Weekly Buzz: จับตาผลประกอบการหุ้นเทคโนโลยีจีน 🇨🇳

หุ้นเทคโนโลยีของจีนที่เคยถูกมองข้าม กำลังกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง โดยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba Tencent และ Baidu ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของตลาด หลังจาก DeepSeek ได้จุดประกายความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมา ซึ่งเหตุการณ์นี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หลังเผชิญกับมาตรการควบคุมที่เข้มงวด Demand ผู้บริโภคที่ซบเซา และความไม่เชื่อมั่นจากตลาดโลก แต่ปัจจุบัน หุ้นเทคฯ จีนในตลาดฮ่องกง กำลังเป็นผู้นำการฟื้นตัวของตลาดจีนโดยรวม
ความสำคัญของผลประกอบการ
นับตั้งแต่ DeepSeek เปิดตัวโมเดล AI รุ่นล่าสุด ดัชนี Hang Seng Tech Index ได้พุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี เนื่องจากนักลงทุนมองว่าจีนมีศักยภาพในการแข่งขันด้าน AI กับสหรัฐ และ Momentum เชิงบวกนี้ยังได้รับแรงหนุนเพิ่มเติม เมื่อประธานาธิบดี Xi Jinping ได้พบปะกับผู้นำธุรกิจเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึง Jack Ma จาก Alibaba และ Ren Zhengfei จาก Huawei

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของตลาดเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะสิ่งสำคัญคือ ผลประกอบการของบริษัท ซึ่งรายงานผลประกอบการของ Alibaba และ Baidu เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นภาพที่แตกต่างกัน โดย Alibaba มีผลกำไรเกินความคาดหมาย โดยเฉพาะในธุรกิจคลาวด์ ช่วยหนุนให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น และตอกย้ำศักยภาพการเติบโตจาก AI ในทางกลับกัน Baidu รายงานผลกำไรต่ำกว่าคาด ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนปรับมุมมองต่อการเติบโตของบริษัท
ขณะที่ แนวทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลจีนยังถือเป็นการเพิ่มความซับซ้อนให้ตลาด โดยรัฐบาลจีนกำลังจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนามาตรฐาน AI ซึ่งสะท้อนให้เห็นบทบาทที่เข้มข้นขึ้นของภาครัฐในการกำกับดูแลภาคธุรกิจ และแตกต่างอย่างชัดเจนจากสหรัฐที่มีแนวโน้มลดการแทรกแซงจากภาครัฐ
Key Takeaway
ฤดูกาลรายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯ จีนในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลขเท่านั้น แต่ยังเป็นบททดสอบว่า AI จะสามารถฟื้นฟูตลาดหุ้นจีนได้จริงหรือไม่ สิ่งสำคัญคือปัจจัยพื้นฐานอย่างกำไรของบริษัทจะเป็นตัวกำหนดมูลค่าหุ้นในระยะยาว ซึ่งหากคุณต้องการปรับพอร์ตการลงทุนให้มีส่วนร่วมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจีน Flexible Portfolio ของเรา อาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม
📰 ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: ยุโรปเตรียมตอบโต้นโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐ

ท่าทีล่าสุดของ Donald Trump เกี่ยวกับภาษีนำเข้า คือ การกำหนดภาษี 25% สำหรับการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากทั่วโลก ซึ่งยุโรปก็แสดงท่าทีว่าจะตอบโต้กลับ หากฟังดูคุ้นๆ นั่นก็เพราะว่าเราเคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาแล้ว เมื่อ Trump ประกาศบังคับใช้ภาษีเหล็กในปี 2018 ซึ่งยุโรปก็ตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าสหรัฐ เช่น รถมอเตอร์ไซค์ Harley-Davidson
เป้าหมายต่อไปของ Trump อาจเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอาจสร้างปัญหาให้บริษัทรถยนต์เยอรมนีที่เป็นหัวใจหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ ยุโรปยืนยันว่าการตอบโต้จะเป็นไปอย่าง ‘หนักแน่นและสมเหตุสมผล’ ซึ่งในภาษาการทูตหมายถึงการเก็บภาษีตอบโต้แบบเดียวกัน และหากสงครามการค้าครั้งนี้ทวีความรุนแรงขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อการค้าทั่วโลก ผลักดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น และกดดันผลกำไรของบริษัทต่างๆ ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่อาจได้ประโยชน์จากเหตุการณ์นี้ คือ จีน หลังจากถูกนักลงทุนเมินมานานหลายปี แต่ปัจจุบัน ดูเหมือนว่าจีนจะเผชิญความเสี่ยงน้อยลงเมื่อแรงกดดันด้านการค้าจากสหรัฐเริ่มหันไปที่ภูมิภาคอื่นๆ แทน นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นในหุ้นกลุ่มเทคฯ ของจีนยังกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง (ตามที่เราได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้) เห็นได้จากข้อมูลการลงทุนในสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ. ที่บรรดากองทุน Hedge Fund มีการเข้าซื้อหุ้นจีนมากที่สุดในรอบกว่า 4 เดือน
เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize
📖 รอบรู้เรื่องลงทุน: ผลกระทบย้อนกลับของสงครามการค้า

เมื่อประเทศต่างๆ พิจารณามาตรการภาษีนำเข้า พวกเขามักเลือกเป้าหมายที่ส่งผลกระทบทางการเมืองสูงสุดด้วยการเก็บภาษีสินค้าที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น ในปี 2018 ยุโรปไม่ได้เลือกเก็บภาษีตอบโต้แบบสุ่ม แต่เจาะจงไปที่สินค้าสัญลักษณ์ของอเมริกา เช่น กางเกงยีนส์ Levi’s และน้ำส้ม Florida ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปในปี 1983 เมื่อมอเตอร์ไซค์ญี่ปุ่นเริ่มครองตลาดสหรัฐ ประธานาธิบดี Reagan ได้ออกมาตรการภาษีที่ค่อนข้างสูงสำหรับมอเตอร์ไซค์นำเข้า ซึ่งช่วยปกป้องแบรนด์อเมริกันอย่าง Harley-Davidson โดยตรง ซึ่งการเลือกเก็บภาษีสินค้าที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมแบบนี้ จะเป็นการสร้างแรงกดดันมากกว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว