Weekly Buzz: 🐉 เศรษฐกิจจีนโต 5.2% อาจยังไม่พอ?

เศรษฐกิจจีนเติบโต 5.2% เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเกินเป้าหมายของรัฐบาลและยังมากกว่าปี 2022 ที่ขยายตัว 3% แต่ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ถึงไม่รู้สึกตื่นเต้นกับตัวเลขในครั้งนี้
อะไรทำให้ผู้เชี่ยวชาญผิดหวัง?
แม้เศรษฐกิจจีนปี 2023 จะขยายตัว 5.2% YoY แต่ยังถือว่าเพิ่มขึ้นมาน้อย เมื่อเทียบกับช่วงมาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดระหว่างการระบาดของ COVID-19
แม้จะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่อุปสรรคในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงฉุดรั้งความพยายามของรัฐบาล โดยเม็ดเงินลงทุนในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวลดลงถึง 9.6% YoY ขณะที่ราคาบ้านใหม่เดือน ธ.ค. ลดลง 0.4% YoY ซึ่งเร็วที่สุดในรอบ 9 เดือน

เมื่อราคาสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากที่สุดอย่างที่อยู่อาศัยปรับตัวลดลง ผู้บริโภคชาวจีนจึงรัดเข็มขัด ทำให้เศรษฐกิจจีนต้องเผชิญกับภาวะ ‘เงินฝืด’ ที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 1999
เมื่อปีที่แล้ว เศรษฐกิจจีนยังไม่ค่อยตอบสนองต่อมาตรการกระตุ้นของธนาคารกลางจีน (PBOC) โดยนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากคาดหวังว่า PBOC จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากระดับ 2.5% ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม PBOC ตัดสินใจไม่ลดดอกเบี้ย ซึ่งอาจเป็นเพราะมีสัญญาณบวกจากการขยายตัวของภาคส่งออกในเดือน ธ.ค. แต่เลือกที่จะปรับลดอัตราส่วนเงินสำรองธนาคาร (RRR) ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง
เรื่องนี้ส่งผลต่อนักลงทุนอย่างไร?
ปัจจุบัน ราคาหุ้นจีนถือว่าอยู่ในระดับต่ำ หลังปรับตัวลดลงเกือบ 60% นับตั้งแต่ต้นปี 2021 ทำให้ค่า P/E ratio (อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ) ของบริษัทจีนลดลงต่ำกว่า 10 เท่า ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกราวครึ่งหนึ่ง โดยราคาหุ้นในระดับต่ำนี้อาจหมายถึงโอกาสสำหรับการลงทุน
เมื่อมองภาพใหญ่ขึ้นจะพบว่าความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจจีนจะล่มสลายนั้นถือว่าต่ำ (เราเจาะลึกไว้ใน 2024 H1 Macro Outlook - Part 2) และจีนกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนเครื่องยนต์ลูกใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนจำเป็นต้องใช้เวลา แต่นักลงทุนที่มีความอดทนพอจะมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
📰 ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: ราคายูเรเนียมกำลังร้อนแรง
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ราคายูเรเนียมอยู่ในช่วงขาขึ้นมาโดยตลอด โดยปรับตัวขึ้นมากกว่า 3 เท่า และมีแนวโน้มที่จะทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 16 ปี เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ผลิตยูเรเนียมรายใหญ่ที่สุดในโลกได้ออกมาเตือนว่า Supply ยูเรเนียมกำลังจะขาดแคลนในเร็วๆ นี้

สาเหตุหลักที่ทำให้ราคายูเรเนียมปรับตัวขึ้นตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา มาจากเหตุผลพื้นฐาน คือ Demand เติบโต ขณะที่ Supply อยู่ในระดับต่ำ
ปัจจุบัน รัฐบาลประเทศต่างๆ กำลังพยายามสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน โดยเฉพาะหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ถือว่าเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่สามารถช่วยให้ประเทศต่างๆ บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคของการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือ Supply ของยูเรเนียมมีค่อนข้างจำกัด หลังเหตุการณ์ที่โรงงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะเมื่อทศวรรษก่อน ส่งผลให้การขุดแร่ยูเรเนียมลดลงนับตั้งแต่นั้น นอกจากนี้ การเริ่มโครงการขุดแร่ยูเรเนียมจำเป็นต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ทำให้ Supply ของยูเรเนียม มีแนวโน้มที่จะตึงตัวต่อไปในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ยูเรเนียมเป็นหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำผลตอบแทนได้ดีที่สุดเมื่อปีที่แล้ว เมื่อบวกกับปัจจัยข้างต้น ราคายูเรเนียมจึงมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงต่อไป โดยคุณสามารถมีส่วนร่วมกับ Trend ครั้งนี้ด้วย ETF ที่ลงทุนในกลุ่มธุรกิจยูเรเนียมโดยตรง ซึ่งอยู่ภายใต้ Flexible Portfolio ของเรา
เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize
🎓Simply Finance: มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

Economic Stimulus หรือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ การใช้เงินเพื่อช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาติดเครื่องอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอตัว โดยรัฐบาลและธนาคารกลางในประเทศต่างๆ สามารถแทรกแซงและอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบด้วยวิธีที่หลากหลาย เช่น ทุ่มงบประมาณลงไปในโครงการต่างๆ รวมถึงการลดภาษีและลดดอกเบี้ย หรืออาจรวมนโยบายทั้งหมดเข้าด้วยกันจนกลายเป็น ‘Stimulus Package’ ซึ่งนโยบายเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างงานและเงินในระบบ และผู้บริโภคก็จะกล้าใช้จ่ายเงินมากขึ้นในที่สุด