'DCA' เคล็ดลับสู่ความมั่งคั่งที่ใครๆ ก็ทำได้

04 October 2024

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

หากคุณเป็นนักลงทุนที่ StashAway ก็คงทราบดีว่าเราสนับสนุนการลงทุนระยะยาว โดยกลยุทธ์ที่เราแนะนำนักลงทุนมาโดยตลอด คือ DCA (Dollar-cost Averaging) หรือการนำเงินจำนวนเท่าๆ กันมาลงทุนเป็นประจำทุกเดือน โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ การมีอิสรภาพทางการเงินในระยะยาว

ข้อดีของ DCA คือ จะช่วยให้คุณสามารถสร้างวินัยการออมและลดความเสี่ยงในการจับจังหวะซื้อ-ขายได้ เพราะส่วนใหญ่มนุษย์เงินเดือนอย่างพวกเรายังไม่ได้มีเงินทุนมากมายตอนเริ่มลงทุน และการทำนายตลาดยังเป็นเรื่องที่ยาก เราจะรู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อจุดต่ำสุดของตลาดได้ผ่านพ้นไปแล้ว เช่น วิกฤตการเงินโลก เดือน ม.ค. ปี 2009 หรือในเดือน มี.ค.ปี 2020 ที่เริ่มมีการปิดประเทศเนื่องจาก COVID-19 จนมีคำฮิตติดปากในหมู่นักลงทุนว่า “รู้อะไรไม่สู้..รู้งี้”

วิธีที่ดีที่สุดสำหรับการทำ DCA คือ เลือกพอร์ตการลงทุนที่เราคิดว่าจะเติบโตในระยะยาวและตั้งระบบให้โอนเงินเข้าพอร์ตเป็นประจำทุกเดือน เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องลังเลและเสียเวลากับธุรกรรมต่างๆ โดยหลักการง่ายๆ ของ DCA จะได้ผลก็ต่อเมื่อคุณลงทุนระยะยาว และสิ่งสุดท้ายที่คุณต้องทำ คือ ขายสินทรัพย์ให้ได้ราคาสูงกว่าราคาเฉลี่ยที่คุณซื้อมา

นักลงทุนมักมีคำถามว่า ‘ทำไมต้อง DCA ในช่วงตลาดขาลง รอซื้อที่จุดต่ำสุดทีเดียวไม่ดีกว่าหรอ?’ ซึ่งคำตอบที่เราให้กับนักลงทุน คือ เราไม่สามารถทำนายตลาดได้ และการลงทุนอย่างสม่ำเสมอในขณะที่ราคาสินทรัพย์อยู่ในระดับต่ำ จะสร้างความได้เปรียบและเป็นส่วนสำคัญของการลงทุนระยะยาว โดยการ DCA ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดี (เช่น พอร์ต General Investing ของ StashAway😎), กองทุนดัชนี หรือหุ้นพื้นฐานดีขนาดใหญ่ (Blue Chip) ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากคุณไม่ต้องกังวลทุกๆ ครั้งที่ลงทุน

อย่างไรก็ตาม การ DCA นั้นไม่เหมาะกับหุ้นหรือ Cryptocurrency ที่เน้นการเก็งกำไร เพราะราคาของสินทรัพย์เหล่านี้มีความผันผวนมาก ราคาอาจพุ่งขึ้นไปภายในระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็อาจปรับตัวลงอย่างรวดเร็วและอาจไม่กลับไปอยู่ในจุดเดิมอีกเลย ดังนั้น การลงทุนแบบ DCA จึงต้องมองหาสินทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับและมีเสถียรภาพในระยะยาว

เพื่อให้คุณเห็นภาพชัดขึ้น ลองดูตัวอย่างกลุ่มเพื่อน 4 คนที่มีลักษณะนิสัยไม่เหมือนกัน ทั้ง 4 คนลงทุนในดัชนี S&P 500 เป็นเวลา 21 ปี นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2002 ถึงเดือน ธ.ค. 2022 โดยทุกคนควรจะต้องลงทุนคนละ 10,000 บาทเป็นประจำทุกเดือน และขายสินทรัพย์พร้อมกันเมื่อสิ้นสุดเดือน ธ.ค. 2022 

ชัช ผู้หนักแน่น

ชัช ผู้มีนิสัยหนักแน่นและมีวินัย เขาจึงลงทุน 10,000 บาททุกเดือนในกองทุนรวมดัชนี S&P 500 เป็นเวลา 21 ปี โดยเขาตั้งระบบโอนเงินไว้และเข้าไปดูพอร์ตเป็นครั้งคราวเท่านั้น และชัชไม่เคยเปลี่ยนแผนการลงทุนเลย แม้ว่าเขาจะรู้สึกกังวลในช่วงที่ตลาดเป็นขาลงยาวนาน แต่ชัชควบคุมความกลัวของตัวเองได้และไม่เคยหวั่นไหวกับความผันผวนของตลาด

ชัย ผู้โชคร้าย

ชัย คิดว่าตัวเองน่าจะทำผลตอบแทนได้มากกว่าคนอื่นด้วยวิธีจับจังหวะซื้อ-ขาย ทำให้ชัยตัดสินใจขายสินทรัพย์และถอนเงินทั้งหมด 5 ครั้งก่อนหน้าที่ตลาดจะเข้าสู่ช่วงที่ทำผลตอบแทนได้ดีที่สุด 5 อันดับแรก ซึ่งทุกครั้งชัยจะใจร้อนและนำเงินกลับมาลงทุนใหม่อีกครั้งหลังตลาดผ่านช่วง Bull Market ไปแล้ว โดยหวังว่าจะไล่ตามกระทิงให้ทัน

ชื่น ผู้กระวนกระวาย

ชื่น มีนิสัยขี้กังวล และคิดว่าตัวเองน่าจะลองใช้วิธี DCA เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้อารมณ์ในการลงทุน โดยส่วนใหญ่ ชื่นลงทุนอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลา 21 ปี อย่างไรก็ตาม เธอมักจะตื่นกลัวเมื่อตลาดเป็นขาลงสักระยะหนึ่ง โดยเธออาจทนช่วงตลาดเลวร้ายไปได้สัก 1 เดือน แต่สุดท้ายก็กลัวจนถอนเงินลงทุนทั้งหมดออกมา จากนั้นเธอมักจะรวบรวมความกล้ากลับมาลงทุนใหม่หลังจากผ่านไป 1 เดือน ซึ่งตลอดช่วงดังกล่าว เธอถอนเงินไปทั้งหมด 5 ครั้งหลังผ่านช่วงที่ตลาดทำผลงานได้แย่ที่สุด 5 อันดับแรก

ชม ผู้ฉลาดเฉลียว

เพื่อนคนสุดท้าย คือ ชม ที่มีความรู้ด้านการลงทุนอยู่บ้างและค่อนข้างมีวินัย เธอทำสิ่งที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย โดยแทนที่จะลงทุน 10,000 บาทในทุกๆ เดือน เธอกลับเพิ่มเงินลงทุนเป็น 20,000 บาทในช่วงที่ตลาดย่ำแย่ เพราะเธอคิดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับความกระวนกระวายของตัวเองเมื่อตลาดอยู่ในภาวะตื่นกลัว ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า Value-cost Averaging หรือการเพิ่มจำนวนเงินลงทุนเมื่อราคาสินทรัพย์ปรับตัวลง ทำให้ราคาต้นทุนเฉลี่ยของเธอลดลงตามไปด้วย ซึ่งวิธีดังกล่าวต้องอาศัยความกล้าและความมีวินัย แต่ชมก็มีความกล้าที่จะเพิ่มเงินลงทุน 5 ครั้งในช่วงที่ตลาดทำผลงานได้แย่ที่สุด 5 อันดับแรกตลอดระยะเวลา 21 ปี

ผลลัพธ์

เพื่อนทั้ง 4 คนได้กลับมาพบกันหลังจากลงทุนมาเป็นเวลา 21 ปี เพื่อเปรียบเทียบวิธีการและผลตอบแทนที่แต่ละคนได้รับ ซึ่งทั้งหมดรู้สึกประหลาดใจว่า แม้การลงทุนเดือนละ 10,000 บาทจะดูเหมือนง่าย แต่พฤติกรรมที่ต่างกันของพวกเขาทำให้ผลตอบแทนของแต่ละคนแตกต่างกันไป

เพื่อนทั้ง 4 คน เห็นตรงกันว่า การลงทุนแบบ DCA ถือว่าเป็นวิธีที่ง่าย แต่ต้องอาศัยจิตใจที่เข้มแข็ง ซึ่งทุกคนก็สามารถทำกำไรจากการลงทุนได้ แม้จะมีนิสัยแตกต่างกัน ทั้ง 4 คนยังยอมรับด้วยว่า อาจทำผลตอบแทนได้มากกว่านี้หากยึดหลัก DCA อย่างเคร่งครัด หรือมีความกล้าเพิ่มเงินลงทุนแบบที่ชมทำ

หมายเหตุ:

การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน;ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต; ข้อมูลนี้ไม่ได้จัดเตรียมขึ้นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลของท่าน (เช่น วัตถุประสงค์การลงทุน สถานการณ์ทางการเงิน หรือความต้องการโดยเฉพาะ) ท่านควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย และด้านอื่น ๆ ของท่านเอง


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ