หลังความวุ่นวายของตลาดในเดือน มี.ค. Fed ยังต้องเจอกับอะไรต่อ?
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในกลุ่มธนาคารจะส่งผลต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed อย่างไร และทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อนักลงทุนอย่างไรบ้าง
เดือน มี.ค. นี้ไม่ใช่เดือนที่ง่ายสำหรับ Fed อีกทั้งตลาดยังมีการปรับการคาดการณ์จากการที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยไปเป็นการหั่นดอกเบี้ยแทน เนื่องจากเกิดวิกฤต Silicon Valley Bank (SVB) และความวุ่นวายที่ตามมาในกลุ่มธุรกิจธนาคาร
สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอย่างสหรัฐ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed รวมถึงภาวะตลาดหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เราจะมาเจาะลึกประเด็นที่น่าสนใจในบทความนี้กัน
เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ช่วงต้นเดือน มี.ค. ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าคาด ต่างส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่า Fed อาจกลับมาเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ อีกครั้งและอาจปรับ Terminal rate (จุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น) ให้สูงขึ้น
แต่ในช่วงกลางเดือนกลับเกิดวิกฤต SVB ซึ่งสร้างความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารในวงกว้าง ทำให้ตลาดปรับการคาดการณ์ต่างจากเดิม โดยตลาดสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้าสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองตลาดว่า Fed จะเลือกหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. ที่ผ่านมา และอาจเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ในช่วงกลางปีนี้
อ้างอิง: StashAway, Bloomberg
ทั้งนี้ Fed ได้ออกโครงการเงินกู้ฉุกเฉินให้กลุ่มธนาคารอย่างรวดเร็วเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคารและเรียกความเชื่อมั่นในระบบการเงินกลับมา ซึ่งทำให้ Fed ยังสามารถเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ อีก 0.25% ในเดือน มี.ค. ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้กับเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับ Fed
Fed และนักลงทุนยังมองต่างมุมในเรื่องทิศทางของอัตราดอกเบี้ยฯ
จากการประชุมในเดือน มี.ค. Fed ได้ส่ง 2 สัญญาณสำคัญเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยฯ คือ:
- Fed คงประมาณการ Terminal Rate ไว้ที่ 5.1% โดยอัตราดอกเบี้ยฯ ปัจจุบันอยู่ที่ 4.75 - 5% ซึ่งแสดงว่าอาจเหลือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียงหนึ่งครั้ง ส่วนหนึ่งอาจเพราะผลกระทบจากความวุ่นวายในธุรกิจธนาคารที่เกิดขึ้นจะช่วยชะลอเศรษฐกิจลง ซึ่งมีส่วนช่วยให้งานของ Fed ง่ายขึ้น โดยนักวิเคราะห์บางส่วนประเมินว่า ผลจากสภาพคล่องในตลาดที่ตึงตัวขึ้นอาจเทียบเท่าได้กับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ที่ 0.25 - 0.50%
- จากอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ทำให้ Jerome Powell ประธาน Fed ประกาศว่ายังไม่เห็นความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ในปีนี้ และเน้นย้ำว่าหากมีความจำเป็น Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ สูงกว่าที่เคยคาดไว้
อย่างไรก็ตาม ตลาดมีมุมมองที่ต่างออกไป โดยคาดการณ์ว่าน่าจะเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยฯ ในระยะใกล้นี้:
- Fed Funds Futures ชี้ให้เห็นถึงการเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยฯ ในเดือน มิ.ย. และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยฯ ภายใน ธ.ค. จะอยู่ที่ประมาณ 4.3%
- Yield ของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.5% ณ สิ้นเดือน มี.ค. จากกว่า 4% เมื่อช่วงต้นเดือน ซึ่งสะท้อนมุมมองตลาดที่คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวและเงินเฟ้อจะเริ่มเข้าสู่ระดับปกติ
- “Near-Term Forward Spread” หรือส่วนต่างระหว่าง Yield ปัจจุบันกับ Yield ที่คาดการณ์ใน 18 เดือนข้างหน้าของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 เดือน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ Jerome Powell ประธาน Fed ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยตัวชี้วัดนี้บ่งชี้ว่า Yield มีการปรับลดลงมากกว่า 100 bps ในช่วงเวลาดังกล่าว
แล้วสถานการณ์แบบไหนที่จะทำให้ Fed เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ
Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ในการประชุมเดือน มี.ค. นี้ ชี้ให้เห็นว่าการควบคุมอัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายของ Fed มากกว่าสองเท่า
แล้วจะมีความเป็นไปได้มากแค่ไหนที่ Fed อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ในช่วงกลางปีนี้ และมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะกระตุ้นให้ Fed เริ่มลดดอกเบี้ยลง
Fed อาจลดดอกเบี้ยถ้าเศรษฐกิจชะลอความร้อนแรงลงอย่างรวดเร็ว
หากเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญในระยะข้างหน้านี้อาจกระตุ้นให้ Fed เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ โดยหนึ่งในปัจจัยที่อาจทำให้เกิดขึ้น คือ กรณีวิกฤตธนาคารทำให้การปล่อยสินเชื่อเข้มงวดมากขึ้นอีกจนส่งผลให้ภาคธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้นและชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ
แต่ในความเป็นจริง การเข้าถึงสินเชื่อได้ยากเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงที่ผ่านมา จากรายงานผลสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อของ Fed ในเดือน ม.ค. พบว่า 45% ของธนาคารที่ตอบแบบสอบถาม ได้เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อกับธุรกิจทุกขนาด ซึ่งสอดคล้องกับช่วงที่เคยเกิด Recession ในอดีตที่ธนาคารต่างมีแนวโน้มจะปล่อยสินเชื่อน้อยลง
ขณะเดียวกัน Fed ยังมองถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิด Recession ขึ้น โดย Fed คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตเล็กน้อยที่ 0.4% ในปีนี้ ซึ่งปรับลดจากประมาณการในเดือน ธ.ค. ที่ 0.5% ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ที่คาดว่าจะออกมาแข็งแกร่ง อาจสะท้อนได้ว่า Fed ประเมินเศรษฐกิจในไตรมาสต่อไปหรือในช่วงครึ่งปีหลังว่าจะชะลอตัวอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ข้อมูลชี้วัดยังบอกถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิด Recession สูงขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเครื่องมือชี้วัดของ Fed สาขานิวยอร์กระบุว่ามีความเป็นไปได้ 55% ที่จะเกิด Recession ในเศรษฐกิจสหรัฐในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ขณะที่ผลสำรวจของ Bloomberg มองว่ามีความเป็นไปได้ 65% ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางส่วนเห็นต่างว่า Recession อาจไม่ใช่บทสรุปที่แน่นอน ยกตัวอย่าง Goldman Sachs ซึ่งมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิด Recession ราว 35% ขึ้นอยู่กับว่าตลาดแรงงานจะมีการปรับตัวแค่ไหน
อ้างอิง: StashAway, Fed สาขานิวยอร์ก, National Bureau of Economic Research (NBER) หมายเหตุ แถบสีฟ้าในกราฟคือช่วงที่เกิด Recession ตามนิยามของ NBER
โดยธรรมชาติแล้ว เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวเงินเฟ้อควรปรับลดลงตาม ซึ่งเป็นเป้าหมายของ Fed ตลอดช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะลงอย่างรวดเร็วในระยะข้างหน้านี้ยังเป็นไปได้ยาก หากไม่มีเหตุการณ์ที่กระทบเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งเท่ากับว่างานของ Fed ยังไม่สิ้นสุดและ Fed อาจยังเลือกที่จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ในเร็วๆ นี้เพราะนั่นอาจนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงกว่าในอนาคตได้
Fed อาจหั่นดอกเบี้ย หากความวุ่นวายในกลุ่มธนาคารลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตที่รุนแรง
ทั้ง Fed และรัฐบาลสหรัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้กับกลุ่มธุรกิจธนาคาร แต่สถานการณ์ยังคงไม่คลี่คลาย ขณะเดียวกันผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ที่ทั้งเร็วและแรงรวมกว่า 4.75% ของ Fed ตั้งแต่ มี.ค. ปีก่อน อาจเพิ่งเริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ แม้ในตอนนี้เรายังคาดเดากรณีที่เลวร้ายที่สุดได้ยาก แต่หากมีสัญญาณความเสี่ยงเชิงระบบใดๆ เราคงได้เห็น Action จาก Fed อย่างรวดเร็วเช่นกัน
ถ้าหาก Fed ลดอัตราดอกเบี้ยฯ จะส่งผลต่อสินทรัพย์ต่างๆ อย่างไร
จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ยังคงเร็วเกินไปที่จะบอกว่า Fed จะทำอย่างไรต่อไป และอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในเดือนที่ผ่านมาว่าตลาดสามารถปรับการคาดการณ์ได้ในทันทีเมื่อมีปัจจัยใหม่เข้ามา
ดังนั้น การดูข้อมูลย้อนหลังว่าสินทรัพย์ต่างๆ ตอบสนองต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ อย่างไรบ้าง จะช่วยให้เราเตรียมตัวและรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ดีกว่า
ทั้งนี้ เราได้ทำการวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากการลดอัตราดอกเบี้ยฯ ของ Fed ทั้ง 21 ครั้งตั้งแต่ ปี 1970 และพบว่าค่า Median ผลตอบแทนของสินทรัพย์หลักทุกประเภททรงตัวหรือติดลบเล็กน้อยใน 1 เดือนหลังจากที่ Fed เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งแรกของแต่ละรอบ
อ้างอิง: StashAway หมายเหตุ: ข้อมูลหุ้นอ้างอิงจากดัชนี S&P 500, ข้อมูลตราสารหนี้อ้างอิงจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี, สินค้าโภคภัณฑ์อ้างอิงจากดัชนี S&P GSCI Index
อย่างไรก็ตาม จากกราฟด้านบนจะเห็นว่าเมื่อเวลาผ่านไปสินทรัพย์ต่างๆ จะกลับมาฟื้นตัว โดยตราสารหนี้มักจะฟื้นตัวก่อนและตามด้วยหุ้น (อ่านเพิ่มเติมได้ใน CIO Insights: “เมื่อ Fed ต้องสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้”) และสิ่งที่คุณควรโฟกัสคือ ในระยะยาวตลาดมักปรับตัวขึ้นเสมอ ดังนั้น Stay Invested ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีจะช่วยให้คุณก้าวข้ามความผันผวนในระยะสั้นได้
ตัวช่วยที่ดีเพื่อรับมือความผันผวนในตลาด
พอร์ต General Investing ได้ปรับพอร์ตให้ Defensive ยิ่งขึ้น เพื่อให้พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนและภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา เราได้ทำการ Re-optimisation ซึ่งเพิ่มการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นและยังคงสัดส่วนการลงทุนในทองคำ ซึ่งกำลังได้รับผลดีจากการที่นักลงทุนหันมาลงทุนในสินทรัพย์ Safe-haven เพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้
ทั้งนี้ หากคุณอยากลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมาก คุณสามารถลงทุนได้ในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้น (USD) ผ่าน Flexible Portfolio โดยเลือกสินทรัพย์ประเภท ‘เงินสดหรือเทียบเท่า’ และเลือก ‘พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (1-3 เดือน)’ ซึ่งคุณสามารถปรับสัดส่วนการลงทุนได้ตามที่ต้องการ
การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต