กองทุนลดหย่อนภาษี Update 2568 เลือกอย่างไรให้คุ้มที่สุด

24 April 2025

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

การลงทุนไม่ใช่เรื่องของคนมีเงินเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนที่ ‘อยากให้เงินทำงานแทนเรา’ และถ้าลงทุนแล้ว ‘ยังช่วยลดหย่อนภาษีได้’ ด้วย แบบนี้ใครจะไม่สนใจ วันนี้เรานำข้อมูลกองทุนลดหย่อนภาษี Update 2568 พร้อมเคล็ดลับการเลือกกองทุนให้เหมาะกับเป้าหมายของคุณแบบเข้าใจง่ายๆ ไม่ต้องเป็นนักวิเคราะห์ก็สามารถลงทุนได้อย่างมั่นใจ

กองทุนลดหย่อนภาษี คืออะไร?

อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด ก็คือ ‘กองทุนรวมที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้คุณลงทุน พร้อมสิทธิพิเศษในการนำเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนมาขอลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี’ ถือเป็นกุศโลบายที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องการสนับสนุนให้คนไทยเห็นความสำคัญของวางแผนการเงินระยะยาว โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอย่างยั่งยืน

ประเภทกองทุนลดหย่อนภาษี Update 2568

ปี 2568 นี้มี 3 กองทุนลดหย่อนภาษีหลักที่อาจเรียกง่ายๆ ว่า เป็นกองทุนภาคสมัครใจ ให้คุณสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้ คือ

1. กองทุน RMF (Retirement Mutual Fund) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เน้นลงทุนระยะยาวเพื่อใช้ในวัยเกษียณ

2. กองทุน Thai ESG หรือกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ไทยที่มีการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนตามหลัก ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล)

3. กองทุนรวม Thai ESGX หรือกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ เป็นกองทุนลดหย่อนภาษี Update 2568 จัดตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อสนับสนุนการสับเปลี่ยนกองทุน LTF หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาวมาลงทุนในกองทุนนี้ พร้อมกับได้รับสิทธิการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม ซึ่งแต่ละกองทุนมีเงื่อนไขและเป้าหมายที่ต่างกัน ดังนี้

อัปเดตข้อมูล 3 กองทุนลดหย่อนภาษีในปี 2568

สำหรับกองทุน RMF และกองทุน Thai ESG ไม่ได้มีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ จะมีเพียงกองทุนรวม Thai ESGX ที่มีการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ในปีนี้ แต่ถ้าใครยังไม่เคยลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษีใดๆ มาก่อนเลย ลองไปดูข้อมูลกองทุนลดหย่อนภาษี Update 2568 ทั้งหมดแบบเจาะลึกกัน

1. กองทุน RMF

กองทุน RMF เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อการเกษียณอายุอย่างแท้จริง ด้วยเงื่อนไขการถือครองและการขายคืนที่กำหนดให้เป็นการลงทุนระยะยาวนั่นเอง

เงื่อนไขสำคัญ:

1. ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้ และต้องไม่เกิน 500,000 บาทเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ)

2. หลังจากเริ่มลงทุนแล้วจะต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อยปีเว้นปี โดยไม่มีการกำหนดขั้นต่ำในการลงทุน

3. ต้องถือครองอย่างน้อย 5 ปี นับแบบวันชนวัน และต้องถือครองจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์จึงจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้แบบไม่ผิดเงื่อนไข

4. สามารถเลือกสินทรัพย์ได้หลากหลาย ทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่ทุกกองทุนจะไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล

5. เหมาะกับการวางแผนเพื่อการเกษียณอายุ

2. กองทุน Thai ESG

กองทุน Thai ESG เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ไทยที่ผ่านเกณฑ์ ESG ซึ่งตัวย่อนี้จะหมายถึง สิ่งแวดล้อม (Environmental), สังคม (Social) ​และบรรษัทภิบาล (Governance) ซึ่ง ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2567 มีบริษัทจดทะเบียนที่ได้ผ่านเกณฑ์ SET ESG Ratings จำนวน 228 บริษัท ทำให้ผู้ลงทุนมีตัวเลือกการลงทุนกับบริษัทที่ใส่ใจความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น

เงื่อนไขสำคัญ:

1. ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ต้องไม่เกิน 300,000 บาท และเป็นวงเงินลดหย่อนที่ไม่ต้องนำไปรวมกับกองทุนอื่น

2. ไม่มีเงื่อนไขบังคับให้ลงทุนต่อเนื่อง

3. ต้องถือครองอย่างน้อย 5 ปี นับแบบวันชนวัน จึงจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้แบบไม่ผิดเงื่อนไข

4. ลงทุนผ่านหุ้นและตราสารหนี้ของไทยที่ผ่านเกณฑ์ ESG และมีกองที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้เลือก

5. เหมาะกับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในประเทศไทย เน้นความยั่งยืน ไม่ต้องเสี่ยงกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และต้องการช่องทางการลงทุนระยะกลางที่ช่วยประหยัดภาษีได้

3. กองทุน Thai ESGX

กองทุน Thai ESGX หรือ Thai ESG Extra จัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษสำหรับกองทุนลดหย่อนภาษี Update 2568 เพื่อรองรับการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนเดิมของผู้ที่ลงทุนในกองทุน LTF มาลงทุนต่อในกองทุนนี้ และยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนซื้อเพิ่มเติมเพื่อลดหย่อนภาษีได้ด้วย

เงื่อนไขสำคัญ:

1. ผู้ที่ลงทุนในกองทุน LTF เดิม ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 500,000 บาท โดยแบ่งเป็น

  • ปี 2568 สามารถสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนมากองทุน Thai ESGX เพื่อลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 300,000 บาท
  • ปีที่ 2-5 สามารถสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนมากองทุน Thai ESGX เพื่อลดหย่อนภาษีได้สูงสุด ปีละ 50,000 บาท รวม 4 ปี เท่ากับ 200,000 บาท

2. ผู้ลงทุนใหม่ ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ต้องไม่เกิน 300,000 บาท และเป็นวงเงินลดหย่อนที่ไม่ต้องนำไปรวมกับกองทุนอื่น

3. กำหนดให้สับเปลี่ยนและลงทุนเพิ่มภายในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2568 เท่านั้น และคาดว่าการสับเปลี่ยนรอบถัดไปจะมีกำหนดเช่นเดียวกันในแต่ละปี

4. ไม่มีเงื่อนไขบังคับให้ลงทุนต่อเนื่อง

5. ต้องถือครองอย่างน้อย 5 ปี นับแบบวันชนวัน จึงจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้แบบไม่ผิดเงื่อนไข

6. สินทรัพย์ที่ลงทุนได้จะเป็นเช่นเดียวกับกองทุน Thai ESG เดิม แต่มีข้อแตกต่างเล็กน้อยคือ ใน 80% ของ NAV ต้องลงทุนในหุ้นยั่งยืน ตราสารหนี้ยั่งยืน และโทเคนดิจิทัลเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 65% ของ NAV ส่วนการลงทุนอื่นๆ จะลงทุนได้ไม่เกิน 20% ของ NAV

7. เหมาะกับนักลงทุนในกองทุน LTF เดิมที่อยากลงทุนต่อและได้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มด้วย และนักลงทุนใหม่ที่สนใจลงทุนในประเทศไทย โดยเน้นความยั่งยืน ไม่ต้องเสี่ยงกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และต้องการช่องทางการลงทุนระยะกลางที่ช่วยประหยัดภาษีได้

จะเห็นได้ว่าในปี 2568 นี้ เพียงแค่กองทุนลดหย่อนภาษี 3 กองนี้ก็ช่วยให้คุณประหยัดภาษีได้สูงสุดถึง 1,400,000 บาท เลยทีเดียว รู้แบบนี้แล้วต้องรีบวางแผนซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีตั้งแต่ต้นปีนี้เลย

วิธีเลือกกองทุนให้เหมาะกับเป้าหมายการลงทุน

แม้กองทุนลดหย่อนภาษีจะมีข้อดีเรื่องการประหยัดภาษี แต่หากเลือกไม่ตรงกับเป้าหมายหรือเงื่อนไขชีวิตของตนเอง ก็อาจกลายเป็นภาระที่ต้องแบกรับในอนาคตได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นก่อนตัดสินใจลงทุน ควรเริ่มจากการเข้าใจตัวเอง และเลือกกองทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายที่แท้จริงมากที่สุด โดยมีหลักสำคัญที่ควรพิจารณาดังต่อไปนี้

1. พิจารณาความสามารถในการรับความเสี่ยง

นักลงทุนแต่ละคนรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน บางคนไม่สบายใจแม้พอร์ตจะติดลบเพียงเล็กน้อย ขณะที่บางคนสามารถยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเพื่อแลกกับผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้ ซึ่งกองทุนลดหย่อนภาษีแต่ละกองมีนโยบายลงทุนที่แตกต่างกันไป เช่น บางกองทุนเน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศซึ่งผันผวนสูง บางกองเน้นตราสารหนี้ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำแต่เติบโตช้า

ถ้าคุณไม่ชอบเห็นพอร์ตติดลบหรือรู้สึกเครียดเวลาขาดทุน คุณอาจเหมาะกับกองทุน RMF หรือ Thai ESG ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้  หรือ กองทุนที่ลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีและมีเสถียรภาพ แต่ถ้าคุณรับความผันผวนได้ และอยากเน้นผลตอบแทนระยะยาว กองทุน RMF ที่เน้นหุ้นในต่างประเทศอาจตอบโจทย์ของคุณมากกว่า

2. เลือกตามช่วงวัยของคุณ และระยะเวลาที่ลงทุนได้

ช่วงวัยของผู้ลงทุนส่งผลโดยตรงต่อแนวทางการวางแผนและการเลือกรูปแบบของกองทุนลดหย่อนภาษี เพราะแต่ละวัยมีภาระ เป้าหมายชีวิต และข้อจำกัดด้านเวลาที่ไม่เหมือนกัน การเลือกกองทุนที่สอดคล้องกับช่วงชีวิตจะช่วยให้ไม่รู้สึกฝืน หรือเลือกจังหวะในการลงทุนผิด ตัวอย่างเช่น

หากคุณอยู่ในวัยเริ่มต้นทำงาน เช่น อายุ 25-35 ปี โดยทั่วไปมักมีภาระน้อย และมีเวลาลงทุนเหลืออยู่มาก จึงสามารถเลือกกองทุนที่มีเงื่อนไขการถือครองระยะยาว และมีความเสี่ยงสูงได้ เช่น กองทุน RMF หรือ Thai ESG ที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาวจากการลงทุนในหุ้น ถือเป็นโอกาสในการสร้างพอร์ตเติบโตแบบทบต้น ด้วยตัวคูณระหว่าง จำนวนเงินต้น x เงินลงทุนเพิ่ม x ระยะเวลา x ผลตอบแทน

สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยกลางคน อายุ 35-50 ปี แม้เป็นช่วงที่มีรายได้ค่อนข้างสูง แต่ก็มักมีภาระมากขึ้น ทั้งค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ภาษีสังคม และอื่นๆ การเลือกกองทุนลดหย่อนภาษีอย่าง Thai ESG หรือ Thai ESGX จึงอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี และไม่ต้องถือยาวจนถึงวัยใกล้เกษียณแบบ RMF จึงมีความยืดหยุ่นมากกว่าในการวางแผนภาษีแบบปีต่อปี หรือใช้การจัดพอร์ตแบบผสม

อย่างไรก็ตาม แต่ละคนมีภาระหน้าที่และเป้าหมายทางการเงินที่แตกต่างกัน แม้ว่าวัยจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกกองทุน แต่บางคนอาจต้องการความมั่นคงทางการเงินเร็วกว่าปกติ ในขณะที่บางคนอาจรับความเสี่ยงได้นานกว่าช่วงวัยที่ระบุไว้ ดังนั้น การพิจารณาความพร้อมของตนเอง ทั้งในแง่ของกระแสเงินสด ภาระหนี้สิน และเป้าหมายระยะยาว จะช่วยให้คุณสามารถเลือกแผนการลงทุนที่ตอบโจทย์ตัวเองได้มากที่สุด

3. เปรียบเทียบค่าธรรมเนียมและผลตอบแทนย้อนหลัง

ในขณะที่หลายคนให้ความสำคัญกับผลตอบแทน แต่กลับมองข้ามเรื่องค่าธรรมเนียม ทั้งที่ค่าธรรมเนียมสะสมตลอดหลายปีสามารถลดทอนกำไรในพอร์ตของคุณได้อย่างมีนัยสำคัญในระยะยาว โดยเฉพาะหากคุณถือกองทุนเป็นระยะเวลา 5 ปีขึ้นไป

ก่อนเลือกกองทุน ควรตรวจสอบค่าธรรมเนียมบริหารจัดการกองทุนจากเอกสาร Factsheet ซึ่งแต่ละกองทุนจะแสดงข้อมูลไว้ชัดเจน และควรดูผลตอบแทนย้อนหลัง 1-5 ปีประกอบด้วย เพื่อดูผลการดำเนินงานของผู้จัดการกองทุนว่าสามารถทำได้สม่ำเสมอหรือไม่

สรุปแล้ว เราควรเลือกกองทุนลดหย่อนภาษี ‘ให้เหมาะสมกับเป้าหมายของตัวเอง’ ไม่ใช่แค่เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปีนั้นๆ เท่านั้น แต่ควรมองไปไกลกว่านั้น นั่นก็คือ การวางแผนทางการเงินในระยะยาว คุณควรเริ่มจากการรู้ว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้แค่ไหน วางแผนให้เหมาะกับช่วงชีวิต และเช็กว่าคุณสามารถถือครองหน่วยลงทุนได้นานแค่ไหนโดยไม่กระทบกับการใช้เงิน นอกจากนี้ ยังต้องเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมและผลตอบแทนย้อนหลังอย่างรอบคอบ เพราะการลงทุนไม่ใช่แค่เรื่องของการซื้อแล้วจบ แต่เป็นเรื่องของการวางแผนที่ต้องมีเป้าหมายชัดเจน นอกจากนี้ ในแง่ของความคุ้มค่า การซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีก็อาจไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน ซึ่งคุณสามารถคำนวณเบื้องต้นได้ง่ายๆ ตาม Link นี้

สุดท้ายนี้ StashAway หวังว่าข้อมูลกองทุนลดหย่อนภาษี Update 2568 จะเป็นประโยชน์สำหรับการเริ่มวางแผนทางการเงินของคุณตั้งแต่วันนี้ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนในระยะยาว

หมายเหตุ:

การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต; การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นคำเสนอ คำแนะนำ คำเชื้อเชิญ หรือการชักชวนให้ท่านซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเข้าทำธุรกรรมใดๆ

ข้อมูลนี้ไม่ได้จัดเตรียมขึ้นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลของท่าน (เช่น วัตถุประสงค์การลงทุน สถานการณ์ทางการเงิน หรือความความต้องการโดยเฉพาะ) ท่านควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย และด้านอื่นๆ ของท่านเอง


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ