‘ดอกเบี้ยนโยบาย’ เข้าใกล้จุดสูงสุดแล้วหรือยัง?
ธนาคารกลางเริ่มชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือยัง แล้วเรื่องนี้จะส่งผลต่อพอร์ตการลงทุนของคุณอย่างไรบ้าง
ธนาคารกลางหลักทั่วโลกต่างพร้อมใจกันต่อสู้เพื่อชะลอเงินเฟ้อ ซึ่งทุกการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและในระดับโลก อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อในบางประเทศเริ่มส่งสัญญาณว่าจะเข้าใกล้จุดสูงสุด ทำให้ตลาดมีความหวังว่า เราอาจผ่านพ้นการขึ้นดอกเบี้ยฯ รอบใหญ่ไปแล้ว อย่างไรก็ตามตลาดยังคงติดตามการสื่อสารของธนาคารกลาง โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ว่าจะเริ่มส่งสัญญาณ ‘Pivot’ เมื่อไร
ธนาคารกลางใกล้จะ Pivot ในเร็ววันนี้หรือไม่ และเรื่องนี้ส่งผลต่อการลงทุนของคุณอย่างไร
การ Pivot ของธนาคารกลางคืออะไร
คือ การเปลี่ยนแปลงจุดยืนทางนโยบายทางการเงิน เช่น การเปลี่ยนจากนโยบายการเงินที่เข้มงวด (การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ไปสู่นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง (การลดอัตราดอกเบี้ยฯ) หรืออาจเกิดขึ้นในทางกลับกัน
ปัจจัยใดที่ทำให้ธนาคารกลางต้องปรับเปลี่ยนนโยบาย
ในกรณีของ Fed การจะทำ Pivot เราจะเห็นจาก 1 ใน 2 เรื่องนี้ คือ:
- อัตราเงินเฟ้อเข้าใกล้ระดับเป้าหมายของ Fed ที่ 2%
- ตลาดแรงงานอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ
อัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังอยู่ระดับสูง แต่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว
ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐชะลอตัวมาอยู่ที่ 7.7% YoY (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) และเพิ่มขึ้น 0.4% MoM (เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า) ซึ่งออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งไม่รวมราคาพลังงานและอาหารชะลอตัวมาสู่ระดับ 6.3% YoY
ตลาดต่างมองเรื่องนี้เป็นข่าวดี และคาดหวังว่า:
- Fed จะเริ่มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ และ
- Fed อาจไม่ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ มากเท่าที่ตลาดเคยคาดไว้ก่อนหน้า
แม้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของ Fed ที่ 2% แต่สัญญาณการชะลอตัวลงถือเป็นข่าวดีสำหรับตลาด นอกจากนี้ยังมีสัญญาณที่น่าสนใจ เช่น อัตราค่าเช่าบ้านที่สะท้อนต้นทุนการอยู่อาศัย (ที่มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของตะกร้า CPI) อาจเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว และอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อในภาพรวมปรับตัวลดลง
หากเปรียบเทียบแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันกับข้อมูลในอดีตช่วงที่เคยมีอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงตั้งแต่ปี 1940 จะพบว่า แม้บางช่วงเส้นแนวโน้มการปรับขึ้นของเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ท้ายที่สุดมักจะปรับลดลงสู่ระดับเป้าหมาย
อ้างอิง: StashAway, Bloomberg, US Bureau of Labor Statistics: ค่าเฉลี่ยและการวัดค่ามัธยฐาน (Median) จากสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อสูงที่เคยเกิดขึ้นระหว่างปี: 1940-44, 1946-49, 1949-53, 1967-72, 1972-76, 1978-83, 1986-92, 2006-09; โดยเส้นประแสดงค่ามัธยฐานของการคาดการณ์จากนักเศรษฐศาสตร์ โดยผลการสำรวจของ Bloomberg
Key takeaway: แม้ในที่สุดเงินเฟ้อจะปรับลดลง แต่ Group CIO ของเรามองว่า จะยังคงเห็นความผันผวนในตลาดไปอีกสักระยะจนกว่าเศรษฐกิจจะมีเสถียรภาพมากขึ้น
ตลาดแรงงานสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง
หนึ่งในเรื่องที่ Fed ยังเจอความกดดันและอาจมีความกังวลอยู่ คือ ตลาดแรงงานที่ยังคงตึงตัว เพราะช่วงที่เกิดการระบาด COVID-19 มีแรงงานในสหรัฐเลือกที่จะออกจากตลาดแรงงานด้วยเหตุผลต่างๆ ตั้งแต่ปัญหาสุขภาพไปจนถึงการเกษียณก่อนวัย ทำให้บริษัทเอกชนต่างแข่งขันปรับขึ้นค่าแรงเพื่อแย่งชิงแรงงานที่เหลืออยู่ในตลาด ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น
โดยรวมตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง แม้อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นที่ 3.7% ในเดือนตุลาคม ซึ่งยังใกล้เคียงระดับจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ระดับ 5% ที่สำคัญยังอยู่ต่ำกว่าอัตราการว่างงานตามธรรมชาติ หรือ Natural Rate Of Unemployment
อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 75 ปีที่ผ่านมา พบว่าอัตราการว่างงานมีค่ามัธยฐาน (Median) เพิ่มสูงขึ้น 330 bps หรือ 3.3% ในทางกลับกัน นับตั้งแต่ต้นปีนี้อัตราการว่างงานปรับตัวลดลง 30 bps หรือ 0.3% ซึ่งแสดงว่าปัจจัยด้านตลาดแรงงานยังคงกดดันอัตราเงินเฟ้ออยู่
อ้างอิง: StashAway, US Bureau of Labor Statistics, National Bureau of Economic Research (NBER) หมายเหตุ แถบสีฟ้าในกราฟคือช่วงที่เกิด Recession ตามนิยามของ NBER
ทั้งนี้ Fed คาดการณ์ว่าอัตราการว่างงาน ณ สิ้นปี 2023 จะอยู่ที่ 4.4% ซึ่งหมายถึงเราอาจต้องเห็นเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญก่อน
Fed กำลังต้องการบอกอะไร
ช่วงที่ผ่านมา Fed ได้ตัดสินใจทำเรื่องยากหลายครั้ง จากกราฟด้านล่างจะเห็นว่า Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ รวมแล้วถึง 375 bps ในช่วงเวลาเพียง 8 เดือน ถือเป็นช่วงระยะสั้นๆ ที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ทั้งเร็วและแรง (เส้นสีเหลือง) แต่ผลของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ อาจต้องใช้ระยะเวลาเพื่อการส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจ
อ้างอิง: StashAway, ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed)
ทั้งนี้ ความคิดเห็นล่าสุดจาก Fed ชี้ว่า แม้อัตราเงินเฟ้อล่าสุดจะเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นในการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ แต่ยังคงเร็วเกินไปที่ธนาคารกลางจะเปลี่ยนแปลงนโยบายในการควบคุมเงินเฟ้อที่ทำอยู่นี้ อย่างไรก็ตาม เรามองว่า ณ ตอนนี้ คำถามที่สำคัญคือ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ไปถึงจุดใด มากกว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วแค่ไหน
โดยสัญญาณล่าสุดจาก Jerome Powell ประธาน Fed เปิดเผยว่า Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ สูงกว่าระดับ 4.5%-4.75% ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนกันยายน 2022 และอาจจะคงในระดับนี้ไว้นานขึ้น
Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปสูงแค่ไหน
Jerome Powell กล่าวไว้ว่า ธนาคารกลางมีเป้าหมายในการทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) เป็นบวก ซึ่งเมื่ออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวกจะหมายถึง อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูงพอที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง (อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง คือ อัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ (Nominal Interest Rate) ลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ)
หากตลาดคาดว่าในช่วงกลางปีหน้าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงสู่ระดับ 4% นั่นหมายถึงว่า อัตราดอกเบี้ยฯ ของ Fed ที่ระดับ 5% เพียงพอแล้วต่อเป้าหมายของ Fed แต่ Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยฯ ระดับนี้ไว้ถึงเมื่อไรยังคงขึ้นอยู่กับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงาน
Key takeaway: แม้ Fed มีแนวโน้มที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ แต่ยังคงส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ไปสูงกว่าที่เคยประมาณการไว้ และอาจคงอัตราดอกเบี้ยฯ ในระดับสูงนานขึ้นเพื่อชะลอเศรษฐกิจ
ธนาคารกลางทั่วโลกอาจมีมุมมองไม่เหมือน Fed
แม้ธนาคารกลางหลักทั่วโลกต่างขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ทั้งเร็วและแรงเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อคล้ายคลึงกับ Fed อย่างไรดาม แต่ละประเทศมีปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป
กรณีของยุโรป ที่เจอปัญหา Supply Disruption จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนพลังงานและราคาอาหารที่สูงขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ต่างกับกรณีของเอเชีย ซึ่งพบว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมาจากการเปิดประเทศที่ทำให้ Demand เพิ่มขึ้นสูง รวมถึงปัญหาสกุลเงินในประเทศที่อ่อนค่า (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เกิดอะไรขึ้น ทำไมค่าเงินทั่วโลกถึงผันผวน?) แต่โดยรวมสถานการณ์เงินเฟ้อในเอเชียไม่รุนแรงเท่าในสหรัฐ และยุโรป
ทว่าปัจจัยท้าทายที่ธนาคารกลางทั่วโลกให้ความสนใจคือ การเติบโตที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะประเทศที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจไม่ได้ออกมาดีเหมือนสหรัฐ ขณะที่ความมั่นคงทางการเงินเป็นอีกความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะประเทศที่เผชิญกับหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคเอกชนสูง นอกจากนั้นในประเทศที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ใช้อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เช่น ฮ่องกง หรือ ออสเตรเลียจะได้รับผลกระทบจากช่วงดอกเบี้ยฯ ขาขึ้นค่อนข้างมาก
โดยปกติ เมื่อเกิดปัจจัยเหล่านี้ ทั้ง Supply-Driven Inflation (เงินเฟ้อที่เกิดจากอุปทาน), การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง, และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินที่สูงขึ้น อาจทำให้ธนาคารกลางต่างๆ ชะลอหรือหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ เร็วกว่าสหรัฐ
เรื่องที่ต้องติดตาม: Quantitative Tightening (QT)
นอกจากอัตราดอกเบี้ยฯ ธนาคารกลางยังมีเครื่องมืออื่นๆ ในการบริหารนโยบายทางการเงิน หนึ่งในนั้นคือการซื้อสินทรัพย์ เช่น พันธบัตรรัฐบาล เพื่อเพิ่มเม็ดเงินในตลาด และกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (หรือที่เราเรียกกันว่า Quantitative Easing: QE)
ในทางตรงกันข้ามคือ การขายสินทรัพย์ หรือปล่อยให้ตราสารหนี้ครบกำหนด (ไม่ได้ซื้อทดแทนของเดิม) เพื่อลดสภาพคล่องและชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ จะเรียกว่า Quantitative Tightening (QT) ซึ่งเราเริ่มเห็นการทำ QT แล้วจาก:
- Fed เริ่มปรับลดขนาดงบดุลลง เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการทำ QE ทำให้ขนาดของงบดุล ณ เมษายน 2022 ได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 322.5 ล้านล้านบาท)* ซึ่งมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 ที่อยู่ระดับ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 144.9 ล้านล้านบาท)*
- ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เริ่มปรับลดขนาดงบดุลในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจาก 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ตลาดมีความผันผวนจากสถานการณ์ภายในประเทศต่างๆ ทำให้จำเป็นต้องเลื่อนแผนออกมา
- ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดการณ์ว่าจะเริ่มทำ QT ในปีหน้า หลังจากสิ้นสุดช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น
ทว่าเราอาจเห็นภาพที่ต่างออกไปในเอเชีย ซึ่งประเทศเหล่านี้มีสถานการณ์เงินเฟ้อที่ไม่รุนแรงเท่าฝั่งยุโรป และสหรัฐ ทำให้ธนาคารกลางหลักอย่าง ธนาคารกลางจีน (PBOC) และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงสามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้อย่างต่อเนื่อง
อ้างอิง: StashAway, Bloomberg; เส้นประมาณการการลดขนาดงบดุลของ Fed อ้างอิงจากยอดสูงสุดต่อเดือนที่ 95,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.4 ล้านล้านบาท)*
ทั้ง 3 ธนาคารกลางหลักของโลกอย่าง Fed, BOE, ECB ต่างกำลังลดขนาดงบดุล และจะลดสภาพคล่องในระบบอย่างรวดเร็ว จึงอาจสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการกู้ยืม และเมื่ออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเพิ่มขึ้น อาจสร้างแรงกดดันต่อราคาสินทรัพย์ต่างๆ ให้ปรับตัวลดลง
- Risk-free Rate (อัตราผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยง) อาจปรับเพิ่มขึ้นและทำให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield) มีความน่าสนใจมากขึ้น
- Cost of Capital (ต้นทุนของเงินทุน) เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ วงเงินในการทำ QT รอบนี้นับว่าสูงมาก โดยครั้งล่าสุดที่ Fed ทำ QT คือปี 2017-2019 ซึ่งพบว่าเกิดผลกระทบที่ไม่คาดคิดในตลาด Creditครั้งนั้น Fed ปรับลดขนาดงบดุลลงราว 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ราว 1.8 ล้านล้านบาท)* แต่รอบนี้ Fed ตั้งขนาดการทำ QT ไว้เกือบ 2 เท่าของรอบก่อนหน้า ด้วยวงเงินสูงสุดถึง 95,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ราว 3.4 ล้านล้านบาท)*
อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารกลางต่างระมัดระวังในการสื่อสารนโยบายและแนวทางมากขึ้น โดย Fed ได้ออกมาตรการต่างๆ มาใช้ โดยเรียนรู้จากบทเรียนการทำ QT ในรอบที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเราอาจต้องเผชิญกับความผันผวนในตลาดต่อไปอีก และอาจเจอจุดอ่อนทางเศรษฐกิจที่เรายังมองไม่เห็น
ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อพอร์ตการลงทุนของคุณอย่างไร?
ตราสารหนี้ระยะสั้น และสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐ (USD-denominated) คาดว่ายังสามารถ Outperform ได้ดีในช่วงระยะสั้นนี้ เนื่องจาก Fed ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ (แม้จะชะลอความเร็วลง) และอาจคงอัตราดอกเบี้ยฯ ระดับสูงไว้นานขึ้น (อ่านเพิ่มเติมที่: ‘ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า’ รอบนี้ ส่งผลต่อการลงทุนของคุณอย่างไร?)
ด้านตลาดหุ้น แม้ปัจจัยด้านเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยฯ จะมีท่าทีที่ดีขึ้นแต่ยังคงเร็วเกินไปที่จะมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของตลาดกระทิง (Bull Market) เพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้บริษัทต่างๆ อาจมีกำไรลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัท
อย่างไรก็ตาม หากอัตราเงินเฟ้อแตะจุดสูงสุดและเราเข้าใกล้จุดสิ้นสุดช่วงดอกเบี้ยฯ ขาขึ้น ตลาดตราสารหนี้ก็มักเริ่มฟื้นตัวก่อน
ท่ามกลางความผันผวนของตลาดที่อาจเกิดขึ้นตามทุกการตัดสินใจของธนาคารกลาง การลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยพอร์ตที่กระจายการลงทุนในหลากสินทรัพย์ ในหลายภูมิภาค และในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับคุณ จะทำให้คุณลงทุนได้อย่างสบายใจแม้จะต้องเจอกับความผันผวนในระยะสั้น และยังช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนระยะยาว
*อัตราแลกเปลี่ยนที่ 36.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ