เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญ ‘วิกฤติ’ จริงหรือ?
ข่าวด้านลบมากมายในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จีนได้ยึดครองพื้นที่สื่อมาตลอดหลายสัปดาห์ ทำให้นักลงทุนต่างกังวลว่าปัญหาหนี้ในกลุ่มธุรกิจนี้อาจลุกลามเหนือการควบคุม และทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของจีนพังทลายไปด้วย
แต่เศรษฐกิจจีนกำลังล่มสลายจริงหรือ? CIO Insights เดือนนี้ จึงอยากพานักลงทุนเจาะลึกอุปสรรคที่จีนกำลังเผชิญอยู่ รวมถึง ‘โอกาส’ ในระยะยาวที่ซ่อนอยู่ของประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกแห่งนี้
4 Key takeaways:
- ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนไม่ได้กำลังเข้าสู่วิกฤติครั้งใหญ่ เห็นได้จากมาตรวัดที่แสดง Demand และ Supply ของตลาดอย่างราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมักแสดงให้เห็นแนวโน้มในระยะข้างหน้า ยังไม่ส่งสัญญาณวิกฤติใดๆ จนถึงขณะนี้ และแม้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอย่างดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) จะแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง แต่ตัวเลขก็ไม่ได้บ่งบอกว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ส่วนธนาคารจีนยังมีสภาพคล่องที่มากพอ ดังนั้น หากสถานการณ์ในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ย่ำแย่ไปมากกว่านี้ ความเสี่ยงต่อระบบการเงินของจีนก็อาจยังมีจำกัด
- อย่างไรก็ตาม ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวอย่างรุนแรง โดยปัญหาในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 25-30% ของ GDP กำลังฉุดรั้งการลงทุนและการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่การส่งออกซึ่งเป็นอีกแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญปัญหาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายลดหนี้สาธารณะของทางการจีน อาจเป็นข้อจำกัดที่ทำให้รัฐบาลน่าจะออกมาตรการช่วยเหลือแค่เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่อย่างในปี 2008
- นอกจากนี้ จีนยังมีกลุ่มธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนอย่าง นโยบายช่วยเหลือของรัฐบาล ความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิต EV จีนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเทรนด์ระยะยาวของโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจนี้อาจยังมีขนาดไม่ใหญ่พอที่จะช่วยการเติบโตในระยะสั้น แต่เราก็ควรพิจารณาถึงโอกาสในระยะยาว
- โดยภาพรวม แม้จีนยังต้องเผชิญอุปสรรคการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า แต่ความหวาดกลัวที่ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังจะล่มสลายดูเหมือนจะไกลกว่าความเป็นจริง ซึ่งในแง่การลงทุน การมีสัดส่วนการลงทุนในตลาดจีน (ในระยะยาวขึ้น) ยังเป็นเรื่องสมเหตุสมผลเนื่องจากเศรษฐกิจจีนยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในอนาคต
แม้มีข่าวความวุ่นวายในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เมื่อเรามองย้อนกลับไป รัฐบาลจีนได้พยายามควบคุมการกู้ยืมของภาคเอกชนมานานหลายปี เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาหนี้ที่จะมีต่อเศรษฐกิจโดยรวม
จุดเปลี่ยนของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นในปี 2020 เมื่อรัฐบาลได้ออกแนวทางปฏิบัติสำหรับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘Three Red Lines’ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และนำมาสู่การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายราย เช่น Evergrande ที่ผิดนัดชำระหนี้มาตั้งแต่ปี 2021 และล่าสุด คือ Country Garden ที่กำลังต่อสู้กับปัญหาหนี้อยู่ในขณะนี้
ปัจจุบัน นักลงทุนต่างกังวลว่าปัญหาหนี้จะลุกลาม เนื่องจากกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีขนาดใหญ่มาก หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25-30% ของเศรษฐกิจจีน และแม้ว่าข้อมูลสำคัญหลายประการจะชี้ว่าจีนกำลังเผชิญกับวัฏจักรขาลง แต่ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าปัญหาในครั้งนี้ยังไม่ใช่วิกฤติ
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์: เนื่องจากจีนเป็นผู้นำเข้าสินค้ารายใหญ่ การหยุดชะงักของเศรษฐกิจจีนจะสร้างผลกระทบอย่างมากต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลากหลายชนิด ตั้งแต่ทองแดง โลหะ ไปจนถึงน้ำมัน แต่จนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ที่ว่ายังไม่ได้เกิดขึ้น แม้ราคาทองแดงและเหล็กจะเคยลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ได้ฟื้นตัวและคงที่ในปัจจุบัน
ข้อมูลทางเศรษฐกิจ: เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจโดยรวม PMI มักเป็นเครื่องมือชี้วัดสถานการณ์ในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ได้ดี โดยตัวเลข PMI ในภาคการผลิตวนเวียนอยู่ที่ระดับ 50 จุด (เส้นแบ่งระหว่างเศรษฐกิจขยายตัวหรือหดตัว) ขณะที่ตัวเลขในภาคบริการและนอกภาคการผลิต แม้จะลดลงแต่ก็ยังอยู่เหนือระดับ 50 จุด ซึ่งหมายความว่ายังขยายตัวอยู่
กลุ่มธุรกิจธนาคารจีน: สิ่งสำคัญ คือ หากปัญหาในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทวีความรุนแรงมากขึ้น เสถียรภาพของธนาคารจีนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะควบคุมไม่ให้ปัญหานี้ลุกลามกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยสัดส่วนหนี้เสีย (NPL) ของธนาคารจีนในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมายังอยู่ที่ 1.6% ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (EM) ด้วยกัน เห็นได้จาก NPL ของอินเดียที่อยู่ราว 5% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐและอังกฤษอยู่ที่ 0.7% และ 0.9% ตามลำดับ
ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด หากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จีนที่เผชิญปัญหาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเท่ากับประมาณครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เราคาดว่าผลกระทบที่มีต่อสินทรัพย์ของธนาคารจะต่ำกว่า 2% เพราะธนาคารจีนมีสัดส่วนการปล่อยกู้แก่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างจำกัด และเนื่องจากอัตราส่วนเงินทุนทั้งหมดต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) ของธนาคารจีนยังอยู่ที่ 14.7% หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว CAR ก็จะไม่ลดลงไปต่ำกว่าระดับขั้นต่ำที่ทางการจีนกำหนดไว้ที่ 10.5-11.5%
จีนยังต้องเผชิญอุปสรรคทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ทั้งจากภายในและนอกประเทศ
ปัญหาในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จีนได้สร้างแรงกดดันให้เศรษฐกิจจีนโดยรวมค่อนข้างมาก เนื่องจากมีสัดส่วนใน GDP ค่อนข้างสูง ซึ่งเม็ดเงินลงทุนในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง (-10% เมื่อปีที่แล้ว และ -8.5% ในปีนี้นับถึงสิ้นเดือน ก.ค.) จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีน
นอกจากนี้ จีนยังเผชิญแรงกดดันในด้านการส่งออก ซึ่งเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจและคิดเป็นสัดส่วน 20% ของ GDP โดยจากมุมมองของเราใน H2/2023 Market Outlook ที่กล่าวว่า Demand จากสหรัฐที่ชะลอตัวทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนลดลงไปด้วย เนื่องจากสหรัฐเป็นคู่ค้าหลักอับดับ 1 ของจีน โดยในเดือน ส.ค. ยอดส่งออกทั้งหมดของจีนยังลดลง 8.8% YoY หลังจากที่ปรับตัวลงถึง 2 หลักในเดือน มิ.ย. และ ก.ค. ที่ผ่านมา
รัฐบาลจีนกำลังจัดการกับความเสี่ยง แต่มาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ไม่น่าจะเกิดขึ้น
ที่ผ่านมา ทางการจีนได้ออกหลายมาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อป้องกันปัญหาลุกลามไปยังเศรษฐกิจโดยรวม เช่น ลดยอดดาวน์ ผ่อนคลายข้อจำกัดการซื้อที่อยู่อาศัย และสนับสนุนให้ลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับนักลงทุน
ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเช่นกัน ด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน โดยในเดือน ส.ค. PBOC อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบมากถึง 3.3 ล้านล้านหยวน (5.09 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)
อย่างไรก็ตาม เราคาดว่ารัฐบาลจีนไม่น่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เหมือนกับในช่วงวิกฤติการเงินโลกปี 2008 เนื่องจากนับตั้งแต่นั้นจนถึงตอนนี้ ทางการจีนได้ตั้งเป้าหมายลดหนี้ในภาคเอกชนและป้องกันภาวะฟองสบู่ ทำให้โอกาสกลับไปใช้วิธีกระตุ้นครั้งใหญ่จึงค่อนข้างต่ำ
ในระยะยาว จีนกำลังเปลี่ยนเครื่องยนต์ลูกใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
หนึ่งในเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังวัฏจักรขาลงของจีน คือ จีนกำลังมุ่งมั่นพัฒนาภาคธุรกิจใหม่ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น กลุ่มธุรกิจ EV
ทางการจีนได้วางรากฐานระบบนิเวศในกลุ่มธุรกิจ EV มาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2000 ส่งผลให้ในปัจจุบัน ผู้ผลิต EV จีนสามารถผลิตรถและชิ้นส่วนที่มีคุณภาพในราคาจับต้องได้ ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดย UBS ประเมินว่า ผู้ผลิต EV จีนจะครองสัดส่วนในตลาดรถยนต์โลกถึง 33% หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ภายในปี 2030
การใช้ EV ภายในประเทศยังเติบโตขึ้นอย่างมาก โดย BloombergNEF ระบุว่า ยอดขายรถในจีนเป็น EV ถึง 33% และประเมินว่าสัดส่วนดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นไปที่ 67% ภายในปี 2030 ซึ่งในปัจจุบันยอดขาย EV ภายในประเทศยังมาจากแบรนด์ของจีนเองมากกว่า 80%
อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างรวดเร็วในกลุ่มธุรกิจ EV ยังไม่สามารถชดเชยปัญหาเศรษฐกิจจีนในระยะสั้นได้ เนื่องจากยอดขาย EV ทั่วโลกของผู้ผลิตจีนยังคิดเป็นสัดส่วนแค่ 0.6% ของ GDP และแม้จะมีการประเมินว่ากลุ่มธุรกิจนี้จะเติบโตเป็น 3 เท่าภายในปี 2028 แต่สัดส่วนใน GDP ยังคงต่ำกว่า 2% ซึ่งไม่พอที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมได้ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับแรงขับเคลื่อนหลักอื่นๆ เช่น กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่คิดเป็นสัดส่วน 25-30% ของ GDP หรือ เศรษฐกิจดิจิทัลที่มีสัดส่วนประมาณ 40%
การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเปิดโอกาสให้นักลงทุนอย่างไร
หากพิจารณาในแง่การลงทุน ราคาหุ้นจีนยังอยู่ในระดับสมเหตุสมผล โดยค่า P/E ล่วงหน้า ของดัชนี MSCI China ในเดือน ก.ย. อยู่ที่ประมาณ 11 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 12.5 เท่า และต่ำกว่าดัชนี MSCI Emerging Markets ซึ่งอยู่ที่ 13.6 เท่า
ในระยะยาว เรามองว่าการกระจายการลงทุนไปที่จีนยังสมเหตุสมผล โดยลงทุนในสัดส่วนที่เทียบเท่ากับสัดส่วนระหว่างมูลค่าตลาดหุ้นจีนกับตลาดหุ้นโลก โดยพอร์ต General Investing ของเราที่บริหารโดย ERAA™ ได้จัดสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างหุ้นจีนและหุ้นทั่วโลกไว้แล้ว โดยลงทุนในจีนผ่าน ETF ดัชนีตลาดเกิดใหม่และดัชนีตลาดโลกโดยรวม
จากข้อมูลทั้งหมด แม้จีนกำลังเผชิญวัฏจักรเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งกำลังสร้างแรงกดดันต่อผลกำไรของบริษัทจีนในระยะสั้น แต่เมื่อเจาะลึกในรายละเอียด ความหวาดกลัวว่าเศรษฐกิจจีนกำลังล่มสลายนั้นดูเหมือนจะเกินความเป็นจริงไปมาก หรืออาจสรุปได้ว่า การยึดตามข้อมูลทางเศรษฐกิจแทนพาดหัวข่าวทั่วไป จะทำให้นักลงทุนเห็นภาพที่ชัดเจนมากกว่าและตัดสินใจได้แม่นยำกว่า เพื่อให้สามารถลงทุนระยะยาวได้อย่างสบายใจ
หมายเหตุ: การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต