CIO Update: สิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับมาตรการภาษีนำเข้าล่าสุดของ Trump

ปัจจุบัน ตลาดกำลังตอบสนองอย่างรุนแรงต่อมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของประธานาธิบดี Donald Trump ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับฐานของตลาดที่กินเวลานานหลายสัปดาห์ ซึ่งในขณะที่ข่าวพาดหัวต่างๆ เริ่มแพร่สะพัดและบรรดานักวิเคราะห์เร่งปรับประมาณการใหม่ จึงถือเป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนจะรู้สึกกังวลเกี่ยวกับพอร์ตการลงทุนของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ประเทศต่างๆ เตรียมมาตรการตอบโต้และการเจรจาต่อรอง สิ่งสำคัญคือการมองภาพรวมของผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้า หรือเหตุการณ์ใดๆ ก็ตามที่จะมีต่อกลยุทธ์การลงทุนระยะยาวของคุณ โดยไม่ตื่นตระหนกไปกับความผันผวนในระยะสั้น
มองทุกอย่างให้เป็นภาพใหญ่
ก่อนหน้านี้ ตลาดเคยตอบสนองต่อข่าวมาตรการภาษีนำเข้าในเชิงบวกด้วยความระมัดระวัง โดยมองว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเจรจาทางการค้าเท่านั้น แต่ความเชื่อมั่นเหล่านั้นเริ่มปรับตัวลดลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนการประกาศรายละเอียดต่างๆ และมื่อคืนวันพฤหัสบดี (2 เม.ย.) ที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นการประกาศอัตราภาษีนำเข้าระดับสูงที่พุ่งเป้าไปยังหลายประเทศ เช่น จีนที่เผชิญอัตราภาษีนำเข้าเพิ่มเติมสูงถึง 34% และสหภาพยุโรป (EU) ที่ 20%
ก่อนอื่นต้องไม่ลืมว่าเราเคยเห็นเหตุการณ์ลักษณะนี้มาแล้วในอดีต โดยในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกของ Trump มาตรการภาษีนำเข้า โดยเฉพาะกับจีน ถือเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจของเขา ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความผันผวนในตลาด เนื่องจากนักลงทุนพยายามประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดจากมาตรการเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความไม่แน่นอน แต่ GDP ของสหรัฐยังขยายตัวถึง 2.9% ในปี 2018 รวมถึงอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ และการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง ซึ่งในท้ายที่สุด เมื่อถึงสิ้นปี 2019 ดัชนี S&P 500 ได้ปรับตัวขึ้นราว 20% จากช่วงที่มีการเริ่มเจรจาเรื่องภาษีนำเข้าในปี 2018

สิ่งที่เรากำลังเห็นคือ การจัดลำดับนโยบายของรัฐบาล Trump โดยเริ่มจากการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐและมาตรการภาษีนำเข้าก่อน ในขณะที่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลดภาษีเงินได้และการผ่อนคลายกฎระเบียบ จะใช้เวลานานกว่าถึงจะเห็นผล ทำให้เราอาจเห็นความผันผวนของตลาดเพิ่มสูงขึ้นในระยะสั้น แต่เราเชื่อว่าโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะ Recession อย่างรุนแรงนั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำ
(อ่านบทวิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจของ Trump จากเราได้ใน CIO Insights: ยอมเจ็บวันนี้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีในวันหน้า)
วิธีรับมือความผันผวนของตลาด
ในช่วงที่มีการเจรจาและการตอบสนองจากตลาดในอีกหลายสัปดาห์ข้างหน้า นี่คือ 3 สิ่งที่คุณสามารถทำได้ในฐานะนักลงทุนระยะยาว
- Stay Invested
หากคุณลงทุนระยะยาว ความผันผวนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัฏจักรตลาดเท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่คุณสามารถทำได้คือ การลงทุนอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงที่ตลาดผันผวน เพื่อรับประโยชน์จากการเติบโตในระยะยาว โดยข้อมูลในอดีตแสดงให้เห็นว่า 7 ใน 10 วันที่ดีที่สุดของตลาดมักเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์หลังจากวันที่ตลาดปรับตัวลงมากที่สุด ซึ่งตามสถิติแล้ว การพลาดวันที่ดีที่สุดในตลาดไปแค่ 10 วันอาจทำให้ผลตอบแทนระยะยาวของคุณหายไปเกือบ 50%

- ใช้กลยุทธ์ Dollar-cost Averaging
ในช่วงที่ตลาดผันผวน การลงทุนด้วยเงินเท่ากันเป็นประจำหรือ Dollar-cost Averaging (DCA) จะช่วยให้คุณซื้อสินทรัพย์ได้มากขึ้นเมื่อราคาปรับตัวลดลง และซื้อได้น้อยลงเมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้น วิธีนี้ยังช่วยลดอิทธิพลของอารมณ์ในการตัดสินใจลงทุน และทำให้คุณได้รับประโยชน์เมื่อตลาดฟื้นตัว ซึ่งตามสถิติในอดีต ตลาดมักจะกลับมาเติบโตได้เสมอ

- กระจายการลงทุน
แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐอาจเผชิญความผันผวนสูงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่เหตุการณ์นี้ไม่ควรทำให้คุณหลุดจากเส้นทางสู่เป้าหมายทางการเงินในระยะยาว โดยในช่วงที่ตลาดผันผวน การมีพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีและมีระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวคุณ จะช่วยให้คุณสามารถลงทุนได้อย่างต่อเนื่องและผ่านความผันผวนในตลาดไปได้ เพราะหากสินทรัพย์ใดเผชิญกับแรงกดดัน สินทรัพย์อื่นๆ ก็อาจเข้ามาช่วยชดเชยได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ดัชนี S&P 500 จะปรับตัวลงราว 4.8% YTD แต่พอร์ต General Investing ที่มีระดับ SRI 6.5% 22% และ 36% ได้ปรับตัวขึ้น 2.1% 2.3% และ 0.75% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ เนื่องจากมีการบริหาร Asset Allocation ในหลากหลายสินทรัพย์ กลุ่มธุรกิจ และภูมิภาค

ทั้งนี้ พอร์ต General Investing ของเรา ถูกออกแบบให้ยึดหลักการกระจายการลงทุนที่ดี โดยการมีสัดส่วนของทองคำในพอร์ตทุกระดับความเสี่ยง เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนผลตอบแทน ท่ามกลางความผันผวนครั้งล่าสุดในตลาด โดยในพอร์ตที่มีระดับความเสี่ยงสูงกว่า (เน้นการลงทุนในหุ้น) การมีสัดส่วนของหุ้นกลุ่ม Defensive เช่น Healthcare และสินค้าจำเป็น รวมถึงหุ้นนอกสหรัฐ ช่วยสนับสนุนผลตอบแทนในพอร์ตและช่วยลดความผันผวน ขณะที่ พอร์ตที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า ได้รับประโยชน์จากการมีสัดส่วนของตราสารหนี้
ที่สำคัญ แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐจะปรับตัวลดลงเข้าสู่แดนลบ แต่พอร์ต General Investing ทุกระดับความเสี่ยง ยังคงสร้างผลตอบแทนเป็นบวกในสกุลเงินดอลลาร์ฯ นอกจากนี้ การกระจายการลงทุนที่ดียังช่วยให้พอร์ตของเราทำผลตอบแทนเฉลี่ย YTD ได้สูงกว่า Same-risk Benchmark* ประมาณ 0.5% ตั้งแต่ต้นปี
(ติดตามสรุปผลการดำเนินงาน Q1/2025 ของ StashAway ได้ปลายเดือน เม.ย. นี้)

สิ่งสำคัญ คือ ปัจจัยพื้นฐาน
แม้ตลาดอาจตอบสนองต่อการประกาศนโยบายภาษีนำเข้าอย่างรุนแรง แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมักมีอิทธิพลต่อตลาดมากกว่าในระยะยาว โดยในช่วงอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เราน่าจะเห็นความผันผวนในตลาดอย่างต่อเนื่อง เพราะจะมีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้า และการตอบโต้จากประเทศอื่นๆ ดังนั้น หากคุณต้องการก้าวข้ามความผันผวนในตลาด ให้คุณโฟกัสไปที่ปัจจัยพื้นฐาน เช่น การเติบโต เงินเฟ้อ สภาพคล่องและกำไรของภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดในระยะยาว มากกว่าข่าวพาดหัวในระยะสั้น
สุดท้ายนี้ การ Stay Invested ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีทั่วโลกบนระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้อย่างแท้จริง เป็นกลยุทธ์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถรับมือกับวัฏจักรตลาดและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ และยังคงเป็นเส้นทางที่มั่นคงที่สุดในการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว
*หมายเหตุ:
Benchmark ที่เราใช้ในการเปรียบเทียบมาจาก FTSE All-World Index ในส่วนของหุ้น (ก่อนวันที่ 31 กรกฎาคม 2024 ใช้ MSCI All Country World Index และ ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2023 ใช้ MSCI World Equity Index TRI) และ ใช้ FTSE World Government Bond TRI ในส่วนของตราสารหนี้ โดยหลังจากวันที่ 24 เมษายน 2024 เราได้เพิ่ม Bloomberg 1-3 Month US Treasury Bill Index ในส่วนของพันธบัตรสหรัฐระยะสั้น และ Bloomberg Gold Subindex Total Return Index ในส่วนของทองคำ เข้าไปใน Benchmark โดยน้ำหนักของ Benchmark ที่เราใช้จะมีค่าความผันผวนที่เกิดขึ้นจริง (Realized Volatility) ในระยะเวลา 10 ปีเท่ากับระดับความเสี่ยง StashAway Risk Index
การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต; การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นคำเสนอ คำแนะนำ คำเชื้อเชิญ หรือการชักชวนให้ท่านซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเข้าทำธุรกรรมใดๆ
ข้อมูลนี้ไม่ได้จัดเตรียมขึ้นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลของท่าน (เช่น วัตถุประสงค์การลงทุน สถานการณ์ทางการเงิน หรือความความต้องการโดยเฉพาะ) ท่านควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย และด้านอื่นๆ ของท่านเอง