เริ่มลงทุนง่ายๆ ผ่าน ETF ที่ใครๆ ก็ลงทุนได้
หากคุณอยากเริ่มลงทุนแต่ไม่รู้จะซื้อหุ้นตัวไหนดี หรือไม่อยากเสียเวลาศึกษาหุ้นรายตัว แต่ยังอยากได้ผลตอบแทนที่ดี ETF อาจเป็นคำตอบที่คุณกำลังมองหา เพราะเป็นทางเลือกที่ง่าย ซื้อขายได้เหมือนหุ้นทั่วไป และยังสะดวกเพราะไม่ต้องวิเคราะห์หุ้นรายตัว นอกจากนี้ยังเป็นตัวช่วยกระจายความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากคุณยังไม่เคยรู้จักกับ ETF มาก่อน บทความนี้จะพาคุณทำความเข้าใจว่า ETF คืออะไร มีข้อดีอย่างไร และเหมาะกับใครบ้าง รวมถึงแนะนำวิธีเริ่มลงทุนใน ETF อย่างง่ายๆ สำหรับมือใหม่ทุกคน
ETF คืออะไร?
ETF หรือ Exchange-traded Fund คือกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษตรงที่สามารถซื้อขายได้ Real-time เหมือนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดย ETF จะลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์หรือดัชนีต่างๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ หรือน้ำมัน
เมื่อคุณเริ่มลงทุน ETF เพียงตัวเดียว เท่ากับคุณได้ลงทุนในสินทรัพย์หลายร้อยหรือหลายพันรายการในคราวเดียว ทำให้เกิดการกระจายความเสี่ยงโดยอัตโนมัติโดยที่คุณไม่ต้องเลือกหุ้นรายตัวเอง นอกจากนี้ ETF มักมีค่าธรรมเนียมการจัดการที่ต่ำกว่ากองทุนรวมทั่วไป เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการลงทุนแบบ Passive (ลงทุนอ้างอิงผลตอบแทนตามดัชนี) ทำให้ไม่ต้องมีทีมงานคอยวิเคราะห์และเลือกหุ้นรายตัวเหมือนกองทุนแบบ Active
ข้อดีของการลงทุนผ่าน ETF
การลงทุนใน ETF ทั้งสะดวกและมาพร้อมกับประโยชน์หลายด้านที่ตอบโจทย์นักลงทุนทุกคน ซึ่งข้อดีของ ETF จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่า นี่คือเครื่องมือที่เหมาะกับคุณหรือไม่
1. กระจายความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ETF ช่วยให้คุณลงทุนในหลายร้อยหรือหลายพันบริษัทได้พร้อมกัน เพียงแค่ซื้อ ETF เพียงตัวเดียว ซึ่งหากบริษัทใดบริษัทหนึ่งประสบปัญหา ผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนของคุณจะน้อยกว่า เมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นเพียงไม่กี่ตัว
2. ต้นทุนการลงทุนต่ำ ETF มีค่าธรรมเนียมการจัดการที่ต่ำกว่ากองทุนรวมทั่วไปมาก บาง ETF มีค่าธรรมเนียมเพียง 0.03-0.10% ต่อปี เทียบกับกองทุนรวมที่มักเรียกเก็บ 1-2% ต่อปี ซึ่งส่วนต่างนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผลตอบแทนระยะยาวของคุณ
3. ซื้อขายง่ายเหมือนหุ้น คุณสามารถเริ่มลงทุนใน ETF ผ่านแอปพลิเคชันของ บลจ. เหมือนหุ้นทั่วไป และสามารถซื้อขายได้ตลอดเวลาที่ตลาดเปิดทำการ และทราบราคาแบบ Real-time ต่างจากกองทุนรวมทั่วไปที่จะรู้ราคาหลังตลาดปิดเท่านั้น
4. มีสินทรัพย์หลากหลายประเภทให้เลือก ไม่ว่าคุณสนใจลงทุนในอะไร มักมี ETF ที่ตอบโจทย์ความต้องการ ตั้งแต่ ETF ที่ลงทุนในดัชนีหลัก ไปจนถึง ETF ตามธีม เช่น AI พลังงานสะอาด หรือแม้แต่อุตสาหกรรมอวกาศ
5 ประเภท ETF ยอดนิยม
ทราบข้อดีของ ETF ไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเลือกประเภทของ ETF ที่เหมาะกับเป้าหมายการลงทุนของคุณ ปัจจุบันมี ETF หลากหลายรูปแบบให้เลือกลงทุน โดยเฉพาะ ETF 5 ประเภทที่ได้รับความนิยมสูงเหล่านี้ ซึ่งคุณสามารถใช้เป็นแนวทางในการเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายของตัวเองได้
1. ETF ติดตามดัชนีหุ้น
ETF ประเภทนี้ลงทุนตามดัชนีหุ้นที่มีชื่อเสียง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างความมั่งคั่ง เช่น
- IVV อ้างอิงตามดัชนี S&P 500 Index ลงทุนใน 500 บริษัทชั้นนำของสหรัฐ เป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับมือใหม่
- VYM อ้างอิงตามดัชนี FTSE High Dividend Yield Index เน้นลงทุนในหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสูง เหมาะกับผู้ที่ต้องการรายได้สม่ำเสมอ
2. ETF ตราสารหนี้
ETF ประเภทนี้ลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้ ซึ่งมีความผันผวนต่ำกว่า ETF หุ้น เหมาะกับผู้ที่ต้องการความมั่นคงและได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอ
- AGGG ลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้คุณภาพดีทั่วโลก ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ
- BB3M ลงทุนในพันธบัตรสหรัฐระยะสั้น (0-3 เดือน) เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมาก และปัจจุบันให้ผลตอบแทนสูงกว่าบัญชีเงินฝากประจำ
3. ETF ทองคำ / สินค้าโภคภัณฑ์
ETF ประเภทนี้ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและความผันผวนของตลาดหุ้น มักใช้เป็นส่วนเสริมในพอร์ตการลงทุน
- GLD (SPDR Gold Trust) ลงทุนในทองคำ ซึ่งมักให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่เศรษฐกิจเผชิญความไม่แน่นอน
- SIVR (abrdn Physical Silver Shares) ลงทุนในแร่เงิน ซึ่งเป็นโลหะมีค่าที่มีการใช้งานจริงในเชิงอุตสาหกรรม
4. Thematic ETF
ETF ประเภทนี้เน้นลงทุนตามแนวโน้มหรือธีมเฉพาะทางที่มีศักยภาพเติบโตสูงในระยะยาว เหมาะกับผู้ที่เชื่อในธีมการลงทุนนั้นๆ
- XAIX (Xtrackers Artificial Intelligence and Big Data) ลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ AI, Big Data และ Cybersecurity
- URA (Global X Uranium) ลงทุนในอุตสาหกรรมยูเรเนียมและพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่กำลังได้รับความสนใจ
5. ETF ตลาดทั่วโลก
ETF ประเภทนี้ช่วยให้คุณเริ่มลงทุนแบบกระจายการลงทุนทั่วโลก ไม่จำกัดเฉพาะตลาดใดตลาดหนึ่ง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ได้
- ISAC (iShares MSCI ACWI UCITS) ลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งในตลาดพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่
- VEU (Vanguard FTSE All World ex-US) ลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่นอกสหรัฐ ช่วยให้พอร์ตมีความหลากหลายมากขึ้น
เริ่มลงทุน ETF ง่าย ๆ ใน 3 ขั้นตอน
การลงทุนใน ETF ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด คุณสามารถทำได้ด้วยตัวเองง่ายๆ ใน 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. เลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสม
เช่นเริ่มต้นด้วยการเปิดบัญชีกับ บลจ. ที่รองรับการซื้อขาย ETF อย่าง StashAway ที่ช่วยจัดพอร์ต ETF ตามความเสี่ยงที่คุณรับได้ พร้อมปรับพอร์ตให้คุณแบบอัตโนมัติตามข้อมูลเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยไม่มีค่าธรรมเนียมยิบย่อย ใช้งานง่าย และมี ETF ให้เลือกหลากหลาย
2. เลือก ETF ที่เหมาะกับเป้าหมายการลงทุน
เมื่อเปิดบัญชีแล้ว ให้พิจารณาว่าคุณมีเป้าหมายการลงทุนอย่างไร
- อยากเริ่มลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างความมั่งคั่ง: พิจารณา ETF ดัชนีหุ้นอย่าง S&P 500
- ต้องการความมั่นคงและรายได้สม่ำเสมอ: เลือก ETF ตราสารหนี้หรือหุ้นปันผล
- อยากลงทุนในแนวโน้มอนาคต: ดู Thematic ETF ที่ตรงกับความเชื่อมั่นของคุณ
- ต้องการกระจายความเสี่ยง: เลือก ETF ที่ลงทุนทั่วโลก
ทั้งนี้ในการจัดพอร์ตนั้นไม่จำเป็นต้องเลือก ETF เพียงตัวเดียว คุณสามารถลงทุนใน ETF หลายตัวเพื่อสร้างพอร์ตที่สมดุลตามความต้องการของคุณได้ และถ้าไม่รู้จะเลือกอะไร การกระจายการลงทุนกับพอร์ต General Investing ของ StashAway ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
3. ซื้อและถือระยะยาว
เมื่อเลือก ETF ได้แล้ว เทคนิคที่ดีที่สุดสำหรับนักลงทุนมือใหม่คือ การใช้วิธี Dollar-cost Averaging (DCA) หรือการทยอยลงทุนด้วยเงินเท่าๆ กันอย่างสม่ำเสมอ ดังนี้
- กำหนดจำนวนเงินที่จะลงทุนในแต่ละเดือน เช่น 5,000 บาท หรือ 10,000 บาท
- ซื้อ ETF ด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กันทุกเดือน โดยไม่ต้องสนใจว่าราคาจะขึ้นหรือลง
- ถือระยะยาว อย่างน้อย 5-10 ปีขึ้นไป เพื่อให้พลังของดอกเบี้ยทบต้นได้ทำงานอย่างเต็มที่
วิธีนี้จะช่วยให้คุณเฉลี่ยต้นทุนการลงทุน ลดความเสี่ยงจากการจับจังหวะตลาด และสร้างวินัยการลงทุนในระยะยาว
ตัวอย่างพอร์ต ETF สำหรับมือใหม่
หากคุณเริ่มลงทุนและกำลังมองหาแนวทางในการจัดพอร์ต ETF ลองพิจารณาตัวอย่างพอร์ตต่อไปนี้ตามระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้
1. พอร์ตเน้นเติบโต (Growth)
เหมาะสำหรับผู้ที่มีระยะเวลาลงทุนยาวๆ และรับความผันผวนได้สูง โดยเน้นลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต โดยมีทองคำเป็นตัวป้องกันความเสี่ยงบางส่วน
- 60% - S&P 500 ETF (IVV)
- 30% - Thematic ETF (XAIX, URA)
- 10% - ทองคำ (GLD)
2. พอร์ตสมดุล (Balanced)
เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการหาจุดสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทน โดยมีสัดส่วนของตราสารหนี้เพื่อช่วยลดความผันผวน ขณะที่ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีจากหุ้น
- 40% - S&P 500 ETF (IVV)
- 30% - พันธบัตร (AGGG)
- 20% - ทองคำ (GLD)
- 10% - หุ้นนอกสหรัฐ (VEU)
3. พอร์ตความเสี่ยงต่ำ (Conservative)
เหมาะสำหรับผู้ที่เน้นรักษาเงินต้นและต้องการผลตอบแทนสม่ำเสมอ เน้นความมั่นคง เหมาะสำหรับผู้ที่ใกล้เกษียณหรือไม่ต้องการความผันผวนสูง
- 50% - พันธบัตรรัฐบาล (AGGG)
- 30% - หุ้นปันผล (VYM)
- 20% - ทองคำ (GLD)
สรุป: ETF เหมาะกับใคร?
ETF เป็นเครื่องมือการลงทุนที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความสะดวกและประสิทธิภาพจากการลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนมือใหม่ที่ยังไม่มีความรู้ด้านการวิเคราะห์หุ้นรายตัว ETF จะช่วยให้เริ่มลงทุนได้ง่าย ไม่ต้องใช้เวลาศึกษาหุ้นเป็นรายบริษัท อีกทั้งยังช่วยประหยัดเวลา เพราะไม่ต้องติดตามข่าวสารรายวันหรืองบการเงินของแต่ละบริษัท เนื่องจาก ETF มีการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ให้แล้ว ทำให้ความเสี่ยงโดยรวมลดลงได้
อีกจุดเด่นที่ไม่ควรมองข้ามคือ ค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่ากองทุนรวมทั่วไป ซึ่งในระยะยาวสามารถเพิ่มผลตอบแทนสุทธิได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญ ด้วย ETF เพียงไม่กี่ตัว คุณก็สามารถสร้างพอร์ตที่สมดุลและกระจายความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพทั่วทั้งโลก
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรตระหนักว่า แม้ ETF จะช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดีและดูเหมือนปลอดภัยกว่าการลงทุนในหุ้นรายตัว แต่ก็ยังคงมีความผันผวนตามสินทรัพย์อ้างอิง เช่น ดัชนีหุ้น พันธบัตร หรือทองคำ ซึ่งอาจส่งผลให้มูลค่าการลงทุนลดลงได้ในบางช่วงเวลา ดังนั้น ควรประเมินระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ก่อนตัดสินใจเริ่มลงทุน เพื่อให้ลงทุนใน ETF ได้อย่างมั่นใจและสอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินของคุณ
หมายเหตุ:
การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต; การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นคำเสนอ คำแนะนำ คำเชื้อเชิญ หรือการชักชวนให้ท่านซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเข้าทำธุรกรรมใดๆ
ข้อมูลนี้ไม่ได้จัดเตรียมขึ้นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลของท่าน (เช่น วัตถุประสงค์การลงทุน สถานการณ์ทางการเงิน หรือความความต้องการโดยเฉพาะ) ท่านควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย และด้านอื่นๆ ของท่านเอง