ผลการดำเนินงาน Q3/2024 ของ StashAway
สร้างผลตอบแทนที่ดีท่ามกลางความผันผวนของตลาด
ใน Q3/2024 ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงเดินหน้าต่อไปได้ดี แม้ต้องเผชิญกับความผันผวนหลายครั้ง เช่น การปรับฐานของตลาดในช่วงต้นเดือน ส.ค. เนื่องจากนักลงทุนที่ใช้กลยุทธ์ ‘Carry Trade’ พร้อมใจกันปิดสถานะที่ถือครองอยู่
แต่ในที่สุด ปัญหาเงินเฟ้อสูงที่เริ่มผ่อนคลายลง มุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ และการเริ่มวงจรการลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนตลาดหุ้นและตราสารหนี้ให้เดินหน้าต่อไป ขณะที่ทองคำปรับตัวพุ่งสูงขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวสูงขึ้น 19.1% YTD (ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 30 ก.ย. 2024) ขณะที่ตราสารหนี้โลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.7% พันธบัตรสหรัฐระยะสั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.1% และทองคำปรับตัวสูงขึ้น 27.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ในภาวะเศรษฐกิจแบบปัจจุบัน พอร์ตของ StashAway ที่บริหารโดยเทคโนโลยีการลงทุน Economic Regime Asset Allocation หรือ ERAA™ ยังคงให้ผลตอบแทน YTD เป็นบวกอย่างแข็งแกร่ง และสูงกว่า Same-risk Benchmark* โดยเฉลี่ย
แล้วผลการดำเนินงานของ StashAway ในช่วง Q3/2024 เป็นอย่างไร เราสรุปไว้ในบทความนี้:
- พอร์ต General Investing และ Goal-based Investing (ใช้พอร์ตบริหารเดียวกันจึงสามารถดูผลการดำเนินงานร่วมกันได้)
- Thematic Portfolio
เริ่มด้วยการทำความเข้าใจการแข็งค่าของเงินบาทใน Q3
ใน Q3 เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12.3% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของเงินดอลลาร์ฯ เนื่องจากตลาดเริ่ม Price In ว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยลงท่ามกลางข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลง
ใน Q3 การแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนในสกุลเงินบาทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากกองทุน ETF ที่อยู่ในพอร์ตของเราซื้อ-ขายกันในสกุลดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์อัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้น แทนที่จะพยายามคาดเดาการเคลื่อนไหวของค่าเงินในระยะสั้น วิธีที่เหมาะสมกว่าอาจเป็นการมองไปที่ภาพระยะยาว โดยการลงทุนแบบ DCA จะช่วยลดผลกระทบของความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน และอาจช่วยลดต้นทุนเฉลี่ยสำหรับการลงทุนในระยะยาว
เมื่อพูดถึงผลการดำเนินงานของแต่ละสินทรัพย์ เราจะเน้นการแสดงผลในสกุลเงินดอลลาร์ฯ เป็นหลัก เนื่องจากสะท้อนความสามารถในการบริหารพอร์ตได้ชัดเจนที่สุดก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม เราจะยังคงให้ข้อมูลในสกุลเงินบาทควบคู่ไปด้วย เพื่อให้นักลงทุนมองเห็นภาพรวมของผลตอบแทนอย่างครบถ้วน

พอร์ต General Investing และ Goal-based Investing
พอร์ต General Investing (GI) ของ StashAway มีผลตอบแทน YTD เป็นบวกในทุกระดับความเสี่ยง StashAway Risk Index (SRI) และสูงกว่า Same-risk Benchmark* โดยเฉลี่ย
โดยพอร์ต GI ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ +11.6% ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ (+5.2% ในสกุลเงินบาท) เมื่อเทียบกับ Same-risk Benchmark* ที่ +10.0% โดยเฉลี่ย

พอร์ตของเรายังคงเผชิญความผันผวนน้อยกว่า Benchmark* ซึ่งจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นในระยะยาว
นับตั้งแต่ต้นปี (1 ม.ค. - 30 ก.ย. 2024) พอร์ตของเรายังคงเผชิญความผันผวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ Same-risk Benchmark* โดยพอร์ต GI มีค่าความผันผวน (Volatility) โดยเฉลี่ยที่ 6.0% ซึ่งน้อยกว่า Benchmark* ที่ 6.6% ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งความผันผวนที่น้อยกว่าจะช่วยให้พอร์ตมีความเสี่ยงน้อยกว่า ดังนั้น Risk-adjusted Return (ผลตอบแทนปรับด้วยความเสี่ยง) YTD ในพอร์ตของเรา จึงสูงกว่า Same-risk Benchmark* ที่ 2.5 ต่อ 1.8 โดยเฉลี่ย
ทั้งนี้ ในระยะยาว การที่พอร์ตของเรามีความผันผวนน้อยกว่า จะช่วยปกป้องพอร์ตจากการปรับตัวลงอย่างรุนแรงของตลาด และทำให้มี Drawdown (จุดขาดทุนสูงที่สุดของพอร์ต) ที่น้อยกว่า ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นในระยะยาว
เราสามารถเห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจนในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูงมาก โดยตารางด้านล่างแสดงให้เห็นว่า ผลตอบแทนในพอร์ตของเราดีกว่า Benchmark* ถึง 6.7 จุดโดยเฉลี่ย

ทองคำ: การปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งเป็นตัวช่วยสร้างผลตอบแทนในพอร์ต
การที่ ERAA™ Overweight ทองคำ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนผลตอบแทนในพอร์ตของเราใน Q3 และ YTD โดยราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น การเป็นสินทรัพย์ Safe-haven ทำให้มี Demand ค่อนข้างสูง ท่ามกลางความผันผวนของตลาด ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น และการเริ่มวงจรการลดดอกเบี้ยของ Fed โดยใน Q3 ทองคำให้ผลตอบแทนอยู่ที่ +13.1% ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ และ YTD อยู่ที่ +28.5%
ก่อนหน้านี้ เราได้เพิ่มทองคำใน Benchmark ของทุกพอร์ต General Investing เช่นเดียวกับพันธบัตรสหรัฐระยะสั้น เพื่อที่จะช่วยเพิ่ม Risk-adjusted Return หรือผลตอบแทนปรับด้วยความเสี่ยง ในทุกภาวะเศรษฐกิจ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ CIO Insights: ทำความรู้จัก ERAA™ - เทคโนโลยีเบื้องหลังการบริหารพอร์ตให้เติบโตในทุกภาวะเศรษฐกิจ)
ในระยะข้างหน้า เรายังเห็นโอกาสทั้งในเชิงโครงสร้างและเชิงวัฏจักรของทองคำ โดยในระยะสั้น ทองคำอาจได้ประโยชน์จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินต่อไป และการที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ปรับตัวลดลง เนื่องจาก Fed ได้เริ่มวงจรการลดดอกเบี้ยตั้งแต่เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา
ส่วนในระยะยาวขึ้น ความกังวลที่รัฐบาลสหรัฐเตรียมจะออกพันธบัตรเพิ่มขึ้น และการที่ธนาคารกลางทั่วโลกพยายามลดสัดส่วนการถือครองเงินดอลลาร์ฯ ในทุนสำรองระหว่างประเทศ จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีให้ทองคำ
หุ้น: กลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่เริ่มมีการ Rotate ออกจากกลุ่มเทคโนโลยี
หลังตลาดเกิดการปรับฐาน 2 ครั้งในช่วงปลาย Q3 ตลาดหุ้นทั่วโลกก็กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา สินทรัพย์ที่ช่วยขับเคลื่อนตลาดได้เปลี่ยนจากหุ้น Growth และหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ไปเป็นหุ้น Value รวมถึงหุ้นขนาดเล็กและขนาดกลาง
การที่ ERAA™ ปรับ Asset Allocation ไปยังหุ้นสหรัฐและหุ้นทั่วโลกโดยรวม ช่วยให้พอร์ตของเราได้ประโยชน์จากการปรับตัวขึ้นของตลาดโดยรวม โดยเฉพาะในพอร์ตที่มี SRI สูงกว่า นอกจากนี้ ERAA™ ยังสามารถคว้าโอกาสจากการที่ตลาดเริ่ม Rotate ไปยังหุ้นกลุ่มอื่นๆ เพราะก่อนหน้านี้ ERAA™ ได้ปรับ Asset Allocation ไปยังหุ้นกลุ่มที่มีความเป็น Value มากขึ้น เช่น กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงดัชนี S&P 500 แบบ Equal-weighted
ในระยะข้างหน้า ข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐ แม้จะชะลอตัวลงบ้าง แต่ก็ยังคงทนทานได้ดี (อ่านเพิ่มเติมได้ใน CIO Insights: เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงถดถอยจริงหรือ?) นอกจากนี้ การเริ่มวงจรการลดดอกเบี้ยของ Fed เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ยังช่วยลดความเสี่ยงของภาวะ Recession ให้น้อยลงไปอีก และเมื่อพิจารณาภาพโดยรวม ปัจจัยเหล่านี้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจน่าจะยังอยู่ในภาวะ Inflationary Growth ต่อไป ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เอื้อต่อสินทรัพย์เสี่ยง และน่าจะยังคงเป็นประโยชน์ต่อหุ้นกลุ่มวัฏจักร เช่น กลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก

Demand ของสินทรัพย์ Safe-haven และการลดดอกเบี้ย ช่วยให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง
หลังจากที่ผลตอบแทนของตราสารหนี้อยู่ในแดนลบมาเกือบตลอดทั้งปี ปัจจุบัน ตราสารหนี้กลับมามีผลตอบเป็นบวกตั้งแต่เดือน ส.ค. เนื่องจากความผันผวนของตลาดทำให้นักลงทุนหันไปหาสินทรัพย์ Safe-haven มากขึ้น นอกจากนี้ แรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อสูงที่ลดลง และการที่ธนาคารกลางเกือบทั่วโลกได้เริ่มวงจรการลดดอกเบี้ย ยังช่วยสนับสนุนตราสารหนี้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ การที่ ERAA™ ปรับ Asset Allocation ไปยังตราสารหนี้ระยะยาวมากขึ้น โดยเฉพาะตราสารหนี้ Aggregate พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก ช่วยสนับสนุนผลตอบแทนในพอร์ตที่มี SRI ต่ำกว่า ขณะที่ การมีสัดส่วนของพันธบัตรสหรัฐระยะสั้น ช่วยสนับสนุนผลตอบแทนในช่วงที่ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง (อ่านเพิ่มเติมได้ใน CIO Insights: คู่มือการลงทุนตราสารหนี้ฉบับเจาะลึก)
Thematic Portfolio
หากพิจารณาผลการดำเนินงานในสกุลเงินดอลลาร์ฯ Thematic Portfolio ของเราให้ผลตอบแทน YTD ที่ดี โดยธีม Technology Enablers ให้ผลตอบแทนสูงสุด ส่วนธีม Environment and Cleantech กลับมามีผลตอบแทนเป็นบวกอีกครั้งใน Q3 ขณะที่ ธีม Future of Consumer Tech และ Healthcare Innovation ทำผลตอบแทนเป็นบวกทั้งคู่

Technology Enablers
ธีม Technology Enablers มีผลตอบแทน YTD เป็นบวกที่ +13.8% ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ (+7.3% ในสกุลเงินบาท)
แม้หุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์จะมีการย่อตัวลงบ้างใน Q3 เนื่องจากตลาดเริ่ม Rotate ออกจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ยังทำผลตอบแทนได้กว่า 40% ใน Q3 และยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของผลตอบแทน YTD ในธีมนี้ ขณะที่ กลุ่มธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้งและโรโบติกส์ ช่วยขับเคลื่อนผลตอบแทนในธีมนี้เช่นเดียวกัน
Future of Consumer Tech
ธีม Future of Consumer Tech มีผลตอบแทน YTD เป็นบวกที่ +6.1% ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ (0% ในสกุลเงินบาท)
กลุ่มธุรกิจ E-sport และเกมมิ่ง ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของธีมนี้ใน Q3 เนื่องจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของกลุ่มธุรกิจวิดีโอเกมทั่วโลก ขณะที่ กลุ่มธุรกิจ FinTech มีผลตอบแทนเป็นบวกเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งช่วยชดเชยผลตอบแทนที่ลดลงของกลุ่มธุรกิจอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้าและยานยนต์ไร้คนขับ
Healthcare Innovation
ธีม Healthcare Innovation มีผลตอบแทน YTD เป็นบวกที่ +2.6% ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ (-3.3% ในสกุลเงินบาท)
กลุ่มธุรกิจเภสัชกรรมและ Global Healthcare ยังคงทำผลตอบแทนได้อย่างแข็งแกร่งใน Q3 และช่วยสนับสนุนผลตอบแทน YTD ในธีมนี้ แม้ผู้นำในกลุ่มธุรกิจอย่าง Eli Lilly และ Novo Nordisk จะมีผลการดำเนินงานที่ชะลอตัวลงนับตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ขณะที่ การมีสัดส่วนในกลุ่มธุรกิจ Healthtech และไบโอเทค ยังช่วยสนับสนุนผลตอบแทนในธีมนี้ และช่วยชดเชยผลตอบแทนที่ลดลงของกลุ่มธุรกิจจีโนมิกส์
Environment and Cleantech
ธีม Environment and Cleantech มีผลตอบแทน YTD เป็นบวกที่ +8.0% ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ (+1.7% ในสกุลเงินบาท)
การมีสัดส่วนในกลุ่มธุรกิจ Smart Grid และเทคโนโลยีการจัดการน้ำ ยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของผลตอบแทนในธีมนี้ ขณะที่ กลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาด กลับมามีผลการดำเนินงานเป็นบวกใน Q3 ซึ่งช่วยสนับสนุนผลตอบแทนของธีมนี้เช่นเดียวกัน
Disclaimers:
Benchmark ที่เราใช้ในการเปรียบเทียบมาจาก FTSE All-World Index ในส่วนของหุ้น (ก่อนวันที่ 31 กรกฎาคม 2024 ใช้ MSCI All Country World Index และ ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2023 ใช้ MSCI World Equity Index TRI) และ ใช้ FTSE World Government Bond TRI ในส่วนของตราสารหนี้ โดยหลังจากวันที่ 24 เมษายน 2024 เราได้เพิ่ม Bloomberg 1-3 Month US Treasury Bill Index ในส่วนของพันธบัตรสหรัฐระยะสั้น และ Bloomberg Gold Subindex Total Return Index ในส่วนของทองคำ เข้าไปใน Benchmark โดยน้ำหนักของ Benchmark ที่เราใช้จะมีค่าความผันผวนที่เกิดขึ้นจริง (Realized Volatility) ในระยะเวลา 10 ปีเท่ากับระดับความเสี่ยง StashAway Risk Index
ผลตอบแทนของโมเดลพอร์ตนี้เป็นมูลค่าทั้งหมดก่อนหักค่าธรรมเนียม ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผล โดยแบบจำลองผลการดำเนินงานนี้ทำเพื่อชี้วัดประสิทธิภาพของกลยุทธ์การลงทุน ไม่รวมปัจจัยอื่นๆ
ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงในบัญชีอาจแตกต่างจากโมเดลพอร์ต ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาดำเนินการซื้อขาย, ความแตกต่างของช่วงเวลาและความผันผวนระหว่างวันในการทำ Re-optimisation และการทำ Rebalancing, ค่าธรรมเนียม, ภาษีของเงินปันผล (และการขอคืนภาษี) และอื่นๆ
การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นคำเสนอ คำแนะนำ คำเชื้อเชิญ หรือการชักชวนให้ท่านซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเข้าทำธุรกรรมใดๆ
ข้อมูลนี้ไม่ได้จัดเตรียมขึ้นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลของท่าน (เช่น วัตถุประสงค์การลงทุน สถานการณ์ทางการเงิน หรือความต้องการโดยเฉพาะ) ท่านควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย และด้านอื่นๆ ของท่านเอง