ทิศทางของค่าเงินจะเป็นอย่างไรต่อไป
ในปี 2022 เงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) แข็งค่าขึ้นเกือบ 20% จากสาเหตุที่ Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรง รวมถึง Demand ที่เพิ่มขึ้นของ USD ที่เป็นสกุลเงิน Safe-haven ซึ่งเปรียบเสมือนหลุมหลบภัยท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ สถานการณ์กลับเปลี่ยนไป การเคลื่อนไหวของ USD เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ นั้นมีปัจจัยขับเคลื่อนเฉพาะตัวมากขึ้น (อ่านรายละเอียดได้ใน 2023 Market Outlook) ส่งผลให้ USD อ่อนค่าลงจากระดับสูงสุด ซึ่งแตกต่างจากปีที่แล้วที่ USD แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ของโลก
ทั้งนี้ USD จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เราในฐานะนักลงทุนระยะยาวควรพิจารณาเรื่องค่าเงินในการลงทุนต่างประเทศอย่างไรบ้าง CIO Insights ของ StashAway เดือนนี้ จึงอยากพูดถึงปัจจัยที่ขับเคลื่อนค่าเงินสกุลต่างๆ และ StashAway บริหารจัดการเรื่องค่าเงินอย่างไร
3 Key takeaways:
- เมื่อพิจารณาเรื่องค่าเงิน เราต้องคำนึงว่าเหรียญมี 2 ด้านเสมอ ยกตัวอย่าง USD ที่นอกเหนือจากสภาพเศรษฐกิจในสหรัฐเอง สถานการณ์ในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร (Eurozone) และญี่ปุ่นยังสร้างผลกระทบสำคัญ เนื่องจากเงินยูโร (EUR) และเงินเยน (JPY) มีสัดส่วนถึง 70% ใน US Dollar Index (ใช้วัดความแข็งค่าของ USD เมื่อเทียบกับตะกร้าเงินต่างประเทศ)
- ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) แนวโน้มการเคลื่อนไหวในระยะกลางของค่าเงินบาท (THB) ดอลลาร์สิงคโปร์ (SGD) และมาเลเซียริงกิต (MYR) ต่างได้รับผลกระทบอย่างมากจากประเทศคู่ค้าหลักต่างๆ โดยเฉพาะเงินหยวนของจีน (CNY) ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อค่าเงินในทวีปเอเชีย
- เมื่อ Fed ใกล้หยุดวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ย StashAway คาดว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินแต่ละสกุลจะมาจากปัจจัยเฉพาะตัวมากขึ้น หรือ จะถูกขับเคลื่อนโดย ‘อีกด้านของเหรียญ’ มากกว่าสถานการณ์ในสหรัฐ โดยเฉพาะ EUR ที่อาจแข็งค่าต่อไป ต่างจาก JPY ที่อาจอ่อนค่าลงอีก เนื่องจากนโยบายของธนาคารกลางในภูมิภาคดังกล่าวแตกต่างกัน ขณะที่ อุปสรรคในการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอาจทำให้ค่าเงินในภูมิภาค SEA อ่อนค่าลง
ในระยะกลาง ความแตกต่างของ Yield ตราสารหนี้และการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของ USD
ข้อมูลในอดีตแสดงให้เห็นว่าความแตกต่างของ Yield ตราสารหนี้และการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของค่าเงิน USD เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ Eurozone และญี่ปุ่นที่เราต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากค่าเงินของทั้ง 2 ภูมิภาคนี้คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ของ US Dollar Index
ประเด็นแรก คือ Yield ของตราสารหนี้ เมื่อ Yield ในประเทศหนึ่งสูงกว่าก็อาจดึงดูดเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าประเทศมากขึ้น ทำให้ Demand ในสกุลเงินนั้นๆ สูงขึ้น สกุลเงินของประเทศนั้นๆ จึงแข็งค่าขึ้นตาม เห็นได้จากช่วงเวลาที่ Yield ของตราสารหนี้สหรัฐนั้นสูงกว่า Yield ของกลุ่มประเทศ Eurozone มักจะใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ USD แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับ EUR ซึ่งรวมถึงในทางกลับกัน (กราฟ 2)
ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำมาอย่างยาวนานเมื่อเทียบกับสหรัฐ ทำให้ USD แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับ JPY แต่เมื่อไม่นานมานี้ Yield Gap ที่แคบลงระหว่างตราสารหนี้ของสหรัฐและญี่ปุ่น ส่งผลให้ USD อ่อนค่าลง (กราฟ 3)
ประเด็นต่อมา คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อประเทศใดมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วกว่าประเทศอื่น ก็จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ Demand ของสกุลเงินในประเทศนั้นๆ เพิ่มขึ้น และส่งผลให้สกุลเงินนั้นแข็งค่าขึ้นด้วย เห็นได้จากในช่วงที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐนั้นแข็งแกร่งกว่ากลุ่มประเทศ Eurozone (กราฟ 4) และญี่ปุ่น (กราฟ 5) ก็ส่งผลให้ USD แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับ EUR และ JPY
จับตา ‘เงินหยวน’ แรงขับเคลื่อนหลักของค่าเงินใน SEA
การเคลื่อนไหวของค่าเงิน THB, SGD และ MYR ได้รับผลกระทบอย่างมากจากค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลัก โดยจีนเป็นประเทศคู่ค้าหลักของทั้งไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ทำให้ค่าเงิน CNY มีอิทธิพลอย่างมากต่อค่าเงินทั้ง 3 สกุลในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ MYR ยังมีค่า Correlation สูงกับ SGD เพราะสิงคโปร์นั้นเป็นคู่ค้าหลักอันดับ 2 ของมาเลเซีย
ในระยะข้างหน้า ทิศทางของค่าเงินจะเป็นอย่างไร
จากหลักการที่อธิบายไว้ข้างต้น เราคาดว่าทิศทางของสกุลเงินต่างๆ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเป็นดังนี้
- เรายังคงคาดว่าค่าเงิน USD เมื่อเทียบกับสกุลอื่น จะถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยเฉพาะตัวของแต่ละประเทศมากขึ้น เทียบกับปีที่แล้วที่ USD แข็งค่าขึ้นโดยรวม ซึ่งเป็นเพราะวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed กำลังจะถึงจุดสิ้นสุด และตลาดแรงงานสหรัฐที่ยังแข็งแกร่ง ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะ Stagflation นานขึ้น (อ่านเพิ่มเติมได้ใน H2/2023 Market Outlook: ยังมีแสงสว่างท่ามกลางพายุ)
- เราคาดว่า EUR จะแข็งค่าต่อไปเมื่อเทียบกับ USD เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ใน Eurozone ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจขึ้นและคงอัตราดอกเบี้ยไว้นานกว่า Fed เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ
- JPY จะอ่อนค่าต่อไปเมื่อเทียบกับ USD เนื่องจากช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยที่ยังห่างกันอยู่ รวมถึงนโยบายการเงินของญี่ปุ่นที่ผ่อนคลายกว่าเมื่อเทียบกับสหรัฐ โดย JPY อาจแข็งค่าขึ้นก็ต่อเมื่อ Fed เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลง
- ขณะที่ THB, SGD และ MYR มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าต่อไปในระยะกลางเมื่อเทียบกับ USD เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนทำให้ CNY อ่อนค่าลง โดยในเดือน ก.ค. ตัวเลขการบริโภค การผลิตและการลงทุนของจีนล้วนออกมาต่ำกว่าที่คาด ประกอบกับยังมีวิกฤติยืดเยื้อในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาใหญ่ในตอนนี้สำหรับจีน คือ ภาวะเงินฝืด หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภคในไตรมาสที่ผ่านมาลดลง 0.3% YoY
ERAA™ บริหารจัดการเรื่องค่าเงินอย่างไร
ETF (Exchange-traded Fund) ที่ซื้อ-ขายในสกุล USD ไม่ได้หมายความว่า ETF นั้นมี Exposure ใน USD ทั้ง 100% แต่จะมี Exposure ในสกุลเงินใดบ้าง ขึ้นอยู่กับประเภทสินทรัพย์ที่ ETF นั้นลงทุน ยกตัวอย่าง ETF ที่ซื้อ-ขายใน USD แต่ลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะมี Exposure กับ JPY (เว้นแต่จะมีการ Hedging ค่าเงิน)
ดังนั้น แม้ว่าการลงทุนของ StashAway จะใช้ USD อ้างอิง แต่ข้อเท็จจริง คือ พอร์ตของเรามีการ
กระจาย Exposure ในสกุลเงินอื่นๆ เช่นกัน เนื่องจาก ERAA™ ของเรา ลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลกตามภาวะเศรษฐกิจ เช่น ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน การมีสัดส่วนการลงทุนในสกุลเงิน Safe-haven อย่าง USD และ JPY จะช่วยลด Drawdown ของพอร์ตได้
สิ่งนี้ยังช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นในเวลาที่ค่าเงิน THB อ่อนลงเมื่อเทียบกับ USD เช่นกัน ยกตัวอย่าง พอร์ต General Investing ของเราในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 สามารถทำผลตอบแทนได้ +8.9% โดยเฉลี่ยเมื่อคิดเป็น THB เทียบกับผลตอบแทน +6.2% เมื่อคิดเป็น USD ซึ่งคุณสามารถดูรายละเอียดการบริหารพอร์ตของเราในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาได้ในผลการดำเนินงาน H1/2023
ทั้งนี้ ค่าเงินมักผันผวนอยู่ตลอดเวลาซึ่งเป็นเรื่องปกติของตลาด แต่หากคุณเข้าใจสาเหตุและปัจจัยการเคลื่อนไหวของค่าเงิน คุณก็จะสามารถตัดสินใจเรื่องการลงทุนต่างประเทศได้อย่างมั่นใจมากขึ้น โดยสิ่งที่ StashAway ย้ำเสมอ คือ การ Stay Invested ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการก้าวข้ามความผันผวนในระยะสั้นและสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว
หมายเหตุ: การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต