🍷 Fed ยกเครื่องดื่มไปเก็บ ก่อนงานเลี้ยงจะเกินควบคุม

20 December 2024

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

ในขณะที่นักลงทุนกำลังเฉลิมฉลองการปรับตัวขึ้นของตลาด หลังพรรค Republican กวาดชัยชนะในการเลือกตั้งสหรัฐ เปิดทางไปสู่การลดภาษี ลดกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงนโยบายที่เป็นมิตรต่อภาคธุรกิจมากขึ้น แต่แถลงการณ์เรื่องดอกเบี้ยของ Fed ก็ทำให้ผู้คนในงานเลี้ยงกลับมามีสติอีกครั้ง

ตลาดตอบสนองต่อถ้อยแถลงของ Fed ในทันที โดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลง 2.9% ส่วนดัชนี Nasdaq ร่วงลง 3.6% ขณะที่ Yield ของพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวสูงขึ้น 0.12% เนื่องจากนักลงทุนปรับมุมมองแนวโน้มดอกเบี้ยในระยะยาว

เกิดอะไรขึ้น?

ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2024 Fed ได้มอบของขวัญวันหยุดให้นักลงทุนตามคาด นั่นก็คือการลดดอกเบี้ยลง 0.25% แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจ คือ มุมมองสำหรับปี 2025 เห็นได้จากตาราง ‘Dot Plot’ ด้านล่างที่ Fed คาดว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะอยู่ที่ 3.9% เมื่อสิ้นสุดปี 2025 ปรับขึ้นจาก 3.4% ในการประชุมเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา อธิบายง่ายๆ คือ Fed มีแผนลดดอกเบี้ยลงน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

ทำไม Fed ถึงเปลี่ยนใจ? Dot Plot ครั้งล่าสุดนี้สะท้อนให้เห็นว่า Fed มีมุมมองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมากขึ้น รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อสูงอาจยืดเยื้อนานขึ้น ทำให้พวกเขาดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวังมากขึ้น และเริ่มคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายต่างๆ ของ Donald Trump ว่าที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐ เช่น การขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย Tax Cuts and Jobs Act (TCJA) และการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ (อ่านเพิ่มเติมได้ใน CIO Update: การกลับมาของ Donald Trump ส่งผลอย่างไรต่อการลงทุนของคุณ?)

Key Takeaway

เมื่อ Zoom Out ออกมา ดัชนี S&P 500 ได้ปรับตัวขึ้นถึง 28.6% YTD ก่อนที่ Fed จะตัดสินใจครั้งล่าสุด ซึ่งรวมถึงการปรับตัวขึ้นหลังชัยชนะของ Trump และแม้ตลาดหุ้นสหรัฐจะร่วงลงหลังการตัดสินใจของ Fed แต่ภาพรวมยังคงปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งที่ 24.8% ในปีนี้

การปรับฐาน (Correction) เช่นนี้เป็นสิ่งที่ดีต่อการปรับตัวขึ้นของตลาด และเป็นเรื่องปกติในเส้นทางการลงทุน เปรียบเสมือนการที่เราต้องหยุดพักระหว่างมื้ออาหารใหญ่ๆ ในงานเลี้ยงเฉลิมฉลองต่างๆ โดยภาพรวมของตลาดยังคงเป็นบวก เพราะการประเมินของ Fed แสดงให้เห็นแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แม้ว่าเงินเฟ้อจะยังยืดเยื้ออยู่บ้าง 

สถานการณ์ปัจจุบันตรงกับที่เทคโนโลยีการลงทุน ERAA™ ของเราได้จับสัญญาณว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะ ‘Inflationary Growth’ มาตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา และเราคาดว่าภาวะเศรษฐกิจแบบนี้จะดำเนินต่อไปในปี 2025 (รายละเอียดเพิ่มเติมติดตามได้ใน Market Outlook 2025 ต้นเดือน ม.ค.)

ดังนั้น แม้ว่า Fed อาจนำเครื่องดื่มไปเก็บแล้ว (อ่านเพิ่มเติมใน รอบรู้เรื่องลงทุน) แต่งานเลี้ยงยังไม่จบ โดยจุดมุ่งหมายของ Fed เพียงแต่ต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน โดยไม่เสี่ยงทำให้เงินเฟ้อกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง เพราะในท้ายที่สุด สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญ คือ ปัจจัยพื้นฐานในระยะยาว ไม่ใช่ความผันผวนของตลาดในระยะสั้น

💡 Investors’ Corner: ผลตอบแทนเท่ากัน แต่เส้นทางอาจไม่เหมือนกัน

ถ้ามีการลงทุน 2 แบบที่อาจให้ผลตอบแทน 10% เหมือนกัน แต่การลงทุนแบบแรกต้องเผชิญความผันผวนอย่างรุนแรง ส่วนการลงทุนแบบที่สองอาจมีเส้นทางที่ราบเรียบและมั่นคงกว่า คุณจะเลือกแบบไหน? สิ่งที่เรากำลังพูดถึงนี้ คือ Risk-adjusted Returns หรือผลตอบแทนปรับด้วยความเสี่ยง โดยตัวชี้วัดที่นิยมใช้กัน คือ Sharpe Ratio หรือการเปรียบเทียบผลตอบแทนส่วนเกิน (ผลตอบแทนที่เกินกว่าการลงทุนแบบปลอดความเสี่ยงตามทฤษฎี เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ) กับค่าความผันผวน (Standard Deviation)

ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ปี 2000 ตลาดหุ้นทั่วโลกให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 6.2% ต่อปี แต่ก็มาพร้อมความผันผวนอย่างมาก เพราะมีการขาดทุนสูงสุดถึง 41% ในช่วงที่ตลาดเป็นขาลง ทำให้ค่า Sharpe Ratio อยู่ที่ราว 0.37 ซึ่งพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีในหลากหลายสินทรัพย์สามารถให้ผลตอบแทนในระดับเดียวกันนี้ได้ แต่มีความผันผวนน้อยกว่า

อีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยง คือ ระยะเวลาที่เราอยู่ในตลาด โดยพอร์ตที่มีความผันผวนสูงมักจะให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอมากขึ้นในระยะยาว เปรียบเสมือนภูเขาที่ดูสูงเสียดฟ้าหากมองจากระยะใกล้ แต่ภูเขาลูกเดียวกันนี้ ก็อาจกลายเป็นเนินเขาเตี้ยๆ เท่านั้นหากมองจากระยะไกล เพราะในท้ายที่สุด การลงทุนไม่ใช่แค่เรื่องการไปให้ถึงจุดหมายเท่านั้น แต่ยังต้องมั่นใจด้วยว่าคุณสามารถ Stay Invested ได้ตลอดเส้นทาง 

นี่คือเหตุผลที่พอร์ต General Investing ของเรา มีระดับความเสี่ยงให้เลือกถึง 12 ระดับและมีการผสมผสานสินทรัพย์ที่หลากหลายเพื่อสร้างผลตอบแทนให้ได้มากที่สุด แต่ยังควบคุมความเสี่ยงให้คงที่ตามระดับที่คุณเลือกไว้ ทำให้คุณสามารถลงทุนระยะยาวได้อย่างสบายใจ

📖 รอบรู้เรื่องลงทุน: Taking Away the Punch Bowl

วลี Taking Away the Punch Bowl กลายเป็นคำศัพท์ในแวดวงการเงินตั้งแต่ปี 1955 เมื่อ William McChesney Martin ประธาน Fed ในขณะนั้น เปรียบเทียบธนาคารกลางสหรัฐว่าเหมือนกับเจ้าหน้าที่ดูแลงานเฉลิมฉลอง สะท้อนให้เห็นบทบาทที่ละเอียดอ่อนของ Fed ซึ่งมีหน้าที่ในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องควบคุมไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงมากเกินไป ดังนั้นเมื่อตลาดพูดว่า Fed ‘ยกเครื่องดื่มไปเก็บ’ หมายถึงการออกนโยบายที่อาจไม่ได้รับความนิยมในระยะสั้น แต่มีเป้าหมายเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ