Weekly Buzz: จับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
🐉 ธนาคารกลางจีนขยับอีกครั้ง
สัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางของจีน ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกได้ปรับลด ‘อัตราดอกเบี้ยกู้ยืม’ ทั้งระยะสั้นและระยะกลางลง (อ่านเพิ่มเติมได้ใน ศัพท์โลกการลงทุน) ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ นอกจากนี้ บรรดาผู้นำในรัฐบาลยังส่งสัญญาณอีกว่าจะมีนโยบายทางการเงินอื่นๆ ตามมา
การฟื้นตัวของจีนไปถึงไหนแล้ว?
หลังจากรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 หลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจจีนจะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับยังไม่ค่อยดีนัก ซึ่ง เราเคยกล่าวถึงไว้ก่อนหน้านี้แล้วใน CIO Insights เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยปัจจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นในดัชนี Hang Seng ที่มีบริษัทจีนขนาดใหญ่ที่สุดหลายแห่งรวมอยู่ด้วย
ข้อมูลทางเศรษฐกิจเมื่อเร็วๆ นี้ ชี้ไปในทางเดียวกันว่าการฟื้นตัวของจีนอ่อนกำลังลง โดยตัวเลขการส่งออกเดือน พ.ค. ลดลง 7.5% YoY เนื่องจากความต้องการจากทั่วโลกลดลง ในขณะที่ รายงานยอดค้าปลีกก็แสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคนั้นฟื้นตัวช้าลงเช่นกัน ทั้งนี้ สถาบันการเงินหลักหลายแห่งได้ปรับลดคาดการณ์ GDP จีนประจำปีนี้แล้ว และนี่คือเหตุผลว่าทำไมธนาคารกลางจีนต้องผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ออกมา ด้วยความหวังว่ามาตรการเหล่านี้จะเป็นช็อต Espresso เข้มๆ ที่ช่วยปลุกเศรษฐกิจจีนจากความซบเซา
ภาพใหญ่เป็นอย่างไร?
นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นน่าจะเป็นแค่จุดเริ่มต้น โดยธนาคารกลางอาจออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมเพื่อให้เศรษฐกิจจีนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จีนกำลังอยู่ในเส้นทางการฟื้นตัว แต่เรายังควรมองการลงทุนในมุมกว้างมากกว่าจะเน้นไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นความสำคัญของการกระจายการลงทุน เพราะการลงทุนในหลายๆ ภูมิภาคจะช่วยลดความเสี่ยงหากประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดปัญหา และยังทำให้เราได้ Exposure ในการเติบโตทั่วโลกอีกด้วย เหมือนอย่างในพอร์ต General Investing ที่กระจายการลงทุนในหลากหลายภูมิภาคและธุรกิจทั่วโลก
เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize
🎓ศัพท์โลกการลงทุน: Lending Rate
Lending Rate หรือ อัตราดอกเบี้ยกู้ยืม คือ อัตราที่ผู้กู้ทำข้อตกลงกับธนาคารเมื่อกู้เงิน เมื่อธนาคารกลางมีการปรับอัตราดอกเบี้ย ธนาคารพาณิชย์ก็จะปรับขึ้นตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบไปสู่ระบบเศรษฐกิจโดยรวม
การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เงินในระบบลดน้อยลง และในทางกลับกัน การลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เงินในระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการบริหารเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งการกู้ยืม ใช้จ่าย และลงทุน