Weekly Buzz: 💰 บริษัทสหรัฐยังระดมทุนได้ดี

หลายคนอาจคิดว่าการที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงและรวดเร็วที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ อาจทำให้ภาคเอกชนมีต้นทุนเพิ่มขึ้นหากต้องการระดมทุนเพิ่ม
แต่กลับกัน ราคาหุ้นที่พุ่งสูงขึ้นและ Yield ของหุ้นกู้ที่ปรับตัวลดลง ทำให้ US Financial Condition Index หรือดัชนีภาวะการเงินของสหรัฐอยู่ในจุดที่ผ่อนคลายที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2021
ทำไมบริษัทต่างๆ ถึงยังระดมทุนได้?
อัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลกระทบต่อภาวะการเงิน แม้โดยทั่วไปแล้ว ดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่ส่งผลกระทบต่อการระดมทุนของภาคเอกชน
ปัจจัยดังกล่าวรวมถึง Credit Spread หรือส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชนกับพันธบัตรรัฐบาล (อ่านเพิ่มเติมได้ใน Simply Finance) และสถานการณ์ในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นอีกช่องทางในการระดมทุนของภาคเอกชน
ทั้งนี้ ดัชนีภาวะการเงินแห่งชาติของสหรัฐ (NFCI) จะใช้ Indicator มากกว่า 100 ตัวในตลาดเงินและตลาดทุน เพื่อวัดว่าบริษัทต่างๆ สามารถระดมทุนได้ง่ายแค่ไหน โดยตัวเลขที่มากขึ้น หมายถึง ภาวะการเงินที่ตึงตัว กลับกัน ตัวเลขที่น้อยลง หมายถึง ภาวะการเงินที่ผ่อนคลาย โดยดัชนี NFCI ในเดือน พ.ค. 2024 ลดลงมาอยู่ที่ -0.56 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่ง

จากตารางด้านบน คุณจะเห็นว่าภาวะการเงินเริ่มตึงตัวมากขึ้นในปี 2022 และ 2023 ในขณะที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งไม่น่าแปลกใจ แต่ถึงอย่างนั้น ดัชนี NFCI ยังคงอยู่ในแดนลบ หมายความว่า ภาวะการเงินของสหรัฐยังคงผ่อนคลายมากกว่าค่าเฉลี่ย แม้ต้นทุนการกู้ยืมจะพุ่งสูงขึ้น
Key Takeaways คือ?
ต้องไม่ลืมว่า อัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้ดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วง ‘Higher for Longer’ แต่บริษัทต่างๆ ยังสามารถหาช่องทางอื่นในการระดมทุนได้ หมายความว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องลดงบประมาณด้านการลงทุน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจยังขยายตัวต่อไป
ในฐานะนักลงทุน เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องอัปเดตข้อมูลเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างซับซ้อนอยู่เสมอ นี่คือเหตุผลที่เราออกแบบกลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ของเราให้ติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจ เพื่อให้มั่นใจว่าพอร์ตการลงทุนของคุณจะพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
📰 ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: Yield พันธบัตร ญี่ปุ่น 10 ปี แตะระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Yield พันธบัตรญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นมาอยู่เหนือ 1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี เนื่องจากบรรดา Trader ต่างประเมินว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดมากขึ้นอีกในปีนี้ หลัง BOJ ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งประวัติศาสตร์เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ Yield พันธบัตรญี่ปุ่นมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นน้อยมาก เนื่องจากญี่ปุ่นเคยใช้นโยบาย Yield Curve Control เพื่อควบคุม Yield พันธบัตรระยะยาว ก่อนจะยกเลิกไปพร้อมกับการขึ้นดอกเบี้ย

ขณะที่ เงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังอยู่เหนือระดับเป้าหมายของ BOJ ที่ 2% เป็นเดือนที่ 25 ติดต่อกันในเดือน เม.ย. บรรดา Trader จึงเข้าไปเก็งกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า BOJ จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในปีนี้
ยิ่งไปกว่านั้น BOJ ยังเผชิญแรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ ในการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเยนที่อ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 34 ปี แม้ BOJ จะพยายามแทรกแซงด้วยการเข้าซื้อเงินเยนจำนวนมหาศาลแล้วก็ตาม
เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize
🎓 Simply Finance: Credit Spread

Credit Spread หรือ ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชนกับพันธบัตรรัฐบาล เกิดขึ้นเพราะภาคเอกชนจำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่าภาครัฐ เพราะต้องชดเชยกับความเสี่ยงที่สูงกว่า
ทั้งนี้ ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน Credit Spread จะยิ่งมีช่องว่างสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนพยายามหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง และยังต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากหุ้นกู้ เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่สูงขึ้น