CIO Update: เจาะลึกการอ่อนค่าของเงินเยน

01 July 2024
Stephanie Leung
Group CIO

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

ปัจจุบัน เงินเยนได้อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 160 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 40 ปี โดยการอ่อนค่าของเงินเยน (ลดลงกว่า 2% ในเดือน มิ.ย. และ 14% YTD) ทำให้ตลาดการเงินโลกกำลังจับตามองสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่ชัดเจนว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนค่าลงในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า และความผันผวนของค่าเงินเยนก็อาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนระยะสั้นในตลาดขึ้นได้ แต่มุมมองของเราที่มีต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นในระยะกลางบนพื้นฐานโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ยังคงเหมือนเดิม

4 Key takeaways

  • เงินเยนอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบเกือบ 40 ปีเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ โดยแนวโน้มอ่อนค่าของเงินเยนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาถูกขับเคลื่อนจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐกับญี่ปุ่น
  • อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ของตลาดโดยทั่วไปบ่งชี้ว่าเงินเยนอาจแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า หรืออยู่ที่ประมาณ 150-156 เยนต่อดอลลาร์ฯ ภายในสิ้นปี 2024
  • การเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในระยะข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและนโยบายจากทั้ง Fed และ BOJ โดยหาก Fed คงอัตราดอกเบี้ยไว้ ‘Higher for Longer’ ก็จะเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินเยนต่อไป อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่ Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยและ BOJ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในสิ้นปีนี้ อาจเป็นแรงสนับสนุนให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น
  • แม้มีโอกาสที่จะเกิดความผันผวนระยะสั้น แต่มุมมองของเราที่มีต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นในระยะกลางยังคงเป็นบวก บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นญี่ปุ่น

อะไรทำให้เงินเยนอ่อนค่า?

เงินเยนได้เริ่มอ่อนค่าลงนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2022 เมื่อ Fed เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

กลับกัน ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป ต่างจากธนาคารกลางหลักอื่นๆ ทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของทั้ง 2 ประเทศ (อ่านเพิ่มเติมได้ใน CIO Insights: ทิศทางของค่าเงินจะเป็นอย่างไรต่อไป) กลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลง

ทิศทางค่าเงินเยนจะเป็นอย่างไรต่อไป?

สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า จะขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลเศรษฐกิจเป็นไปในทิศทางไหน รวมถึงท่าทีของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ในสหรัฐ เงินเฟ้อที่ยืดเยื้ออาจทำให้ Fed คงดอกเบี้ยไว้ ‘Higher for Longer’ ทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของสหรัฐกับญี่ปุ่นยังคงกว้างอยู่ ซึ่งจะเป็นแรงกดดันค่าเงินเยนต่อไป อย่างไรก็ตาม ตลาดได้ Price In โอกาสที่ Fed จะลดดอกเบี้ย 1-2 ครั้งภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้ช่องว่างนี้แคบลง
  • ในญี่ปุ่น การดำเนินนโยบายแบบเป็นกลางมากขึ้น (จากเดิมที่ใช้นโยบายแบบผ่อนคลายพิเศษ) เช่น การขึ้นดอกเบี้ยและลดการซื้อพันธบัตร จะช่วยลดส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของสหรัฐกับญี่ปุ่น และจะช่วยสนับสนุนค่าเงินเยนให้แข็งค่าขึ้น โดยปัจจุบัน ตลาดได้ Price In โอกาสที่ BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งภายในสิ้นปีนี้ (ครั้งต่อไปอาจเกิดขึ้นในเดือน ก.ค. นี้) 

ขณะที่ กระทรวงการคลังญี่ปุ่นก็อาจเข้าแทรกแซงการอ่อนค่าของค่าเงินเยนอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้ ทางการญี่ปุ่นเคยแทรกแซงค่าเงินเยนมาแล้วหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็มักช่วยลดแรงกดดันได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น

นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาด ก็เป็นอีกปัจจัยที่จะส่งผลต่อทิศทางของค่าเงินเยน ซึ่งดูเหมือนว่า ปัจจุบันตลาดมองว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า ตามข้อมูลต่อไปนี้ 

  • FX forwards ตลาดสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ามักสะท้อนการคาดการณ์อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในอนาคต โดยปัจจุบันได้สะท้อนว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 156 เยนต่อดอลลาร์ฯ ภายในสิ้นปีนี้
  • FX options บรรดา Trader ในตลาด Options คาดการณ์ว่าเงินเยนจะแกว่งตัวอยู่ที่ 150-165 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในช่วง 1 ปีข้างหน้า
  • การคาดการณ์โดยนักเศรษฐศาสตร์ บรรดานักเศรษฐศาสตร์มีมุมมองว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้น โดยค่า Median อยู่ที่ 150 เยนต่อดอลลาร์ฯ ภายในสิ้นปีนี้

ค่าเงินเยนส่งผลกระทบต่อหุ้นอย่างไร?

โดยทั่วไปแล้ว เงินเยนที่อ่อนค่าลงมักจะทำให้กำไรของภาคเอกชนแข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่พึ่งพาการส่งออก

เนื่องจากเงินเยนที่อ่อนค่าลงจะเป็นแรงขับเคลื่อนการส่งออกของญี่ปุ่น และหากเราตั้งสมมติฐานว่าต้นทุนส่วนใหญ่ของภาคเอกชนญี่ปุ่นอยู่ในสกุลเงินเยน หมายความว่า เงินเยนที่อ่อนค่าลงก็จะช่วยเพิ่ม Margin กำไรของบริษัทญี่ปุ่นด้วย กลับกัน หากเงินเยนแข็งค่าขึ้นก็จะส่งผลกระทบตรงกันข้าม และจะเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ทั้งนี้ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก โดยบริษัทในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม (เช่น Mitsubishi หรือ Hitachi) และกลุ่มธุรกิจสินค้าฟุ่มเฟือย (เช่น Toyota หรือ Sony) คิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ในดัชนี TOPIX

เรื่องนี้ส่งผลอย่างไรต่อพอร์ตของคุณ?

ความผันผวนของค่าเงินอาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนระยะสั้นในตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยเรายังคงเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม มุมมองของเราที่มีต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นในระยะกลางยังเป็นบวกเหมือนเดิม

มุมมองนี้อยู่บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในตลาดและเศรษฐกิจญี่ปุ่น เช่น การปฏิรูปภาคเอกชน การปฏิรูปเศรษฐกิจ และการออกกฎหมายเพื่อกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศเมื่อเร็วๆ นี้

ยกตัวอย่างเช่น การปฏิรูปภาคเอกชนส่งผลให้มีการซื้อหุ้นคืน (Stock Buybacks) และการจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึงความพยายามครั้งล่าสุดของตลาดหุ้น Tokyo Stock Exchange ที่พยายามผลักดันให้ภาคเอกชนใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่ม ROE (อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น) ซึ่งทั้งหมดนี้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้นักลงทุนกลับมาสนใจตลาดหุ้นญี่ปุ่นอีกครั้ง และช่วยสนับสนุนให้ราคาหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้น 

ทั้งนี้ เราเคยวิเคราะห์ปัจจัยบวกเหล่านี้ไว้แล้วใน CIO Insights: 2024 H1 Macro Outlook - Part 2

ในระยะข้างหน้า ค่าเงินเยนอาจเคลื่อนไหวได้ทั้ง 2 ทิศทาง

เมื่อพิจารณาในระยะข้างหน้า ทิศทางของค่าเงินเยนอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่ค่อนข้างซับซ้อน โดยแต่ละปัจจัยก็มีอิทธิพลที่จะขับเคลื่อนค่าเงินเยนได้ทั้งขึ้นและลง และนี่คือบางตัวอย่างที่ทีมงานด้านการลงทุนของ StashAway กำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด

ปัจจัยที่อาจกดดันให้เงินเยนอ่อนค่าลง:

  • หากไม่มีปัจจัยกระตุ้นให้ค่าเงินเยนกลับตัว แนวโน้มตลาดในปัจจุบันอาจทำให้เกิดวัฎจักร ‘Self-fulfilling’ (ทฤษฎีว่าด้วยความคาดหวังทำให้เกิดสิ่งนั้นจริงๆ) ซึ่งการที่ตลาดคาดหวังว่าเงินเยนจะอ่อนค่าลง อาจทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงอีกจริงๆ ในระยะข้างหน้า

ปัจจัยที่อาจสนับสนุนให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น:

  • เงินเยนมีชื่อเสียงว่าเป็นหนึ่งในสกุลเงิน Safe-haven หมายความว่า หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจใดๆ ก็ตาม ก็อาจทำให้นักลงทุนหันมาหลบภัยในสกุลเงินที่มั่นคงและปลอดภัย ซึ่งจะทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น
  • หากอดีตประธานาธิบดี Donald Trump ชนะการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐในเดือน พ.ย. นี้ ก็อาจกดดันให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกนโยบายที่ทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น เพื่อให้สหรัฐลดการขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่น คล้ายกับการทำข้อตกลง Plaza Accord ในปี 1985

ทั้งนี้ แม้เป็นเรื่องที่ดีที่นักลงทุนจะติดตามความเคลื่อนไหวของตลาด เช่น การอ่อนค่าของเงินเยน แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ควรบดบังความสำคัญของแผนการลงทุนระยะยาว เพราะการตัดสินใจบนพื้นฐานความผันผวนของตลาดในระยะสั้นมักไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี

ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงควรให้ความสำคัญกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมและโอกาสระยะยาวในตลาดที่คุณกำลังลงทุนอยู่ โดยการติดตามข้อมูลอย่างรอบคอบและรอบด้านยังคงมีความสำคัญ แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การยึดมั่นในแผนการลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินของตัวเองในระยะยาว


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ