#GirlMath: ถอดรหัส Hashtag ที่สะท้อนความเชื่อผิดๆ เรื่องการใช้จ่ายของผู้หญิง

29 September 2023
Nandini Joshi
Chief Operating Officer

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

เมื่อเร็วๆ นี้ ดิฉันรู้สึกสะดุดกับ Hashtag ‘#girlmath’ ที่เกิดเป็นกระแสบนโลกโซเชียล ซึ่งต้องยอมรับว่าปกติดิฉันไม่ใช่คนที่ตามกระแสแบบนี้ได้เร็วนัก แต่เมื่อค้นหาข้อมูลมากขึ้น แนวคิดดังกล่าวทำให้ดิฉันรู้สึกค่อนข้างอึดอัด

สำหรับใครที่อาจไม่รู้เรื่องราวมาก่อน ลองเริ่มจากตัวอย่างคำพูดในวิดีโอ: 

ในวิดีโอ (ที่มีผู้ชมนับล้าน) มีผู้หญิงร้องตะโกนว่า “ฉันซื้อเสื้อจาก Lululemon มาในราคา 68 ดอลลาร์ แต่เอาไปคืนเพราะใส่ไม่พอดี แล้วเปลี่ยนเป็นเสื้อใหม่ราคา 58 ดอลลาร์ และร้านก็ให้เงินส่วนต่างคืนมา 10 ดอลลาร์ด้วย นี่ฉันเพิ่งทำเงินได้ 10 ดอลลาร์จาก Lululemon! และตอนนี้ ฉันกำลังจะเอาเงินไปทานมื้อเช้าราคา 15 ดอลลาร์ มันเหมือนฉันต้องควักเงินจ่ายเองแค่ 5 ดอลลาร์

ความเป็นจริง: คุณไม่ได้ทำเงิน 10 ดอลลาร์จาก Lululemon และคุณต้องจ่ายค่าอาหารเช้าที่ราคาเต็ม 15 ดอลลาร์

ดิฉันยังเห็นแนวคิดแปลกๆ ในวิดีโอและจากคอมเมนต์ต่างๆ เช่น “ถ้าฉันจ่ายเป็นเงินสด มันเหมือนกับฉันไม่ต้องเสียเงิน เพราะนั่นจะไม่กระทบกับเงินในบัญชีธนาคารของฉัน” ซึ่งดิฉันมั่นใจว่าพวกเราหลายคนคงรู้สึกประหลาดใจกับประเด็นนี้

สิ่งแรกที่เราควรทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่านี่ไม่ใช่ ‘Math’ (คณิตศาสตร์) และการนำแค่ ‘girl’ (เพศหญิง) มาใช้กับประเด็นนี้ ยังเป็นการสร้างปัญหาสำคัญ 2 ประการ คือ

1. ทำให้อคติที่มีต่อการใช้เงินของผู้หญิงยังคงอยู่

การใช้ ‘#girlmath’ กับแนวคิดดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับผู้หญิง และยังสร้างความเชื่อผิดๆ ว่ามีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่ใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายตามใจตัวเอง ทำให้ผู้หญิงจำเป็นต้องหาเหตุผลมาสนับสนุนการใช้จ่ายของตัวเอง

แต่หากเราศึกษางานวิจัยทั่วโลกของ Deloitte จะพบว่า ไม่เพียงผู้ชายจะใช้จ่ายฟุ่มเฟือยบ่อยเท่าผู้หญิง แต่ผู้ชายมักใช้เงินมากกว่าผู้หญิงเกือบ 40% ในการซื้อสินค้าต่างๆ 

ทั้งนี้ Anne Boden, CEO ของ Starling Bank ได้ทำการวิเคราะห์ภาษาการเงินที่มีต่อเพศต่างๆ ในสื่อ พบว่า 65% ของคอนเทนต์การเงินที่มีเป้าหมายเป็นผู้หญิง พยายามวาดภาพว่าผู้หญิงใช้จ่ายเงินมากเกินความจำเป็น แต่ในทางกลับกัน 70% ของบทความที่มีเป้าหมายเป็นผู้ชาย จะเน้นการสร้างความมั่งคั่ง เหมือนเป็นการสื่อว่าสิ่งนี้มีไว้สำหรับผู้ชายเท่านั้น ในขณะที่ผู้หญิงมีแนวโน้มจะใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายกว่า

อย่างไรก็ตาม สถิติแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงจำนวนมากใช้จ่ายเงินเพื่อประโยชน์ของครอบครัว ไม่ใช่เพื่อความต้องการส่วนตัว ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวยังเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายด้วย

2. บดบังความสามารถทางการเงินของผู้หญิง

การใช้จ่ายเงิน จริงๆ แล้วไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย ถ้ายังจำกันได้ถึงปรัชญาของ Marie Kondo ที่กล่าวไว้ว่า เราควรจะรักษาสิ่งที่ทำให้เรา ‘Spark Joy’ หรือสิ่งที่สร้างความสุขอย่างแท้จริงให้กับตัวเอง โดยผู้หญิงเองมีอำนาจควบคุมเงินทั่วโลกถึง 31.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งพลังทางการเงินนี้สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ได้ทั้งในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือแม้แต่สังคม 

ในอดีต ผู้หญิงเคยเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวประเด็นสำคัญด้านการเงิน นับตั้งแต่ Fair Trade Movement ในทศวรรษ 1980 ไปจนถึง Slow Fashion Movement ในช่วงปี 2000 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมื่อผู้หญิงพยายามแสดงความสามารถทางการเงินก็มักทำไปเพื่อสังคมที่ดีขึ้น

ที่ผ่านมา ผู้หญิงแถวหน้าต่างต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมมาโดยตลอด ดังนั้นการสนับสนุนกระแสอย่าง ‘girlmath’ แม้โดยไม่ตั้งใจ ก็ถือเป็นความเสี่ยงในการส่งเสริมแนวคิดเหมารวมล้าสมัยที่อาจลดทอนอิสรภาพและความสามารถทางการเงินของผู้หญิง

สรุปได้ว่า เราจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินอย่างมีสติ และไม่ควรส่งเสริมแนวคิดผิดๆ แม้โดยไม่ตั้งใจ เพราะเรามีหน้าที่ทั้งต่อตัวเอง (และผู้คนรุ่นก่อนที่ทำงานอย่างหนักเพื่อความเท่าเทียมทางการเงิน) ที่จะให้นิยามที่แท้จริงของพลังทางการเงินของผู้หญิงในโลกยุคปัจจุบัน


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ