CIO Update: การกลับมาของ Donald Trump ส่งผลอย่างไรต่อการลงทุนของคุณ?

08 November 2024
Stephanie Leung
Group CIO

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

หลังจากขับเคี่ยวกันมาอย่างดุเดือด การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐก็ได้บทสรุป โดยอดีตประธานาธิบดี Donald Trump ได้กลับมาดำรงตำแหน่งในทำเนียบขาวอีกครั้ง และทันทีที่รู้ผลการเลือกตั้ง เราได้เห็นสิ่งที่เรียกว่า ‘Trump Trade’ หรือการที่ตลาดปรับตัวตามนโยบายหาเสียงของ Trump โดยตลาดหุ้นสหรัฐตอบรับด้วยการปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง ขณะที่ เงินดอลลาร์และ Yield พันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญยังคงเป็นภาพระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐอีกครั้งของ Trump จะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจโดยรวม ติดตามได้ใน CIO Update ฉบับนี้

4 Key takeaways

  • น่าจะมีการลดภาษีและใช้นโยบายการค้าที่แข็งกร้าวมากขึ้น: นโยบายหลักในการหาเสียงครั้งนี้ของ Trump คือ การลดภาษีเงินได้ผ่านการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย Tax Cuts and Jobs Act (TCJA) ซึ่งเป็นนโยบายเก่าของ Trump ตั้งแต่สมัยที่แล้ว รวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศอื่นๆ มากที่สุดถึง 20% และ 60% สำหรับการนำเข้าจากจีน ซึ่งนโยบายเหล่านี้จะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
  • นโยบายของ Trump จะส่งผลกระทบทั้งบวกและลบ แต่จุดยืนของเขาที่สนับสนุนภาคธุรกิจจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโต: การลดภาษีเงินได้อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่ การขึ้นภาษีนำเข้าอาจเป็นผลเสียมากกว่า อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันดีว่า Trump มีจุดยืนสนับสนุนภาคธุรกิจและมักลดข้อบังคับต่างๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนผลการดำเนินงานของตลาดหุ้นสหรัฐและสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ นอกจากนี้ เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ความไม่แน่นอนที่ทำให้หลายบริษัทชะลอแผนงานสำคัญไปก่อนหน้านี้ก็หมดลงตามไปด้วย
  • เงินเฟ้ออาจอยู่ในระดับสูงต่อไป ซึ่งจะกระทบต่อการทำงานของ Fed: ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ สำหรับนโยบายเศรษฐกิจของ Trump น่าจะเป็นการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะของสหรัฐที่อาจเพิ่มขึ้น เมื่อรวมกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการขึ้นภาษีนำเข้าและจำนวนแรงงานที่ลดลง เนื่องจากการจำกัดผู้อพยพ ก็อาจทำให้แรงกดดันต่อปัญหาเงินเฟ้อ ยังคงอยู่ต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะเห็นผล ดังนั้น Fed จึงอาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี เพื่อสนับสนุนตลาดแรงงานที่อ่อนตัวลง โดยความท้าทายครั้งใหม่ของ Fed น่าจะเริ่มในปีหน้า เมื่อ Trump เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และนโยบายของเขาเริ่มมีการบังคับใช้จริง
  • สิ่งสำคัญ คือ อย่าให้ Noise ทางการเมืองในระยะสั้นรบกวนการลงทุนในระยะยาว โดยเราควรมองที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก: ในขณะที่เรากำลังรอความชัดเจนเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีและนโยบายของ Trump โดยเฉพาะนโยบายการค้า ตลาดก็อาจเผชิญความผันผวนอย่างมากในระยะสั้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าในการบริหาร Asset Allocation ในพอร์ต คือ ภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะยาว ซึ่งพอร์ตที่บริหารโดยเทคโนโลยีการลงทุน Economic Regime Asset Allocation (ERAA™) ของเรา ได้มีการเตรียมพร้อมสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้มักส่งผลดีต่อหุ้นและทองคำ แต่อาจไม่เอื้อต่อตราสารหนี้ระยะยาว

นโยบายการคลังที่ผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงความชัดเจนต่างๆ จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ แม้การขึ้นภาษีนำเข้าอาจเป็นแรงกดดัน

จุดยืนสำคัญในการหาเสียงของ Trump คือ นโยบายการคลังแบบขยายตัวมากขึ้น (Expansionary Fiscal Policy) ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากการลดภาษี เช่น การขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย Tax Cuts and Jobs Act (TCJA) ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2017 และจะสิ้นสุดในปี 2025 รวมถึงการลดภาษีเงินได้บุคคลและนิติบุคคลเพิ่มเติม

เมื่อรวมกับจุดยืนที่ต้องการส่งเสริมภาคธุรกิจและการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่สำคัญของ Trump ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ทำให้ปัจจัยเหล่านี้น่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจและกระตุ้นความสนใจจากนักลงทุนได้

อีกปัจจัยที่จะสนับสนุน Sentiment ของภาคธุรกิจและการลงทุน คือ ผลเลือกตั้งที่ชัดเจน โดยก่อนหน้านี้ เราชี้ให้เห็นว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือกตั้งสหรัฐส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจชะลอตัวลงชั่วคราวและทำให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้น (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ CIO Insights: เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงถดถอยจริงหรือ?) อย่างไรก็ตาม เมื่อความไม่แน่นอนนี้หมดไปก็จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ และช่วยให้สินทรัพย์เสี่ยงของสหรัฐ น่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในทางกลับกัน นโยบายการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น อาจสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจและตลาดต่างๆ ได้ โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าที่เข้มงวดมากขึ้น ได้แก่ อัตราภาษีแบบครอบคลุม (Blanket Rate) ที่ 10-20% สำหรับการนำเข้าทั้งหมด และอัตราภาษีที่สูงถึง 60% สำหรับการนำเข้าจากจีน ซึ่งนโยบายเหล่านี้อาจทำให้ราคาสินค้านำเข้าปรับตัวสูงขึ้น และลดกำลังซื้อของผู้บริโภคลง ซึ่งจะกดดัน Margin กำไรของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ขอบเขต ขนาด และกรอบระยะเวลาของนโยบายภาษีเหล่านี้ยังคงไม่ชัดเจน

เงินเฟ้อสูงอาจยืดเยื้อต่อไป ทำให้ Fed ทำงานยากขึ้น

แม้ว่า Trump จะมีจุดยืนด้านนโยบายการคลังที่ผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจที่จะส่งผลดีต่อการเติบโตในระยะสั้น แต่นโยบายเหล่านี้ก็มี ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ ในรูปแบบของการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น

ตามที่เห็นในตารางด้านล่าง Committee for a Responsible Federal Budget หรือคณะกรรมการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลกลาง ซึ่งไม่สังกัดฝ่ายใด ประเมินว่า นโยบายการคลังของ Trump อาจทำให้หนี้สาธารณะของสหรัฐเพิ่มขึ้นถึง 143% ของ GDP ภายในปี 2035 ซึ่งสูงกว่าภาระหนี้ในปัจจุบันถึง 1.4 เท่า และสูงกว่าการคาดการณ์ภายใต้กฎหมายปัจจุบันที่ 125% ถึง 18 จุด 

สิ่งสำคัญ คือ การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาเงินเฟ้อสูง ซึ่งเราได้เห็นตัวอย่างมาแล้วจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังการระบาดของ COVID-19 ที่กระตุ้นให้เกิด Demand และทำให้ปัญหา Suppy Chain ทวีความรุนแรงขึ้น

มีงานวิจัยต่างๆ ที่สนับสนุนความสัมพันธ์นี้ โดย Bank of International Settlements หรือธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ ประเมินว่า การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น 1 จุด อาจทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.1-0.5 จุดในช่วง 2 ปีถัดไป

นอกเหนือจากการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น นโยบายอื่นๆ ของ Trump ก็อาจเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อเช่นกัน โดยเฉพาะการขึ้นภาษีศุลกากร ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนของภาคธุรกิจและผลักค่าใช้จ่ายไปยังผู้บริโภคโดยตรง นอกจากนี้ การเนรเทศผู้อพยพที่ผิดกฎหมายและข้อจำกัดอื่นๆ สำหรับผู้อพยพ อาจเป็นการจำกัด Supply แรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มีค่าแรงต่ำ ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น

ความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ Fed ต้องเผชิญอุปสรรคในการลดดอกเบี้ยในครั้งถัดๆ ไป อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้น่าจะเริ่มส่งผลในปี 2025 เป็นต้นไป เนื่องจากนโยบายต่างๆ ต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ

ในระหว่างนี้ Fed มีแนวโน้มจะค่อยๆ ลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับที่เป็นกลาง เพื่อสนับสนุนการจ้างงาน รวมถึงการลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2024

เราเตรียมพอร์ตไว้พร้อมรับมือการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

โดยทั่วไปแล้ว การเลือกตั้งเป็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นและสร้างความอ่อนไหวให้กับตลาด และเมื่อมีการเปิดเผยรายชื่อคณะรัฐมนตรีและนโยบายต่างๆ ของ Trump ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า ก็อาจทำให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งนี่คือเหตุผลที่เราควรให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและตลาด มากกว่าเสียงรบกวนระยะสั้น เช่น การเติบโต เงินเฟ้อ สภาพคล่องและผลประกอบการของบริษัท เพราะปัจจัยเหล่านี้ คือ สิ่งที่ขับเคลื่อนตลาดในท้ายที่สุด

ทั้งนี้ พอร์ตที่บริหารโดยเทคโนโลยีการลงทุน Economic Regime Asset Allocation (ERAA™) ของเรา ได้เตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงไว้แล้ว นับตั้งแต่การทำ Re-optimisation ครั้งล่าสุด ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

นั่นหมายถึงการให้ความสำคัญกับสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น โดยเน้นไปที่กลุ่มวัฏจักร เช่น ภาคอุตสาหกรรม การบินและอวกาศ ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับตราสารหนี้ เราเน้นไปที่ตราสารหนี้ระยะสั้น ขณะที่การ Overweight ทองคำ จะช่วยสนับสนุนพอร์ตในช่วงที่เงินเฟ้อและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น

เมื่อมองในระยะยาว ผลกระทบระยะสั้นจากการเลือกตั้งมักค่อนข้างจำกัด เมื่อเทียบกับผลกระทบระยะยาวจากวัฏจักรเศรษฐกิจโดยรวม โดยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา สินทรัพย์ของสหรัฐมักเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะประธานาธิบดีจะมาจากพรรคการเมืองใดก็ตาม ซึ่งสะท้อนปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้

ตามที่เห็นในตารางด้านล่าง การเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐด้วยเงิน 10,000 บาทในปี 1973 จะมีมูลค่า 2.1 ล้านบาทในวันนี้ หรือคิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 11% ต่อปี ขณะที่การลงทุนในพันธบัตรสหรัฐด้วยเงินจำนวนเท่ากัน จะมีมูลค่า 233,000 บาท หรือผลตอบแทนเฉลี่ย 6% ต่อปี (โดยมีความผันผวนน้อยกว่า) ในช่วงเวลาเดียวกัน

เพื่อไม่ให้ถูกรบกวนจาก Noise ทางการเมืองในระยะสั้น นักลงทุนจึงควรใช้วิธีที่เรียบง่าย โดยเราแนะนำให้คุณ Stay Invested ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีทั่วโลกบนระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้ เพราะวิธีนี้จะช่วยให้คุณสามารถก้าวผ่านทุกความผันผวนของตลาดได้ รวมถึงวัฏจักรทางการเมืองในครั้งนี้ด้วย


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ