5 เทคโนโลยีกลุ่มธุรกิจ Environment and Cleantech กับศักยภาพการเติบโต
สภาวะโลกร้อน ถือเป็นปัญหาเร่งด่วนของมนุษยชาติที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ระยะนี้เราจึงเห็นไอเดียและโซลูชันใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหานี้ ซึ่งสอดคล้องไปกับการประชุมระดับโลก COP 26 ที่เมืองกลาสโกว์ครั้งล่าสุดที่ออกมาย้ำว่า ทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาลและเอกชนทั่วโลกควรมีส่วนร่วมในการช่วยอัดฉีดเม็ดเงินหลักล้านล้านดอลลาร์สหรัฐออกมาใช้ เพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) ตามบทบาทของตนเอง และบริษัทต่างๆ ต้องหันมาลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนและทรัพยากรหมุนเวียนให้มากขึ้น
แม้สภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข แต่ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสในการลงทุนสำหรับกลุ่มนักลงทุนระยะยาว เพราะหลายประเทศทั่วโลกกำลังเร่งนำวิธีการแก้ปัญหาโลกร้อนมาใช้ควบคู่กับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจเช่นกัน
ถือเป็นข่าวดีสำหรับนักลงทุนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะในปัจจุบันเราสามารถวัดผลการดำเนินงานและผลตอบแทนได้ง่ายขึ้น เท่ากับว่าเราได้ลงทุนในสิ่งที่จะช่วยให้โลกยั่งยืนและยังเป็นการสะท้อนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้ StashAway ได้เปิดตัว Thematic Portfolio ธีม Environment and Cleantech ที่ลงทุนใน 5 กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกและดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้ง 5 กลุ่มนี้จะสร้างอนาคตที่สะอาดยิ่งขึ้น และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนให้การลงทุนของคุณ ได้แก่
- พลังงานสะอาด (Clean energy)
- เทคโนโลยีการจัดการน้ำ (Clean water)
- ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy storage) และ Smart Grid
- การเงินสีเขียว (Green financing)
- เทคโนโลยีบำบัดขยะ (Waste management)
ทำไมเราถึงเชื่อว่าธีมนี้จะเติบโต มาหาคำตอบกันผ่านบทความนี้
พลังงานสะอาด หัวใจการบรรลุเป้าหมาย Net Zero
หนึ่งในแรงผลักดันให้เทคโนโลยี Clean Energy หรือพลังงานสะอาดได้รับความสนใจในการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเพราะการใช้แหล่งพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้จะสามารถประหยัดเงินได้มหาศาล
ยกตัวอย่าง เทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ ที่นำมาพัฒนาต่อได้หลายด้าน เช่น การสร้าง light-emitting diodes หรือหลอดไฟ LEDs ซึ่งสามารถประหยัดพลังงานได้ 75% เมื่อเทียบกับหลอดไฟแบบเดิมจึงเริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลาย โดยมีการประมาณการว่าในปี 2035 LEDs จะช่วยประหยัดพลังงานในสหรัฐได้สูงถึงปีละ 569 เทราวัตต์ชั่วโมง
ที่สำคัญ เทคโนโลยีพลังงานสะอาดในปัจจุบันมีราคาถูกลง คนส่วนใหญ่จึงเข้าถึงได้มากขึ้น ด้วยสาเหตุทั้งจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การแข่งขันของผู้ผลิตในตลาด และ Economies of scale ต้นทุนของเทคโนโลยีจึงถูกลง ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี Solar-cell ราคาลดลงกว่า 85% ตั้งแต่ปี 2010 ดังนั้น เมื่อต้นทุนถูกลง Solar-cell จึงทำราคาขายแข่งกับพลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิลได้
จากปัจจัยบวกทั้งหมดนี้ทำให้ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดย International Energy Agency (IEA) ได้คาดการณ์ไว้ว่ากลุ่มธุรกิจนี้ในปี 2021 จะเติบโตเกือบ 40% ซึ่งสูงกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ในปีก่อนหน้า
เทคโนโลยีเพื่อน้ำสะอาด ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำทั่วโลก
การขาดแคลนน้ำเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากสภาวะโลกร้อน UNESCO หรือองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ประมาณการไว้ว่า มีคนมากกว่า 2 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ Water Stress หรือความต้องการน้ำมีมากกว่าปริมาณน้ำที่มี ขณะที่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและรายได้น้อยยังมีความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
จากความต้องการน้ำสะอาดที่ยังคงเพิ่มขึ้นทุกพื้นที่ทั่วโลก ทำให้กลุ่มธุรกิจด้านการจัดการน้ำและการบำบัดน้ำเสียมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยปี 2020 มูลค่าตลาดนี้สูงถึง 61,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 2.09 ล้านล้านบาท*) และคาดว่าในช่วงปี 2021-2028 จะมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 4%
ระบบกักเก็บพลังงาน และ Smart Grid ตัวช่วยการใช้พลังงานโลกให้คุ้มค่า
ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ผู้คนนับล้านต้องอยู่ท่ามกลางความมืดมิด หลังจากระบบไฟฟ้าดับทั่วทั้งเมือง สาเหตุเพราะเกิดพายุฤดูหนาวที่ไม่มีใครคาดคิด ขณะที่ฝั่งเมลเบิร์น เมืองใหญ่ของออสเตรเลียก็เคยเจอปัญหาเดียวกัน โดยกว่า 5 แสนครัวเรือนต้องใช้ชีวิตแบบไม่มีไฟฟ้าใช้ หลังจากเจอพายุลมรุนแรงพัดถล่มเมือง
ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในปี 2021 จากกรณีที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติทำให้เกิดไฟฟ้าดับในวงกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อ Grid หรือโครงข่ายไฟฟ้าแบบเดิมที่ไม่สามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้เพียงพอกับภัยพิบัติที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น จึงรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ได้ยากขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้นเทคโนโลยี Smart Grid (ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ) และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy storage) จะช่วยให้การจัดการไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นการตอบสนองตามสถานะการผลิต การส่ง และการจำหน่ายไฟฟ้าแบบ Real time ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติระบบไฟฟ้าจะสามารถกลับมาใช้งานได้เร็วขึ้น
ในภาพรวมเทคโนโลยี Smart Grid คาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้ จากปี 2021 ที่มูลค่าตลาดอยู่ราว 36,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.25 ล้านล้านบาท*) คาดว่าอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี(CAGR) จะอยู่ที่ 8.7% และส่งผลให้ตลาดขยายตัวถึง 55,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2026 (ราว 1.90 ล้านล้านบาท*)
เทคโนโลยีบำบัดขยะ ทางด่วนแก้ภาวะโลกร้อน
เมื่อปริมาณขยะที่ต้องฝังกลบมีมากขึ้น ปริมาณก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศของเราก็ยิ่งเพิ่มขึ้น และกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดสภาวะโลกร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งสะท้อนว่ามนุษย์เราสร้างของเสียได้เร็วกว่าการฟื้นฟู โดย World Bank คาดการณ์ไว้ว่า ปี 2030 โลกจะมีปริมาณขยะถึงปีละ 2,590 ล้านตัน และในปี 2050 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3,400 ล้านตัน
แต่เรายังมีข่าวดีคือ รัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ต่างกระตือรือร้นที่จะต่อสู้กับสถานการณ์นี้มากขึ้น ทั้งสหภาพยุโรปและจีนได้ประกาศเป้าหมายอย่างชัดเจนในปี 2021 ว่าจะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและยั่งยืน¹'² นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อย่าง การบำบัดและกำจัดของเสีย การรีไซเคิล การนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ เทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากขยะ (Waste-to-energy technologies) การควบคุมมลพิษ และ โซลูชันเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน
การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้นักลงทุนส่วนมากหันมาให้ความสนใจการพัฒนาเทคโนโลยีบำบัดขยะ จนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หุ้นของบริษัทใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีบำบัดขยะ สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีได้ดีเมื่อเทียบกับดัชนี S&P 500 ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 17% ต่อปี เช่น บริษัท Waste Connections (WCN) อยู่ที่ 22%, Wates Management (WM) อยู่ที่ 20% และ Republic Services (RSG) อยู่ที่ 19%
ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า ‘ขยะ’ อาจจะเป็น ‘ทองคำ’ ได้เช่นกัน
เมื่อ Green Financing กำลังขยายไปทั่วโลก
การสร้างโลกที่ยั่งยืนจำเป็นต้องใช้เงินมหาศาลในการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ด้วยเหตุนี้บริษัทจำนวนมากเริ่มหันมาใช้ ‘การเงินสีเขียว’ (Green financing) หรือการระดมเงินทุนเพื่อโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
หนึ่งในนั้นคือ Green Bond หรือ ตราสารหนี้สีเขียว ที่ผู้ออกตราสารจะกำหนดเงื่อนไขว่า จะใช้เงินที่ระดมทุนเพื่อโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเงินกู้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked loans) ที่ผู้กู้จะได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำหากทำตามแผนสร้างความยั่งยืนที่วางไว้ได้
เมื่อองค์กรต่างๆ ขานรับพันธกิจเดียวกันในการต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน นักลงทุนจึงหันมาสนใจการเงินสีเขียวมากขึ้น เห็นได้จากการเติบโตอย่างรวดเร็วใน ครึ่งปีแรกของ 2021 ตราสารหนี้สีเขียวและเงินกู้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน เติบโตพุ่งสูงถึง 809,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 27.52 ล้านล้านบาท*) ซึ่งสูงกว่ามูลค่าของปี 2020 ที่ 743,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 25.26 ล้านล้านบาท*)
เริ่มต้นลงทุนเพื่อโลกที่ยั่งยืน ได้ตั้งแต่วันนี้!
ธีม Environment and Cleantech ของเรา เป็น 1 ใน 4 ธีมของพอร์ตแบบ Thematic และเป็นทางเลือกให้นักลงทุนสนับสนุนโลกในอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงมีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชันใหม่ๆ ที่จะแก้ปัญหาเร่งด่วนของโลกใบนี้ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ การควบคุมมลพิษ ไปจนถึงปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร
ที่สำคัญ เทคโนโลยีและโซลูชันใหม่ๆ เหล่านี้จะช่วยให้เราจัดการกับปัญหาสภาวะโลกร้อนได้เร็วขึ้น สร้างโลกที่สะอาดขึ้นอย่างยั่งยืน และยังช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับนักลงทุนในระยะยาวได้อีกด้วย
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Thematic Portfolios →
¹ “European Parliament adopts resolution on the new Circular Economy Action Plan”, Water Europe, เผยแพร่เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2021
² “China unveils new circular economy plan”, Waste Management World, เผยแพร่เมื่อ 8 กรกฎาคม 2021.
*อัตราแลกเปลี่ยนที่ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ