Weekly Buzz: 🦾 โอกาสลงทุน AI ที่อาจถูกมองข้ามไป

เวลาพูดถึงโอกาสลงทุนในเทรนด์ AI ส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้ง แต่ยังมีธีมที่ใกล้ตัวเรามากกว่านั้นและมีโอกาสที่ใหญ่ไม่แพ้กัน นั่นก็คือ End-device AI
อะไรคือ End-device AI?
ทุกวันนี้ อุปกรณ์ IT ของเราจะส่งข้อมูลจำนวนมหาศาลไปประมวลผลที่แหล่งต่างๆ เช่น
บนคลาวด์: ข้อมูลของคุณจะถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ไกลจากอุปกรณ์ของคุณ ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณถามคำถาม Alexa (AI ของ Amazon) ข้อมูลก็จะถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ Amazon เพื่อประมวลผล จากนั้นคำตอบจะถูกส่งกลับมาที่คุณ ซึ่งก็คือวิธีทั่วไปของระบบ Generative AI อันซับซ้อน เช่น ChatGPT
บนอุปกรณ์ (End-device): End-device AI จะประมวลผลทันทีบนอุปกรณ์ของคุณไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน นาฬิกา หรือรถยนต์ ตัวอย่างเช่น iPhone ของ Apple ที่สามารถประมวลเสียงได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
แม้ End-device AI อาจยังไม่เป็นที่สนใจในหมู่นักลงทุนมากนัก แต่มีโอกาสสูงมากที่จะได้รับความนิยมในระยะข้างหน้า โดยเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถใช้งาน AI ได้อย่างรวดเร็วบนอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ ของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่
มีโอกาสมากขนาดไหน?
Total Addressable Market (อ่านเพิ่มเติมได้ใน ศัพท์โลกการลงทุน) หรือตลาดทั้งหมดเท่าที่เป็นไปได้ของ End-device AI อาจมีมากกว่า 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025 ซึ่งครอบคลุมทั้งผู้ผลิตและผู้ออกแบบชิปที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ทัน

Demand จำนวนมากจะถูกขับเคลื่อนโดย 2 ปัจจัยสำคัญคือ 1) การทำงานของ AI จะซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ชิปในปัจจุบันไม่สามารถประมวลผลได้ จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรองรับ และ 2) เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดอุปกรณ์ Hi-tech รุ่นต่อๆ ไป ที่จะดึงดูดให้ผู้ใช้งานอัปเกรดอุปกรณ์ และทำให้ความต้องการ End-device AI เพิ่มสูงขึ้น
เรื่องนี้ส่งผลต่อนักลงทุนอย่างไร?
หลายบริษัททั่วโลกกำลังพัฒนาเทคโนโลยีนี้ บางที่อาจเน้นแค่การผลิตสินค้า ส่วนบางที่อาจเน้นแค่การวิจัยและพัฒนา ซึ่งในอนาคต End-device AI ไม่เพียงจะอยู่ในสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรือนาฬิกาเท่านั้น แต่อาจเข้าไปอยู่ในส่วนอื่นๆ เช่น รถยนต์ของเราด้วย
หากคุณสนใจโอกาสนี้ การกระจายการลงทุนในหลากหลายบริษัทอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีมีความผันผวนสูง ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดอาจเป็นการ Stay Invested ใน ETF ที่ลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีโดยรวม เช่น ดัชนี Nasdaq-100 ซึ่งประกอบไปด้วยหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่สุดของสหรัฐที่อาจได้รับประโยชน์มหาศาลจาก End-device AI โดยคุณสามารถเลือกลงทุนผ่าน Flexible Portfolios ของเรา ที่ได้คัดสรร ETF ที่เหมาะสมที่สุดไว้แล้ว
💡 Investors’ Corner: หุ้นยังชนะตราสารหนี้ แม้ในยุคดอกเบี้ยสูง

ปัจจุบัน พันธบัตรรัฐบาลให้ Yield ระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ ขณะที่ผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นอยู่ที่ราว 7% (อ้างอิงข้อมูลย้อนหลังของดัชนี S&P 500) ดังนั้นเมื่อ Yield ของพันธบัตรอยู่ที่ราว 5% ผลตอบแทนของทั้งคู่จึงดูใกล้เคียงกันมาก แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น
หากคุณลงทุน 1,000 บาทในตราสารหนี้อายุ 10 ปีที่ให้ Yield 5% คุณจะได้ดอกเบี้ย 50 บาทต่อปี รวมถึงได้เงินต้น 1,000 บาทคืนเมื่อตราสารหนี้ครบอายุ ดังนั้นหลังผ่านไป 10 ปี เงิน 1,000 บาทของคุณจะกลายเป็น 1,500 บาท หรือเท่ากับได้ผลตอบแทน 50%
อย่างไรก็ตาม หากคุณซื้อหุ้นบริษัท A จำนวน 1 หุ้นในราคา 1,000 บาท และสมมติว่าบริษัท A มีกำไร 50 บาท ซึ่งเติบโตที่ 5% ต่อปี ตลอดทั้ง 10 ปี
พลังของผลตอบแทนทบต้นจะทำให้กำไร 50 บาทกลายเป็น 81 บาทภายใน 10 ปี จากนั้นคุณอาจขายหุ้นบริษัท A ที่ราคา 1,620 บาท (คำนวณราคาหุ้นจากค่า P/E ที่ 20 เท่า ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของดัชนี S&P 500) ดังนั้นคุณจะได้ผลตอบแทนจากหุ้น 62% ซึ่งมากกว่าตราสารหนี้ที่ 50%
ทั้งนี้ การเติบโตของกำไรที่ 5% ถือว่าไม่มากเกินไป และต่ำกว่าที่ควรจะคาดหวังสำหรับตลาดหุ้นในระยะยาว แต่ในทางกลับกัน Yield ของตราสารหนี้ที่ 5% คือผลตอบแทนระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี

อย่างไรก็ตาม การมีทั้งหุ้นและตราสารหนี้ในพอร์ตเพื่อกระจายการลงทุน ยังเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์ที่ช่วยเพิ่มและสร้างเสถียรภาพให้พอร์ต แต่หากคุณยังมีเวลาลงทุนที่นานพอ หุ้นยังคงเป็นตัวเลือกที่ยากจะเอาชนะ เพราะพลังของผลตอบแทนทบต้นนั่นเอง
เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize
🎓ศัพท์โลกการลงทุน: Total Addressable Market

สมมติว่ามีบริษัทหนึ่งสามารถผูกขาดตลาดได้ทั้งหมด 100% เงินที่บริษัทนั้นจะได้รับหากผู้บริโภคทุกคนซื้อสินค้าจากพวกเขา คือ Total Addressable Market หรือตลาดทั้งหมดเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจะให้กรอบที่ชัดเจนมากขึ้นว่าธุรกิจนั้นๆ มีโอกาสทางธุรกิจมากที่สุดแค่ไหน ซึ่งจะช่วยไม่ให้บริษัทคาดหวังต่ำหรือสูงเกินไป