Weekly Buzz: ดอกเบี้ยระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์

04 August 2023

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

เป็นไปตามคาด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Fed และธนาคารกลางยุโรป (ECB) พร้อมใจกันขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่ยังยืดเยื้อ ทำให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์แล้ว

เกิดอะไรขึ้นในสหรัฐ?

Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% หลังจากหยุดขึ้นไปเมื่อการประชุมครั้งก่อนหน้านี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ขึ้นมาอยู่ที่ 5.25-5.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบกว่า 20 ปี และจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมของธนาคารและผู้บริโภคต่อเนื่องกันไป

ทั้งนี้ Fed ยังจำเป็นต้องหาจุดสมดุลในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อสูงโดยไม่ให้กระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากจนเกินไป ซึ่งข้อเท็จจริงที่ว่า Fed ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยและยังแสดงท่าทีว่าอาจมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก แสดงให้เห็นว่า Fed ยังมีความเชื่อว่าเศรษฐกิจยังคงร้อนแรงเกินไป ในขณะที่มีความกังวลด้วยว่าจะเกิด Wage-price Spiral (อ่านเพิ่มเติมได้ใน ศัพท์โลกการลงทุน) ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อดังกล่าว

แม้ในปัจจุบัน เศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง และสามารถทนทานต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากที่อยู่ในระดับต่ำเกือบ 0% ขึ้นมาอยู่เกิน 5% ในเวลาแค่ประมาณ 1 ปี แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในที่สุด คำถามสำคัญคือ เศรษฐกิจสหรัฐจะทนได้อีกนานแค่ไหน

เกิดอะไรขึ้นในยุโรป?

ECB ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (ดอกเบี้ยที่ธนาคารได้รับเมื่อฝากเงินกับ ECB) มาอยู่ที่ 3.75% เท่ากับระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์เมื่อเดือน เม.ย. 2001 พร้อมกับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing (ดอกเบี้ยที่ธนาคารต้องจ่ายเมื่อกู้ยืมเงินจาก ECB) มาอยู่ที่ 4.25%

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในระดับสูงทำให้ธนาคารต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการปล่อยเงินกู้ เพราะพวกเขาสามารถฝากเงินไว้กับ ECB เพื่อรับดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงแทน ขณะที่อัตราดอกเบี้ย Main Refinancing ในระดับสูง ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมสูงขึ้นไปด้วย เมื่อทั้ง 2 ปัจจัยมาผนวกกันจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลง ซึ่งเป็นความตั้งใจของ ECB ที่จะลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

เมื่อเทียบกับสหรัฐ สถานการณ์ในยุโรปยิ่งมีความท้าทายมากกว่า เพราะแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มชะลอตัวลงแล้ว แต่ Core Inflation หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ที่ระดับ 5.5% ซึ่งมากกว่าระดับเป้าหมายของ ECB ที่ 2% กว่า 2 เท่า ดังนั้น จึงมีทางเลือกไม่มากนักสำหรับ ECB ที่ต้องตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก แม้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิด Recession

อะไรรอเราอยู่ในระยะข้างหน้า?

อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐและยุโรปน่าจะเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว และนักลงทุนต่างเริ่มคาดการณ์กันแล้วว่าเมื่อไหร่ Fed และ ECB จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ การ Stay Invested ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดี (เหมือน General Investing ของเรา 😎) และมีระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม จะทำให้คุณพร้อมรับมือไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรและสามารถลงทุนได้อย่างสบายใจในระยะยาว

เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize

🎓ศัพท์โลกการลงทุน: Wage-price Spiral

Wage-price Spiral หรือ วัฏจักรการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและราคาสินค้าเป็นวงจรต่อเนื่องกัน ซึ่งเปรียบเสมือนการเล่นชักเย่อระหว่างภาคธุรกิจกับแรงงาน เพราะเมื่อค่าจ้างเพิ่มขึ้น → แรงงานจะเริ่มใช้จ่ายมากขึ้น → ภาคธุรกิจขึ้นราคาสินค้าและบริการเพื่อทำกำไรจาก Demand ที่เพิ่มขึ้น → แรงงานเริ่มได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น → เรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีก และวนเป็นวัฏจักรต่อเนื่องกันไป


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ