2025 Macro Outlook: ‘FAT’ คือ New Normal

10 January 2025
Stephanie Leung
Group CIO

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

เมื่อมองย้อนกลับไปในปี 2024 เศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลกได้แสดงให้เห็นถึงความทนทานในการเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ตั้งแต่นโยบายการเงินที่เข้มงวดไปจนถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

สำหรับปี 2025 เรามองว่าการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบาย และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน จะนำไปสู่ความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ สำหรับนักลงทุน โดยมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) การที่ทั่วโลกกลับมาให้ความสำคัญกับนโยบายการคลังมากขึ้น หลังจากพึ่งพานโยบายการเงินมานานหลายปี 2) การเติบโตอย่างรวดเร็วของการนำ AI มาใช้ในภาคธุรกิจ และ 3) ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดจากนโยบายของ Donald Trump

เราเรียกปรากฏการณ์ใหม่นี้ว่า ‘FAT’ ซึ่งย่อมาจาก Fiscal Policy (นโยบายการคลัง) AI Advancements (ความก้าวหน้าของ AI) และ Trump’s Agenda (นโยบายของ Trump) ซึ่งจะเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางตลาดในปี 2025 และปีต่อๆ ไป CIO Insights เดือนนี้ จึงอยากวิเคราะห์ผลกระทบจากปัจจัยเหล่านี้ และนักลงทุนจะปรับตัวในสภาพแวดล้อมใหม่นี้ได้อย่างไร?

4 Key takeaways:

  • ปี 2024 เป็นปีที่ดีสำหรับสินทรัพย์เสี่ยง แม้จะมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในภาพรวม แต่ปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพคล่องในระดับสูง การพัฒนา AI และการบริโภคที่แข็งแกร่งในสหรัฐ ช่วยให้เศรษฐกิจและตลาดโลกยังคงทนทานได้ดี โดยความคาดหวังต่อนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจของ Trump ยิ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินทรัพย์เสี่ยง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะยาว เห็นได้จากผลตอบแทนตราสารหนี้ที่ปรับตัวลดลง และราคาทองคำที่แข็งแกร่ง

  • ทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนจากนโยบายการเงินไปสู่นโยบายการคลัง เราคาดว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านจากยุค ‘Great Monetary Expansion’ หรือการขยายตัวครั้งใหญ่ของนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ไปสู่ยุค ‘Great Fiscal Expansion’ หรือการขยายตัวครั้งใหญ่ของนโยบายการคลัง โดย Trump มีจุดยืนค่อนข้างชัดเจนว่าจะเน้นนโยบายการคลังที่ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่เพียงจะเกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐ เช่น จีนที่เน้นการใช้นโยบายการคลังเชิงรุกมากขึ้นเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ขณะที่ นักการเมืองในฝรั่งเศสและเยอรมนีต่างเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนคลายกฎการใช้จ่ายที่เข้มงวด ซึ่งการเรียกร้องนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ

  • ความก้าวหน้าของ AI จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ในขณะที่นักวิจัยชั้นนำยังคงแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยี Artificial General Intelligence (AGI) หรือ AI ที่สามารถทำงานได้ในระดับเดียวหรือเหนือกว่ามนุษย์ ทำให้เรามองว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นตัวเร่งและสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดโดยรวมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเพิ่ม Productivity ของแรงงานและ Margin กำไรของภาคเอกชน

  • ปัจจัยทั้งหมดอาจทำให้เศรษฐกิจยังคงอยู่ในภาวะ ‘Inflationary Growth’ ต่อไปในระยะข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงนโยบายและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะสั้น แต่ก็อาจมีส่วนทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสภาพแวดล้อมลักษณะนี้จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสินทรัพย์หลากหลายประเภท โดยพอร์ตการลงทุนของเรายังคงเน้นการลงทุนในหุ้น ซึ่งมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงกว่า รวมถึงทองคำที่ยังช่วยสร้างสมดุลให้กับพอร์ต

ปี 2024 ที่ผ่านมา ความทนทานของเศรษฐกิจช่วยสนับสนุนสินทรัพย์เสี่ยง แต่ปัญหาเงินเฟ้อสูงยังคงกดดันผลตอบแทนของตราสารหนี้

คำที่สามารถนิยามปี 2024 ได้ดีที่สุดคือ ‘ความทนทาน’

เมื่อต้นปี 2024 เทคโนโลยีการลงทุน Economic Regime Asset Allocation หรือ ERAA™ ของเรา ได้ส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจได้เปลี่ยนจากภาวะ Stagflation ไปสู่ภาวะ Inflationary Growth ซึ่งหมายถึงภาวะที่เงินเฟ้อยังคงสูงอยู่ แต่เศรษฐกิจได้กลับมาเติบโตอีกครั้ง

เหตุผลหลัก คือ การบริโภคในสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง แม้จะต้องเผชิญนโยบายการเงินที่เข้มงวดและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ขณะที่ ตลาดแรงงานเริ่มลดความร้อนแรงลงบ้าง แต่ยังคงถือว่าทรงตัวได้ดี ปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้เงินเฟ้อลดระดับลงจากจุดสูงสุด จนทำให้ธนาคารกลางต่างๆ เช่น Fed สามารถเริ่มวงจรการลดอัตราดอกเบี้ยได้ (อ่านเพิ่มเติมได้ใน CIO Insights: อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ส่งผลต่อการลงทุนอย่างไร?)

นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI ยังสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนมหาศาล โดยเฉพาะกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่ได้รับประโยชน์โดยตรง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกยังสามารถเติบโตได้ดี และไม่เข้าสู่ ‘Hard Landing’ หรือภาวะถดถอยอย่างที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้านี้

ขณะที่ จุดยืนสนับสนุนภาคธุรกิจและแนวโน้มการใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวมากขึ้น (Expansionary Fiscal Policy) ของ Trump ยังช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานของสินทรัพย์เสี่ยง (อ่านเพิ่มเติมได้ใน CIO Update: การกลับมาของ Donald Trump ส่งผลอย่างไรต่อการลงทุนของคุณ?) โดยตลาดหุ้นทั่วโลกได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 21% นับตั้งแต่ต้นปี 2024 จนถึงกลางเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐ พุ่งขึ้นกว่า 28% ในช่วงเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมของการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นบวก แต่นักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะยาว เห็นได้จากผลตอบแทนของตราสารหนี้ทั่วโลกที่ติดลบในปี 2024 ขณะที่ ทองคำ กลายเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในปี 2024 ที่ราว 28% และยังคงเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่สำคัญในช่วงที่ตลาดปรับตัวลง เช่น ในเดือน เม.ย. และ ส.ค. ปี 2024 (ดูตารางด้านล่าง)

แนวโน้มปี 2025 และปีต่อๆ ไป: นโยบายการคลังที่ขยายตัวมากขึ้น และ AI จะเป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ

คำถามสำคัญ คือ ผลตอบแทนของสินทรัพย์หลักที่ไปคนละทิศทางในปี 2024 จะยังเป็นเช่นนั้นต่อไปในปี 2025 หรือไม่? หรือกำลังจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ?

ก่อนอื่น เราเชื่อว่าจะมี 2 เทรนด์หลักที่จะคอยขับเคลื่อนผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่างๆ ในปี 2025 และอีกหลายปีข้างหน้า นั่นก็คือ การที่รัฐบาลต่างๆ เปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับนโยบายการคลัง และความก้าวหน้าของ AI ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

เทรนด์หลัก #1: จากนโยบายการเงินสู่นโยบายการคลัง

วิกฤตมักกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายครั้งสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น วิกฤตการเงินโลกปี 2007-2008 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุค ‘Great Monetary Expansion’ หรือการขยายตัวครั้งใหญ่ของนโยบายการเงิน เห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ (Quantitative Easing) และการที่ธนาคารกลางกลายเป็นตัวแปรสำคัญของวัฏจักรเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม วิกฤตครั้งล่าสุด (COVID-19) ทำให้มีการออกนโยบายการคลัง (Fiscal Policy) มากขึ้น เช่น การเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล รวมถึงการลดภาษี ซึ่งทั้งคู่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของนโยบายการคลัง และอาจเป็นการปูทางไปสู่ยุค ‘Great Fiscal Expansion’ หรือการขยายตัวครั้งใหญ่ของนโยบายการคลัง 

เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มปรับตัวในช่วงการระบาด จะเห็นได้ว่ารัฐบาลต่างๆ เริ่มพึ่งพาการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อธนาคารกลางส่วนใหญ่ไม่สามารถออกมาตรการกระตุ้นทางการเงินได้อีก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากจนแทบเป็นศูนย์ โดยตารางด้านล่างแสดงให้เห็นว่าดุลการคลังของประเทศใหญ่ๆ หลายแห่ง เริ่มมีช่องว่างมากขึ้น พร้อมกับหนี้สินภาครัฐที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

การขยายตัวของนโยบายการคลัง: หัวใจสำคัญของ ‘Trumponomics’

เมื่อ Trump กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 อย่างเป็นทางการในเดือน ม.ค. นี้ นโยบายของเขา เช่น การลดภาษีและการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ อาจทำให้ ‘การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่’ จากนโยบายการเงินไปสู่นโยบายการคลังมีความชัดเจนมากขึ้น และอาจทำให้การขาดดุลงบประมาณของสหรัฐยังคงสูงกว่าระดับก่อนหน้า COVID-19

ทั้งนี้ Committee for a Responsible Federal Budget หรือคณะกรรมการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลกลาง คาดการณ์ว่า สหรัฐอาจมีหนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 143% ของ GDP ภายในปี 2035 (1) และแม้ว่านโยบายบางข้อของ Trump อาจไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรส แต่กว่า 50% ของการใช้จ่ายจากภาครัฐที่เพิ่มขึ้น จะมาจากการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย Tax Cuts and Jobs Act ซึ่งมีโอกาสผ่านค่อนข้างสูง เนื่องจากพรรค Republican ครองเสียงข้างมากในสภา

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการพูดถึงแผนลดการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลใหม่อย่างกว้างขวาง เช่น Scott Bessent ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีคลัง ตั้งเป้าลดการขาดดุลให้ลงมาอยู่ที่ 3% ภายในปี 2028 ขณะที่ Department of Government Efficiency (DOGE) ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นภายใต้รัฐบาล Trump 2.0 ได้ตั้งเป้าลดรายจ่ายของรัฐบาลลง 2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ภายในวันที่ 4 ก.ค. 2026

โดยการวิเคราะห์ของเรา พบว่า ขอบเขตสำหรับการลดงบประมาณจำนวนมหาศาลยังค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการลดรายจ่าย 2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ยังสูงกว่าการคาดการณ์รายจ่าย Discretionary Spending (การใช้จ่ายที่ปรับเปลี่ยนได้) ของรัฐบาลสหรัฐ เช่น งบกลาโหมหรือการศึกษา ที่ราว 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ฯ (2) หมายความว่า รัฐบาลอาจต้องพิจารณาลดรายจ่าย Entitlement Spending (การใช้จ่ายที่เป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน) เช่น โครงการประกันสังคมและสาธารณสุข ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นอย่างมาก

ดังนั้น เราจึงเชื่อว่าแนวทางที่เป็นไปได้สำหรับ DOGE คือ มุ่งเน้นไปที่การลดกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่จำเป็นและลดความซับซ้อนของระบบราชการ เพื่อให้ภาคธุรกิจทำงานได้ง่ายขึ้น เช่น การทำให้กระบวนการขออนุญาตนำยาชนิดใหม่ๆ ออกสู่ตลาดทำได้ง่ายขึ้น

ประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเช่นเดียวกัน

การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐ แต่ยังเกิดขึ้นในประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ทั่วโลก เช่น

  • จีน: สัญญาณล่าสุดบ่งชี้ว่ารัฐบาลจีนอาจใช้นโยบายการคลัง ‘เชิงรุกมากขึ้น’ ในปีนี้ ซึ่งที่ผ่านมา นโยบายการคลังถือเป็นชิ้นส่วนที่ขาดหายไปในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนที่ซบเซา (อ่านเพิ่มเติมได้ใน CIO Insights: เศรษฐกิจจีนถึงจุดกลับตัวแล้วหรือยัง?) นอกจากนั้น จีนจะต้องพึ่งพาการใช้จ่ายของภาครัฐมากขึ้นอีกในระยะยาว เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ เช่น ปัญหาโครงสร้างประชากร และสงครามการค้า

  • ยุโรป: มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงนโยบายการคลังไปในทิศทางที่ผ่อนคลายมากขึ้น แม้แต่ในเยอรมนี ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องวินัยทางการคลัง ทั้งประชาชนและข้าราชการต่างเรียกร้องให้รัฐบาลใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อให้เยอรมนีสามารถรับมือกับความท้าทายในระยะยาวได้ดียิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือการเพิ่มงบกลาโหม ส่วนที่ฝรั่งเศส เกิดเหตุการณ์ที่พรรคฝ่ายค้าน (ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา) คัดค้านแผนลดการขาดดุลงบประมาณ จนทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสต้องพ้นจากตำแหน่ง

เทรนด์หลัก #2: AI Agents ในภาคธุรกิจใกล้จะเป็นจริง

นับตั้งแต่ปลายปี 2022 ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนตลาดหุ้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Magnificent 7 ในขณะที่ การเปิดตัว ChatGPT ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเทคโนโลยี Generative AI (อ่านเพิ่มเติมได้ใน CIO Insights: อนาคตของ AI จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้?)

แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา AI จะถูกใช้งานในลักษณะทดลองและการใช้งานส่วนบุคคลเป็นหลัก (เช่น การเขียนบทความหรือ Generate ภาพ) แต่เราคาดว่าในปี 2025 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำ AI ไปประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจอย่างแพร่หลาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดานักวิจัยชั้นนำกำลังตั้งเป้าให้ ‘AI Agents’ หรือ AI ที่สามารถทำงานได้อัตโนมัติตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่ต้องมีการแทรกแซงของมนุษย์ พร้อมใช้งานอย่างกว้างขวาง โดย Sam Altman ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ OpenAI ได้ตั้งเป้าพัฒนา ‘Artificial General Intelligence’ หรือ AI ที่สามารถทำงานได้ในระดับเดียวหรือเหนือกว่ามนุษย์ ให้สำเร็จอย่างเร็วที่สุดในปีนี้

ยกระดับ Productivity ในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ

ปัจจุบัน มีสัญญาณให้เห็นแล้วว่าบริษัทที่สามารถนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน สามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยรายงานล่าสุดจาก PwC พบว่า กลุ่มธุรกิจที่มีการเข้าถึง AI มากที่สุด มีอัตราการเติบโตของ Productivity แรงงานสูงขึ้นถึง 4.8 เท่า (3)

ตัวเลขดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากเราพิจารณา Productivity ที่เติบโตค่อนข้างต่ำในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยประเทศในกลุ่ม OECD มีอัตราการเติบโตของ Productivity เฉลี่ยเพียง 1.1% ระหว่างปี 2011-2020 และเริ่มลดลงในปี 2021-2022 เนื่องจาก COVID-19

การเพิ่ม Productivity ไม่เพียงลดต้นทุนให้ภาคธุรกิจ แต่ยังช่วยเร่งให้ Innovation Cycle เกิดขึ้นได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ช่วยยกระดับ Productivity โดยรวม และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

  • งานวิจัยจาก Goldman Sachs ประเมินว่าการนำ AI มาใช้อย่างแพร่หลายอาจเพิ่ม Productivity ได้ราว 1.5% และเพิ่ม GDP โลกได้อีก 7% ในช่วง 10 ปีข้างหน้า (4)

  • อีกงานวิจัยจาก IDC คาดว่าทุกๆ 1 ดอลลาร์ฯ ที่ใช้ในการพัฒนาโซลูชันและบริการ AI จะสร้างผลตอบแทนให้เศรษฐกิจโลกถึง 4.60 ดอลลาร์ฯ ภายในปี 2030 ซึ่งอาจหมายถึงการเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมเกือบ 20 ล้านล้านดอลลาร์ฯ (5)

Productivity ที่ดีขึ้น อาจทำให้ Margin กำไรของภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้น

การที่ AI สามารถเพิ่ม Productivity ได้ อาจส่งผลโดยตรงต่อ Margin กำไรของบริษัทในบางอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น AI ที่สามารถเขียนโค้ดได้ กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าการพัฒนาซอฟต์แวร์ ทำให้บริษัทเทคโนโลยีที่มี AI ล้ำสมัย สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้าน IT ปรับตัวลดลงถึง 26% เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Meta และ X สามารถลดพนักงานได้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ Productivity ปรับตัวเพิ่มขึ้น

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น โดยการสำรวจล่าสุดของ PwC แสดงให้เห็นว่า แม้จะมี CEO เพียง 1 ใน 3 ที่ระบุว่าบริษัทของพวกเขาได้เริ่มนำ Generative AI มาใช้ แต่กว่า 2 ใน 3 มองว่า เทคโนโลยีนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจของพวกเขาในอีก 3 ปีข้างหน้า (6)

ภาพรวม: การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ดีต่อการเติบโต แต่อาจทำให้เงินเฟ้อสูงยังยืดเยื้อ

ในยุค ‘Great Fiscal Expansion’ เราคาดว่าจะมีการใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่มีความสมดุลมากขึ้น เพื่อให้การบริหารจัดการเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น โดยรัฐบาลจะมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้น ควบคู่ไปกับธนาคารกลาง ซึ่งจะต้องตัดสินใจตามกรอบข้อมูลเศรษฐกิจมากกว่า

เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้บ้างแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น ในปี 2022 เมื่อ Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเริ่มนโยบายดูดเงินออกจากระบบ (Quantitative Tightening) ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐเลือกดึงเงินจาก Treasury General Account (TGA) มาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องราว 916,000 ล้านดอลลาร์ฯ ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2022 ซึ่งช่วยชดเชยการลดงบดุลของ Fed ราว 554,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน

ผลกระทบจาก AI ที่มีต่อเงินเฟ้ออาจซับซ้อนกว่าที่คิด

แม้ AI จะมีศักยภาพในการเพิ่ม Productivity ในระยะข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบนี้จะขึ้นอยู่กับความเร็วและขอบเขตของการนำเทคโนโลยีไปใช้อย่างกว้างขวาง

ในแง่ของเงินเฟ้อ แม้จะมีความเชื่อทั่วไปว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะช่วยลดเงินเฟ้อ แต่เราพบว่าผลกระทบของ AI อาจซับซ้อนกว่านั้น โดยเฉพาะหากเทียบกับยุคที่อินเทอร์เน็ตสามารถช่วยลดราคาสินค้าได้โดยตรง

สาเหตุ คือ เม็ดเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของ AI อาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในระยะสั้น แม้ AI จะทำให้บางตำแหน่งงานหายไป แต่ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าจะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้นพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเสมอ นอกจากนี้ เมื่อผู้คนมีเวลาว่างมากขึ้น บริการต่างๆ เช่น การสอนโยคะ (ดูตารางด้านล่าง) จะมี Demand เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจช่วยชดเชยเงินเฟ้อที่ลดลงเนื่องจากการเกิดขึ้นของ AI

ความท้าทายสำคัญต่อการเติบโต: นโยบายผู้อพยพของ Trump

ในแง่ของความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ ตลาดได้โฟกัสไปที่นโยบายเพิ่มภาษีนำเข้าของ Trump แต่เราเชื่อว่านี่เป็นเพียงกลยุทธ์ให้เกิดการเริ่มเจรจากับประเทศคู่ค้า และมีแนวโน้มว่าจะบังคับใช้ภาษีนำเข้าในลักษณะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการกระตุ้นเงินเฟ้อให้กลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งและเพิ่มภาระให้กับผู้บริโภค ซึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องการให้ Trump แก้ไขในช่วง 100 วันแรกของการทำงาน คือ ปัญหาเงินเฟ้อและผู้อพยพ

อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่านโยบายควบคุมผู้อพยพอย่างเข้มงวดของ Trump อาจเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่กว่า โดยตัวเลขเมื่อสิ้นปี 2022 พบว่า จำนวนผู้อพยพผิดกฏหมายในสหรัฐ มีประมาณ 11 ล้านคน หรือราว 5% ของแรงงานทั้งหมด โดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคเกษตรกรรม การก่อสร้าง การบริการและการท่องเที่ยว

หากมีการเนรเทศแรงงานกลุ่มนี้ในวงกว้าง ก็อาจนำไปสู่ต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อที่สูงขึ้น และ GDP ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยสถาบัน Peterson Institute for International Economics ประเมินว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจอาจลดลงมากถึง 7.4% เมื่อสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งของ Trump ในปี 2028 (7)

นักลงทุนควรให้เงินทำงานต่อไปในภาวะเศรษฐกิจแบบ ‘Inflationary Growth’ 

เมื่อพิจารณาปัจจัยทั้งหมด ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เราได้กล่าวไว้ข้างต้น มีแนวโน้มจะทำให้เศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะ ‘Inflationary Growth’ ต่อไปในระยะอันใกล้นี้

สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับสัญญาณที่ Fed ส่งออกมาในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2024 โดยการปรับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของ Fed สะท้อนให้เห็นแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อสูงที่ยังคงยืดเยื้อ แม้ Fed เตรียมที่จะปรับลดดอกเบี้ยกลับสู่ระดับที่เป็นกลางมากขึ้นในปีนี้ แต่น่าจะดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังมีความไม่แน่นอนรออยู่ โดยปัจจุบัน Fed คาดว่าจะลดดอกเบี้ยลงเพียง 0.5% ในปีนี้ จากที่เคยคาดไว้ที่ 1% ในการประชุมเมื่อเดือน ก.ย. 2024

ในภาวะเช่นนี้ Real Rate หรืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง กำลังปรับตัวลดลงเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงและเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้การถือเงินสดน่าดึงดูดน้อยลง และกระตุ้นให้นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดยพอร์ตการลงทุนที่บริหารโดย ERAA™ ได้มีการปรับ Asset Allocation ให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจแบบ ‘Inflationary Growth’ แล้วนับตั้งแต่การทำ Re-optimisation ครั้งล่าสุดเมื่อต้นปี 2024

ทั้งนี้ หุ้นมักจะให้ผลตอบแทนที่ดีในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจจะช่วยขับเคลื่อน Demand ขณะที่ ราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นจะช่วยสนับสนุนรายได้ของภาคเอกชน โดยนโยบายของ Trump อาจส่งผลดีต่อหุ้นวัฏจักร เช่น กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มการบินและอวกาศ ซึ่งอาจได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ เรายังเห็นความเป็นไปได้ที่ตลาดจะเปลี่ยนกลุ่มเล่น (Sector Rotation) จากที่กระจุกตัวในกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ไปสู่ตลาดโดยรวมมากขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตจะเป็นประโยชน์กับภาคส่วนต่างๆ ในวงกว้างมากขึ้น

ขณะที่ สินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น ทองคำและอสังหาริมทรัพย์ จะช่วยลดผลกระทบจากเงินเฟ้อและยังช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ต ซึ่งมีความสำคัญโดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดมีความตึงเครียดหรือมีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์สูงอย่างปัจจุบัน โดย Demand ทองคำจากธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาทองคำในระยะยาว เนื่องจากพวกเขายังคงต้องการกระจายการถือครองสินทรัพย์มายังทองคำอย่างต่อเนื่อง

สำหรับตราสารหนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิด Recession ในระยะอันใกล้นี้ รวมถึงการขาดดุลงบประมาณที่กว้างขึ้น และการออกพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนนโยบายการคลัง ทำให้เรายังคง Underweight ตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะยาว

ให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐาน แม้จะมี Noise รบกวน

ในขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญในปี 2025 เรายังควรให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานมากกว่า Noise รอบข้าง แม้ว่าการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของ Trump อาจสร้างกระแสข่าวเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในสมัยแรก แต่ตราบใดที่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง ข่าวเหล่านั้นก็จะเป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราวที่ไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดในระยะยาว

สิ่งสำคัญ คือ การรักษาวินัยในการลงทุนและยึดมั่นในกลยุทธ์ระยะยาวของตัวเอง โดยให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐาน แทนที่จะตอบสนองทุกความเคลื่อนไหวของตลาดในระยะสั้น สิ่งนี้จะช่วยให้คุณสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย และได้ประโยชน์มากขึ้นจากการลงทุนในระยะยาว

อ้างอิง

  1. Committee for a Responsible Federal Budget. (2024, October). The Fiscal Impact of the Harris and Trump Campaign Plans.

  2. Congressional Budget Office. (2024, June). An Update to the Budget and Economic Outlook: 2024 to 2034.

  3. PwC. (2024, May). PwC’s 2024 AI Jobs Barometer.

  4. Goldman Sachs Research. (2024, May). AI is showing "very positive" signs of eventually boosting GDP and productivity.

  5. International Data Corporation. (2024, September). IDC: Artificial intelligence will contribute $19.9 trillion to the global economy through 2030 and drive 3.5% of global GDP in 2030.

  6. PwC. (2024, January). PwC’s 27th Annual Global CEO Survey: Thriving in an age of continuous reinvention.

  7. Peterson Institute for International Economics. (2024, September). Mass deportations would harm the US economy.

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ