ผลการดำเนินงานของ StashAway ครึ่งแรกของปี 2022

22 July 2022

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

เปิดผลการดำเนินงานทุกพอร์ตการลงทุน จากต้นปี 2022 ถึงปัจจุบัน (30 มิ.ย.)

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 นี้ ได้เกิดสถานการณ์ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ร่วงลงพร้อมกันอย่างรุนแรง โดยดัชนีหุ้นโลกอย่าง MSCI World Equity Index ปรับตัวลดลงถึง 20.3% ขณะที่ดัชนีตลาดพันธบัตรโลกอย่าง FTSE World Government Bonds Index ปรับตัวลดลงถึง 14.8% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

1H22 returns chart 1

อ้างอิง: StashAway, Bloomberg, มิถุนายน 2022

ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในปีนี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งกรณีรัสเซียรุกรานยูเครนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ทำให้เกิด Supply Disruption ในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ไปทั่วโลก ส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นและชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และยังเป็นการซ้ำเติมปัญหา Supply Disruption ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าจากการระบาดของ COVID-19

ปัญหา Supply Disruption นี้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสู่จุดสูงสุดในรอบหลายทศวรรษทั้งในสหรัฐและยุโรป โดยเรื่องนี้ยังกดดันให้ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกอย่าง ธนาคารกลางสหรัฐ​ (Fed) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรงและรวดเร็ว แม้จะต้องแลกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความผันผวนอย่างมากในหลายสินทรัพย์

จากสถานการณ์ข้างต้น เราจึงอยากสรุปผลการดำเนินงานของ StashAway ในพอร์ต General Investing, Goal-based Investing และ Thematic Portfolio ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 ไว้ในบทความนี้


Key takeaways: 

  • พอร์ต General Investing และ Goal-based Investing สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า Benchmark* ในทั้ง 12 ระดับความเสี่ยง ตั้งแต่ต้นปีถึง 30 มิถุนายน 2022 ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลชดเชยเงินเฟ้อ ทองคำ และหุ้นกลุ่มพลังงาน
  • การปรับฐานอย่างรุนแรงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นเติบโตส่งผลต่อ Thematic Portfolio ของเรา โดยธีม Environment and Cleantech ปรับตัวลดลงน้อยกว่าทุกธีม เป็นผลมาจากหุ้นกลุ่มพลังงานสะอาดซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ภาคธุรกิจที่มีผลตอบแทนเป็นบวก
  • หลังจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่รุนแรงจาก Fed และเศรษฐกิจสหรัฐที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย จะส่งผลให้ตลาดลงทุนมีความผันผวนต่อเนื่อง
  • นอกจากการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายแล้ว การทบทวนระดับความเสี่ยงของพอร์ตให้เหมาะสมกับตนเองอย่างแท้จริงอีกครั้ง จะช่วยให้คุณลงทุนได้อย่างสบายใจขึ้นในภาวะตลาดผันผวน

พอร์ต General Investing และ Goal-based Investing มีผลการดำเนินงานดีกว่า Benchmark* ทั้ง 12 ระดับความเสี่ยง

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 ผลการดำเนินงานของพอร์ต General Investing และ Goal-based Investing อยู่ที่ระหว่าง -9.5% และ -18% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ Benchmark* (ที่มีระดับความเสี่ยงเดียวกัน) พอร์ต General Investing มีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าทั้ง 12 ระดับ โดยเฉลี่ยดีกว่า 4.7% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (Goal-based Investing ใช้พอร์ตบริหารเดียวกันกับ General Investing จึงสามารถดูผลการดำเนินงานร่วมกันได้)

เราเข้าใจว่านักลงทุนอาจกังวลใจเมื่อเห็นพอร์ตติดลบ แต่การลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วงตลาดขาลงจะทำให้คุณไม่พลาดโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีเมื่อตลาดฟื้นตัวในอนาคต เพราะในระยะยาวตลาดมักจะปรับตัวขึ้นเสมอ

1H22 returns GI portfolios

อ้างอิง: StashAway; ข้อมูลตั้งแต่มกราคม - 30 มิถุนายน 2022 ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

ในภาวะตลาดลงทุนที่ผันผวนแบบนี้ StashAway สามารถบริหารพอร์ตให้มีผลตอบแทนดีกว่า Benchmark ได้ เนื่องจากกลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ของเราได้ปรับพอร์ตเพื่อรับมือภาวะเงินเฟ้อสูงและดอกเบี้ยขาขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2022

การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลชดเชยเงินเฟ้อและทองคำ ช่วยลดผลกระทบจากเงินเฟ้อ

การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation-protected bonds) และหุ้นกู้จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating-rate bonds) ช่วยลดผลกระทบจากการปรับตัวลงของตลาดตราสารหนี้ ในขณะที่การลงทุนในทองคำ ไม่เพียงช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อแต่ยังเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe-Haven) ในช่วงตลาดขาลง โดยราคาทองคำปรับลดลงมาเพียง 1.5% จากช่วงก่อนหน้าซึ่งดีกว่าทั้งหุ้นและตราสารหนี้

การลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานในสหรัฐ หุ้นแคนาดา หุ้นออสเตรเลีย ส่งผลดีต่อพอร์ต ต่างจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจีน

การลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานในสหรัฐ ส่งผลให้พอร์ตของเรามีผลการดำเนินงานที่ดีกว่า Benchmark* โดยหุ้นกลุ่มนี้มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 31.4% ในช่วงครึ่งปีแรก ในขณะที่ดัชนี S&P 500 ติดลบถึง 20%

นอกจากนี้ การลงทุนในหุ้นแคนาดาและหุ้นออสเตรเลียซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นยังช่วยลดผลกระทบด้านลบของพอร์ตเช่นกัน โดยหุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวลดลง 11.7% ซึ่งติดลบน้อยกว่าเมื่อเทียบดัชนี MSCI World Equity Index ที่ร่วงลงถึง 20.3%

ในทางกลับกัน หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจีนส่งผลกระทบทางลบต่อพอร์ตด้วยหลายปัจจัย เช่น ทางการจีนออกนโยบายกำกับดูแลกลุ่มเทคโนโลยีที่เข้มข้น ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risk) ที่สูงขึ้น และมาตรการควบคุม COVID-19 ที่เข้มงวด

การปรับตัวลงของตลาดตราสารหนี้ส่งผลกระทบต่อพอร์ตที่ระดับความเสี่ยงต่ำ

โดยปกติพอร์ต General Investing ของเราจะมีระดับความเสี่ยงที่เรียกว่า StashAway Risk Index (SRI) ให้เลือก 12 ระดับ ซึ่งหมายถึงพอร์ตการลงทุนของคุณมีโอกาสถึง 99% ที่มูลค่าพอร์ตของคุณจะไม่ลดลงต่ำกว่าค่า SRI ที่คุณเลือกไว้ใน 1 ปี

แต่สถานการณ์เงินเฟ้อสูงที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ตลาดตราสารหนี้ปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ (อ้างอิงข้อมูลจากภาพแรก) จึงทำให้พอร์ตที่ระดับความเสี่ยงต่ำของเรา (SRI 6.5% และ SRI 8%) ซึ่งลงทุนในตราสารหนี้ในสัดส่วนที่สูงกว่าระดับความเสี่ยงอื่น ได้รับผลกระทบและทำให้มูลค่าพอร์ตลดลงกว่าค่า SRI ที่กำหนดไว้

เราคาดการณ์ว่าตลาดตราสารหนี้น่าจะไม่ลดลงต่อเนื่อง เพราะ Fed แสดงความมุ่งมั่นที่จะควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยนโยบายการเงินที่เข้มข้นนี้อาจทำให้สหรัฐมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นภาวะที่ตลาดตราสารหนี้มีแนวโน้มปรับตัวได้ดี

และเราเริ่มเห็นแนวโน้มเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้โดยเฉพาะกลุ่มตราสารหนี้ระยะยาว จากการที่กลุ่มนักลงทุนคาดว่า Fed อาจต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในที่สุดเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ

การปรับฐานหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นเติบโตส่งผลต่อ Thematic Portfolio

Thematic Portfolio ของเราที่เปิดตัวในปี 2022 เป็นพอร์ตที่นักลงทุนสามารถลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูงและสร้างการเปลี่ยนแปลงโลกได้ในระยะยาว และเป็นพอร์ตที่ออกแบบมาเพื่อเน้นการลงทุนในกลุ่มธุรกิจเฉพาะ ซึ่งต่างจากพอร์ต General Investing และ Goal-based Investing ที่มีการกระจายการลงทุนที่กว้างกว่า

ทั้งนี้ การลงทุนแบบ Thematic โดยรวม ต่างได้รับผลกระทบจากการปรับฐานอย่างรุนแรงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นกลุ่มเติบโตในช่วงที่ผ่านมาจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

1H22 returns - Nasdaq valuations

อ้างอิง: StashAway, Bloomberg, มิถุนายน 2022

ข้อมูลจากกราฟด้านบนนี้ แสดง P/E Ratio ล่วงหน้าของดัชนี Nasdaq Composite ที่เน้นน้ำหนักในกลุ่มเทคโนโลยี ลดลงจาก 31x เมื่อต้นปี เป็น 21x เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นการปรับฐานลงครั้งใหญ่ถึง 10x ซึ่งเคยเกิดขึ้นล่าสุดในช่วงวิกฤต ‘ฟองสบู่ดอตคอม’

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นโอกาสในการลงทุน เพราะ ‘Valuation’ ได้มีการปรับฐานจนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยที่ 20 ปี รวมทั้งธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยียังมีแนวโน้มการเติบโตของรายได้ในระยะยาวจากการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และหลายเทคโนโลยีเริ่มเข้าสู่ช่วง Mass adoption โดยข้อมูลในอดีตแสดงให้เห็นว่า การปรับฐานมักจะเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว

1H2022 returns - Thematic Portfolios

อ้างอิง: StashAway. ข้อมูลตั้งแต่เปิดตัวเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ - 30 มิถุนายน 2022 ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

Technology Enablers 

ในช่วงครี่งแรกของปี 2022 ธีม Technology Enablers มีผลการดำเนินงานเฉลี่ยลดลงที่ 22.7% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต, คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) และหุ้นกลุ่ม AI แต่เนื่องจาก Thematic Portfolio ของเรามีการลงทุนใน Balancing Assets หรือ ‘สินทรัพย์ปรับสมดุล’ อย่าง ทองคำ และตราสารหนี้ จึงสามารถลดผลกระทบจากการปรับตัวลงอย่างรุนแรงจากสินทรัพย์เหล่านี้ได้บางส่วน

Future of Consumer Tech 

ธีม Future of Consumer Tech ในช่วงครี่งปีแรก 2022 นี้ มีผลการดำเนินงานเฉลี่ยลดลงที่ 26.3% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับสถานการณ์ของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับตัวลดลง

Healthcare Innovation

ธีม Healthcare Innovation ในช่วงครี่งปีแรก 2022 นี้ มีผลการดำเนินงานเฉลี่ยลดลงที่ 17.8% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุหลักมาจากการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในกลุ่มธุรกิจจีโนมิกส์ (Genomics) และเทคโนโลยี Healthcare ซึ่งส่งผลกระทบต่อพอร์ตโดยรวม

Environment and Cleantech

ธีม Environment and Cleantech ในช่วงครี่งปีแรก 2022 นี้ มีผลการดำเนินงานเฉลี่ยดีกว่าธีมอื่นๆ โดยลดลงที่ 9.4% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลมาจากหุ้นกลุ่มพลังงานสะอาดซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ภาคธุรกิจที่มีผลตอบแทนเป็นบวก เช่นเดียวกันกับหุ้นกลุ่มธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม และกลุ่มธุรกิจเพื่อความยั่งยืนอื่นๆ ที่ปรับตัวลดลงน้อยกว่าภาคธุรกิจอื่น อย่างไรก็ตาม พอร์ตในระดับความเสี่ยงต่ำได้รับผลกระทบมากกว่าพอร์ตที่มีระดับความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้รวมถึงตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) สูงกว่า

ไตรมาส 3 กับสิ่งที่เรากำลังจับตามอง

เราก้าวข้ามความผันผวนในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 มาแล้ว แต่ในไตรมาส 3 นี้จะมีความท้าทายอะไรรออยู่บ้าง

จากการตรวจจับสัญญาณครั้งล่าสุดของ ERAA™ พบว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐอาจกำลังใกล้เข้าสู่ภาวะ Stagflation หรือภาวะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบแต่อัตราเงินเฟ้อสูง ขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกอย่าง ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วและรุนแรงเพื่อชะลอเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ Recession หรือภาวะถดถอยในปี 2023 โดยนักเศรษฐศาสตร์ต่างคาดการณ์ว่ามีโอกาสถึง 33% ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราอาจต้องเผชิญกับภาวะ Stagflation แต่ภาวะนี้มักจะอยู่กับเราไม่นาน ตัวอย่างเช่น ปี 2008 เศรษฐกิจของสหรัฐเข้าสู่ภาวะนี้ในระยะสั้นจากการขาดสมดุลของ Supply-Demand ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น และการหดตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤต Sub-prime ในเวลาเดียวกัน แต่ท้ายที่สุดเมื่อ Demand ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤตจึงกดดันให้ราคาสินค้าต่างๆ ลดลง และข้ามผ่านภาวะ Stagflation สู่ Recession แทน

1H2022 returns - economic regimes

ตลาดยังคงผันผวนต่อไป!

เมื่อ Fed ยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยทั้งเร็วและแรง อาจส่งผลให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ย่อมหมายถึงตลาดการลงทุนจะยังคงผันผวนไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจอาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามนโยบายของธนาคารกลางที่พยายามดูแลภาพรวมเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนนี้ ถือเป็นโอกาสให้คุณทบทวนระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตนเองอย่างแท้จริงอีกครั้ง ที่สำคัญพอร์ตที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดีและเหมาะสมกับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้ จะช่วยให้คุณสบายใจขึ้นไม่ว่าภาวะตลาดจะเป็นขาขึ้นหรือลง

อย่างไรก็ตาม คุณสามารถมั่นใจได้ว่าในช่วงการเปลี่ยนผ่านของภาวะเศรษฐกิจ กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ของเราพร้อมจะปรับพอร์ตให้เหมาะสมเพื่อบริหารความเสี่ยงและหาโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวให้พอร์ตของคุณ ทั้งนี้ ทีมงานด้านการลงทุนของ StashAway จะติดตามภาวะตลาดและข้อมูลเศรษฐกิจ รวมถึงอัปเดตประเด็นสำคัญผ่าน CIO Insights และ Market Commentary อยู่เสมอ


หมายเหตุ:

Benchmark ที่เราใช้ในการเปรียบเทียบมาจาก MSCI World Equity Index (ในส่วนของหุ้น) และ FTSE World Government Bond Index (ในส่วนของตราสารหนี้) โดยน้ำหนักของ Benchmark ที่เราใช้จะมีค่าความผันผวนที่เกิดขึ้นจริง (Realized Volatility) ในระยะเวลา 10 ปีเท่ากับระดับความเสี่ยง StashAway Risk Index

ผลตอบแทนของโมเดลพอร์ตนี้เป็นมูลค่าทั้งหมดก่อนหักค่าธรรมเนียม ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการขอคืนภาษีหัก ณ​ ที่จ่ายของเงินปันผล โดยแบบจำลองผลการดำเนินงานนี้ทำเพื่อชี้วัดประสิทธิภาพของกลยุทธ์การลงทุน ไม่รวมปัจจัยอื่นๆ

ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงในบัญชีอาจแตกต่างจากโมเดลพอร์ต ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาดำเนินการซื้อขาย, ความแตกต่างของเขตเวลา (ระหว่างวันและช่วงเวลาที่ตลาดเปิด-ปิด), ความผันผวนในแต่ละช่วงเวลาระหว่างการทำ Re-optimisation และการทำ Rebalancing, ค่าธรรมเนียม, ภาษีของเงินปันผล (และการขอคืนภาษี) และอื่นๆโดยผลตอบแทนอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นคำเสนอ คำแนะนำ คำเชื้อเชิญ หรือการชักชวนให้ท่านซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเข้าทำธุรกรรมใด ๆ

ข้อมูลนี้ไม่ได้จัดเตรียมขึ้นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลของท่าน (เช่น วัตถุประสงค์การลงทุน สถานการณ์ทางการเงิน หรือความความต้องการโดยเฉพาะ) ท่านควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย และด้านอื่น ๆ ของท่านเอง


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ