ปัจจัยอะไรบ้างที่กำลังขับเคลื่อนตลาด?
สัปดาห์ที่ผ่านมาเราเห็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในตลาดโลก ล้วนเป็นผลจากทิศทางของอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยฯ
มาลองดูกันว่าขณะนี้ตลาดกำลังจับตามองในเรื่องใด และปัจจัยอะไรบ้างที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจของ Fed ในการประชุมเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งถัดไปในวันที่ 21-22 มี.ค. นี้:
7-8 มี.ค. - Jerome Powell ประธาน Fed ขึ้นกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรส
นักลงทุนต่างพยายามจับสัญญาณว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐและ Terminal Rate จะอยู่ที่ตรงไหน ซึ่ง Jerome Powell ได้ให้คำตอบไว้ในครั้งนี้
โดยเขาย้ำว่า Fed อาจกลับมาขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่เร็วขึ้น และอาจขึ้นไปสูงกว่าจุดสูงสุดที่เคยคาดไว้ถ้าตัวเลขทางเศรษฐกิจยังคงร้อนแรง หลังจากคำกล่าวนี้ส่งผลให้ตลาดหุ้นร่วงลงและ Yield ของตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ: นักลงทุนต่างจับตากับทุกคำพูดของ Jerome และครั้งนี้ก็ไม่ต่างกัน โดยการส่งสัญญาณเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยฯ จาก Jerome ยังเป็นปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง
👀2 ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม คือ
1. ตัวเลขตลาดแรงงานเดือน ก.พ.
หากยังจำกันได้เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ตัวเลขตลาดแรงงานพลิกกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ดังนั้นตัวเลขเดือน ก.พ. จะชี้ให้เห็นว่าตัวเลขที่พุ่งขึ้นเป็นผลมาจาก Seasonality หรือเป็นจุดเริ่มต้นของทิศทางตลาดแรงงานครั้งใหม่ โดยปัจจุบันตลาดคาดการณ์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.พ. จะชะลอตัวลงสู่ 224,000 ตำแหน่ง จาก 517,000 ตำแหน่งเมื่อเดือน ม.ค.
ทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ: เพราะตัวเลขตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งจะทำให้ค่าแรงสูงขึ้นและเป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ Fed จึงยังคงจับตามองเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ดังนั้น Fed อาจกลับมาขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ครั้งใหญ่กว่าเดิมถ้าตลาดแรงงานยังคงร้อนแรงอยู่
2. อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ.
อัตราเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องหลังจากผ่านจุดสูงสุดเมื่อกลางปีที่ผ่านมา แต่ยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายของ Fed ที่ 2% โดยตลาดคาดว่า ตัวเลข CPI ในเดือน ก.พ. จะผ่อนลงมาอยู่ที่ 6% YoY ซึ่งถือว่าชะลอลงจาก 6.4% YoY ในเดือน ม.ค. (ตัวเลข CPI ของเดือน ก.พ. จะประกาศ 14 มี.ค.)
ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบแบบ MoM ยังเห็นแนวโน้มว่าอัตราเงินเฟ้อชะลอลง โดยตลาดคาดว่าจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 0.4% จาก 0.5% ในเดือน ม.ค. อย่างไรก็ตาม อัตราการเพิ่มขึ้นนี้ยังสูงราว 2 เท่าของค่าเฉลี่ยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา
ทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ: เพราะชัดเจนแล้วว่าอัตราเงินเฟ้อยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้และมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า โดยตลาดและ Fed จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน หรือ ราคาสินค้าและบริการ ซึ่งมีความผันผวนในระยะสั้นน้อยกว่า
เมื่อจีนก้าวเดินอย่างระมัดระวัง
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนเปิดฉากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยประกาศเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2023 ที่ 5% ถือเป็นการกำหนดเป้าหมายที่ค่อนข้าง Conservative และต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ รวมถึงยังต่ำกว่าเป้าหมายในปี 2022 ที่ระดับ 5.5% ซึ่งจีนทำได้เพียง 3%
เรื่องนี้หมายความว่าอย่างไร: เป้าหมาย GDP ในระดับนี้ชี้ให้เห็นว่า จีนมีความระมัดระวังทั้งมุมมองต่อแนวโน้มการเติบโตและการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการเติบโตของจีนที่มีอย่างจำกัดนี้อาจไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้มากอย่างที่ตลาดคาด
อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มเศรษฐกิจของจีนจะไม่เติบโตร้อนแรงมากนัก แต่เราเชื่อว่าการลงทุนใน Emerging Markets อย่างจีน ยังมีบทบาทสำคัญสำหรับพอร์ตที่กระจายการลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐยังมีการเติบโตที่ชะลอตัว
🎓 ศัพท์โลกการลงทุน: สภาประชาชนแห่งชาติของจีน (NPC)
สภาประชาชนแห่งชาติ หรือ NPC (The National People's Congress) คือ สภานิติบัญญัติสูงสุดของจีนซึ่งเป็นที่พูดถึงอย่างมากในข่าวทุกวันนี้ เพราะมีอำนาจในการกำหนดทิศทางทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยในแต่ละปีจะมีการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ประกอบด้วยสมาชิก NPC เกือบ 3,000 คนซึ่งเป็นตัวแทนที่ได้รับคัดเลือกจากทั่วประเทศเพื่อ:
- ผ่านร่างกฎหมายต่างๆ
- อนุมัติงบประมาณแผ่นดิน
- ตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายและทิศทางของประเทศ
โดยวาระการประชุมยังสามารถรวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแต่งตั้งหรือโยกย้ายเจ้าหน้าที่ระดับสูง และการอนุมัตินโยบายและโครงการสำคัญต่างๆ ของรัฐ