Weekly Buzz: รู้จัก De-dollarisation! เรื่องที่ได้รับความสนใจในช่วงนี้
💵 De-dollarisation: ในระยะสั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ในระยะยาว

ในช่วงที่ผ่านมา De-dollarisation หรือ การลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก โดยข้อมูลจาก GlobalData พบว่าในไตรมาส 1 ปี 2023 มีการพูดคุยถึงคำนี้บนแพลตฟอร์ม Social Media ต่างๆ เพิ่มขึ้นถึง 600% โดยทั้งสำนักข่าวรวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ หันมาให้ความสนใจและพูดถึงสถานการณ์นี้เช่นกัน
ทั้งนี้ กรณี De-dollarisation ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะประเด็นนี้ได้มีการพูดถึงกันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 แต่ปัจจุบันกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ดังนั้น เราควรทำความเข้าใจบริบทและที่มาที่ไปของสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง
🔍ว่าแต่ De-dollarisation คืออะไร
พูดให้เข้าใจง่ายๆ De-dollarisation เป็นกระบวนการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐที่ใช้ในการค้าระหว่างประเทศ หรือใช้เป็น Reserve Currency (อ่านเพิ่มเติมได้ในศัพท์โลกการลงทุน)
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ทำให้ดอลลาร์สหรัฐกลายเป็นสกุลเงินที่มีบทบาทหลักในโลก อีกทั้งด้วยขนาดของตลาดการเงินสหรัฐที่ใหญ่ อิทธิพลด้านภูมิรัฐศาสตร์ และเสถียรภาพของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งหมดนี้ยิ่งส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินหลักที่ใช้ในการค้าระหว่างประเทศและใช้ทำธุรกรรมการชำระเงินทั่วโลก โดยธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ หรือ Bank for International Settlements (BIS) ประมาณการไว้ว่า ดอลลาร์สหรัฐมีสัดส่วนในธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศราว 88% และมีบทบาทในการค้าโลกราว 50% รวมถึงยังเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางทั่วโลกในสัดส่วนเกือบ 60%
🗣️ทำไมตอนนี้ใครๆ ต่างพูดถึง De-dollarisation
สถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา เป็นปัจจัยให้เกิดกระแสการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากเมื่อสหรัฐได้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินต่อรัสเซีย หลายประเทศจึงตั้งคำถามว่าประเทศตนเองจะกลายเป็นรายต่อไปหรือไม่ ผลที่ตามมาคือบางประเทศเริ่มมองหาสกุลเงินทางเลือกที่นอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากกรณีการใช้สกุลเงินเป็นอาวุธ
อีกปัจจัยหนึ่งคือ ปีที่ผ่านมาเงินดอลลาร์สหรัฐผันผวนสูงเนื่องจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งเร็วและแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสร้างความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของดอลลาร์สหรัฐในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะต่อประเทศหลักในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ที่เราเห็นความเคลื่อนไหวในการมองหาสกุลเงินทางเลือกเพื่อลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างในเดือน มี.ค. บราซิลและจีนได้ทำข้อตกลงทางการค้าที่จะใช้สกุลเงินท้องถิ่นของทั้ง 2 ประเทศ ขณะที่มาเลเซียทำข้อตกลงทางการค้ากับอินเดียในการใช้สกุลเงินรูปีแทน
💸หรือดอลลาร์สหรัฐจะมาถึงจุดจบ?
คำตอบคือ ไม่ อย่างน้อยไม่ใช่ในระยะอันใกล้นี้
ปัจจุบันตลาดการเงินของสหรัฐยังคงเป็นตลาดที่เปิดกว้างและมีสภาพคล่องสูงที่สุดในโลก รวมถึงยังไม่มีสกุลเงินใดสามารถเข้าใกล้ที่จะมาแทนที่บทบาทของดอลลาร์สหรัฐได้ในเร็วๆ นี้ โดยเงินยูโรปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 31% ในธุรกรรมการค้าทั่วโลก ขณะที่เงินหยวนของจีนมีสัดส่วนราว 7%
สถานการณ์แบบนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น แต่เป็นไปได้ที่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจค่อยๆ เกิดขึ้นในระยะยาว หากเราดูข้อมูลในอดีตจะพบว่าการเปลี่ยนผ่านของระบบการเงินโลกมักใช้เวลาหลายทศวรรษ แต่สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะยาวคือ หากสกุลเงินอื่นๆ เริ่มมีบทบาทมากขึ้นและอาจกลายเป็นสกุลเงินทางเลือกควบคู่กับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะนำไปสู่ระบบการเงินโลกที่ใช้หลายสกุลเงิน (Multi-currency System)
🌎 ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ…

🇨🇳 จีนประกาศ GDP ไตรมาส 1/2023 ซึ่งเติบโตดีกว่าที่คาด
ประเทศจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกได้เปิดเผยตัวเลข GDP เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากการหดตัวในปี 2022 โดยไตรมาส 1/2023 เศรษฐกิจจีนขยายตัว 4.5% ซึ่งหากจีนยังรักษาแนวโน้มการเติบโตนี้ไว้ได้ อาจทำให้จีนบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปี 2023 ที่อยู่ระดับ 5% ได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่ชัดเจนว่าแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่เกิดขึ้นนี้จะยั่งยืนแค่ไหน โดยหลังการสิ้นสุดมาตรการควบคุม COVID-19 ส่งผลให้ประชาชนมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและช่วยกระตุ้นยอดค้าปลีก แต่แนวโน้มการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหลังการเปิดประเทศนี้ อาจเกิดขึ้นเพียงในระยะสั้น นอกจากนี้ แม้ว่าตัวเลขการส่งออกในเดือน มี.ค. นี้จะฟื้นตัวสูงถึง 14.8% YoY แต่นักเศรษฐศาสตร์ต่างคาดว่าการเติบโตนี้จะชะลอตัวลงในระยะข้างหน้าตาม Demand ของโลกที่ลดลง
🎓Jargon buster: Reserve currency

Reserve Currency คือ สกุลเงินที่ธนาคารกลางต่างๆ ถือครองไว้จำนวนมากเพื่อเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยสกุลเงินที่ถือเป็น Reserve Currency มักออกโดยประเทศพัฒนาแล้วและมีเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ เพราะสกุลเงินเหล่านี้มักมีบทบาทสำคัญในตลาดและมักใช้ในการลงทุน รวมถึงธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ และธุรกรรมการชำระเงินทั่วโลก
ปัจจุบันดอลลาร์สหรัฐถือเป็น Reserve Currency หลักของโลก แต่ก็มีสกุลเงินหลักอื่นๆ ที่นับว่าเป็น Reserve Currency เช่นกัน อย่าง เงินยูโร, เงินเยน, เงินปอนด์ และ เงินหยวน