Weekly Buzz: แนวทางการลงทุนแบบ Warren Buffett 💡
ไม่น่าแปลกใจที่ Warren Buffett จะเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก เพราะด้วยทรัพย์สินกว่า 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่เขาสร้างขึ้นจากการลงทุนอย่างมีวินัยยาวนานหลายทศวรรษเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จได้เป็นอย่างดี โดยเมื่อย้อนกลับไปในปี 1980 หุ้นบริษัท Berkshire Hathaway ของ Buffett ซื้อขายกันที่ราคา 290 ดอลลาร์ฯ เท่านั้น แต่ปัจจุบัน หุ้นตัวนี้ซื้อขายกันที่ราคามากกว่า 300,000 ดอลลาร์ฯ และถือเป็นเรื่องโชคดีสำหรับนักลงทุนทั่วไปที่ Buffett มักแบ่งปันแนวทางการลงทุนของเขาให้ทุกคนได้เรียนรู้มาโดยตลอด
Buffett มีแนวทางการลงทุนอย่างไร?
Buffett เป็นนักลงทุนแนว Value Investing (VI) ทำให้เขามักมองหาธุรกิจที่ซื้อขายกันในราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง โดยมูลค่าที่แท้จริงนั้นจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สินทรัพย์ของบริษัท การคาดการณ์กำไรที่แข็งแกร่งในอนาคต และผู้บริหารที่มีความสามารถและน่าเชื่อถือ เมื่อเขาพบธุรกิจเหล่านี้ เขาจะซื้อหุ้นในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญและถือไว้ในระยะยาว ซึ่งบ่อยครั้งก็คือการ ‘ถือไว้ตลอดไป’ นอกจากนี้ เขายังมักวิจารณ์การ Trade หุ้น โดยกล่าวว่าการซื้อหุ้นเพียงเพราะคิดว่าราคาจะปรับตัวขึ้นในระยะสั้นไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นการเก็งกำไร
เมื่อวิเคราะห์ธุรกิจมาดีแล้วจนตัดสินใจลงทุน Buffett แนะนำให้นักลงทุนถือหุ้นตัวนั้นในระยะยาว ไม่ว่าตลาดจะผันผวนแค่ไหนก็ตาม อันที่จริง เมื่อราคาหุ้นตก Buffett มักมองว่าเป็นโอกาสที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในบริษัทโปรดของเขาด้วยซ้ำ
Buffett มักเลือกบริษัทต่างๆ จากปัจจัยสำคัญหลายประการ เช่น ผลการดำเนินงานที่สม่ำเสมอ Margin กำไรในระดับสูง และหนี้สินในระดับต่ำ นอกจากนี้ เขายังมองหาธุรกิจที่มีข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน ที่เขาเรียกว่า ‘Moats’ หรือคูเมือง โดยข้อได้เปรียบเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทอยู่รอดและเติบโตได้ในระยะยาว ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับการลงทุนแบบ ‘ตลอดไป’ ของเขา
Key Takeaway
Buffett มักเตือนนักลงทุนเสมอว่า คุณไม่ใช่แค่ผู้ถือหุ้น แต่เป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการซื้อหุ้นไม่ใช่แค่การซื้อ Ticker ในตลาด แต่คือการที่คุณได้เข้าไปเป็นหุ้นส่วนในธุรกิจที่มีพนักงาน สินค้า และลูกค้าจริงๆ
แม้ว่าปรัชญาของ Buffett จะไม่ซับซ้อน แต่การวิเคราะห์บริษัทรายตัวอย่างที่เขาทำต้องใช้เวลาและความเชี่ยวชาญอย่างมาก Buffett จึงแนะนำวิธีที่ง่ายกว่าให้กับนักลงทุนส่วนใหญ่ นั่นก็คือกองทุนดัชนีที่มีค่าธรรมเนียมต่ำ ซึ่งจะช่วยให้คุณเป็นเจ้าของบริษัทหลายร้อยแห่งได้ในคราวเดียว และเปิดโอกาสให้คุณได้รับประโยชน์จากการเติบโตของตลาดโดยรวม ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการสร้างพอร์ต General Investing ของเรา
📰 ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: หุ้นชิปยังร้อนแรงต่อเนื่อง
แม้หุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์จะปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงตลอดปีที่แล้ว แต่ข่าวล่าสุดได้กระตุ้นให้ราคาหุ้นกลุ่มนี้พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนี Nikkei ของญี่ปุ่นได้ปรับตัวขึ้น 2% ในวันอังคาร (7 ม.ค.) ขณะที่ ดัชนี KOSPI ของเกาหลีใต้ พุ่งขึ้นราว 5% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์
ตัวอย่างข่าวที่ช่วยขับเคลื่อนราคาหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ได้แก่ การที่ Microsoft ประกาศแผนการลงทุน Data Centre มูลค่า 80,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2025 ซึ่งสะท้อนให้เห็นเทรนด์การลงทุนครั้งใหญ่ในกลุ่ม Big Tech ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ Foxconn ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ใน Q4/2024 โดยยอดขายในเดือน ธ.ค. ปรับตัวสูงขึ้นถึง 42% YoY
ขณะที่ Jensen Huang CEO ของ Nvidia ได้ขึ้นพูดในงาน Consumer Electronics Show ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เมือง Las Vegas โดย Huang ได้เปิดตัวชิปรุ่นใหม่และนวัตกรรมล่าสุดอย่าง ‘Physical AI’ หรือหุ่นยนต์ที่สามารถโต้ตอบและทำงานในโลกจริงได้
ทั้งนี้ หากคุณอยากคว้าโอกาสลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี แต่ไม่อยากนำไข่ทั้งหมดใส่ไว้ในตะกร้าเซมิคอนดักเตอร์เพียงใบเดียว Thematic Portfolio ของเรา (เราเพิ่งอัปเดต ETF ใหม่ๆ ไปเมื่อเร็วๆ นี้) อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสม โดยเฉพาะธีม Technology Enablers ที่เปิดโอกาสให้คุณเข้าถึงทุกภาคส่วนใน Value-chain ของ AI
🎓 Simply Finance: Economic Moat
Economic Moat หรือคูเมืองทางเศรษฐกิจ หมายถึง ความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาวของบริษัท ซึ่งจะช่วยปกป้องส่วนแบ่งตลาดและผลกำไรของบริษัทจากคู่แข่ง เปรียบเสมือนคูเมืองที่ปกป้องปราสาทจากผู้บุกรุก ตัวอย่างเช่น การที่แบรนด์ Coca-Cola เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทำให้เครื่องดื่มใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันด้วยยาก หรือบริษัทที่มีสิทธิบัตรก็จะสามารถป้องกันการเลียนแบบผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมจากคู่แข่งได้ดีกว่า