เริ่มได้เลยวันนี้! New Year's Resolutions ด้านการเงินปี 2023 ที่เราพร้อมจะก้าวไปกับคุณ
ปีใหม่กับการตั้งปณิธานปีใหม่ หรือ New Year’s Resolutions ถือเป็นของคู่กัน แต่พอเข้าเดือนกุมภาพันธ์หลายคนอาจมีหลายเรื่องเข้ามาแทรกจนทำให้หลุดจากเส้นทางที่วางไว้ StashAway จึงอยากชวนคุณมาทบทวนและวางแผนเพื่อไปให้ถึงทุกเป้าหมายการเงินปี 2023 ด้วยกัน
ปี 2022 ที่ผ่านมา หลายคนอาจมีหลายทริปท่องเที่ยวเพื่อชดเชยช่วง COVID ได้ไปงานแต่งงานที่เลื่อนมา และต้องเจอกับราคาตั๋วเครื่องบิน, ค่าเช่า, บิลค่าสาธารณูปโภค และอื่นๆ ที่สูงกว่าเดิม รวมถึงยังเป็นปีที่เราได้เห็นการปรับโครงสร้างของบริษัทมากมาย ต้องเจอกับภาวะอัตราเงินเฟ้อสูง และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อีกทั้งยังเห็นตลาดหุ้นร่วงลงจนเข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear Market) ขณะที่ในปี 2023 ยังคงมีความไม่แน่นอนหลายด้านรออยู่ จากอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
ถ้าอย่างนั้น เรามาเริ่มวางแผนสร้างวินัยการเงินที่ดีด้วยหลักการทางการเงินที่จับต้องได้และใช้ได้จริงสำหรับปี 2023 นี้กันดีกว่า
กฎ 5 ข้อสู่อิสรภาพทางการเงิน (Financial Freedom)
หัวใจของการสร้างอิสรภาพทางการเงินมีอยู่ 5 ข้อ ที่สามารถใช้ได้เสมอไม่ว่าเราจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจใด และสามารถปรับใช้ได้ตามแบบของคุณ
💰 ตั้งงบค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
ตั้งงบค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
รายการใช้จ่ายของเราอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดอย่างในช่วงก่อน-หลัง COVID-19 อาจมีการใช้จ่ายแตกต่างกันมาก ดังนั้นก่อนจะตั้งงบค่าใช้จ่าย เราควรรู้อย่างละเอียดว่าเราใช้เงินไปกับอะไรบ้าง
เช็กค่าใช้จ่ายย้อนหลัง 2-3 เดือน เพื่อตั้งงบ
เริ่มต้นจากการเช็กว่าคุณใช้เงินไปกับอะไรบ้าง โดยแบ่งประเภทค่าใช้จ่ายของคุณในแต่หมวด เช่น ค่าใช้จ่ายจำเป็น, ค่าใช้จ่ายเพื่อความสุข และเงินออม-ลงทุน-จัดการหนี้
ค่าใช้จ่ายจำเป็น | ค่าใช้จ่ายเพื่อความสุข | เงินออม-ลงทุน-จัดการหนี้ |
---|---|---|
อาหาร | การพักผ่อน | เงินสำรองฉุกเฉิน |
ค่าเช่าที่พักอาศัย | ช้อปปิ้ง | ออมเพื่อเกษียณ |
ค่าสาธารณูปโภค | ความบันเทิง | บิลบัตรเครดิต |
สินเชื่อบ้าน |
ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่า แต่ละเดือนจะจัดสรรงบอย่างไร ซึ่งคุณสามารถปรับแผนได้เมื่อมีรายได้หรือโบนัสเพิ่มขึ้นมา จากนั้นให้ลองดูว่าลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นส่วนไหนได้บ้าง แล้วเปลี่ยนให้เป็นเงินออมแทน
เริ่มต้นง่ายๆ ด้วย สูตรการเงิน 50/30/20
เมื่อการใช้แอปจัดสรรค่าใช้จ่าย หรือนั่งทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอาจเป็นวิธีที่ดี แต่ใช้เวลาและยุ่งยากกว่าที่คิด เราขอแนะนำวิธีที่ง่ายและได้ผลดี อย่าง ‘สูตร 50/30/20’ ที่จะช่วยให้คุณจัดสรรรายรับหรือเงินเดือนได้ง่ายขึ้น:
- 50% สำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็น
- 30% สำหรับการใช้จ่ายเพื่อความสุข
- 20% สำหรับการออม, ลงทุน และจัดการหนี้
เทคนิคการแบ่งงบค่าใช้จ่ายนี้เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้น คุณสามารถปรับให้เหมาะสมกับตัวคุณได้เสมอ โดยทั้ง 2 วิธีนี้จะช่วยให้คุณไม่ใช้เงินเกินงบ และไม่ต้องไปแตะเงินออมเพื่อเป้าหมายอื่นๆ อย่างแผนเกษียณระยะยาวของคุณ
การจัดการหนี้
หากคุณมีหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยสูง (เช่น หนี้บัตรเครดิต) หรืออัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านของคุณกำลังขยับขึ้น อาจถึงเวลาที่คุณต้องวางแผนจัดการกับหนี้ที่มีในมือแล้ว
เคลียร์หนี้บัตรเครดิต
หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 16-25% ต่อปี ซึ่งถ้าคุณเลือกจะจ่ายเพียงจำนวนขั้นต่ำของยอดบัตรเครดิตในแต่ละเดือน หนี้ก้อนนี้จะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วและคุณต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อมาจ่ายดอกเบี้ยที่งอกขึ้นมาจากหนี้ก้อนนี้
ตัวอย่างเช่น หากคุณมีหนี้บัตรเครดิตรวมราว 200,000 บาท และคุณเลือกจ่ายขั้นต่ำที่ 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ย 18% ต่อปี จะทำให้คุณต้องใช้เวลากว่า 24 เดือนในการจ่ายยอดคงค้างทั้งหมด และคุณต้องจ่ายเงินเพิ่มเฉพาะดอกเบี้ยถึง 39,562 บาท
คุณคงเห็นแล้วว่าหนี้บัตรเครดิตจะส่งผลขนาดไหน ดังนั้นคุณควรจ่ายหนี้บัตรเครดิตให้เร็วที่สุด แม้ว่าจะต้องลดค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ไปอีก 2-3 เดือนหรือพักแผนการลงทุนไว้ก่อน เพราะดอกเบี้ยสะสมของหนี้บัตรเครดิตนั้นมักจะสูงกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งหมดของคุณ
อย่าลืมว่า Cashback หรือคะแนนสะสมจากบัตรเครดิตจะคุ้มค่า ก็ต่อเมื่อคุณสามารถชำระยอดเต็มจำนวนทุกเดือนเท่านั้น
มองหาการ Refinance สินเชื่อบ้านเมื่อจำเป็น
ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น มีแนวโน้มว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านของคุณอาจปรับเพิ่มขึ้นหลังหมดช่วงที่อัตราดอกเบี้ยคงที่หากสัญญาของคุณจะครบกำหนดในปีนี้ ซึ่งอาจเป็นโอกาสดีในการทำ Refinance โดยคุณอาจหาธนาคารอื่นๆ ที่ให้เงื่อนไขดีกว่า จุดสำคัญคือควรเตรียมยื่นเรื่อง Refinance ก่อนครบกำหนดสัญญาเดิมราว 3-4 เดือน เพื่อให้คุณมีตัวเลือกมากที่สุด
เตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน
เงินสำรองฉุกเฉินเป็นเหมือน ‘บัตรผ่าน’ ให้คุณและครอบครัวพร้อมฝ่าฟันกับเรื่องไม่คาดฝัน หรือเรื่องอื่นๆ เช่น:
- เจ็บป่วยฉุกเฉินที่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่
- ลาออกจากงานกะทันหัน หรือตกงาน
- มีเหตุจำเป็นต้องหาที่พักใหม่
เราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเท่าไร
เบื้องต้นเราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เพราะหากคุณหรือครอบครัวต้องเจอกับสถานการณ์ฉุกเฉิน คุณก็ไม่จำเป็นต้องดึงเงินจากแผนการลงทุนระยะยาวที่มีอยู่ เช่น แผนการเกษียณ เป็นต้น
เพิ่มเงินสำรองฉุกเฉินเพื่อรับมือความไม่แน่นอนในปีนี้
ในปีนี้คุณอาจพิจารณาการเก็บเงินสำรองฉุกเฉินเพิ่มขึ้นอย่างน้อยอีก 1-2 เดือน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูง
นอกจากนี้หากคุณคาดว่าจะต้องเจอกับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านที่เพิ่มขึ้น หรือต้องต่อสัญญาเช่าที่พัก คุณควรเตรียมเงินสำรองเพิ่มเพื่อรับมือกับค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งเงินสำรองนี้จะช่วยให้คุณมีเวลาในการตัดสินใจและหาทางเลือกที่ดีที่สุด เช่น ปรับโครงสร้างสินเชื่อบ้าน, ขายบ้าน หรือเลือกเช่าที่พักแห่งใหม่
เก็บเงินสำรองฉุกเฉินในบัญชีที่มีสภาพคล่อง-ความเสี่ยงต่ำ
เมื่อเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝัน คุณต้องสามารถถอนเงินสำรองฉุกเฉินมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว เราจึงไม่แนะนำให้เก็บเงินไว้ในบัญชีที่มีเงื่อนไขในการถอน เช่น เงินฝากประจำ ที่แม้จะได้รับอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากทั่วไป แต่แนะนำให้คุณเก็บเงินส่วนนี้ในบัญชีที่ถอนได้ทุกเมื่อและให้ดอกเบี้ยสูง เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ หรือกองทุนรวมตลาดเงิน
ตั้งเป้าหมายทางการเงิน
ปีใหม่ เริ่มต้นใหม่ได้เสมอ! หากปีที่ผ่านมา แผนด้านการเงินที่คุณตั้งใจไว้ไม่เป็นไปตามเป้า อย่าเพิ่งกังวล เพราะคุณสามารถทบทวน และเดินหน้าสู่เป้าหมายได้ตั้งแต่ตอนนี้เลย!
เมื่อมีแผนการออมที่ชัดเจน คุณจะสามารถออกแบบชีวิตตามเป้าหมายระยะสั้น-กลาง-ยาว ได้ง่ายขึ้น เช่น วางแผนทริปวันหยุดยาว เตรียมเงินดาวน์บ้านในอีก 2 ปี และแผนเกษียณในอีก 30 ปีข้างหน้า
คุณควรออกแบบแผนการลงทุนสำหรับแต่ละเป้าหมายโดยเฉพาะ ซึ่งขึ้นอยู่กับ:
- ระยะเวลาของการลงทุน
- จำนวนเงินสำหรับเป้าหมาย
เป้าหมายระยะสั้น 1 ปีขึ้นไป ควรเลือกความเสี่ยงต่ำ
เช่น การเตรียมเงินสำหรับงานแต่งงาน, แผนท่องเที่ยว หรือการดาวน์บ้าน
เก็บออมเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง หรือสามารถแบ่งเงินไปลงทุนในพอร์ตที่มีสภาพคล่องสูงและมีระดับความเสี่ยงไม่สูงนัก เช่น พอร์ตแบบ General Investing ที่ระดับ SRI 6.5% เพื่อลดผลกระทบจากความความผันผวนระยะสั้นเมื่อคุณต้องนำเงินออกมาใช้
เป้าหมายระยะยาว 3-5 ปีขึ้นไป อาจเลือกระดับความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้
เช่น แผนเพื่อการศึกษาลูก, แผนสร้างธุรกิจส่วนตัว หรือแผนการเกษียณ
สำหรับเป้าหมายระยะยาวคุณควรแบ่งเงินลงทุนในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีในหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก เพราะจะช่วยให้เงินของคุณทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว แต่ควรเลือกระดับความเสี่ยงให้ตรงกับที่คุณยอมรับได้จริงเสมอ
นอกจากนี้ ในการลงทุนระยะยาวคุณยังได้รับประโยชน์ของผลตอบแทนแบบทบต้น (Compound Interest) เพราะเมื่อเรานำผลตอบแทนที่เกิดขึ้นทั้งเงินปันผล ดอกเบี้ย หรือกำไรจากการเติบโตของตลาดกลับมาลงทุนอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับในแต่ละปีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (เพราะเป็นดอกผลที่งอกเงยจากผลตอบแทนที่ได้มา) ซึ่งจะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายได้เร็วกว่าการเก็บเป็นเงินสด
เพื่อให้เห็นภาพ เราเปรียบเทียบระหว่างการนำเงินไปลงทุนและเก็บเป็นเงินสดมาให้แล้ว
โดยคุณสามารถเริ่มสร้างพอร์ตการลงทุนระยะยาวกับ StashAway ได้ง่ายๆ เพียงเลือกระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้ จากนั้นระบบจะบริหารจัดการพอร์ตให้อัตโนมัติ
เราขอแนะนำ General Investing พอร์ตที่กระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ผ่าน ETF ที่ดีที่สุดจากทั่วทุกมุมโลก เหมาะเป็นพอร์ตการลงทุนหลักของคุณ โดยระบบจะรักษาระดับความเสี่ยงตามที่คุณกำหนดไว้ และกลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ของเรา จะปรับพอร์ตให้อัตโนมัติตามภาวะเศรษฐกิจ เพื่อหาโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีอยู่เสมอ
นอกจากนี้ เรายังมีตัวช่วยให้คุณวางแผนเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง อย่าง Goal-based Investing (ที่มีพื้นฐานเดียวกับ General Investing) เพียงแค่คุณตั้งเป้าหมายและระยะเวลาที่ต้องการ ระบบจะช่วยออกแบบแผนรายเดือน และระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมตลอดเส้นทางการลงทุนให้คุณ ซึ่งมีให้เลือก 8 เป้าหมายสำคัญของชีวิต และคุณสามารถสร้างแผนได้ไม่จำกัด
บทความเพิ่มเติมที่คุณอาจสนใจ:
- พอร์ต General Investing
- พอร์ต Goal-based Investing
- ทำไมผลตอบแทนแบบทบต้น (Compound Interest) จึงสำคัญกับเป้าหมายการเงินของคุณ
- คุณเข้าใจการทำ Dollar-Cost Averaging (DCA) ดีแค่ไหน
เริ่มทำตามแผนอย่างมีวินัย
เมื่อคุณเริ่มต้นเส้นทางการลงทุนแล้ว เราแนะนำให้คุณ Stay Invested หรือเดินหน้าลงทุนอย่างมีวินัยตามเป้าหมายที่วางไว้อยู่เสมอแม้ตลาดจะมีความไม่แน่นอน เพราะวิธีการที่ดีที่สุดในการรับมือความผันผวนและช่วยให้คุณไม่ลงทุนกระจุกตัวในภาวะตลาดใดภาวะหนึ่งมากเกินไป คือ การลงทุนอย่างสม่ำเสมอ หรือ Dollar-Cost Average (DCA)
การลงทุนอย่างมีวินัยในทุกๆ เดือน บางครั้งคุณอาจลงทุนในช่วงที่ตลาดปรับตัวสูงขึ้น และบางครั้งอาจเป็นช่วงตลาดขาลง แต่โดยธรรมชาติตลาดมักฟื้นตัวกลับมาได้ในระยะยาวเสมอ ดังนั้นการ DCA อย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดผลกระทบจากการเข้าซื้อ ‘ผิดจังหวะ’
การลงทุนอย่างสม่ำเสมอยังช่วยให้พอร์ตของคุณได้ประโยชน์จากผลตอบแทนทบต้น และสร้างโอกาสการเติบโตไปพร้อมกับตลาด ซึ่งถ้าคุณเริ่มลงทุนช้า หรือ รอจับจังหวะตลาดเพื่อเข้าลงทุน คุณอาจต้องใช้จำนวนเงินลงทุนมากขึ้นในแต่ละเดือนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเท่ากับการเริ่มต้นให้เร็วและ DCA อย่างสม่ำเสมอในทุกๆ เดือน
Tips: ตั้งค่าโอนเงินลงทุนอัตโนมัติตามแผนที่คุณวางไว้
มกราคม เป็นแค่จุดเริ่มต้น! ของแผนการลงทุนระยะยาว
New Year’s Resolutions เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเสมอ และเราพร้อมช่วยให้คุณทำตามแผนการลงทุนที่ตั้งไว้ตลอดทั้งปี 2023 ถ้าคุณเพิ่งเริ่มต้นในเดือนมกราคม เส้นทางสู่เป้าหมายของคุณยังอีกยาวไกล อย่าลืมวางแผนการเงินของคุณเตรียมไว้สำหรับทั้งปีและทำตามแผนอย่างมีวินัยเพื่อไปให้เป้าหมายที่คุณต้องการ