คุณเข้าใจการทำ Dollar-Cost Averaging (DCA) ดีแค่ไหน

04 September 2018
Freddy Lim
Co-founder

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

คำแนะนำที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ คือควรซื้อหลักทรัพย์ตอนราคาต่ำๆ แล้วค่อยขายตอนราคาสูงๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะการพยายามจับจังหวะซื้อ-ขาย (Time the Market) ต้องใช้เวลาและความสามารถในการศึกษาตลาดและแนวโน้มเศรษฐกิจเยอะมาก และต่อให้มีผู้จัดการกองทุนหลายคนที่พยายามจับจังหวะซื้อหลักทรัพย์เป็นอาชีพ กลับมีผู้จัดการกองทุนเพียง 5% หรือ 1 ใน 20 คนเท่านั้นที่สร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า Benchmark

ถ้าการจับจังหวะซื้อ-ขายให้ถูกต้องเป็นเรื่องยาก เราควรจะตัดสินใจลงทุนอย่างไร

การทำ DCA คือคำตอบ

แล้ว DCA คืออะไร DCA คือการลงทุนด้วยเงินจำนวนเท่ากันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งอาจจะเป็นทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกไตรมาส หรือระยะเวลาเท่าไหร่ก็ได้ และจะลงทุนเองหรือผ่านกองทุนก็ได้

การลงทุนแบบ DCA ออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้คุณลงเงินจำนวนมากเกินไปเพื่อซื้อหลักทรัพย์ในช่วงเวลาที่ “ผิด” เพราะถ้าไม่นับเรื่องโชคแล้ว การจับจังหวะซื้อ-ขายให้ถูกต้องนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้น DCA จึงตัดเรื่องการจับจังหวะซื้อ-ขายออกไป จากการศึกษาข้อมูลย้อนหลังพบว่า เมื่อลงทุนแบบ DCA ในระยะยาว ราคาของหลักทรัพย์ที่คุณซื้อจะเฉลี่ยออกมาแล้วใกล้เคียงราคายุติธรรม (Fair Value) คุณจึงไม่ต้องกลัวเรื่องการซื้อหลักทรัพย์ในช่วงเวลาที่ “ผิด” อีกต่อไป

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว DCA เหมือนจะเป็นวิธีการลงทุนที่สมเหตุสมผล แต่การลงทุนแบบนี้จะเหมาะกับคุณไหมก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง

เริ่มแรกเลย คุณควรดูก่อนว่าเงินที่จะนำมาลงทุนนั้นเป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนเดียวหรือเงินก้อนเล็กๆ หลายก้อน

สำหรับเงินก้อนใหญ่

หลายคนที่แนะนำว่าไม่ควรลงทุนแบบ DCA กับเงินก้อนใหญ่เชื่อว่าการไม่นำเงินไปลงทุนในตลาดทันทีจะเป็นการเสียโอกาสทำกำไรของเงินก้อนนั้น งานวิจัยของ Vanguard ยังพบว่าการที่คุณไม่นำเงินไปลงทุนจะทำให้คุณมีโอกาสที่จะขาดทุนมากกว่าการนำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นในราคาแพงด้วยซ้ำ

แต่สิ่งที่คำแนะนำนี้ยังไม่ได้นำมาพิจารณาคือความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้สำหรับเงินก้อนนั้น การลงเงินก้อนใหญ่ในครั้งเดียวก็เป็นการจับจังหวะซื้อสินทรัพย์ในตลาด (Time the Market) แบบหนึ่งเหมือนกัน แล้วถ้าคุณซื้อในช่วงที่ไม่เหมาะสมขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้น คุณพร้อมที่จะให้เงินก้อนนี้ขาดทุนได้ถึงระดับไหน พร้อมที่จะขายในราคาที่ขาดทุน (Cut Loss) หรือไม่ วิธีการพิจารณาที่ดีคือลองคำนวณดูว่าเงินก้อนนี้คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์ทั้งหมดของคุณ

เช่น ลองดูว่าเงินก้อนนี้เป็นเงินโบนัสจำนวน ฿1,00,000 หรือเงินมรดกจำนวน ฿10,000,000 แล้วคิดว่าก้อนนี้เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์ทั้งหมดของคุณ เพราะถ้าเปรียบเทียบเงินที่เป็นแค่ 10% ของสินทรัพย์ทั้งหมดกับเงินที่เป็น 100% จะเห็นว่าการเสียเงิน 100% ของสินทรัพย์ทั้งหมดที่คุณมีมักจะมีความเสี่ยงมากกว่า

เรามาลองดูกรณีตัวอย่างกัน

สมมุติว่าคุณได้เงินโบนัสจำนวน ฿1,000,000 จากปีที่แล้ว และเงินก้อนนี้เป็นสินทรัพย์ทั้งหมดของคุณ​ ในวันที่ 26 มกราคม คุณนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนก่อนที่จะเกิด Market Correction ในวันที่ 29 มกราคม คุณจึงขาดทุนไป 20% ซึ่งหมายความว่าคุณเพิ่งเสีย 20% ของสินทรัพย์ทั้งหมดไป ในทางกลับกัน ถ้าเงินโบนัสก้อนนั้นเป็น 20% ของสินทรัพย์ทั้งหมดของคุณ การที่เงินก้อนนี้ขาดทุน 20% ก็จะเป็นเพียงแค่ 4% ของสินทรัพย์ทั้งหมดของคุณเท่านั้น

เมื่อคิดตามหลักการนี้แล้ว ถ้าเงินก้อนนี้เป็นสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของคุณ คุณก็ควรลงทุนแบบ DCA เพื่อลดความเสี่ยงของเงินก้อนนี้

อีกปัจจัยหนึ่งที่คุณควรพิจารณาก็คือเวลาที่คุณต้องการนำเงินออกจากพอร์ต เช่น ถ้าคุณใกล้ที่จะเกษียณ คุณก็อาจจะรับความเสี่ยงไม่ได้มากนัก เมื่อเทียบกับคนที่จะเกษียณในอีก 30 ปี ในกรณีนี้ เราก็แนะนำให้คุณนำเงินก้อนใหญ่ก้อนนี้ไปลงทุนแบบ DCA เช่นกันเพื่อลดความเสี่ยงที่จะขาดทุน

สำหรับการลงทุนแบบรายเดือน

การลงทุนแบบ DCA จะมีประโยชน์ที่สุดเมื่อคุณต้องการแบ่งเงินเดือนไปลงทุนในทุกๆ เดือน เพราะคุณจะได้นำเงินส่วนนี้ไปลงทุนทันทีโดยไม่ปล่อยให้เสียโอกาสในการสร้างผลตอบแทนอยู่ในบัญชีเฉยๆ เป็นเวลานานๆ เมื่อคุณแบ่งเงินเดือนไปลงทุนในแบบ DCA บางครั้งคุณอาจจะซื้อหลักทรัพย์ในราคาที่สูง แต่ไม่ต้องกังวลไป อย่างที่เราได้บอกไปก่อนหน้านี้ ราคาหลักทรัพย์ที่คุณซื้อรายเดือนมีแนวโน้มที่จะเฉลี่ยออกมาใกล้กับราคายุติธรรม (Fair Value) ซึ่งจะคุ้มค่ากว่าการเก็บเงินก้อนนี้ไว้ในบัญชีเงินฝากเฉยๆ สิ่งสำคัญของการลงทุนในรูปแบบนี้อีกอย่างคือการสร้างวินัยในการลงทุน ซึ่งคุณอาจจะลองตั้งให้หักเงินไปลงทุนโดยอัตโนมัติในวันที่เงินเดือนออกเพื่อให้แน่ใจว่าคุณได้นำเงินไปลงทุนอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนก่อนที่จะนำไปใช้จ่าย

สรุปแล้วคุณควรใช้การลงทุนแบบ DCA เมื่อไหร่

อย่างแรกเลย เราขอแนะนำให้คุณแบ่งเงินเก็บไปลงทุนทุกเดือนอย่างมีวินัย เพื่อให้เงินที่เพิ่งเข้ามาในบัญชีได้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนอยู่ในตลาดนานที่สุด รวมถึงอย่าไปกังวลเรื่องราคาและอย่าพยายามจับจังหวะซื้อ

สำหรับเงินก้อนใหญ่ คุณควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ ก่อน เช่น ลองคำนวณว่าเงินก้อนนี้เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์ทั้งหมดของคุณ ถ้าเงินก้อนนี้มีมูลค่าน้อยกว่า 25% ของสินทรัพย์ทั้งหมดของคุณ คุณก็ควรนำเงินทั้งหมดนั้นไปลงทุนพร้อมกันในครั้งเดียว แต่ถ้าเงินก้อนนั้นเป็นสินทรัพย์เกือบทั้งหมดของคุณ คุณควรลองลดความเสี่ยงด้วยการลงทุนแบบ DCA และแบ่งเงินลงทุนในหลายๆ เดือน เพื่อให้คุณไม่ซื้อหลักทรัพย์ที่มีราคาสูงเกินไปในครั้งเดียว


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ