Weekly Buzz : ✨ อาจเป็นปีที่ดีต่อเนื่องสำหรับทองคำ
ตั้งแต่ปีที่แล้ว ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ได้สะสมทองคำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ Demand ของโลหะมีค่าชนิดนี้อยู่ในระดับสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และทำไม Trend นี้จะคงอยู่ต่อไปในระยะข้างหน้า หาคำตอบได้ใน Weekly Buzz สัปดาห์นี้
เกิดอะไรขึ้นกับทองคำ?
ในปี 2023 Demand ทองคำจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น 3% จนแตะระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ 4,899 ตัน ซึ่งรวมถึง Demand จากธนาคารกลางประเทศต่างๆ, นักลงทุน, ผู้ผลิตสินค้า รวมถึงการซื้อ-ขายนอกตลาดหลักทรัพย์ (อย่างเช่น กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่มีเงินมหาศาล และตลาด Future)
Demand เหล่านี้ทำให้ราคาทองคำพุ่งขึ้น 13% เมื่อปีที่แล้ว และเพิ่งทำสถิติสูงสุดใหม่ไปเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งน่าแปลกใจ เพราะโดยปกติแล้ว ในช่วงที่ Yield ตราสารหนี้อยู่ในระดับสูงเช่นนี้ นักลงทุนมักเลือกตราสารหนี้มากกว่าทองคำ เพราะตราสารหนี้จ่ายดอกเบี้ยเป็นประจำ ทำให้ในปี 2023 Demand ทองคำจากนักลงทุนลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เข้ามาชดเชย Demand ของนักลงทุนคือ การกว้านซื้อทองคำของธนาคารกลางต่างๆ และ Demand ที่แข็งแกร่งจากจีน ซึ่งสาเหตุที่ธนาคารกลางซื้อทองคำจำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็เพื่อลดความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและกระจายความเสี่ยงโดยการเก็บทุนสำรองไว้ในสินทรัพย์หลากหลายประเภท
เรื่องนี้ส่งผลต่อนักลงทุนอย่างไร?
ทองคำเป็นสินทรัพย์ปรับสมดุลที่ช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีให้พอร์ต General Investing ของเราเมื่อปีที่แล้ว และดูเหมือนว่า Demand ของทองคำยังไม่น่าจะลดลงในปีนี้ เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ Safe-haven และยังน่าดึงดูดเป็นพิเศษในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวลง เพราะทองคำจะได้ประโยชน์จากการที่ Yield ตราสารหนี้ปรับตัวลดลงและเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง
โดย World Gold Council คาดการณ์ว่า Demand ทองคำจากทั่วโลกจะปรับตัวขึ้นอีกครั้งในปี 2024 เพราะความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเพิ่มขึ้น รวมถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ ซึ่งหากคุณสนใจเพิ่มสัดส่วนของทองคำในพอร์ต คุณอาจพิจารณา Flexible Portfolio ที่ให้คุณสามารถลงทุนใน ETF ที่ติดตามตลาดทองคำได้โดยตรง
📰 ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: จีนกังวลปัญหาเงินฝืด
ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่กำลังแก้ปัญหาเงินเฟ้อ แต่จีนกลับเผชิญปัญหาตรงกันข้าม คือ เงินฝืด โดยรายงานล่าสุดพบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน ม.ค. ลดลง 0.8% YoY ซึ่งลดลงมากที่สุดในรอบเกือบ 15 ปี
เงินฝืดที่ยืดเยื้อเป็นผลมาจาก Demand ในประเทศที่อ่อนแอ ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลสำหรับประเทศจีน เพราะสถานการณ์เหล่านี้อาจนำไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงเป็นวงจรต่อเนื่องกัน
วัฏจักรของเงินฝืดนั้นแก้ไขค่อนข้างยาก เป็นสาเหตุว่าทำไมธนาคารกลางจีนถึงกล่าวว่า การแก้ปัญหาเงินฝืดเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นลำดับแรก ส่วนบรรดาผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำว่าทางการต้องออกมาตรการที่ Aggressive มากกว่านี้ ถึงจะกระตุ้น Demand และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้
อย่างไรก็ตาม อาจจะมีข้อดีสำหรับเศรฐกิจโลกอยู่บ้าง เพราะเงินฝืดของจีนอาจทำให้เงินเฟ้อในประเทศอื่นๆ ลดความร้อนแรงลง เพราะสินค้าจากจีนมีราคาที่ถูกลง ซึ่งหากปัญหาเงินฝืดของจีนเริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก ก็อาจช่วยเร่งเร้าให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆ เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลงในเร็วๆ นี้
เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize
🎓Simply Finance: เงินฝืด
เงินฝืด คือ สถานการณ์ที่ตรงข้ามกับเงินเฟ้อ จะเกิดขึ้นเมื่อราคาสินค้าลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจฟังดูดีในตอนแรก (ใครบ้างไม่ชอบสินค้าลดราคา?) แต่ในความเป็นจริงแล้ว เงินฝืดสามารถสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจโดยรวมได้
เมื่อเกิดเงินฝืด ธุรกิจต่างๆ จะประสบปัญหา เพราะผู้บริโภคจะหยุดใช้จ่าย เพราะหวังว่าราคาสินค้าและบริการจะลดลงอีก ซึ่งจะนำไปสู่การเลิกจ้างหรือลดเงินเดือนพนักงาน และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ธนาคารกลางสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ แต่การแก้ไขปัญหาเงินฝืดนั้นซับซ้อนกว่ามาก สรุปคือ เงินฝืดไม่ได้เกี่ยวกับสินค้าราคาถูกเท่านั้น แต่เป็นสัญญาณเตือนของปัญหาเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า