะเวลาการลงทุนและระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้ทุกครั้ง เพื่อให้คุณสามารถลงทุนและเดินหน้าสู่การบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้อย่างสบายใจ
*หมายเหตุ:
การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต; ผลตอบแทนของโมเดลพอร์ตนี้เป็นมูลค่าทั้งหมดก่อนหักค่าธรรมเนียม ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผล โดยแบบจำลองผลการดำเนินงานนี้ทำเพื่อชี้วัดประสิทธิภาพของกลยุทธ์การลงทุน ไม่รวมปัจจัยอื่นๆ
ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงในบัญชีอาจแตกต่างจากโมเดลพอร์ต ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาดำเนินการซื้อขาย, ความแตกต่างของช่วงเวลาและความผันผวนระหว่างวันในการทำ Re-optimisation และการทำ Rebalancing, ค่าธรรมเนียม, ภาษีของเงินปันผล (และการขอคืนภาษี) และอื่นๆ