กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ของ StashAway

01 March 2017
Freddy Lim
Co-founder

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

StashAway มีความมุ่งมั่นที่จะส่งมอบการลงทุนมาตรฐานเดียวกับสถาบันการเงินระดับโลกให้สำหรับทุกคน เราจึงพัฒนากลยุทธ์การลงทุนที่มีชื่อว่า ERAA™ (Economic Regime-based Asset Allocation) ซึ่งจะวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐกิจและบริหาร Asset Allocation ให้เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพื่อบริหารความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุนไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไร

กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ คิดค้นขึ้นจากงานวิจัยย้อนหลังหลายสิบปีและพัฒนาจนเกิดเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ Data Point ทางเศรษฐกิจหลายพันจุดในการวิเคราะห์และบริหาร Asset Allocation อย่างเป็นระบบ จึงเป็นการบริหารพอร์ตที่ยึดตามข้อมูลเป็นสำคัญ ปราศจากอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์


Key takeaway: 

  • งานวิจัยหลายฉบับพบว่า ส่วนสำคัญในการสร้างผลตอบแทนระยะกลางถึงระยะยาวของพอร์ตการลงทุนส่วนใหญ่มาจากการบริหาร Asset Allocation และจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่จากภาวะตลาด
  • กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ของเราใช้ข้อมูลทางเศรษฐกิจเพื่อบริหารความเสี่ยงของพอร์ตตามระดับ SRI ที่คุณกำหนดไว้ ในขณะเดียวกันยังเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้ดีที่สุดในแต่ละภาวะเศรษฐกิจ
  • ERAA™ มี 4 หลักการในการบริหารพอร์ต คือ การปรับ Asset Allocation ตามภาวะเศรษฐกิจ, การจัดการความเสี่ยง, ช่องว่างของมูลค่า และการจัดการความเสี่ยงของแต่ละสินทรัพย์
  • การทำ Re-optimisation ของ ERAA™ มีเป้าหมายเพื่อปกป้องและรักษาความเสี่ยงของพอร์ตไม่ว่าจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจใด โดยการทำ Re-optimisation จะเกิดขึ้นเมื่อระบบตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ, สถานการณ์ตลาดมีความไม่แน่นอนสูง หรือมูลค่าสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

ERAA™ มีกลไกการทำงานอย่างไร?

โดยทั่วไปการบริหารพอร์ตการลงทุนมักจะยึดตามทฤษฎี Modern Portfolio Theory (MPT) ที่ได้รับรางวัล Nobel สาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวคิดการสร้างพอร์ตให้ได้ผลตอบแทนคาดหวังที่สูงที่สุดในแต่ละระดับความเสี่ยง แต่งานวิจัยหลายฉบับในภายหลังได้ระบุว่าทฤษฎีนี้ไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลอย่างยิ่งต่อผลตอบแทน ความผันผวน และความสัมพันธ์ของแต่ละสินทรัพย์

กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ จึงนำทฤษฎี MPT มาพัฒนาขึ้นอีกขั้นเพื่อให้การบริหารพอร์ตมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยให้ครอบคลุมถึงปัจจัยภายนอก (Externalities) และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

ERAA™ เน้นการบริหาร Asset Allocation แทนการเลือกหลักทรัพย์รายตัว

ผลจากงานวิจัยแสดงให้เห็นอย่างต่อเนื่องว่า กองทุนแบบ Active มีแนวโน้มที่จะทำผลตอบแทนได้ต่ำกว่า Benchmark ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยงานวิจัย SPIVA US Scorecard ในปี 2021 ที่เปรียบเทียบผลการดำเนินงานของผู้จัดการกองทุนแบบ Active ของสหรัฐเมื่อเทียบกับ Benchmark S&P ที่เกี่ยวข้อง พบว่า

  • 79.6% ของกองทุนหุ้นสหรัฐ มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าดัชนี S&P Composite 1500 ในปี 2021
  • 90% ของกองทุนเหล่านี้ทำผลตอบแทนได้ต่ำกว่าดัชนี S&P Composite 1500 ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ งานวิจัยระยะยาวอีกหลายฉบับยังได้สรุปว่า 80-96% ของผลตอบแทนในพอร์ตเกิดจากการบริหาร Asset Allocation ที่ดี ไม่ใช่จากการเลือกหลักทรัพย์รายตัว

นี่คือสาเหตุที่ StashAway มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการบริหาร Asset Allocation แทนการเลือกหลักทรัพย์รายตัว เราจะไม่วิเคราะห์และตัดสินใจว่าต้องซื้อหุ้น Apple หรือ Alphabet แต่ระบบจะวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐกิจและตัดสินใจว่าควรเพิ่มนํ้าหนักใน ‘หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐ’ หรือไม่ หรือควรเปลี่ยนไปลงทุนใน ‘หุ้นกลุ่มตลาดเกิดใหม่’, ‘พันธบัตรรัฐบาลระยะยาว’ หรือทองคำแทน เพื่อออกแบบ Asset Allocation ของพอร์ตที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ

นอกจากนี้ ที่ StashAway เราเลือกที่จะสร้างพอร์ตให้นักลงทุนด้วย ETF (กองทุนรวมที่ซื้อ-ขายบนตลาดหลักทรัพย์) ซึ่งมีการกระจายความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ มีสภาพคล่องสูง และมีค่าธรรมเนียมต่ำ รวมทั้งยังทำให้เราสามารถเข้าถึงสินทรัพย์หลากหลายประเภทและจากหลายภูมิภาคทั่วโลกได้อีกด้วย

4 หลักการของ ERAA™

ERAA™ ใช้ 4 หลักการสำคัญต่อไปนี้เป็นแนวทางในการบริหาร Asset Allocation ของพอร์ตการลงทุน

หลักการที่ 1: การปรับ Asset Allocation ตามภาวะเศรษฐกิจ (Regime-based Asset Allocation)

ผลตอบแทนและความผันผวนของแต่ละสินทรัพย์จะเปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น หุ้นมักสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตและอัตราเงินเฟ้อต่ำ ทั้งนี้ ไม่ใช่หุ้นทุกประเภทจะสร้างผลตอบแทนที่ดีได้เหมือนกันเสมอไป

ในช่วงที่เศรษฐกิจดี (Good Times) หุ้น Growth อย่างหุ้นบริษัทขนาดเล็ก (Small-cap) มักสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าหุ้น Defensive อย่างหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค และหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ในทางกลับกัน เมื่อเศรษฐกิจหดตัว หุ้น Defensive มักจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่าหุ้น Growth นอกจากนี้ พันธบัตรและทองคำ มักทำผลตอบแทนได้ดีกว่าหุ้นในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัว

Performance of Different Asset Classes Across Economic Regimes

ด้วยเหตุนี้ ERAA™ จึงวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเพื่อระบุภาวะเศรษฐกิจ แล้วจึงจัด Asset Allocation ที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจนั้นๆ โดย ERAA™ แบ่งภาวะเศรษฐกิจออกเป็น 4 แบบ (อ่าน ‘ภาวะเศรษฐกิจ’ เพิ่มเติมได้ในหัวข้อด้านล่าง)

หลักการที่ 2: การจัดการความเสี่ยง (Risk Control)

ท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก อาจมีบางช่วงเวลาที่สัญญาณทางเศรษฐกิจตามหลักการที่ 1 มีความไม่ชัดเจน ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากภาวะเศรษฐกิจหนึ่งไปสู่อีกภาวะหนึ่ง เช่น หากการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 0.1% เราควรปรับพอร์ตให้เป็นกลยุทธ์เติบโต (Growth-oriented) หรือไม่ หรือหากการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ -0.1% เราควรปรับพอร์ตให้เป็นกลยุทธ์เชิงรับ (Defensive) แล้วหรือยัง

ในกรณีที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจมีความไม่ชัดเจน ERAA™ จะทำการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง (Momentum) ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มเติมเพื่อประเมินทิศทางที่ชัดเจนของเศรษฐกิจ แต่หากข้อมูลยังไม่สามารถนำไปสู่ข้อสรุปได้ ระบบจะปรับพอร์ตไปใช้กลยุทธ์แบบ All-Weather แทน จนกว่าข้อมูลทางเศรษฐกิจจะชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ กลยุทธ์ All-Weather ออกแบบมาเพื่อปกป้องพอร์ตและสร้างผลตอบแทนที่ดีไปพร้อมกันในช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน

หลักการที่ 3: ช่องว่างของมูลค่า (Valuation Gaps)

กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ จะคอยประเมิน ‘มูลค่ายุติธรรม’ จากข้อมูลพื้นฐานของแต่ละสินทรัพย์และเปรียบเทียบกับ ‘มูลค่าตลาดปัจจุบัน’ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเมื่อตรวจพบ Valuation Gap (ส่วนต่างระหว่างมูลค่ายุติธรรมกับมูลค่าตลาดปัจจุบัน) ที่มีนัยสำคัญ ระบบจะปรับพอร์ตของนักลงทุนให้สอดคล้อง เช่น ถ้า ERAA™ ประเมินข้อมูลและพบว่า หุ้นทวีปเอเชียมีราคาต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรมที่ระบบระบุไว้ หรือ Undervalued ระบบจะปรับพอร์ตโดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์นี้เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น

ภาพด้านล่างเป็นกราฟที่แสดงตัวอย่างการทำ Re-optimisation ของ ERAA™ เมื่อพบว่า XLK (ETF หุ้นบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐ) มีช่องว่างของมูลค่าแตกต่างกัน โดยเป็นการเปรียบเทียบระหว่าง:

- เส้นสีดำ มูลค่ายุติธรรม ที่ประเมินด้วย ERAA™ (Model 3-Year Total Return)

- เส้นสีส้ม มูลค่าตลาดปัจจุบัน (Actual 3-Year Total Return)

ซึ่งจะเห็นว่า เส้นสีส้มมักเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับเส้นสีดำ แต่มีบางช่วงที่ทั้ง 2 เส้นมีระยะห่างจากกัน โดยค่าความต่างของ 2 เส้นนี้จะนำมาสร้างเป็นกราฟเส้นสีเขียว หรือ Valuation Gap ตามภาพด้านล่าง

Valuation Gap of XLK vs Growth, Inflation and Interest Rate

หลักการที่ 4: การจัดการความเสี่ยงเฉพาะของแต่ละสินทรัพย์ (Managing Asset-specific Risk)

หลักการที่ 4 นี้เริ่มใช้เมื่อเดือน พ.ย. 2021 เพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งโดยเฉพาะให้ดียิ่งขึ้น โดย ERAA™ จะกำหนด ‘สัดส่วนการลงทุนสูงสุด’ ของแต่ละสินทรัพย์ในการทำ Asset Allocation โดยอ้างอิงผลการดำเนินงานในอดีตของสินทรัพย์นั้นๆ เปรียบเทียบกับ Benchmark ของพอร์ตการลงทุน

จากนั้น ERAA™ จะคอยเปรียบเทียบกับดัชนี MSCI AC World Index และดัชนี FTSE World Government Bond Index อย่างต่อเนื่อง โดย ERAA™ จะปรับสัดส่วนการลงทุนสูงสุดของแต่ละสินทรัพย์เพื่อช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่สินทรัพย์นั้นๆ ปรับตัวลงอย่างมากจากปัจจัยเฉพาะ

หากสินทรัพย์ใดทำผลตอบแทนได้ดีกว่า Benchmark* อย่างมีนัยสำคัญ อาจทำให้สัดส่วนของสินทรัพย์นั้นในพอร์ตเพิ่มขึ้นมากเกินไป ซึ่ง ERAA™ จะคอยตรวจสอบให้มั่นใจว่าสัดส่วนของสินทรัพย์นั้นยังคงอยู่ภายใต้เพดานที่กำหนดไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงการลงทุนแบบกระจุกตัวมากเกินไปในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง

ภาวะเศรษฐกิจ (Economic Regime) ทั้ง 4 แบบ มีอะไรบ้าง

เรากำหนดภาวะเศรษฐกิจตามความสัมพันธ์ระหว่าง ‘อัตราเงินเฟ้อ’ กับ ‘อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ’ โดยแบ่งออกเป็น

Good Times: เศรษฐกิจเติบโต, เงินเฟ้อต่ำ

เมื่อผ่านช่วงภาวะ Recession และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วกว่าเงินเฟ้อ หรือการเติบโตที่แท้จริง (Real Growth) เป็นบวก ถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Inflationary Growth: เศรษฐกิจเติบโต, เงินเฟ้อสูง

เมื่อเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วจนถึงจุดหนึ่ง อัตราเงินเฟ้อจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น จนประสิทธิภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจเริ่มลดลง ในภาวะนี้ผลตอบแทนจากสินทรัพย์เสี่ยงมักจะปรับตัวลดลงด้วย

Stagflation: เศรษฐกิจถดถอย, เงินเฟ้อสูง

เมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ได้รับการควบคุมหรือสูงจนไม่สามารถควบคุมได้ โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจะหักล้างกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ จนทำให้การเติบโตที่แท้จริง (Real Growth) เป็นลบ 

Recession: เศรษฐกิจถดถอย, เงินเฟ้อต่ำ

ภาวะ Recession เป็นช่วงที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อน้อยลง ราคาสินค้าและบริการจึงต้องปรับตัวลงตามไปด้วยซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง

เมื่อไหร่ที่ ERAA™ จะทำการ Re-optimisation พอร์ตการลงทุน

ERAA™ จะรักษาระดับความเสี่ยงของพอร์ตตามที่นักลงทุนแต่ละรายกำหนดไว้เสมอ โดยจะปรับ Asset Allocation ของพอร์ตอย่างเป็นระบบเมื่อภาวะเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยกระบวนการเปลี่ยน Asset Allocation ใหม่ให้เหมาะตามภาวะเศรษฐกิจนี้ เรียกว่า ‘Re-optimisation’

การทำ Re-optimisation ช่วยปกป้องและรักษาความเสี่ยงของพอร์ตไม่ว่าจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจใด โดย ERAA™ จะติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลจาก Data Point ทางเศรษฐกิจเพื่อระบุภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น รวมถึงจะบริหารพอร์ตอย่างเป็นระบบเพื่อให้มั่นใจว่า Asset Allocation เหมาะที่สุดกับภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น

ยกตัวอย่าง เมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยนจากภาวะ Good Times เข้าสู่ภาวะ Recession ERAA™ จะปรับ Asset Allocation ของพอร์ตโดยลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลง และเพิ่มสัดส่วนในตราสารหนี้และทองคำ โดยภายใต้สัดส่วนการลงทุนในหุ้น จะมีการเพิ่มน้ำหนักหุ้นตั้งรับ (Defensive) เช่น หุ้นกลุ่ม Consumer Staples มากขึ้นด้วย

เป้าหมายหลักของ ERAA™ คือ การบริหารพอร์ตเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวให้ได้มากที่สุดและรักษาระดับความเสี่ยงตามที่นักลงทุนแต่ละรายกำหนดไว้เสมอทั้งนี้ การทำ Re-optimisation มักจะเกิดขึ้นเมื่อข้อมูลชี้ชัดว่าภาวะเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงตามหลักการที่ 1 หรือ 2 แต่การทำ Re-optimisation ก็เกิดขึ้นได้หากเกิดการเปลี่ยนแปลงตามหลักการที่ 3 และ 4

โดยปกติ ภาวะเศรษฐกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกๆ 3-7 ปี ซึ่งจะมีการทำ Re-optimisation ให้เหมาะกับภาวะนั้นๆ เสมอ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง การทำ Re-optimisation อาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง เช่น ช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008 โดยเฉพาะระหว่าง พ.ย. 2007 - ก.พ. 2010 ที่ภาวะเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงมากถึง 4 ครั้ง

การทดสอบ ERAA™ กับวิกฤติการเงินโลกปี 2008

เราได้ทำการทดสอบ Backtest* เพื่อประเมินประสิทธิภาพของ ERAA™ ในการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจในอดีต โดยใช้วิกฤติการเงินโลกปี 2008 เป็นกรณีตัวอย่าง

จากกราฟด้านล่าง เราจะเห็นว่าในช่วงปลายปี 2007 เศรษฐกิจของสหรัฐได้เปลี่ยนจากภาวะ Good Times มาเป็นภาวะ Inflationary Growth โดยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวกและอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่า 3.1%

Risk Scenarios: 2008 Financial Crisis

หลังจากนั้น 6 เดือน เศรษฐกิจสหรัฐมีการเปลี่ยนภาวะอีกครั้งจาก Inflationary Growth เป็น Stagflation จากวิกฤต Subprime ที่ฉุดการเติบโต โดยสัญญาณเตือนเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือน พ.ค. 2008 เมื่อดัชนี US Industrial Production ติดลบครั้งแรกที่ -1.0% YoY ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 4.1% และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นเมื่อธนาคาร Lehman Brothers ประกาศล้มละลายในเดือน ก.ย. 2008 ดัชนี US Industrial Production ได้ลดลงจาก -1% เป็น -8.3% YoY ซึ่งในขณะนั้น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ติดลบมานานกว่า 5 เดือนแล้ว

หลังการประกาศล้มละลายของ Lehman Brothers อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 5% ไปอีกระยะหนึ่ง และเริ่มปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในเดือน ธ.ค. 2008 จากนั้นอัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลงอย่างรวดเร็วจนเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะ Recession อย่างเต็มรูปแบบในเดือน ก.พ. 2009 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านจากภาวะ Stagflation

ข้อสรุปจากการทดสอบพบว่า ERAA™ จะสามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐใกล้เข้าสู่ภาวะ Stagflation ในเดือน พ.ค. 2008 และจะทำการปรับลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงให้เหมาะสม นอกจากนี้ ในเดือน ธ.ค. 2008 ERAA™ ยังสามารถตรวจจับแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง และได้ทำการ Re-optimisation เพื่อเตรียมรับมือกับภาวะ Recession ที่เกิดขึ้น

จากกราฟด้านบนจะเห็นว่าพอร์ตที่บริหารโดย ERAA™ สามารถรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าทั้ง ดัชนี S&P 500 และพอร์ต Benchmark* (หุ้น 60% ตราสารหนี้ 40%) อีกทั้งยังปรับตัวลดลงน้อยกว่า ซึ่งช่วยให้พอร์ตฟื้นตัวได้เร็วและสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าได้ในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ


*หมายเหตุ 

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานจาก Backtest ไม่ใช่ผลการดำเนินงานในอดีตและไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต; การเปรียบเทียบผลการดําเนินงานดังกล่าวมาจากผลตอบแทนก่อนหักค่าธรรมเนียม โดยอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ; Benchmark ที่เราใช้ในการเปรียบเทียบมาจาก Vanguard Total Stock Market Index (ในส่วนของหุ้น 60%) และ Vanguard Total Bond Market Index (ในส่วนของตราสารหนี้ 40%)


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ