Weekly Buzz: 🐋แรงกระเพื่อมจาก DeepSeek

31 January 2025

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

ความก้าวหน้าครั้งใหม่ในวงการ AI ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ไม่ได้เกิดจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้ แต่กลับเป็น DeepSeek บริษัท Startup จากจีนที่สร้างความสำเร็จอันน่าทึ่งด้วยการพัฒนาโมเดล AI ซึ่งมีความสามารถเทียบชั้นผู้นำในอุตสาหกรรมได้ แต่ใช้ต้นทุนที่น้อยกว่ามาก

จุดเด่นของ DeepSeek?

Startup จีนรายนี้ เผยว่าใช้เงินเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการพัฒนาโมเดล AI รุ่นล่าสุด ซึ่งถือว่าเป็นเงินเล็กน้อยเมื่อเทียบกับยักษ์ใหญ่ใน Silicon Valley ที่ใช้เงินหลักหลายร้อยล้านถึงพันล้านดอลลาร์ฯ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเดียวกัน และด้วยความที่โมเดลนี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ DeepSeek จึงกลายเป็นแอปที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจนพุ่งขึ้นติดชาร์ต Download อันดับต้นๆ ในสหรัฐ

เรื่องนี้พลิกความเชื่อเรื่องการพัฒนา AI ของนักลงทุนบางรายอย่างสิ้นเชิง เพราะก่อนหน้านี้ หลายคนเคยเชื่อว่าการสร้างโมเดล AI ขั้นสูงนั้นเปรียบเหมือนการสร้างตึกระฟ้าที่ต้องใช้ทั้งทรัพยากรและงบประมาณมหาศาล โดย Microsoft เพิ่งประกาศลงทุน 80,000 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่ OpenAI และ SoftBank (รวมถึง Donald Trump) เพิ่งประกาศแผนลงทุน 500,000 ล้านดอลลาร์ฯ ตลอดช่วง 4 ปีข้างหน้า

ขณะที่ ตลาดตอบสนองการเปิดตัว DeepSeek อย่างรวดเร็ว โดยหุ้นของ Nvidia ผู้ผลิตชิปที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกและถือเป็นขวัญใจนักลงทุน AI มีมูลค่าลดลงเกือบ 590,000 ล้านดอลลาร์ฯ เมื่อวันจันทร์ (27 ม.ค.) ซึ่งถือเป็นการสูญเสียมูลค่าบริษัทภายในวันเดียวที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ และแม้ราคาหุ้นจะกลับมา Rebound ได้บ้างในวันถัดมา แต่เหตุการณ์นี้เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า หากการพัฒนา AI สามารถทำได้ด้วยจำนวนชิปและพลังประมวลผลที่น้อยกว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ก็อาจต้องทบทวนแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมหาศาลกันใหม่อีกครั้ง

Key Takeaway

การตอบสนองของตลาดได้ตอกย้ำความจริงที่ว่า ‘นวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นได้จากทุกที่’ เช่นเดียวกับยุคดอทคอมและการปฏิวัติโทรศัพท์มือถือที่ไม่มีบริษัทใดสามารถผูกขาดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดไป เรื่องราวของ DeepSeek ไม่ใช่แค่เรื่องของการพลิกเกม แต่ยังสะท้อนถึงความรวดเร็วของความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและโอกาสสำหรับนักลงทุนระยะยาว

นี่คือเหตุผลว่าทำไมการกระจายการลงทุนที่ดีถึงมีความสำคัญ โดยแทนที่นักลงทุนจะพยายามทำนาย ‘นวัตกรรมเปลี่ยนโลกครั้งต่อไป’ กลยุทธ์ที่เหมาะสมกว่าอาจเป็นการจัดพอร์ตของคุณให้พร้อมรับประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นที่ไหนหรือเมื่อไหร่ เช่น ธีม Technology Enablers ที่อยู่ภายใต้ Thematic Portfolio ของเรา ซึ่งมีการกระจายการลงทุนทั่วทั้ง Value-chain ของ AI และเพิ่งอัปเดต ETF ใหม่ๆ ไปเมื่อเร็วๆ นี้

📰 ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: ยุโรปลดดอกเบี้ย ส่วนญี่ปุ่นปรับขึ้น

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้เห็นแนวทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยในการประชุมครั้งแรกของปี 2025 ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกันอีก 0.25% มาอยู่ที่ 2.9% ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่ายุโรปกำลังค่อยๆ ผ่อนคลายนโยบายการเงินที่เข้มงวด เนื่องจากเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัว โดยสภากรรมการของ ECB คาดว่าอัตราดอกเบี้ยของยุโรปจะปรับตัวลงมาอยู่ในระดับ 1.75% ถึง 2.25% ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่าอาจมีการลดดอกเบี้ยลงแบบค่อยเป็นค่อยไปในระยะข้างหน้า

ขณะที่ ญี่ปุ่นเลือกดำเนินนโยบายตามทิศทางของตัวเอง โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% มาอยู่ที่ 0.5% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเติบโตค่อนข้างร้อนแรงแตกต่างจากยุโรป ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในเดือน ธ.ค. พุ่งขึ้นแตะระดับ 3.6% และกิจกรรมในภาคธุรกิจก็ยังคงขยายตัวต่อไป เห็นได้จากดัชนี Composite PMI ที่อยู่ในระดับ 51.1 โดยอดีตสมาชิก BoJ รายหนึ่ง ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยในญี่ปุ่นอาจปรับตัวขึ้นอีก 3 เท่า มาอยู่ที่ 1.5% ภายในกลางปี 2026

เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize

🎓 Simply Finance: ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI)

Purchasing Managers' Index (PMI) หรือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ คือ การสำรวจความคิดเห็นของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของบริษัทต่างๆ เกี่ยวกับตัวชี้วัดทางธุรกิจที่สำคัญ เช่น คำสั่งซื้อใหม่ การผลิต และการจ้างงาน โดยตัวเลขดัชนีที่คำนวณออกมาได้จะช่วยให้เราเข้าใจว่ากิจกรรมทางธุรกิจกำลังขยายตัวหรือหดตัว ซึ่งตัวเลขสำคัญที่นักลงทุนต้องจับตามอง คือ 50 เพราะหากตัวเลขมากกว่า 50 หมายถึงการเติบโต แต่หากต่ำกว่า 50 หมายถึงการหดตัวนั่นเอง ซึ่งตัวเลข PMI มักจะส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรเศรษฐกิจได้ก่อนที่ตัวเลข GDP จะประกาศออกมา


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ