Weekly Buzz: ถอดบทเรียนเงินเฟ้อในอดีต 100 ครั้ง
ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในบรรดาสิ่งที่ขับเคลื่อนตลาดทั้งหมด ปัจจัยสำคัญที่สุดน่าจะเป็นเงินเฟ้อ ซึ่งปรับตัวขึ้นมาอยู่ระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษแล้ว
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ทำการวิจัยเงินเฟ้อ 100 ครั้งในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มของเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า และนี่คือบทเรียนจากเหตุการณ์ในอดีตที่อาจบอกเราได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต
บทเรียนที่ 1: เงินเฟ้อมักจะยืดเยื้อ แม้จะเกิดขึ้นจากเหตุชั่วคราว
เงินเฟ้อมักเกิดขึ้นจากเหตุไม่คาดคิด แต่ปัญหาคือ แม้เหตุที่เป็นปัจจัยกระตุ้นเงินเฟ้อจะหมดไปแล้ว แต่เงินเฟ้อมักไม่จบไปด้วย
เมื่อเรามองภาพรวมของช่วงที่เกิดเงินเฟ้อทั้ง 100 ครั้ง แม้จะเกิดขึ้นจากปัจจัยที่แตกต่างกัน แต่มีเงินเฟ้อเพียง 60% ที่จัดการได้สำเร็จภายใน 5 ปี โดยในจำนวนนี้ต้องใช้เวลาเฉลี่ยถึง 3 ปีถึงจะจบ จึงอาจสรุปได้ว่าแม้ปัจจัยที่กระตุ้นเงินเฟ้อจะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว แต่เงินเฟ้อส่วนใหญ่ไม่เคยอยู่แค่ชั่วคราว
บทเรียนที่ 2: ประเทศที่แก้เงินเฟ้อสำเร็จต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด
IMF ได้สำรวจประเทศต่างๆ ในช่วงวิกฤติน้ำมันโลกปี 1973-1979 พบว่าประเทศที่แก้ไขปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จเพราะมีนโยบายการเงินที่เข้มงวดและสม่ำเสมอ เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงและคงไว้ในระดับสูงต่อเนื่อง, การแทรกแซงค่าเงิน รวมถึงควบคุมการปรับขึ้นค่าแรง (อ่านเพิ่มเติมได้ใน ศัพท์โลกการลงทุน)
บทเรียนที่ 3: เงินเฟ้อมักลดลงในช่วงแรก ก่อนกลับขึ้นมาใหม่ภายหลัง
ภาวะเงินเฟ้อราว 90% จะลดความร้อนแรงลงอย่างรวดเร็วภายใน 3 ปีนับตั้งแต่เกิดขึ้นครั้งแรก แต่จะกลับขึ้นมาใหม่ในภายหลัง โดย IMF พบว่าปัจจัยสำคัญของสถานการณ์ดังกล่าวคือ ธนาคารกลางและรัฐบาลผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วเกินไป ซึ่งอาจเป็นบทเรียนให้ผู้กำหนดนโยบายได้เป็นอย่างดี
บทเรียนที่ 4: ประเทศที่แก้เงินเฟ้อสำเร็จล้วนมีบาดแผล แต่ก็กลับมาได้ทุกครั้ง
การใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อมักส่งผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงักอย่างรวดเร็ว เช่น การชะลอตัวของ GDP และอัตราว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ยากลำบากที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม หากเราศึกษางานวิจัยเงินเฟ้อทั้ง 100 ครั้งของ IMF จะพบว่า ความยากลำบากในระยะสั้นจะช่วยปูทางให้เกิดเสถียรภาพในระยะยาว แม้นโยบายการเงินที่เข้มงวดจะเปรียบเสมือนยาขม แต่ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยรักษาอาการทางเศรษฐกิจได้
Key Takeaway คือ?
ถ้าอดีตคือบทเรียน ดังนั้นเงินเฟ้อน่าจะอยู่กับเราต่อไปอีกสักระยะ และธนาคารกลางก็ควรระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วเกินไป แต่ดูเหมือนว่าบรรดาผู้กำหนดนโยบายน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงนานขึ้นและเตรียมรับผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้นไว้แล้ว ซึ่งนโยบายที่เข้มงวดนั้นมีความจำเป็นต่อการฟื้นตัวและความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในระยะยาว
แม้ประวัติศาสตร์จะไม่ได้เกิดขึ้นซ้ำรอยเสมอไป แต่ถือเป็นเรื่องดีหากพอร์ตลงทุนของเราสามารถรับมือเงินเฟ้อที่อาจอยู่ต่อไปนานขึ้น โดยกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ Defensive ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีแม้เศรษฐกิจชะลอตัวอย่าง USD Cash Plus ซึ่งเน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นที่มีความเสี่ยงต่ำมาก และให้ผลตอบแทนสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ
เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize
🎓ศัพท์โลกการลงทุน: Wage Push Inflation
การขึ้นเงินเดือน ใครก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องดี 😎 แต่ในช่วงเงินเฟ้อสูง ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอาจสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ค่อนข้างมาก โดย Wage Push Inflation หรือ เงินเฟ้อจากค่าแรงอาจเกิดขึ้นเมื่อค่าจ้างแรงงานปรับตัวสูงขึ้นในวงกว้าง เพราะหากบริษัทต้องจ่ายค่าจ้างสูงขึ้น พวกเขาก็ต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่วัฏจักรที่แรงงานเริ่มเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากสินค้าและบริการต่างๆ มีราคาสูงขึ้นนั่นเอง
การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต