Weekly Buzz: 🌸 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังร้อนแรง

19 January 2024

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

แม้ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่จะปรับตัวลดลงเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ดัชนีหุ้นสำคัญของญี่ปุ่นอย่าง Nikkei 225 กลับสวนกระแสด้วยการทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 33 ปี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 35,000 จุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.พ. ปี 1990 ซึ่งในเวลานั้น เกม Pokémon ยังไม่ถือกำเนิดเลยด้วยซ้ำ

อะไรคือแรงขับเคลื่อนในครั้งนี้?

ในขณะที่เศรษฐกิจจีนยังไม่สามารถฟื้นตัวหลังเกิด COVID-19 ทำให้นักลงทุนหันไปหาตลาดอื่นที่มีศักยภาพอย่างญี่ปุ่น เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่กำลังฟื้นตัว รวมถึงชุดนโยบายปฏิรูปบรรษัทภิบาล ช่วยกระตุ้นให้นักลงทุนจากต่างประเทศหันกลับมาสนใจตลาดหุ้นญี่ปุ่นอีกครั้ง

แม้จะไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก แต่ความคืบหน้าในการปรับปรุงบรรษัทภิบาลถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง โดยนับตั้งแต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวอย่างรุนแรงในช่วงทศวรรษ 1990 บริษัทญี่ปุ่นส่วนมากมักจะเก็บสะสมเงินสดไว้ แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปภาคเอกชน ส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นเพิ่มการซื้อหุ้นคืนและเพิ่มเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นมากขึ้น

ญี่ปุ่นอยากให้เกิดเงินเฟ้อ

ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังจะหลุดออกจากภาวะเงินฝืด (อ่านเพิ่มเติมได้ใน Simply Finance) ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของญี่ปุ่นมานานกว่า 20 ปี เพราะเงินฝืดทำให้ผู้บริโภคไม่ค่อยจับจ่ายใช้สอย ซึ่งหากรัฐบาลสามารถกระตุ้นให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ก็อาจทำให้คนญี่ปุ่นกลับมาใช้เงินมากขึ้นอีกครั้ง

อีกแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ตลาดญี่ปุ่นปรับตัวขึ้น คือ การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังยึดนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อ ซึ่งตรงข้ามกับประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ของโลก ทำให้มีเงินไหลเวียนในระบบมากขึ้น บริษัทญี่ปุ่นจึงอาจสร้างผลกำไรได้มากขึ้น 

แม้ภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะดูสดใส แต่อย่าลืมว่ายังมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า เพราะ Fed อาจเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ และ BOJ ก็อาจตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกจากแดนลบ โดยปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการส่งออกของญี่ปุ่น

เรื่องนี้ส่งผลต่อนักลงทุนอย่างไร?

ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นดูน่าสนใจ แต่เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอาจทำให้ผลตอบแทนของหุ้นญี่ปุ่นไม่มากเท่าปี 2023 ที่ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง

วิธีที่ดีที่สุดในการคว้าโอกาสลงทุนใดๆ ก็ตาม คือ การ Stay Invested ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดี เพราะจะทำให้คุณสามารถก้าวผ่านความผันผวนในทุกภาวะเศรษฐกิจ และยังได้รับประโยชน์จากปัจจัยบวกในทุกภูมิภาค เช่น ตลาดญี่ปุ่นที่กำลังปรับตัวขึ้นอยู่ในเวลานี้

หากคุณต้องการกระจายการลงทุนในหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงทวีปเอเชีย General Investing ของเราอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม หรือหากคุณอยากออกแบบการลงทุนด้วยตัวเอง คุณอาจเลือก Flexible Portfolio ที่คุณสามารถเลือกลงทุนในญี่ปุ่นหรือประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะได้ตามต้องการ

💡 Investors’ Corner: ถึงเวลาหุ้นเล็ก?

บางครั้งปลาตัวเล็กก็อาจชนะปลาตัวใหญ่ได้ แต่เมื่อปีที่แล้ว สถานการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยดัชนี Russell 2000 ซึ่งประกอบไปด้วยหุ้นสหรัฐขนาดเล็ก ให้ผลตอบแทนที่ 15% เมื่อเทียบกับหุ้นสหรัฐขนาดใหญ่ในดัชนี S&P 500 ที่ปรับตัวขึ้นถึง 23% เมื่อปี 2023

สาเหตุที่หุ้นขนาดเล็กทำผลตอบแทนได้น้อยกว่าหุ้นขนาดใหญ่ อาจมาจากอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นและความกังวลว่าเศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะ Recession รวมถึงกระแส AI ที่ทำให้หุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่หรือ Magnificent 7 ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปีนี้อาจเป็นใจให้ดัชนี Russell 2000 มากขึ้น เนื่องจากมีสัดส่วน Floating Rate Debt หรือเงินกู้แบบดอกเบี้ยลอยตัว มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ในดัชนี S&P 500 ซึ่งแน่นอนว่าก่อนหน้านี้ บริษัทขนาดเล็กได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed มากกว่า แต่เมื่อ Fed อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเร็วๆ นี้ หมายความว่าดอกเบี้ยที่พวกเขาต้องจ่าย จะน้อยลงกว่าปัจจุบัน

นอกจากนี้ หุ้นขนาดเล็กยังมีราคาที่น่าสนใจ โดยซื้อ-ขายกันในราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวเกือบ 20% ในขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ซื้อ-ขายกันในราคาสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 20% ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ ข้อมูลในอดีตบ่งชี้ว่าหุ้นขนาดเล็กอาจกำลังฟื้นตัว

แต่ก่อนที่คุณจะลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก อย่าลืมว่าราว 40% ของบริษัทในดัชนี Russell 2000 มีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนเมื่อปีที่แล้ว ดังนั้นคุณอาจต้องพิจารณาลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพและสามารถทำกำไรได้ดี แต่ทางเลือกที่ดีกว่า คือ การลงทุนในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดี ซึ่งมีสัดส่วนในหุ้นขนาดเล็กเหล่านี้อยู่แล้ว 

เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize

🎓Simply Finance: เงินฝืด

Deflation หรือเงินฝืด คือ สถานการณ์ที่ตรงข้ามกับเงินเฟ้อ โดยจะเกิดขึ้นเมื่อราคาสินค้าและบริการปรับตัวลดลงในวงกว้าง ซึ่งอาจฟังดูเป็นข่าวดีในตอนแรก เพราะผู้บริโภคจะได้สินค้าและบริการในราคาที่ถูกลง แต่เงินฝืดมักเป็นสัญญาณของเศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแอ เพราะเมื่อราคาปรับตัวลดลง ความสามารถในการทำกำไรของภาคเอกชนก็จะน้อยลง ทำให้พวกเขาต้องลดต้นทุนด้วยการลดค่าจ้างหรือแม้แต่เลิกจ้างพนักงาน ขณะที่ผู้บริโภคก็อาจชะลอการใช้จ่าย เพราะคาดว่าราคาน่าจะลดลงอีก ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวตามไปด้วย

ทั้งนี้ เงินฝืดอาจทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อ เพราะราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวลดลงจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงด้วยเช่นกัน เห็นได้จากญี่ปุ่นที่ประสบปัญหาเงินฝืดมาโดยตลอดหลังฟองสบู่แตกในช่วงทศวรรษ 1990 จนได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ทศวรรษที่สูญหาย’ นั่นเอง


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ