ออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง 'ไทยหรือสหรัฐ' เลือกแบบไหนดี?
ในยุคนี้ ใครๆ ก็มองหาโอกาสสร้างรายได้เพิ่ม การเลือกบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยสูงจึงเป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสนใจ เพื่อให้เงินฝากของคุณสามารถเติบโตได้อย่างคุ้มค่า บทความนี้จึงอยากพาคุณไปสำรวจบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงทั้งของประเทศไทยและสหรัฐ พร้อมเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของแต่ละประเทศเพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจ
ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยของบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงในประเทศไทย จะอยู่ที่ประมาณ 1.5% ต่อปีโดยเฉลี่ย ขณะที่ในสหรัฐจะสูงถึง 4.75-5% ต่อปีโดยเฉลี่ย ซึ่งนี่คือความแตกต่างอย่างชัดเจนที่นักลงทุนควรพิจารณา เพราะดอกเบี้ยเงินฝากในสหรัฐมักจะสูงกว่าไทย ทำให้นักลงทุนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากพลังของดอกเบี้ยทบต้นมากขึ้นไปด้วยในระยะยาว
อัปเดตบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงของธนาคารไทย ณ วันที่ 26 ก.ย. 2024
สำหรับบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงของธนาคารไทยนั้น มักจะอยู่ในรูปแบบของบัญชีเงินฝากดิจิทัล โดยสามารถเปิดบัญชีและทำรายการผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารได้อย่างสะดวกสบาย โดยปัจจุบันมีธนาคารชั้นนำที่ออกแคมเปญเงินฝากดอกเบี้ยสูงมาให้เลือกมากมาย ดังนี้
1. B-You Wealth จากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ รับดอกเบี้ยสูงสุด 5.55% ต่อปี
เงื่อนไขการฝาก :
- เฉพาะยอดฝาก 900,000-1,000,000 บาท จะได้รับดอกเบี้ย 5.55% ต่อปี
- ดอกเบี้ยเฉลี่ยสำหรับยอดฝาก 1,000,000 บาทแรก สูงสุด 1.98% ต่อปี
- จ่ายดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันที่ 20
- ฝากผ่านแอปพลิเคชัน LHB You
- เงื่อนไขนี้เฉพาะลูกค้าที่เปิดบัญชีใหม่เท่านั้น
2. แอปพลิเคชัน DIME จากธนาคารเกียรตินาคินภัทร รับดอกเบี้ยสูงสุด 3% ต่อปี
เงื่อนไขการฝาก :
- เฉพาะยอดไม่เกิน 10,000 บาท จะได้รับดอกเบี้ย 3% ต่อปี
- ยอดฝากเกิน 10,000-1,000,000 บาท จะได้รับดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี
- ดูยอดดอกเบี้ยผ่านแอปพลิเคชันได้แบบ Real-time แต่จะจ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง คือ เดือนมิถุนายน และเดือนธันวาคม ของทุกปี
- สมัครบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงและฝากผ่านแอปพลิเคชัน DIME
3. ชิลดี ซีไอเอ็มบี ไทย รับดอกเบี้ยสูงสุด 2.88% ต่อปี
เงื่อนไขการฝาก :
- ยอดฝากไม่เกิน 10,000 บาท รับดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี
- ยอดฝาก 10,001-50,000 บาท รับดอกเบี้ย 1.8% ต่อปี
- ยอดฝาก 50,001-100,000 บาท รับดอกเบี้ย 2.88% ต่อปี
- ยอดฝากตั้งแต่ 100,001 บาท รับดอกเบี้ย 0.2% ต่อปี
- จ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน - ฝากผ่านแอปพลิเคชัน CIMB THAI
4. KKP START SAVING ผ่านแอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet รับดอกเบี้ยสูงสุด 4% ต่อปี
เงื่อนไขการฝาก :
- สำหรับลูกค้า KKP START SAVING (ธนาคารเกียรตินาคินภัทร) ที่ผูกบัญชีฝากเงินผ่านแอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet
- ยอดฝาก 3,000-50,000 บาท ได้รับดอกเบี้ย 2%
- ตั้งค่าฝากเงินอัตโนมัติ เพื่อรับดอกเบี้ยโบนัสอีก 2% เมื่อมียอดฝากคงเหลือสิ้นวัน เฉพาะยอด 3,000-8,000 บาท รวมเป็น 4%
- ยอดฝาก 50,000-1,000,000 บาท ได้รับดอกเบี้ย 1.55%
- จ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง คือ เดือนมิถุนายน และเดือนธันวาคม ของทุกปี
5. Grow savings จาก Kept by krungsri รับดอกเบี้ยสูงสุด 2.22% ต่อปี
เงื่อนไขการฝาก :
- ฝากเงินเดือนที่ 1-18 รับดอกเบี้ย 1.75% ต่อปี
- ฝากเงินเดือนที่ 19-24 รับดอกเบี้ย 2.22% ต่อปี
- ดอกเบี้ยเฉลี่ย 1.87% ต่อปี
- จ่ายดอกเบี้ยทุกวันที่ 28 ของเดือน
- ฝากได้สูงสุด 5,000,000 บาท
- ฝากผ่านแอปพลิเคชัน Kept จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงต้องเลือกฝากในกระปุก Grow
6. ttb ME save จากธนาคารทหารไทยธนชาต รับดอกเบี้ยสูงสุด 2.2% ต่อปี
เงื่อนไขการฝาก :
- ดอกเบี้ยสูงที่ได้รับจะเป็นดอกเบี้ยโบนัส ซึ่งต้องมียอดฝากมากกว่ายอดถอนในแต่ละเดือนจึงจะได้รับ
- ยอดฝาก 100,000 บาทแรก จะได้รับดอกเบี้ยโบนัส 2.2% ต่อปี (ดอกเบี้ยปกติ 1%)
- ยอดฝาก 100,001-1,000,000 บาท จะได้รับดอกเบี้ยโบนัส 1.6% ต่อปี (ดอกเบี้ยปกติ 0.40%)
- ยอดฝาก 1,000,001 บาทขึ้นไป จะได้รับดอกเบี้ยโบนัส 1.2% ต่อปี (ดอกเบี้ยปกติ 0%)
- ดูยอดดอกเบี้ยผ่านแอปพลิเคชันได้แบบ Real-time แต่จะจ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง คือ เดือนมิถุนายน และเดือนธันวาคม ของทุกปี
- ฝากผ่านแอปพลิเคชัน ttb touch
7. KKP Savvy จากธนาคารเกียรตินาคินภัทร รับดอกเบี้ยสูงสุด 1.8% ต่อปี
เงื่อนไขการฝาก :
- ยอดฝากน้อยกว่า 10,000 บาท รับดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี
- ยอดฝาก 10,000-200,000 บาท รับดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี
- ยอดฝาก 200,001-2,000,000 บาท รับดอกเบี้ย 1.6% ต่อปี
- ยอดฝาก 2,000,001-5,000,000 บาท รับดอกเบี้ย 1.8% ต่อปี
- ยอดฝากตั้งแต่ 5,000,0001 บาท รับดอกเบี้ย 0.5%
- รับดอกเบี้ยสูงตั้งแต่บาทแรกถึง 5,000,000 บาท
- จ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง คือ เดือนมิถุนายน และเดือนธันวาคม ของทุกปี
- ฝากผ่านแอปพลิเคชัน KKP MOBILE
8. โปร-ฟิต จากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ รับดอกเบี้ยสูงสุด 1.75%
เงื่อนไขการฝาก :
- ยอดฝากไม่เกิน 3,000,000 บาท รับดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี
- ยอดฝาก 3,000,001-50,000,000 บาท รับดอกเบี้ย 1.75% ต่อปี
- ยอดฝาก 200,001-2,000,000 บาท รับดอกเบี้ย 1.6% ต่อปี
- ยอดฝากตั้งแต่ 50,000,001 บาท รับดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี
- จ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง คือ เดือนมิถุนายน และเดือนธันวาคม ของทุกปี
- เปิดบัญชีขั้นต่ำ 2,000 บาท และต้องมียอดคงเหลือในบัญชีขั้นต่ำ 2,000 บาท
- ไม่สามารถถอนเงินจนเหลือน้อยกว่า 2,000 บาทได้ ต้องปิดบัญชีเท่านั้น
- ฝากผ่านแอปพลิเคชัน LHB You
เช็กข้อดี-ข้อเสีย ของออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงในไทย
ข้อดี
1. มีความสะดวกสบาย ออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงของไทยสามารถทำธุรกรรมได้ง่ายและสะดวกสบายผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารในประเทศไทย เช่น ตรวจสอบยอดเงิน ฝากถอนเงิน โอนเงิน ลงทุน หรือสอบถามข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา
2. ไม่มีความผันผวนจากค่าเงิน เงินฝากในสกุลเงินบาทจะไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงิน ทำให้ผู้ฝากไม่ต้องคอยเฝ้าดูอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อหาจังหวะที่เหมาะสมในการแลกเงินเข้าหรือออก
ข้อเสีย
1. อัตราดอกเบี้ยต่ำ เมื่อเทียบกับสหรัฐ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยของบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงจะสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ปกติ แต่ก็ยังต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐ ทำให้ผลตอบแทนจากเงินฝากออมทรัพย์ในประเทศไทยอาจไม่มากเท่าที่ควร และบางประเภทมีข้อกำหนดที่ต้องทำตาม และมีการจำกัดวงเงินสูงสุดที่จะได้รับดอกเบี้ยสูงด้วย
2. ความเสี่ยงของเงินฝากส่วนเกิน แม้การฝากเงินในธนาคารไทยจะมีความปลอดภัย เนื่องจากได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาล ทำให้ผู้ฝากสามารถมั่นใจได้ว่าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น ธนาคารล้ม ผู้ฝากยังสามารถรับเงินฝากคืนได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ แต่ปัจจุบันมีการคุ้มครองเบื้องต้นสูงสุดเพียง 1,000,000 บาท
เช็กข้อดี-ข้อเสีย ของออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงในสหรัฐ
ข้อดี
1. อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าประเทศไทยมาก ธนาคารในสหรัฐมักให้ดอกเบี้ยสูงกว่า ดังนั้น การฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ในสหรัฐจึงให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า และเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการผลตอบแทนสูงจากการออมเงิน
2. เครดิตของรัฐบาลสหรัฐมีความน่าเชื่อถือสูง ทำให้การลงทุนทั้งในเงินฝากและพันธบัตรรัฐบาลเป็นทางเลือกที่มีความปลอดภัย โดยเครดิต Rating หรือความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ จาก S&P Global ของรัฐบาลสหรัฐอยู่ในระดับ AA+ ซึ่งสูงกว่าของประเทศไทยที่อยู่ในระดับ BBB+ ทำให้ผู้ฝากสามารถมั่นใจได้ว่า เงินฝากของพวกเขามีความเสี่ยงน้อยกว่าและมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดี
ข้อเสีย
1. ความเสี่ยงจากค่าเงิน การฝากเงินด้วยสกุลดอลลาร์สหรัฐ อาจจะทำให้การแลกเปลี่ยนเงินกลับมาเป็นเงินบาท มีความเสี่ยงสูงขึ้นจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะหากเงินบาทมีการแข็งค่าขึ้น ก็จะทำให้ผู้ฝากได้รับเงินน้อยลง
2. ความยุ่งยากในการลงทุน การลงทุนในต่างประเทศมีขั้นตอนและกฎระเบียบที่ยุ่งยาก ไม่เว้นแม้แต่เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงในสหรัฐ ผู้ฝากจึงอาจต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเปิดบัญชี การจัดการเงินฝาก และการทำธุรกรรมทางการเงินในต่างประเทศ รวมถึงอุปสรรคด้านภาษาด้วย
แนะนำ USD Cash Plus รับดอกเบี้ยเหมือนฝากเงินในสหรัฐได้ง่ายๆ
สำหรับนักลงทุนที่มองหากการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงของไทย และไม่ต้องการความยุ่งยากในการเปิดบัญชีเองที่สหรัฐ หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในอเมริกาก็คือ USD Cash Plus ซึ่งเป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 4.8%* ต่อปี (อ้างอิง Yield to Maturity ณ วันที่ 19 กันยายน 2567) ผ่านการลงทุนในกองทุน ETF คือ JPMorgan BetaBuilders US Treasury Bond 0-3 Months UCITS ETF โดยมีรายละเอียดและจุดเด่นที่น่าสนใจดังนี้
1. ความเสี่ยงต่ำ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากที่สุดในโลก เพราะได้รับการรับประกันจากรัฐบาล จึงมีโอกาสต่ำมากในการผิดนัดชำระหนี้
2. อัตราผลตอบแทนสูง ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นมักสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจากบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงเช่นนี้
3. ความยืดหยุ่นในการลงทุน ไม่มีกำหนดขั้นต่ำในการลงทุน ผู้ลงทุนสามารถขายคืนเพื่อทำกำไร หรือปรับเปลี่ยนการลงทุนได้ตลอดเวลาตามความต้องการ หรือตามสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
4. ค่าธรรมเนียมต่ำ มีค่าธรรมเนียมเพียง 0.3% ต่อปีเท่านั้น และไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายจากสหรัฐ (US Withholding Tax)
ทั้งนี้ ก่อนที่นักลงทุนจะเลือกฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงหรือลงทุนใดๆ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การเปรียบเทียบผลตอบแทนก็คือ การพิจารณาถึงความเสี่ยงต่างๆ เช่น ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจ นอกจากนี้ เมื่อฝากเงินหรือลงทุนไปแล้ว ก็ควรจัดการเงินฝากให้มีประสิทธิภาพ หมั่นติดตามผลตอบแทน และทำตามเงื่อนไขต่างๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่นักลงทุนคาดหวังไว้
หมายเหตุ:
* Yield to Maturity อ้างอิงจากผู้จัดการกองทุน ETF ณ วันที่ 19 ก.ย. 2024 และเป็นอัตราก่อนหักค่าธรรมเนียมการจัดการหรือ ภาษีที่เกี่ยวข้อง หรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น; Yield to Maturity ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต และมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ข้อมูลนี้ไม่ได้จัดเตรียมขึ้นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลของท่าน (เช่น วัตถุประสงค์การลงทุน สถานการณ์ทางการเงิน หรือความความต้องการโดยเฉพาะ) ท่านควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย และด้านอื่นๆ ของท่านเอง