วิกฤตราคาพลังงานในยุโรป ส่งผลต่อพอร์ตของคุณอย่างไร?

29 September 2022
Freddy Lim and Stephanie Leung
CIO Office

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

ทำความเข้าใจวิกฤตราคาพลังงานในยุโรป และสาเหตุที่เราต้องคอยจับตามอง

ประเทศต่างๆ ในยุโรปกำลังเจอกับราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น โดยราคามาตรฐานของก๊าซมีการปรับตัวสูงขึ้นกว่า 4 เท่าจากปีที่ผ่านมา และราคามาตรฐานของถ่านหินเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปีที่แล้ว

ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นนี้ยิ่งส่งผลให้ค่าครองชีพและเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2023 เฉลี่ยแล้วครัวเรือนในยุโรปจะต้องเจอกับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงถึงเดือนละ 500 ยูโรซึ่งคิดเป็น 3 เท่าเมื่อเทียบกับที่เคยจ่ายในปี 2021 ทั้งนี้ Goldman Sachs ยังคาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอาจมีสัดส่วนสูงกว่า 20% ของรายได้ครัวเรือนภายในปีหน้า

ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศต่างๆ ในยุโรปต่างออกมาตรการเพื่อช่วยลดผลกระทบต่อประชากรด้วยงบประมาณมูลค่ารวมกว่า 3.75 แสนล้านยูโร แต่ฤดูหนาวที่ใกล้เข้ามาถึงนี้ รัฐบาลจึงยังคงกังวลว่ามาตรการช่วยเหลือต่างๆ ที่เตรียมไว้อาจไม่เพียงพอ เพราะปริมาณการใช้ก๊าซของแต่ละครัวเรือนจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ แล้วอะไรอยู่เบื้องหลังราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ และจะส่งผลต่อพอร์ตของคุณอย่างไร มาหาคำตอบกัน


Key takeaway:

  • ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปทำสถิติสูงสุดในปีนี้ สาเหตุจากรัสเซียลดการส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อตอบโต้การคว่ำบาตรและการแทรกแซงจากโลกตะวันตก
  • ในขณะที่รัสเซียได้ปรับลดการส่งออกก๊าซอย่างมาก การวิเคราะห์ของเราพบว่ายุโรปสามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติมาสำรองเพิ่มได้ด้วยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากผู้ส่งออกรายอื่นๆ แทน
  • หากฤดูหนาวที่จะถึงนี้อากาศหนาวกว่าที่คาด หรือหากรัสเซียประกาศตัดการส่งออกก๊าซทั้งหมดอาจทำให้ปริมาณก๊าซสำรองของยุโรปไม่เพียงพอ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่สูงและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโนบายยังเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ภายใน 12 เดือนข้างหน้า
  • ปัจจุบันพอร์ต General Investing ของเรา มีสัดส่วนการลงทุนในยุโรปค่อนข้างน้อย เพราะในภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ของเราจะให้น้ำหนักการลงทุนใน USD-denominated assets ซึ่งถือเป็น Safe Haven มากกว่า

ทำไมราคาพลังงานในยุโรปจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรง

การคลายมาตรการล็อกดาวน์ และการขาดแคลนพลังงาน คือ สาเหตุสำคัญที่ผลักให้ราคาพลังงานเข้าสู่ขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2021

วิกฤตพลังงานในยุโรปไม่ใช่เรื่องใหม่ แท้จริงแล้วราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปเริ่มปรับสูงขึ้นจนทำสถิติใหม่มาตั้งแต่ปี 2021 จาก 2 ปัจจัยหลักคือ ฤดูหนาวเมื่อต้นปีที่มีอากาศหนาวกว่าที่คาดการณ์ ก๊าซสำรองจึงทยอยหมดลง และ การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ Demand ของพลังงานพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ยุโรปพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นหลัก

รัสเซียมีแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรองมากที่สุดในโลก และขนส่งไปยังทั่วทั้งทวีปยุโรปผ่านโครงข่ายท่อส่งก๊าซ โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศในยุโรปพยายามลดการใช้พลังงานจากถ่านหินและนิวเคลียร์ จึงเริ่มหันมาใช้ก๊าซจากรัสเซียเพิ่มขึ้น เห็นได้จากปี 2021 สหภาพยุโรป (EU) พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากถึง 40%

ปีนี้รัสเซียลดปริมาณการส่งออกก๊าซให้ยุโรป

ปี 2022 ราคาพลังงานยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจด้านพลังงาน โดยรัสเซียเลือกที่จะปรับลดการส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรปเพื่อตอบโต้การแทรกแซงและมาตรการคว่ำบาตรจากประเทศฝั่งตะวันตก

Sep22 CIO insights image 1

อ้างอิง: Bloomberg, StashAway

ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัสเซียประกาศระงับการส่งก๊าซผ่าน Nord Stream 1 อย่างไม่มีกำหนด ซึ่งเป็นท่อส่งก๊าซหลักระหว่างรัสเซียและเยอรมัน หลังจากได้ลดปริมาณการส่งก๊าซเหลือเพียง 20% ไปเมื่อเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ปริมาณการส่งก๊าซของรัสเซียไปยังประเทศอื่นๆ ยังลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ยุโรปตอบสนองต่อวิกฤตพลังงานนี้อย่างไร

ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในฤดูหนาวนี้ ในขณะที่ผู้บริโภคเองก็ต้องเจอกับราคาอาหาร เชื้อเพลิง และค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก

ท่ามกลางสถานการณ์ที่มืดมนนี้ การวิเคราะห์ของเราพบว่ายุโรปมีความคืบหน้าที่ดีในการจัดหาพลังงานสำรองผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่ม Supply และลด Demand ลง ซึ่งจะช่วยให้มีปริมาณพลังงานสำรองมากเพียงพอ ตรึงราคาพลังงาน และอาจช่วยเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรงจากเศรษฐกิจขาลงได้

ความท้าทายของยุโรป: มองหาแหล่งพลังงานทดแทน

หลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง หลายประเทศในยุโรปต่างเร่งลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย

  • นอร์เวย์เร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซ ซึ่งสามารถเพิ่ม Supply ก๊าซขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของความต้องการก๊าซทั้งหมดในยุโรป (เพิ่มขึ้นจาก 20% ในช่วงก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน)
  • สหรัฐเพิ่มปริมาณการส่งก๊าซ LNG ไปยังยุโรป โดยในช่วงครึ่งปีแรกนี้เพิ่มขึ้น 150% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • หลายประเทศในยุโรปมองหาแหล่งพลังงานอื่นๆ เพื่อทดแทนปริมาณก๊าซที่ลดลง เช่น พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานหมุนเวียน และพลังงานถ่านหิน โดยปัจจุบันเยอรมันมีการผลิตไฟฟ้าเกือบ 1 ใน 3 มาที่จากถ่านหินซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจาก 27% จากปีที่แล้ว

ยุโรปมีความคืบหน้าที่ดีในการเพิ่มปริมาณก๊าซสำรองสำหรับฤดูหนาวที่จะมาถึง

ช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา กลุ่มประเทศยุโรปสามารถเพิ่มปริมาณก๊าซสำรองในคลังได้กว่า 84% แม้ในบางประเทศจะยังสำรองก๊าซไม่ได้ตามเป้าแต่ตัวเลขภาพรวมการสำรองก๊าซในคลังสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 80% ภายในพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม หากยุโรปยังสามารถสำรองก๊าซได้ต่อเนื่องตามอัตราปัจจุบัน คาดว่าจะมีปริมาณก๊าซสำรองในคลังที่ระดับ 90% เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว

Sep22 CIO Insights image 2

อ้างอิง: Gas Infrastructure Europe, Bruegel; ระดับปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองสูงสุดและต่ำสุด คำนวณจากปี 2015-2020

สหภาพยุโรป ตั้งเป้าลดการใช้ก๊าซ

สหภาพยุโรป (EU) ได้ตั้งเป้าลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลง 15% ในช่วงฤดูหนาวนี้ ส่วนบางประเทศโดยเฉพาะกลุ่มยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกที่พึ่งพาก๊าซจากรัสเซียสูง อาจต้องลดปริมาณการใช้ก๊าซในระดับที่สูงขึ้นทั้งนี้ กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้กำหนดนโยบายเริ่มร่างมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลด Demand ลง โดยมีเป้าหมายที่จะจำกัดการใช้ก๊าซเพื่อรักษาปริมาณก๊าซสำรองให้เพียงพอตลอดฤดูหนาวที่อาจหนาวเย็นกว่าที่คาด

อากาศที่หนาวกว่าที่คาด ยังคงเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง

แม้ความต้องการจะปรับลดลงได้แต่ Supply ยังคงตึงตัว ดังนั้น หากฤดูหนาวนี้มีอากาศหนาวเย็นกว่าที่คาดการณ์ หรือ รัสเซียปรับลดปริมาณการส่งก๊าซลงอีก อาจส่งผลให้ก๊าซสำรองของยุโรปหมดลงได้

นอกจากปัจจัยด้านสภาพอากาศ ยุโรปยังต้องเจอความท้าทายอื่นๆ ได้แก่:

  • กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำและพลังงานนิวเคลียร์ลดลง เพราะอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นของยุโรปในปีนี้ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าหมดลง และยังทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าเกณฑ์ด้านความปลอดภัยที่จะใช้กับเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์ได้
  • ความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการหยุดส่งก๊าซอย่างกะทันหันจากผู้ส่งออกก๊าซรายอื่นๆ
  • ความเป็นไปได้ที่ประเทศฝั่งเอเชียจะต้องนำเข้าก๊าซเพิ่มสูงขึ้น หากต้องเจอกับฤดูหนาวที่หนาวกว่าปกติ

เศรษฐกิจยุโรปจะเป็นอย่างไรต่อไป

ไม่ว่าสถานการณ์ด้านพลังงานจะเป็นอย่างไร แต่โอกาสที่ยุโรปจะเข้าสู่ Recession ได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ต้นปี

อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งนโยบายด้านการเงินที่เข้มงวดและสถานการณ์ด้านพลังงานที่เกิดขึ้น นักเศรษฐศาสตร์ต่างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปมีโอกาส 72.5% ที่จะเข้าสู่ Recession ในช่วง 12 เดือนข้างหน้านี้

Sep22 CIO Insights image 3

อ้างอิง: Bloomberg

พอร์ตของคุณจะรับมือกับยุโรปในฤดูหนาวนี้อย่างไร

พอร์ตการลงทุนทั่วโลกของเรามีการลงทุนในหุ้นกลุ่มยุโรปค่อนข้างน้อย

ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ของเราจะให้น้ำหนักการลงทุนใน สินทรัพย์ที่อยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐ (USD-denominated assets) ซึ่งถือเป็น Safe Haven โดยการเพิ่ม Exposure นี้ยังทำให้พอร์ตของเราได้ประโยชน์จากการที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น

ช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ ERAA™ ได้ Re-optimise พอร์ตการลงทุน และเพิ่มการลงทุนใน USD-denominated assets ที่ราว 40% โดยเฉลี่ย จึงทำให้พอร์ตลงทุนทั่วโลกของเรา (General Investing และ Goal-based Investing) มี Exposure ในหุ้นยุโรปค่อนข้างน้อย ส่งผลให้รับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์ในยุโรปได้ดี

เมื่อยุโรปกำลังก้าวเข้าสู่ฤดูหนาวที่มีแต่ความไม่แน่นอน เราเชื่อว่าการรักษาน้ำหนักการลงทุนใน USD-denominated assets เป็นสิ่งที่เหมาะสม เพราะเมื่อเทียบกับยุโรปแล้วเศรษฐกิจของสหรัฐมีความแข็งแกร่งกว่า และสหรัฐมีกำลังการผลิตพลังงานสูงจึงลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากประเทศอื่นได้ดีกว่า

การลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ ช่วยลดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อได้

ในพอร์ตการลงทุนของเรา โดยเฉพาะพอร์ตที่ SRI ต่ำจะมีการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก (ซึ่งอาจรวมถึงตราสารหนี้ในยุโรป) ทั้งนี้ จากการที่เงินเฟ้อในยุโรปเพิ่มสูงขึ้นทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ ECB และธนาคารกลางหลักทั่วโลกเลือกที่จะใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น (Hawkish) จึงมีความเป็นไปได้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มสูงขึ้นอีกในปีนี้ และตราสารหนี้อาจยังสร้างผลตอบแทนได้ไม่ดีนักในระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม หากยุโรปเข้าสู่ Recession และ ECB เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ตราสารหนี้อาจกลับมาฟื้นตัว นอกจากนี้การลงทุนในตราสารหนี้ของเราให้น้ำหนักกับพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation-linked Bonds) ซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยลดผลกระทบจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นได้

ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน พอร์ตการลงทุนที่มีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายและในหลายภูมิภาคจะช่วยลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวและช่วยลดความผันผวนของพอร์ตได้ในระยะยาว ดังนั้น ถ้าคุณมีพอร์ตที่การกระจายความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ คุณจะสามารถ Stay invested ได้อย่างสบายใจแม้จะต้องเจอกับความผันผวนในระยะสั้น


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ