เทคนิคการออมเงิน: 5 วิธีเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมายเร็วขึ้น

24 April 2025

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

คุณเคยไหม? ตั้งใจจะเก็บเงิน แต่พอเงินเดือนออกปุ๊บก็หายวับไปกับตา ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหมดไปกับอะไรบ้าง อาการแบบนี้เกิดได้กับทุกคน โดยเฉพาะเมื่อไม่มีระบบจัดการการเงิน ไม่มีเป้าหมาย และไม่มีวินัยมากพอ แต่จริงๆ แล้วการออมเงินไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด ถ้าเรารู้จักวางแผนและใช้เทคนิคที่ถูกต้อง วันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับ 5 เทคนิคการออมเงินที่ไม่ใช่แค่ทฤษฎี แต่เป็นแนวทางที่นักวางแผนการเงินแนะนำให้ใช้กัน

5 เทคนิคการออมเงินให้ได้ผล

การออมเงินไม่จำเป็นต้องใช้วิธีที่ยากหรือซับซ้อน ให้เริ่มต้นด้วยวิธีที่เหมาะกับตัวเอง ซึ่ง 5 เทคนิคต่อไปนี้ คือวิธีที่นักวางแผนการเงินมักแนะนำ และคุณเองก็สามารถเริ่มทำได้ทันที

1. กำหนดเป้าหมายการออมให้ชัดเจน

การจะเก็บเงินให้ได้ ต้องรู้ว่า ‘เก็บไปเพื่ออะไร’ เพราะถ้าไม่มีเป้าหมายก็เหมือนพายเรืออยู่กลางมหาสมุทรโดยไม่รู้ว่าฝั่งอยู่ทิศไหน ซึ่งเป้าหมายหลักๆ ที่แนะนำก็คือ

  • ออมเพื่อเป็นทุนสำรองฉุกเฉินเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างรถเสีย ตกงาน หรือค่ารักษาพยาบาล มักเกิดขึ้นโดยไม่ส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า การมีเงินสำรองไว้อย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน จะช่วยให้คุณไม่ต้องพึ่งบัตรเครดิต หรือกู้เงินที่ต้องเสียดอกเบี้ยสูงๆ
  • ออมเพื่อซื้อบ้าน หรือซื้อรถหากอยากมีบ้าน หรือมีรถเป็นของตัวเอง ต้องเริ่มวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ ลองคำนวณว่าต้องใช้เงินสดเท่าไหร่ในการซื้อหรือดาวน์ หลังซื้อแล้วต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรตามมาอีก และต้องใช้เวลาเก็บเงินกี่เดือน อย่าออมแบบไม่มีเป้าหมาย เพราะสุดท้ายจะรู้สึกว่าไกลเกินไป แล้วเราก็จะถอดใจเลิกออมไปเอง
  • ออมเพื่อเกษียณไม่มีใครอยากเกษียณแบบไม่มีเงินใช้ ดังนั้นยิ่งเริ่มออมเร็วเท่าไหร่ ผลตอบแทนก็ยิ่งมากขึ้นจากพลังดอกเบี้ยทบต้น ลองคิดง่ายๆ แค่คุณเริ่มออมเดือนละ 2,000 บาท โดยที่ยังไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานช่วงอายุ 22 ปี พออายุ 60 ปี คุณก็สามารถมีเงินเก็บหลักล้านได้แล้ว

2. ใช้กฎ 50/30/20 เพื่อจัดสรรเงิน

กฎ 50/30/20 คือสูตรบริหารเงินยอดฮิต ที่ทั้งเข้าใจง่ายและทำได้จริง เหมาะสำหรับคนที่ไม่รู้จะเริ่มควบคุมการใช้เงินอย่างไร 

  • 50% สำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็นเงินส่วนนี้คือค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ค่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ถ้าคิดแล้วเกิน 50% แปลว่าคุณอาจใช้จ่ายเกินตัว ควรย้อนกลับมาดูว่ามีตรงไหนลดได้บ้าง เช่น เปลี่ยนจากขับรถไปทำงานเป็นใช้รถไฟฟ้าแทน หรือถ้าจำเป็นต้องใช้รถทุกวันก็อาจจะลดการใช้ทางด่วนแล้วออกให้เช้าขึ้นแทน เป็นต้น
  • 30% สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตัวใครๆ ก็ต้องการความสุขในชีวิต เราจึงไม่ควรเก็บเงินจนไม่ได้ใช้ชีวิต ดังนั้นการกินกาแฟดีๆ สักแก้ว หรือดูหนังสักเรื่อง ไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือยถ้าคุณมีการวางแผนที่ดี ส่วนนี้คือรางวัลของชีวิต แต่ต้องระวังอย่าให้บานปลาย เช่น อย่าซื้อของออนไลน์ทุกวันจนเงินเก็บหดหาย
  • 20% สำหรับการออมและการลงทุนส่วนนี้คือเงินที่จะช่วยให้คุณมีอนาคตทางการเงินที่มั่นคงขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ออมใส่บัญชีเงินฝากเท่านั้น แต่รวมถึงการแบ่งบางส่วนไปลงทุนเพิ่มเติม เช่น กองทุน หุ้น หรือทองคำ เริ่มจากเงินน้อยๆ และทำได้ทันทีด้วยวิธี DCA โดยไม่ต้องรอให้มีเงินเยอะก่อนแล้วเริ่มลงทุน

Tips: ถ้าอยากเร่งให้ถึงเป้าหมายเร็วขึ้น ลองลดค่าใช้จ่ายในหมวด 30% มาเติมในหมวด 20% แทน เช่น จากที่เคยเที่ยวทุกเดือน อาจเปลี่ยนเป็นเที่ยวแบบประหยัด หรือเว้นบ้างบางเดือนก็ได้ หรือจะหารายได้เสริมมาลงทุนเพิ่มก็ยิ่งดีกับตัวคุณ

3. ใช้เทคนิค ‘ออมก่อนใช้’ ไม่ใช่ ‘เหลือแล้วค่อยออม’

ความผิดพลาดอันดับแรกที่ทำให้คนออมเงินไม่ได้ คือการ ‘ใช้ก่อน แล้วค่อยเก็บ” ซึ่งโดยปกติแล้วจะทำให้เราแทบไม่มี ‘เหลือเก็บ’ เลย

  • จัดลำดับความสำคัญใหม่พอเงินเข้าบัญชี ให้รีบโอนเข้าบัญชีออมทันที เหลือเท่าไหร่ค่อยคิดว่าจะใช้ยังไงต่อเหมือนคุณจ่ายให้ ‘อนาคตของตัวเอง’ ก่อน แล้วค่อยใช้จ่ายเพื่อ ‘ปัจจุบัน’ นี่คือสูตรสำเร็จของการออมเลยก็ว่าได้ข้อดีของวิธีนี้ก็คือ เมื่อคุณเหลือเงินน้อยลงแล้ว ก่อนใช้คุณจะรอบคอบมากขึ้น เช่น จะซื้อกระเป๋าใบนี้ดีไหม เพราะรู้ว่าเงินมีให้ใช้จำกัด ไม่ใช่ใช้จนเพลินแล้วมาเครียดเอาปลายเดือน

4. ตั้งออมเงินอัตโนมัติ (Automatic Saving)

สำหรับใครที่รู้ตัวว่า ‘ขี้ลืม’ หรือ ‘ใจอ่อนทุกครั้งที่เห็นป้าย Sale’ การตั้งค่าบัญชีออมเงินอัตโนมัติ คือ ทางออกที่ดีที่สุด

  • ตั้งหักเงินเข้าบัญชีออมทุกเดือนปัจจุบันแอปพลิเคชันธนาคารสามารถตั้งค่าให้โอนเงินเข้าอีกบัญชีทันทีหลังเงินเดือนเข้า วิธีนี้จะช่วยให้คุณสามารถออมเงินได้ทันทีก่อนนำไปใช้จ่ายอื่นๆ โดยไม่ต้องลุ้นว่าจะเหลือเงินออมมากแค่ไหน
  • ใช้แอปธนาคารที่มีฟีเจอร์ช่วยออมหลายแอปธนาคารมีฟีเจอร์เด็ดๆ เช่น หักเศษเงินหลังใช้จ่ายไปออมไว้ หรือโอนเข้าบัญชีเป้าหมายอัตโนมัติเมื่อครบเงื่อนไขที่ตั้งไว้
  • ตั้งกฎส่วนตัว เช่น เก็บ 10% ของรายได้จากทุกช่องทางเสมอเป็นกฎเหล็กง่ายๆ ที่ช่วยสร้างวินัยทางการเงิน ยิ่งทำสม่ำเสมอเท่าไหร่ ยิ่งเห็นผลลัพธ์เร็วขึ้น และหลายๆ คนอาจมีรายได้จากหลายช่องทาง ดังนั้นให้ใช้กฎนี้กับทุกรายได้ที่เกิดขึ้นด้วย

5. เก็บเงินในสินทรัพย์ที่เหมาะกับเป้าหมาย

อย่างที่เราบอกไปตั้งแต่ต้นว่า การเก็บเงินไม่ใช่แค่เอาใส่กระปุก หรือทิ้งไว้ในบัญชีเงินฝาก เพราะเงินอาจงอกเงยได้ช้า และที่สำคัญคือต้องเลือก ‘ที่เก็บ’ ให้เหมาะกับเป้าหมายด้วย

  • บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงเหมาะสำหรับเก็บเงินฉุกเฉิน เพราะถอนง่าย ไม่เสียค่าธรรมเนียม ได้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ปกติ โดยปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1.5% ต่อปี แต่ไม่ควรเก็บเงินก้อนใหญ่แบบระยะยาวไว้ที่นี่
  • ETF ตราสารหนี้, กองทุนรวมตลาดเงิน หรือตราสารหนี้อื่นๆ เหมาะกับคนที่ต้องการผลตอบแทนมากกว่าการฝากไว้กับธนาคาร แต่ก็ไม่อยากเสี่ยงมาก ซึ่งปัจจุบันสามารถลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ง่ายๆ และไม่ต้องใช้เงินเยอะในแต่ละครั้งด้วย
  • ETF ตราสารทุน, หุ้น หรือกองทุนหุ้นเหมาะสำหรับเป้าหมายระยะยาว เช่น เก็บเพื่อเกษียณ หรือสร้างความมั่งคั่งในอนาคต อาจมีความผันผวนบ้าง แต่ถ้าถือยาวๆ ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการออมทั่วไป

เปลี่ยน ‘ความตั้งใจ’  ให้กลายเป็น ‘เงินในบัญชี’

สรุปแล้วการออมไม่ใช่เรื่องของ ‘รายได้’ เพียงอย่างเดียว แต่คือ ‘พฤติกรรม’ และ ‘ระบบ’ ที่คุณออกแบบให้กับตัวเอง บางคนเงินเดือนหลักหมื่นต้นๆ ยังสามารถออมถึงหลักล้านได้ แต่บางคนเงินเดือนครึ่งแสน กลับไม่มีเงินเก็บเลยก็มีให้เห็นบ่อยๆ

เพียงคุณเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ที่ทำได้จริงตั้งแต่วันนี้ ไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งหมดในวันเดียว เช่น หักเงินอัตโนมัติเดือนละ 500 บาท ลดกาแฟแก้วละ 100 เหลือสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง หรือแบ่งเงินบางส่วนไปลงทุนในกองทุนที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้น แค่สิ้นปีก็เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนแล้ว รับรองว่าทุกบาทที่ออมได้ในวันนี้ จะช่วยให้คุณใช้ชีวิตในวันข้างหน้าได้อย่างอิสระมากขึ้นอย่างแน่นอน

หมายเหตุ:

การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต; การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นคำเสนอ คำแนะนำ คำเชื้อเชิญ หรือการชักชวนให้ท่านซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเข้าทำธุรกรรมใดๆ

ข้อมูลนี้ไม่ได้จัดเตรียมขึ้นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลของท่าน (เช่น วัตถุประสงค์การลงทุน สถานการณ์ทางการเงิน หรือความความต้องการโดยเฉพาะ) ท่านควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย และด้านอื่นๆ ของท่านเอง


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ