มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสถานการณ์โควิด-19 กำลังจะหมดลง สิ่งนี้จะส่งผลต่อนักลงทุนอย่างไร?
ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มชะลอมาตรการซื้อสินทรัพย์ (Tapering) มาดูกันว่ามาตรการนี้จะส่งผลต่อนักลงทุนอย่างไร
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าเริ่มจะลดลง และธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 ลง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021 ไปจนถึงกลางปี 2022
โดยทั่วไปแล้ว เราเรียกกระบวนการเริ่มผ่อนคลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ว่า Tapering หรือ "การชะลอการซื้อสินทรัพย์" ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มชะลอการซื้อสินทรัพย์เป็นวงกว้าง หรือลดปริมาณเงินที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจลง เพื่อเป็นการตอบสนองต่ออัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
ในกรณีนี้ Tapering เป็นขั้นตอนแรกของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการเริ่มปรับนโยบายทางการเงินให้เข้มงวดมากขึ้นเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจลง โดยขั้นตอนต่อไปคือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่สิ้นปี 2022 เป็นต้นไป ในขณะนี้ นักลงทุนบางส่วนอาจกังวลว่ามาตรการ Tapering จะทำให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
ในเนื้อหาด้านล่างนี้ เราจะมาดูกันว่ามาตรการ Tapering จะส่งผลต่อตลาดอย่างไร และมีความหมายกับนักลงทุนอย่างไรบ้าง
ธนาคารกลางสหรัฐฯ กำลังพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจเอาไว้
โดยทั่วไปแล้ว มักมีความเข้าใจผิดกันว่ามาตราการ Tapering นั้นหมายความว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ กำลังจะขายสินทรัพย์ของตนออก แต่ที่จริงแล้ว มาตรการนี้ไม่ใช่การขายสินทรัพย์ แต่เป็นการลดปริมาณการซื้อสินทรัพย์ให้น้อยกว่าที่เป็นอยู่
เพื่อทำความเข้าใจถึงขอบเขตและผลกระทบของมาตราการ Tapering ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น เราลองมาพิจารณาตัวเลขล่าสุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังนี้:
นับตั้งแต่ที่สถานการณ์โควิด-19 มีความรุนแรง ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ซื้อสินทรัพย์มูลค่าประมาณ 120,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน โดยปัจจุบันมีการประมาณการณ์กันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มซื้อสินทรัพย์ลดลง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เป็นระยะเวลา 8 เดือน ซึ่งหมายความว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังซื้อสินทรัพย์ต่อไป แต่ในปริมาณที่น้อยลง
ธนาคารกลางสหรัฐฯ พยายามใช้มาตรการนี้ในการช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อ ภาวะฟองสบู่ และเหตุการณ์ที่ตลาดปรับตัวลงอย่างรุนแรง (Market crash)
มาตราการ Tapering นี้จะช่วยปรับสมดุลของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนระยะยาวมากที่สุด โดยเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพนั้นสามารถลดความไม่แน่นอนและการคาดเดาในตลาดลง ซึ่งทำให้นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจลงทุนอย่างมีเหตุผลแทนที่จะใช้อารมณ์ และรับความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
มาตรการ Tapering อาจส่งผลต่อผลตอบแทนของสินทรัพย์บางประเภท
ธนาคารกลางสหรัฐฯ กำลังตอบสนองกับเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น และมาตราการ Tapering ที่จะเกิดขึ้นนี้ก็เป็นข้อพิสูจน์ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจในครั้งนี้
เพื่อทำความเข้าใจว่าสินทรัพย์ต่างๆ จะให้ผลตอบแทนอย่างไรในช่วงมาตรการ Tapering เราจะต้องเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นในภาวะเศรษฐกิจที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีอัตราเงินเฟ้อสูง นี่คือสิ่งที่เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าอาจเกิดขึ้น:
ราคาพันธบัตรมีแนวโน้มที่จะลดลงจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
พันธบัตรส่วนใหญ่จะจ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed Coupon) ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่คงที่ของพันธบัตรจะได้รับความสนใจน้อยลงหากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น
ในสภาพแวดล้อมที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง นักลงทุนอาจนำเงินสดไปเก็บไว้ที่อื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น ในบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง ดังนั้นเพื่อตอบสนองต่ออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ราคาพันธบัตรอาจปรับตัวลดลง เพื่อเพิ่มความน่าสนใจสำหรับนักลงทุน
ราคาหุ้นสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้อีก (แต่อาจช้ากว่าก่อนหน้านี้)
ในช่วงที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ธนาคารกลางได้ทำการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยการซื้อสินทรัพย์จำนวนมาก ซึ่งธนาคารและธุรกิจต่างๆ ก็จะทำการกู้ยืมเงินนี้เพื่อนำไปขยายธุรกิจของตน
การกระตุ้นเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นนี้มักส่งผลให้นักลงทุนซื้อหุ้นมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่ารายรับของบริษัทนั้นจะดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้กำไรเติบโต
และเนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป แต่ในอัตราที่ลดลงจากเดิม จึงเป็นไปได้ว่าราคาหุ้นจะยังคงมีโอกาสเติบโตต่อไป แต่ในอัตราที่ลดลงจากเดิม
สินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อมีแนวโน้มเติบโตที่ดี
ธุรกิจบางกลุ่มได้รับประโยชน์จากเงินเฟ้อเป็นพิเศษ เช่น กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและอสังหาริมทรัพย์
ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีอยู่มากโดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับอัตราเงินเฟ้อ: โดยราคาของทรัพยากรธรรมชาติมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการและราคาของสินค้าและบริการเช่น ที่อยู่อาศัย อาหาร เชื้อเพลิง ที่ปรับตัวสูงขึ้น
ราคาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มที่จะเติบโตเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนหันมาลงทุนอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น
การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายจะช่วยลดผลกระทบจากมาตรการ Tapering
ภาวะเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และธนาคารกลางก็ต้องพยายามที่จะรักษาสมดุลของการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อตามการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยใช้นโยบายการเงินใหม่ๆ เช่น โปรแกรมกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการ Tapering ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือ พอร์ตการลงทุนของคุณจะต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและมาตรการการเงินเหล่านี้อย่างเหมาะสม.
ERAA™ อัลกอริทึมการลงทุนของเราจะตรวจสอบสัญญาณของเงินเฟ้อและการเติบโตอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนด Asset Allocation ที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้น พอร์ตการลงทุนของเราพร้อมรับมือกับมาตรการ Tapering ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดย ERAA™ได้ปรับ Asset Allocation ให้มีสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ เช่น สินทรัพย์ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Staples) และกลุ่มพลังงานของสหรัฐฯ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (REITs) พันธบัตรในตลาดเกิดใหม่ และหุ้นของประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) เช่น ออสเตรเลีย
*บทความนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลเท่านั้น และไม่ถือเป็นคำเสนอ คำเชื้อเชิญ คำแนะนำ หรือการชักชวนเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ บริษัทจะไม่มีหน้าที่หรือความรับผิดชอบใดๆ ในผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าวทั้งสิ้น