CIO Insights: เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงถดถอยจริงหรือ?
ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนตัวลงเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะในตลาดแรงงาน ทำให้นักลงทุนกลับมากังวลว่าเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของโลกแห่งนี้มีโอกาสจะเข้าสู่ภาวะ Recession หรือไม่?
CIO Insights เดือนนี้ จึงอยากเจาะลึกข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อทำความเข้าใจความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจากมุมมองของเรา ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะ Recession ในเร็วๆ นี้ ยังค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปีนี้ ที่อาจทำให้เกิด Noise หรือเสียงรบกวนเพิ่มขึ้นในตลาดได้
6 Key takeaways:
- ข้อมูลแรงงานที่อ่อนตัวลง ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดที่แน่นอนว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังจะเข้าสู่ Recession แม้ข้อมูลแรงงานที่อ่อนตัวลงเมื่อเร็วๆ นี้ จะเข้าเงื่อนไขของตัวชี้วัด Recession อันโด่งดังอย่าง ‘Sahm Rule’ ไปแล้วเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างละเอียดจะพบว่า อัตราการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นเกิดจาก Supply ในตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งขึ้น มากกว่า Demand ที่อ่อนแอ นอกจากนี้ ปัจจัยชั่วคราวอย่างพายุเฮอร์ริเคน Beryl ก็อาจส่งผลกระทบต่อข้อมูลแรงงานล่าสุดเช่นกัน โดยภาพรวมแม้จะแสดงให้เห็นว่าตลาดแรงงานได้ลดความร้อนแรงลง แต่ยังไม่ถึงกับล้มลงแต่อย่างใด
- Forward-looking Indicator (ตัวชี้วัดล่วงหน้า) อื่นๆ ยังบ่งชี้ว่า Recession ไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ นอกจาก Noise หรือเสียงรบกวนต่างๆ ในข้อมูลแรงงานล่าสุดแล้ว อัตราการว่างงานยังถือเป็น Lagging Indicator (ตัวชี้วัดตามหลัง) โดยเราได้วิเคราะห์ Forward-looking Indicator อื่นๆ เช่น ความเชื่อมั่นของ CEO ไปจนถึงความตึงตัวในตลาดการเงิน จึงสรุปได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐไม่น่าจะเข้าสู่ Recession ในเร็วๆ นี้
- ความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐอาจทำให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจอ่อนตัวลงอีก ความเห็นจากบรรดาผู้ผลิต บ่งชี้ว่า บริษัทต่างๆ กำลังชะลอการใช้จ่ายลงก่อนที่จะถึงการเลือกตั้ง และตามสถิติแล้ว ตลาดมักจะเผชิญความผันผวนมากขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี และจะกลับสู่สภาวะปกติหลังผลการเลือกตั้งออกมาแน่นอนแล้ว อย่างไรก็ตาม หากมีการโต้แย้งผลการเลือกตั้ง ก็อาจเกิดความไม่แน่นอนกับภาคเอกชนและตลาดต่างๆ ต่อไป
- ภาคการผลิตอาจกลับมาฟื้นตัวต่อเนื่องหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนกำไรของภาคเอกชน เนื่องจากบริษัทต่างๆ จะเห็นนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้นหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง เราจึงคาดการณ์ว่า การฟื้นตัวในภาคการผลิตจะดำเนินต่อไปหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง ซึ่งเราเคยกล่าวไว้ใน CIO Insights: H2/2024 Market Outlook นอกจากนี้ การที่ Fed จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. นี้ ยังเป็นอีกปัจจัยบวกสำหรับกำไรของภาคเอกชน เพราะจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินที่ผู้บริโภคและบริษัทต่างๆ กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
- เมื่อพิจารณาปัจจัยทั้งหมด ตลาดน่าจะต้องเผชิญกับความผันผวนในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้าก่อนการเลือกตั้ง ความเป็นไปได้ที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจจะอ่อนตัวลง และการที่ตลาดมีความอ่อนไหวมากขึ้นกับตัวเลขเหล่านี้ อาจทำให้ตลาดเผชิญความผันผวนสูงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้าก่อนการเลือกตั้ง
- ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร เรายังควรที่จะ Stay Invested ต่อไป เทคโนโลยีการลงทุน Economic Regime Asset Allocation หรือ ERAA™ ของเรา แสดงให้เห็นว่าเรายังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจแบบ ‘Inflationary Growth’ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่จะพิจารณานำเงินสดมาลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ High-yield
ตลาดแรงงานสหรัฐกำลังลดความร้อนแรงลง แต่ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ Recession
การปรับฐานของตลาดในช่วงต้นเดือน ส.ค. ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวเลขที่น่าผิดหวังในตลาดแรงงานสหรัฐเดือน ก.ค. โดยอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และอัตราการจ้างงานที่ชะลอตัวลงผิดคาด ทำให้เกิดความคาดหวังว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น และทำให้นักลงทุนที่ใช้กลยุทธ์ ‘Carry Trade’ ตัดสินใจปิดสถานะการลงทุนที่ถือครองอยู่เพิ่มขึ้น (อ่านเพิ่มเติมได้ใน สารจาก Group CIO: ทำความเข้าใจการปรับฐานของตลาดครั้งล่าสุด)
ทั้งนี้ เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่ตลาดจะรู้สึกกังวล เนื่องจากอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นมักจะตามมาด้วยภาวะ Recession โดยนักลงทุนจำนวนมากได้อ้างถึง ‘Sahm Rule’ ซึ่งติดตามการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงาน และเป็นตัวชี้วัดที่มีสถิติค่อนข้างแม่นยำในการจับสัญญาณ Recession ในอดีต ซึ่งอัตราการว่างงานในเดือน ก.ค. ก็ได้เข้าเงื่อนไข Recession ของ Sahm Rule ไปเรียบร้อยแล้ว (อ่านคำอธิบายเพิ่มเติมได้ใน Glossary ด้านล่างบทความ)
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะสรุปว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะ Recession อย่างแน่นอน เราขอนำเสนอข้อเท็จจริง 3 ประการให้นักลงทุนได้พิจารณา ดังนี้
1. Supply แรงงานที่เพิ่มขึ้น เป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น
เมื่อถูกถามว่า Fed คิดอย่างไรกับ Sahm Rule ประธาน Fed คนปัจจุบันอย่าง Jerome Powell ได้เรียกมันว่า ‘Statistical Regularity’ หรือสภาวะปกติเชิงสถิติ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องไม่ลืมว่า Sahm Rule เป็นการตั้งข้อสังเกตทางสถิติเท่านั้น และแม้ว่าที่ผ่านมา Sahm Rule จะสามารถคาดการณ์ Recession ได้อย่างแม่นยำ แต่ก็ไม่มีทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ใดที่รับประกันว่า Sahm Rule จะสามารถทำนายอนาคตได้ถูกต้องทุกครั้ง
อันที่จริง Claudia Sahm อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของ Fed (Sahm Rule ถูกตั้งชื่อตามนามสกุลของเธอ) ได้เขียนบทความอธิบายความแตกต่างของสถานการณ์ในปัจจุบันกับอัตราการว่างงานที่เข้าเงื่อนไข Recession ในอดีต โดยประเด็นที่น่าสนใจมากที่สุด คือ Sahm ได้ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นในครั้งนี้มาจาก Supply แรงงานที่แข็งแกร่งขึ้น (เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผู้อพยพ) ซึ่งแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากครั้งที่ผ่านๆ มา ที่ส่วนใหญ่เกิดจาก Demand แรงงานที่อ่อนแอ
จากตารางด้านล่าง จะเห็นได้ว่า Indicator ของ Sahm Rule ในปัจจุบัน ได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างช้าๆ และมีความชันน้อยกว่าการเข้าเงื่อนไข Recession ในอดีตอย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของ Supply แรงงาน ที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของอัตราการว่างงาน มากกว่าที่จะเป็นการลดลงอย่างรวดเร็วของ Demand แรงงาน
2. ความอ่อนแอในตลาดแรงงานเดือน ก.ค. อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ชั่วคราว
แม้ข้อมูลตลาดแรงงานเดือน ก.ค. จะอ่อนตัวลง แต่ตัวเลขนี้อาจมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชั่วคราวอย่างพายุเฮอร์ริเคน Beryl ที่สร้างความเสียหายให้รัฐทางตอนใต้ของสหรัฐเมื่อต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา
รายงานระบุว่า มีแรงงานกว่า 400,000 รายที่ไม่สามารถไปทำงานได้เนื่องจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่ในเดือน ก.ค. หรือมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติสำหรับเดือน ก.ค. ถึง 10 เท่า ขณะที่ ตัวเลขการเลิกจ้างชั่วคราว ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากพายุเฮอร์ริเคน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการเพิ่มขึ้นของผู้ว่างงาน
ในทางกลับกัน ข้อมูลล่าสุด เช่น การขอรับสวัสดิการผู้ว่างงานในเดือน ส.ค. ได้แสดงให้เห็นถึงความทนทานของเศรษฐกิจสหรัฐ
3. อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้น แต่มาจากระดับที่ต่ำมาก
ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ Recession จริงในระยะข้างหน้า แต่ก็น่าจะเป็นภาวะถดถอยที่ไม่รุนแรง โดยอัตราการว่างงานที่แม้จะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 4.3% ในเดือน ก.ค. แต่ก็มาจากระดับที่ต่ำมาก โดยเมื่อปีที่แล้ว อัตราการว่างงานนั้นอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษที่ 3.4%
จากตารางด้านล่าง จะเห็นได้ว่า ช่วงที่เกิด Recession ในอดีต หากอัตราว่างงานปรับตัวสูงขึ้นจากจุดต่ำสุดที่น้อยกว่า 4% (เช่นในปี 1953-54, 1969-70, 2001 และล่าสุด 2020) ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ตามมาก็มักจะไม่รุนแรงนัก
สรุปคือ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงของอัตราการว่างงานที่มีความสำคัญ แต่เราต้องคำนึงถึง ระดับของอัตราการว่างงานด้วย ดังนั้น ข้อมูลล่าสุดนี้จึงไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังถดถอยอย่างรุนแรง แต่เพียงชี้ให้เห็นว่าตลาดแรงงานและเศรษฐกิจโดยรวมกำลังลดความร้อนแรงลงเท่านั้น
ตัวชี้วัดล่วงหน้าแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจยังคงทนทานได้ดี
นอกเหนือจากความเป็นไปได้ที่ข้อมูลแรงงานล่าสุดจะคลาดเคลื่อน อัตราการว่างงานยังถือว่าเป็น Lagging Indicator (ตัวชี้วัดตามหลัง)
แล้ว Forward-looking Indicator (ตัวชี้วัดล่วงหน้า) และ High-frequency Indicator (ตัวชี้วัดความถี่สูง) อื่นๆ กำลังบอกอะไรเรา? คำตอบ คือ โดยรวมแล้ว พวกมันยังบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังคงทนทานได้ดี ดังนี้
- High-frequency Indicator จำนวนมากในด้านการบริโภคและกิจกรรมต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรม แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงใช้จ่ายอยู่ และการส่งสินค้าไปทั่วโลกยังคงดำเนินไปอย่างแข็งแกร่ง
- ข้อมูลจาก Conference Board ที่สำรวจความคิดเห็น CEO ของบริษัทข้ามชาติ ชี้ให้เห็นว่า พวกเขามองโลกในแง่ดี แต่ด้วยความระมัดระวัง โดยส่วนใหญ่ไม่ได้คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ Recession
- ในอีกมุมหนึ่ง การสำรวจธุรกิจขนาดเล็กของ National Federation of Independent Business แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นกำลังเพิ่มขึ้น และได้กลับสู่ระดับเดียวกันกับช่วงก่อนปี 2022 แล้ว
- แบบจำลอง GDP ‘Nowcasting’ ของ Fed สาขา Atlanta บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวอย่างสม่ำเสมอที่อัตราการเติบโตประมาณ 2% ต่อปี ณ กลางเดือน ส.ค.
- สุดท้าย คือ ดัชนีความตึงตัวในตลาดการเงินของ Goldman Sachs แสดงให้เห็นว่า ความตึงตัวทางการเงินยังคงอยู่ในระดับปกติตามสถิติในอดีต ซึ่งบ่งชี้ว่าความผันผวนในตลาดครั้งล่าสุด มีผลกระทบค่อนข้างจำกัดต่อเศรษฐกิจโดยรวม
ความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐอาจทำให้ข้อมูลเศรษฐกิจอ่อนตัวและเกิดความผันผวนในตลาด
ในระยะข้างหน้า เราเชื่อว่าความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ อาจส่งผลให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจอ่อนตัวลง ยกตัวอย่างเช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ล่าสุดของ S&P Global ที่แสดงให้เห็นว่า Business Condition ในภาคการผลิตหดตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว เนื่องจากยอดสั่งซื้อชะลอตัวลง
S&P Global ได้ให้ความเห็นว่าการอ่อนตัวลงครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะภาคเอกชนหยุดการใช้จ่ายและการลงทุนก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปีนี้ ซึ่งอาจเป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราวเท่านั้น โดยความไม่แน่นอนเรื่องภาษีและนโยบายกำกับดูแลของรัฐบาลใหม่ ทำให้ภาคเอกชนเลือกที่จะหยุดรอไปก่อนในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า
ดังนั้น แม้ว่าธุรกิจขนาดเล็กจะมีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้น แต่ตารางด้านล่างแสดงให้เห็นว่า พวกเขาต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางนโยบายเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่คล้ายคลึงกับช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีในอดีต
เช่นเดียวกับตลาดที่มีแนวโน้มจะผันผวนมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนก่อนการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสถานการณ์ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้ชนะ อย่างไรก็ตาม หลังทราบผลการเลือกตั้งแล้ว ตลาดก็มักจะกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากนโยบายเศรษฐกิจจะเริ่มชัดเจนมากขึ้น ทำให้นักลงทุนสามารถคาดการณ์ผลกระทบของนโยบายเหล่านี้ที่จะมีต่อตลาดได้
เมื่อพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราคาดว่ารูปแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกในช่วงการเลือกตั้งปลายปีนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากมีการโต้แย้งผลการเลือกตั้งใดๆ เกิดขึ้น ก็อาจส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนต่อภาคเอกชนและตลาดต่อไป
ภาคการผลิตอาจกลับมาฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า
เมื่อมองในระยะข้างหน้า เราเชื่อว่าการฟื้นตัวของภาคการผลิตอาจกลับสู่แนวโน้มที่ดีอีกครั้งหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง เนื่องจากนโยบายทางเศรษฐกิจจะเริ่มชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ การที่ Fed กำลังจะเริ่มวงจรการลดดอกเบี้ยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ก็จะช่วยลดแรงกดดันทางการเงินที่ผู้บริโภคและภาคธุรกิจกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
ตามที่เราเคยกล่าวไว้ใน CIO Insights: H2/2024 Market Outlook ว่า ภาคการผลิตมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับกำไรของภาคเอกชน โดยการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS) ของภาคเอกชน ได้กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของผลประกอบการย้อนหลัง 12 เดือน และการคาดการณ์ล่วงหน้า 12 เดือน ดังที่เห็นในตารางด้านล่าง ซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวในภาคการผลิต และการเติบโตของกำไรในเชิงบวกนี้ยังสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในสภาพค่อนข้างดี
การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐอาจทำให้ตลาดผันผวน แต่อย่าลืมพิจารณาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ข้อมูลได้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่น่าจะเข้าสู่ Recession ในระยะอันใกล้นี้ แต่การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจทำให้เกิด Noise หรือเสียงรบกวนทั้งในตลาดและข้อมูลเศรษฐกิจก่อนที่จะถึงการเลือกตั้ง
ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ตลาดต้องเผชิญกับความผันผวนในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากความเป็นไปได้ที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจจะอ่อนตัวลง และนักลงทุนจะยิ่งมีความอ่อนไหวต่อข้อมูลเหล่านี้มากขึ้น (อ่านเพิ่มเติมว่าการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐส่งผลต่อตลาดอย่างไร? ใน CIO Insights: เตรียมพร้อมศึกเลือกตั้งสหรัฐ กุญแจสำคัญยังคงเป็นการ Stay Invested)
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุนต้องมองภาพรวม และต้องไม่ลืมว่าเราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจแบบใด โดยเทคโนโลยีการลงทุน Economic Regime Asset Allocation หรือ ERAA™ ของเราส่งสัญญาณว่าเรายังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจแบบ Inflationary Growth ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่จะนำเงินสดมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นอย่างเช่นหุ้นหรือตราสารหนี้ High-yield ซึ่งเป็นแนวทางที่ ERAA™ ได้ทำการ Re-optimisation พอร์ตของคุณไว้แล้วก่อนหน้านี้
สรุปคือ การที่ตลาดมีแนวโน้มจะผันผวนต่อไปในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า อาจกระตุ้นให้เราอยากจับจังหวะตลาด อย่างไรก็ตาม StashAway ยังคงแนะนำให้ทุกคนลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วยวิธี DCA ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดี เพื่อคว้าโอกาสหากตลาดเกิดการปรับฐานอีกครั้ง โดยการ Stay Invested อย่างต่อเนื่องในทุกสภาวะตลาดจะทำให้เราผ่านความผันผวนไปได้ และยังเปิดโอกาสให้เราได้ประโยชน์จากการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ดีในราคาที่ถูกลง เพราะในท้ายที่สุด หัวใจสำคัญของการลงทุนระยะยาว คือ การไม่ตื่นตระหนก ยึดมั่นในแผนการลงทุน และปล่อยให้เงินของคุณทำงานต่อไป
Glossary
Sahm rule
ตัวชี้วัดทางสถิติที่พัฒนาโดย Claudia Sahm อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของ Fed โดยกฎนี้ ระบุว่า หากเส้น Moving Average 3 เดือนของอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 0.5% หรือมากกว่า จากระดับต่ำสุดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา นั่นเป็นสัญญาณว่าภาวะ Recession น่าจะเกิดขึ้นแล้ว
Forward-looking/lagging data
ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ช่วยคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต (Forward-looking) หรือยืนยันสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต (Lagging) โดยข้อมูล Forward-looking เช่น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหรือคำสั่งซื้อทางธุรกิจ จะบ่งชี้ถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่วนข้อมูล Lagging เช่น อัตราการว่างงานหรือผลกำไรของบริษัท จะสะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไปแล้ว
High-frequency data
ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ถูกรวบรวมและรายงานค่อนข้างถี่ มักจะเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ ตัวอย่างเช่น ธุรกรรมบัตรเครดิตหรือการขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะให้ข้อมูลเชิงลึกทางเศรษฐกิจได้ทันท่วงทีมากขึ้น
‘Nowcasting’
วิธีประเมินสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันโดยใช้ข้อมูลแบบ Real-time ซึ่งคล้ายกับการคาดการณ์ แต่เป็นการประเมินสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมากกว่าการทำนายอนาคต ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพรวมของสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น
Financial Stress Index
ดัชนีที่ติดตามระดับความตึงตัวโดยรวมในตลาดการเงิน โดยทั่วไปจะรวมเอาตัวชี้วัดหลายประเภทมาประเมินร่วมกัน เช่น ความผันผวนของตลาด ส่วนต่างของ Yield ตราสารหนี้ และสถานะทางการเงินของภาคธนาคาร