Weekly Buzz: 🌡️ เงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง ส่งผลต่อพอร์ตคุณอย่างไร?

ในขณะที่ธนาคารกลางต่างๆ ยังแสดงท่าทีว่าการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อสูงยังไม่จบ แต่ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เศรษฐกิจได้เริ่มลดความร้อนแรงลง พร้อมกับเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงมาใกล้ 2% ซึ่งเป็นระดับเป้าหมายของธนาคารกลางหลายแห่ง แล้วสถานการณ์ที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำลงจะส่งผลกับพอร์ตของคุณอย่างไร ติดตามได้ใน Weekly Buzz สัปดาห์นี้
ตลาดหุ้นจะยังเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่?
แม้จะมีความผันผวนเกิดขึ้นในตลาดเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลงถึง 5% ภายใน 1 สัปดาห์ (และฟื้นตัวกลับขึ้นมาแล้ว!) แต่การที่ดอกเบี้ยและเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นประโยชน์ต่อตลาดหุ้น
ปกติแล้ว การปรับตัวลงของเงินเฟ้อและดอกเบี้ยควรจะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากปัจจัยอื่นๆ ยังคงเดิม นอกจากนี้ มูลค่าหุ้นยังมักจะปรับตัวขึ้นสวนทางกับดอกเบี้ยที่ปรับตัวลง เพราะเมื่อผลตอบแทนของสินทรัพย์เทียบเท่าเงินสดลดลง ตลาดหุ้นก็จะมีความน่าดึงดูดมากขึ้น และแม้ว่าตลาดหุ้นอาจต้องเผชิญความผันผวนอีกในระยะข้างหน้า แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้ก็อาจเป็นเรื่องที่ดี เพราะการปรับฐานของตลาดอาจเป็นโอกาสให้นักลงทุนที่มีเงินสดในมือซื้อสินทรัพย์ที่ดีในราคาที่ถูกลงได้

ตลาดตราสารหนี้จะกลับมาได้หรือไม่?
ราคาตราสารหนี้มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยค่อนข้างมาก โดยอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวลดลง (อ่านเพิ่มเติมได้ใน Simply Finance) เช่น ในปี 2022 ที่ราคาตราสารหนี้ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง เพราะมีการออกตราสารหนี้ใหม่ๆ ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า ทำให้ราคาตราสารหนี้ที่มีอยู่เดิมก็ต้องถูกปรับลดลงให้สอดคล้องกับดอกเบี้ยในขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวกำลังเปลี่ยนทิศทาง เพราะปัจจุบัน ธนาคารกลางต่างๆ กำลังเตรียมที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อให้เศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อไปได้ โดยอัตราดอกเบี้ยระดับสูงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จะทำให้ราคาตราสารหนี้มี ‘Runway’ ที่จะปรับตัวขึ้นได้อีกมากเมื่ออัตราดอกเบี้ยเริ่มลดลง ซึ่งหากคุณไม่อยากพลาดโอกาสนี้ จุดเริ่มต้นที่ดีอาจเป็นการลงทุนในพอร์ตต้นแบบ Passive Income ที่อยู่ภายใต้ Flexible Portfolio ของเรา😎ที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีในตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก
Key Takeaway
แม้จะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับนักลงทุนในการพยายามคาดเดาว่าสินทรัพย์ใดจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่ากัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดยังคงเป็นการกระจายการลงทุนที่ดี โดยพอร์ตที่มีความสมดุลจะช่วยให้คุณได้รับประโยชน์จากสินทรัพย์ทั้งหมดนี้ไปพร้อมๆ กัน
📰 ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: จับตาการประชุมที่ Jackson Hole

สัปดาห์นี้ นักลงทุนทั่วโลกต่างหันมาจับตาการประชุมเศรษฐกิจประจำปีที่ Fed สาขา Kansas City เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่เมือง Jackson Hole รัฐ Wyoming ของสหรัฐ โดยบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลาง รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการระดับหัวกะทิ จะมาร่วมพูดคุยกันในเรื่องนโยบายทางการเงิน
ทั้งนี้ การประชุมที่ Jackson Hole ในอดีตมักสร้างความประหลาดใจให้ตลาด เช่น ในปี 2010 ที่ Ben Bernanke ประธาน Fed ในขณะนั้น เริ่มพูดถึงการเพิ่มมาตรการ QE (การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ) หรือในปี 2020 ที่ Jerome Powell ประธาน Fed คนปัจจุบัน ได้นำเสนอกลยุทธ์กำหนดเป้าหมาย "เงินเฟ้อเฉลี่ย" ดังนั้น นักลงทุนจึงควรจับตามองการประชุมที่ Jackson Hole ในสัปดาห์นี้ เพราะอาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในตลาดการเงินโลก
ผลลัพธ์ที่น่าจะเกิดขึ้น คือ Powell อาจยืนยันว่า Fed จะลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. นี้ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2020 แต่ปัญหาก็คือ นักลงทุนจำนวนมากยังคงรู้สึกไม่สบายใจหลังมีการเทขายหุ้นอย่างหนักเมื่อเร็วๆ นี้ และตอนนี้พวกเขากำลังต้องการให้ Fed ลดดอกเบี้ยมากกว่าปกติ โดยมีความคาดหวังมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า Fed จะลดดอกเบี้ยลงในครั้งเดียวถึง 0.5% ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนถึง 2 เท่า
เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize
Simply Finance: ราคาตราสารหนี้กับอัตราดอกเบี้ย

ความสัมพันธ์ของราคาตราสารหนี้กับอัตราดอกเบี้ย เปรียบเสมือนการเล่นไม้กระดก เพราะเมื่อสิ่งใดขึ้น อีกสิ่งหนึ่งก็จะลง
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคุณซื้อตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ย 3% แต่หากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 4% ตราสารหนี้ของคุณที่จ่ายดอกเบี้ย 3% ก็จะมีความน่าดึงดูดน้อยลงสำหรับนักลงทุนคนอื่นๆ เมื่อเทียบกับตราสารหนี้ใหม่ที่ให้ดอกเบี้ย 4% ดังนั้น Demand ของตราสารหนี้ที่คุณถืออยู่จึงลดลง ราคาของมันจึงลดลงตามไปด้วย กลับกัน หากอัตราดอกเบี้ยลดลงมาอยู่ที่ 2% ตราสารหนี้ของคุณที่ให้ดอกเบี้ย 3% ก็จะมีความน่าดึงดูดมากขึ้น ส่งผลให้ราคาสูงขึ้นตามไปด้วย