จิตวิทยากับการลงทุน: 7 อคติที่อาจทำร้ายการลงทุนของคุณ
เคยสงสัยกันไหม? ว่าอะไรทำให้ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้น อะไรทำให้คนกระโดดเข้าไปลงทุนในสิ่งที่อาจรู้ข้อมูลแค่เล็กน้อย หรือ ทำไมบางคนถึงชื่นชอบการลงทุนแบบใดแบบหนึ่งมากเป็นพิเศษ
เรามาทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ผ่าน ‘อคติเชิงพฤติกรรมทางการเงิน’ หรือ ‘Behaviourial Finance Biases’ ที่จะช่วยอธิบายว่าทำไมคนเรามักจะใช้อารมณ์ในการตัดสินใจด้านการลงทุน แทนการตัดสินใจด้วยเหตุผลหรือข้อมูลที่น่าจะเหมาะสมกว่า
เพราะ ‘มนุษย์’ มาพร้อมกับอารมณ์และความรู้สึก ทั้งความกลัว โลภ หรือตื่นเต้น และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราตัดสินใจลงทุนโดยมองข้ามเหตุผล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออนาคตทางการเงินของเราได้
ข้อความแจ้งเตือนแบบนี้อาจทำให้คุณลงทุนเร็วกว่าแผนที่วางไว้
แล้วเราจะจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนการลงทุนของเรา มาเริ่มต้นจากตนเองผ่านการทำความเข้าใจจุดอ่อน หรือ อคติในการลงทุนที่มาจากอารมณ์ และเช็กแผนการลงทุนของคุณอย่างสม่ำเสมอ
StashAway ชวนคุณมาทำความรู้จักกับ 7 อคติเชิงพฤติกรรมทางการเงิน ที่คุณควรระวังเมื่อตัดสินใจลงทุน:
1. Home Country Bias
อคติแบบ Home Country Bias หรือการที่นักลงทุนมักมีสัดส่วนการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในประเทศของตน ยกตัวอย่างเช่น หุ้นสหรัฐคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 50% ของมูลค่ารวมของตลาดหุ้นโลก แต่โดยเฉลี่ยแล้วนักลงทุนสหรัฐจะถือหุ้นสหรัฐสัดส่วนราว 70% ของพอร์ต
สาเหตุที่คนส่วนใหญ่มีอคติในเรื่องนี้มาจากหลักจิตวิทยาขั้นพื้นฐานที่ว่า เรามีแนวโน้มที่จะลงทุนในสิ่งที่เราคุ้นเคยมากกว่าสิ่งที่ไม่รู้จัก ซึ่งสิ่งที่เราคุ้นเคยมักจะอยู่ในประเทศ
แต่การลงทุนในสินทรัพย์ภายในประเทศมากเกินไป จะเพิ่มความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวมากขึ้นเช่นกัน เพราะหากเกิดสถานการณ์ผิดปกติหรือวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศของเรา อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อพอร์ตของเรา ซึ่งการกระจายลงทุนในหลากหลายภูมิภาคจะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาในประเทศใดประเทศหนึ่งได้
2. Home Currency Bias
“คุณควรมีเงินทุนในสกุลเงินที่เป็น Safe-haven มากเพียงพอในพอร์ต เพราะนี่จะเป็นเหมือนเกราะปกป้องพอร์ตเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ” - Freddy Lim, Group Co-CIO ของ StashAway
อคติข้อนี้คล้ายกับข้อแรก โดย Home Currency Bias หมายถึง พฤติกรรมของนักลงทุนที่มีแนวโน้มถือครองสินทรัพย์ในสกุลเงินของประเทศตนเองในสัดส่วนที่มากกว่าสกุลเงินอื่นๆ เพราะมองว่าค่าเงินต่างประเทศเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเสมอ จึงมองเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
แต่หากย้อนดูสถิติจะพบว่า สกุลเงินบางประเทศปรับตัวได้ดีในช่วงเศรษฐกิจขาลง ยกตัวอย่างเช่น เงินดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนญี่ปุ่น และเงินฟรังก์สวิส ที่สามารถปรับตัวได้ดีกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในช่วงที่เกิดวิกฤตต่างๆ เช่น วิกฤตการเงินโลกปี 2008 และ Covid-19 เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี นักลงทุนต่างต้องการเก็บเงินไว้ในสกุลเงิน Safe-haven หรือสกุลเงินที่น่าจะปลอดภัยกว่า ดังนั้น การเก็บสินทรัพย์ในสกุลเงินเหล่านี้และไม่กระจุกตัวในสกุลเงินใดมากเกินไป จะช่วยลดความเสี่ยงในพอร์ตของคุณได้
3. Loss Aversion Bias
เป็นปกติที่คนเรามักจะเกิดความรู้สึกกับการติดลบมากกว่าตอนที่ทำกำไรได้ โดย Daniel Kahneman นักจิตวิทยา นักเศรษฐศาสตร์ และนักเขียน อธิบายถึงสาเหตุที่มนุษย์มีแนวโน้มจะเกิดพฤติกรรมนี้ผ่านหนังสือ Thinking, Fast and Slow (2012) ไว้ว่า:
“ความไม่สมมาตรระหว่างการตอบสนองต่อเหตุการณ์ในแง่บวก และ เหตุการณ์ในแง่ลบเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการ สิ่งมีชีวิตที่ตอบสนองกับสิ่งที่เป็นภัยอันตรายก่อนโอกาส จะสามารถรอดชีวิตและขยายเผ่าพันธุ์ได้มากกว่า”
อีกนัยหนึ่งอาจพูดได้ว่า วิวัฒนาการของมนุษย์ทำให้เราตอบสนองกับเหตุการณ์ในแง่ลบเร็วกว่าแง่บวก ในด้านการลงทุน Loss Aversion Bias คือ พฤติกรรมมนุษย์ที่มัก ‘หลีกเลี่ยงการสูญเสีย’ เพราะเราจะเจ็บปวดกับการขาดทุนมากกว่าความสุขเมื่อได้กำไร แม้จะเป็นจำนวนเงินที่เท่ากัน ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนเลือกความเสี่ยงที่ระดับต่ำกว่าที่ตนเองรับได้จริง หรืออาจเลือกการไม่เสี่ยงเลย
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดความผันผวนระยะสั้นในตลาด นักลงทุนที่หลีกเลี่ยงการสูญเสียมักจะเทขาย สินทรัพย์อย่างรวดเร็วเพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น และมักจะกลับมาลงทุนอีกครั้งเมื่อรู้สึกว่าตลาดเริ่มนิ่งและไม่ค่อยกังวล ซึ่งเท่ากับว่านักลงทุนจะซื้อสินทรัพย์ในช่วงที่ตลาดฟื้นตัวไปแล้วและมีราคาที่แพงกว่า
ขณะเดียวกัน กลุ่มนักลงทุนที่กังวลและเลือกที่จะไม่เสี่ยงเลยมักจะถือเงินสดไว้มากเกินจำเป็น ทำให้มูลค่าที่แท้จริงลดลงเมื่อเจอกับเงินเฟ้อ หรือเลือกลงทุนต่ำกว่าระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งจะทำให้ไปถึงเป้าหมายระยะยาวได้ยากขึ้น
4. Sunk Cost Fallacy
เคยไหม? ที่ต้องเดินทางด้วยความรู้สึกไม่อยากไปเพียงเพราะคุณจ่ายเงินไปแล้ว พฤติกรรมแบบนี้เกิดจากความรู้สึกยึดติด ซึ่งเราเรียกพฤติกรรมนี้ว่า Sunk Cost Fallacy หรือที่คุณอาจเคยได้ยินคำว่า ‘ต้นทุนจม’ ซึ่งเป็นความรู้สึกเสียดายหรือยึดติดกับสิ่งที่ลงทุนลงแรงไว้แล้วนั่นเอง
ในด้านการลงทุน คุณอาจรู้สึกยึดติดกับสินทรัพย์บางประเภทเป็นพิเศษ แม้ว่าสินทรัพย์นั้นจะไม่ตอบโจทย์การลงทุนของคุณอีกต่อไป ยกตัวอย่างเช่น คุณเคยใช้เวลาหาข้อมูลและวิเคราะห์บริษัทหนึ่งจนรู้สึกว่าบริษัทนี้น่าลงทุน หรือ คุณรู้สึกผูกพันกับบริษัทหนึ่งเป็นพิเศษ เพราะบริษัทนั้นกำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่คุณเชื่อมั่นและอยากสนับสนุน แต่ปัจจุบันบริษัทนั้นๆ อาจไม่ได้เหมาะกับแผนการลงทุนของคุณแล้ว
ดังนั้น Sunk Cost Fallacy อาจทำให้นักลงทุนเลือกจะลงทุนนานกว่าที่ควรจะเป็น และอาจมีความเสี่ยงกับพอร์ตมากกว่าที่เหมาะสมกับแผนปัจจุบัน
5. Recency Bias
เพราะพื้นที่ความจำมีจำกัด เราจึงมักเลือกดึงข้อมูลล่าสุดมาใช้มากกว่าข้อมูลในอดีต อคติแบบนี้เรียกว่า Recency Bias หรือการที่เราให้น้ำหนักกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นมากเกินไป จนอาจทำให้วิธีคิดหรือการตัดสินใจคลาดเคลื่อนไปจากที่ควรจะเป็น
หากช่วงที่ผ่านมา คุณเลือกกองทุน 1-2 กองแล้วประสบความสำเร็จ คุณอาจคิดว่า ‘เราเป็นนักลงทุนที่เก่ง’ แต่ต้องไม่ลืมว่ามุมมองนี้เกิดจากประสบการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเท่านั้น และอคตินี้อาจทำให้คุณโฟกัสแค่ความสำเร็จที่เพิ่งเกิดขึ้นมากกว่าการดูภาพรวมของตลาด และสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
โดยความเสี่ยงของอคตินี้ คือ หากนักลงทุนที่ทำผลตอบแทนได้ดีจากการลงทุนเมื่อไม่นานมานี้ เลือกลงทุนต่อในกองทุนเดิม เพราะโฟกัสกับผลตอบแทนระยะสั้น แต่อาจมองข้ามผลการดำเนินงานในระยะยาว รวมถึงปัจจัยสำคัญอื่นๆ ไป
6. Confirmation Bias
ปัจจุบันการหาข้อมูลอะไรก็ตามเพื่อสนับสนุนสิ่งที่เราเชื่อเป็นเรื่องง่ายมาก ในการลงทุนก็เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น หากคุณคิดว่า Bitcoin จะมีมูลค่าแตะ 2 ล้านบาท คุณอาจค้นหาและเจอข้อมูลจำนวนมากที่ยืนยันความคิดนี้ แต่ถ้าเป็นข้อมูลหรือความเห็นในทางตรงข้าม คุณมักจะต้องใช้ความพยายามมากที่จะเชื่อข้อมูลนั้นซึ่งอคติลักษณะนี้อาจยิ่งทำให้คุณตัดสินใจลงทุนเพิ่ม ตามสิ่งที่เชื่อโดยไม่วิเคราะห์ และไม่ประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบ
7. The Simple Narrative Bias
โดยปกติ จิตใต้สำนึกของคนเรามักจะเชื่อหรือเอนเอียงไปทางเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายมากกว่าเรื่องที่ซับซ้อนหรือต้องใช้ Critical Thinking ซึ่งการลงทุนมักดูเป็นเรื่องซับซ้อน หลายคนจึงตัดสินใจตามคำแนะนำของเพื่อนหรือคนในครอบครัวที่บอกว่า “สร้างผลตอบแทนได้ 70%” เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่า
ดังนั้น เรามักจะแนะนำนักลงทุนเสมอว่า อย่าเพิ่งตัดสินใจลงทุนตามคำแนะนำของคนรอบตัวโดยไม่ศึกษาข้อมูลเสียก่อน หากเราตัดสินใจลงทุนจากหัวข้อข่าวแทนการหาข้อมูลหรืออ่านบทวิเคราะห์ อาจต้องเจอกับผลกระทบที่ไม่คาดคิด เพราะช่วงที่คุณได้รับข้อมูลอาจล่าช้าหรือเป็นคนกลุ่มท้ายๆ ที่ได้รู้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าคุณอาจจะตัดสินใจลงทุนช้าเกินไป ในช่วงที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นไปแล้ว
ที่สำคัญ วิธีที่ดีกว่าการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเองทั้งหมด คือ การใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนอย่าง ‘ทีมงานด้านการลงทุน’ ของเรา ซึ่งมีประสบการณ์ตรงกว่า 50 ปี และได้ทุ่มเทเวลากว่า 30,000 ชม. ในการวิเคราะห์และทำ Backtest เพื่อพัฒนากลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ให้มีประสิทธิภาพ และจัดการทุกความซับซ้อนแทนคุณ
เช็กอารมณ์ของคุณเสมอ…ก่อนลงทุน
ทุกครั้งที่คุณต้องตัดสินใจการลงทุน ลองประเมินอารมณ์หรือสำรวจตัวเองก่อนสักนิดว่าคุณกำลังเอนเอียงไปตาม ‘อคติทางการเงิน’ ข้อไหนอยู่หรือเปล่า หรือหนึ่งในวิธีที่เราอยากแนะนำคือ การลดจำนวนครั้งที่ต้องตัดสินใจลงทุนตั้งแต่แรก อย่างเช่น
- สร้างพอร์ตที่กระจายการลงทุนใน ETF ที่หลากหลาย ทำให้คุณไม่ต้องเลือกหุ้นรายตัว
- เน้นลงทุนแบบ DCAช่วยให้คุณไม่ต้องจับจังหวะตลาด และตัดสินใจทุกครั้งที่จะลงทุน
นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากการตัดสินใจด้วยอารมณ์แล้ว วิธีนี้ยังง่ายและเหมาะกับการลงทุนเพื่อเป้าหมายในระยะยาวอีกด้วย
สุดท้ายนี้ การไม่ใช้อารมณ์ในการลงทุน ไม่ได้แปลว่าคุณไม่สามารถลงทุนใน บริษัท แบรนด์ หรือ นวัตกรรมที่คุณเชื่อมั่นได้ ตราบใดที่แผนการลงทุนของคุณวางเป้าหมายและสัดส่วนไว้อย่างเป็นระบบ คุณก็สามารถแบ่งไปลงทุนในบริษัทหรือสิ่งที่คุณชอบได้เช่นกัน หากอยู่ในสัดส่วนที่พอดีและไม่เพิ่มความเสี่ยงกับพอร์ตหลักมากจนเกินไป
หากคุณสนใจข้อมูลเกี่ยวกับการเงินเชิงพฤติกรรม (Behavourial Finance) เรายังมี Podcast รายการ In Your Best Interest, ตอน How Your Emotions Might be Hurting Your Investment Outcomes (ภาษาอังกฤษ) ที่มี ดร. Joanne Yoong นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากมหาวิทยาลัย Southern California มาพูดคุยกับ Freddy Lim, Co-founder และ Group Co-CIO, StashAway
คุณอาจสนใจบทความเหล่านี้: